สนทนากับ มอร์–วสุพล เกรียงประภากิจ ถึงอัลบั้มใหม่และช่วงชีวิตที่ช้าลง

สนทนากับ มอร์–วสุพล เกรียงประภากิจ ถึงอัลบั้มใหม่และช่วงชีวิตที่ช้าลง

คุยกับ Morvasu ถึงอัลบั้มใหม่และช่วงเวลาที่ช้าลงแบบ One มอร์ Time

เราเชื่อว่าหลายคนคงเริ่มรู้จักมอร์–วสุพล เกรียงประภากิจ ในบริบทที่ต่างกัน

บ้างรู้จักเขาในฐานะสมาชิกวง Ten to Twelve อินดี้ป็อบมาแรงในยุค 2010 

บ้างรู้จักเขาในฐานะผู้กำกับโฆษณาฝีมือดีแห่ง Tender film.

และบ้างก็รู้จักเขาในฐานะ Morvasu ศิลปินเดี่ยวของค่าย What the Duck ผู้ที่เพิ่งปล่อยผลงานอัลบั้มใหม่ In a Relationship With_ มาหมาดๆ

แต่ไม่ว่าจะรู้จักในฐานะไหน เราเชื่อว่าหนึ่งอย่างที่หลายคนเห็นได้จากปัจจุบัน คือทั้งผลงานและตัวตนของมอร์นั้นดูสบาย เบาและเข้าถึงได้ง่าย สอดคล้องกับเนื้อเพลง และข้อความที่เขาเขียนไว้ในซีนที่แจกให้กับผู้ร่วมงานเปิดตัวอัลบั้มเมื่อไม่กี่วันก่อน

 “ในวัยสามสิบกว่า มันเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างประหลาดสำหรับเรา เพราะแรงไม่ได้เยอะเท่าเดิม ไม่ได้บ้าพลังเหมือนเดิม .. แต่แปลกที่พอเดินช้าลง เราดันเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ มากขึ้น อยู่กับปัจจุบันมากขึ้น .. มันทำให้ใจฟูมากๆ เลย บางเพลงในอัลบั้มนี้จึงเป็นการเขียนเพื่อบันทึกโมเมนต์ .. ซึ่งหวังว่าเพลงส่วนตัวเหล่านี้จะ Relate กับคุณบ้างนะครับ”

จริงอยู่ที่ด้วยวาระของอัลบั้ม ทำให้ GroundControl ได้เดินทางมาพูดคุยกับมอร์ในบ่ายวันหนึ่ง แต่เพราะข้อความและสิ่งที่เราเห็นจากตัวมอร์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นั่นต่างหากที่นำมาด้วยประโยคสนทนาที่เรากับมอร์ร่วมกันสร้างและอยากชวนคุณอ่านด้านล่างนี้

ถ้าพร้อมแล้ว แนะนำให้เปิดอัลบั้มใหม่ของเขาคลอเป็นฉากหลัง 

แล้วเริ่มอ่าน มอร์ Than Words ในบรรทัดต่อจากนี้ได้เลย


 

ปล่อยอัลบั้มใหม่ในตอนนี้กับช่วงอายุยี่สิบกว่า มันต่างกันไหม

โห เราไม่ได้คิดถึงเลยแฮะ คือตอนนี้ก็ตื่นเต้น แต่ประเด็นคือจำตอนนั้นไม่ได้แล้ว (นิ่งคิด) เดี๋ยวนะ ตอนนี้ 10 ปีพอดีนี่ถ้าเทียบกับอัลบั้มแรกของ Ten To Twelve โห! แก่สัส (หัวเราะ) 

 

ช่วงที่เพลง Melbourne ปล่อยออกมา (ปี 2020) คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่านั่นเป็นความสำเร็จที่ไม่คาดคิด แล้วกับอัลบั้มนี้ล่ะ คุณคาดคิดมาก่อนไหม หรือค่อยๆ เดินทางมา

เป็นอย่างหลังมากกว่า เพราะเอาจริงกับอัลบั้มเราไม่ได้คิดล่วงหน้าเท่าไหร่ เหมือนเราแค่ทำเพลงเก็บมาเรื่อยๆ ระหว่างทางคิดแค่ว่าอยากทำแต่ละเพลงให้ดีที่สุด เพลงเลยค่อยๆ งอกมาตามวันเวลาของชีวิต ประสบการณ์และความสัมพันธ์ ส่งผลให้พอถึงจุดหนึ่งด้วยจำนวนและเนื้อหาเพลงท่ีมี เรารู้สึกว่าคงเป็นอัลบั้มเต็มได้แล้ว นี่น่าจะสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ความสามารถเราจะทำได้ในช่วงนี้แล้ว ไม่มากไปกว่านี้ 


 

แล้วผลตอบรับของอัลบั้มล่ะ คุณคาดคิดหรือคาดหวังขนาดไหน

(นิ่งคิด) เราเพิ่งคุยกับพี่เมื่อย (ธวัชพนธ์ วงศ์บุญศิริ-นักร้องนำวง SCRUBB) พี่เมื่อยโทรมายินดีก่อนงานเปิดอัลบั้ม ระหว่างคุยเราก็บอกไปว่า ‘ถ้าพี่ฟังแล้ว ชอบหรือไม่ชอบบอกผมด้วยน้า’ ซึ่งพี่เมื่อยตอบกลับมาว่า ‘จริงๆ เรื่องเราชอบหรือไม่ชอบไม่ได้มีผลกับนายหรอก เพราะเราฟังงานนาย เรารู้อยู่แล้วว่านายชอบสิ่งนี้ นายชอบมัน นายสนุกกับมัน นั่นพอแล้ว’

จำได้ว่าพอฟังเสร็จเราหยุดคิดเลยนะ มันจริงอย่างที่เขาบอก โอเค แน่นอนล่ะว่าในฐานะคนทำงาน เราอยากให้คนชอบงานเราอยู่แล้ว แต่ในอีกมุมก็เป็นความจริงว่าเราชอบงานนี้ และเราทำได้สุดกำลังเท่านี้จริงๆ ดังนั้นที่เหลือจะมีอะไรที่ทำได้มากไปกว่าปล่อยให้ผลงานมีชีวิตของตัวเองล่ะ 

ถ้าสำเร็จก็ดี เราจะได้ไปทัวร์เยอะๆ ทีมงานและค่ายจะได้มีรายได้ แต่ถ้าไม่สำเร็จ อย่างน้อยเราได้มีชุดบันทึกช่วงชีวิตในแบบที่เราชอบไว้แล้วน่ะ

 

ฟังดูคล้ายๆ คุณมองผลตอบรับเป็นเหมือนโบนัส เส้นชัยเกิดตั้งแต่ตอนทำแล้ว

จะว่าอย่างนั้นก็ได้ และเอาจริง เราว่าการที่ตัวเองกลับมาอยู่ในตลาดเพลงได้ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเราคิดแบบนี้ด้วย เพราะกับ Melbourne ที่สำเร็จมากๆ หลักๆ เราว่ามาจากการที่ไม่ได้คิดหรือคาดหวังใดๆ นี่แหละ เราแค่ทำเพลงอย่างที่ตัวเองชอบและสบายใจ ซึ่งโชคดีที่มันไปเชื่อมกับคนหมู่มาก

(นิ่งคิด) คือเอาง่ายๆ ว่าตอน Melbourne ออกมา เด็กรุ่นใหม่จำนวนมากไม่รู้จักเรามาก่อนด้วยซ้ำนะ พวกเขาอยู่ในวัยที่ไม่รู้จัก Ten To Twelve แล้ว นึกว่าเราเป็นนักร้องใหม่ของ What the Duck ถึงขนาดมีคนมาทักผู้บริหารค่ายด้วยว่านี่ใคร อาวุธลับใหม่ของค่ายเหรอ (หัวเราะ) 


 

การทำสิ่งที่ชอบโดยไม่ต้องคิดมาก มันเพิ่งเกิดขึ้นหรือเปล่า หรือค่อยๆ มาตามวัย

เราไม่แน่ใจว่าวัยเกี่ยวไหม แต่เรามองเป็น ‘ชีวิตช่วงนี้’ มากกว่า

ด้วยความที่อีกด้านของเราคือผู้กำกับโฆษณาเนอะ การงานที่ผ่านมาจะเป็นการตอบโจทย์ที่ลูกค้าต้องการเป็นหลัก ซึ่งสนุกนะ ความเป็นตัวเองของเราก็อยู่ในงานด้วย แต่นั่นส่งผลให้ในอีกมุม เราอยากทำงานที่เป็นตัวเองโดยที่ไม่ต้องตอบโจทย์ใดๆ บ้าง อยากตอบแค่ความรู้สึกของตัวเองให้ได้อย่างซื่อสัตย์และสบายใจ ตอนกลับมาในฐานะศิลปินเดี่ยวเราเลยเริ่มจากแค่นั้น ส่วนหลังจากนั้นงานจะพาเราไปไหนก็เดี๋ยวว่ากัน

 

แสดงว่าก่อนหน้าคุณคิดเยอะกว่านี้

แน่นอน เพราะเราทำเป็นวงมาก่อน ความกดดันในเรื่องความสำเร็จมีอยู่แล้ว เพราะมันเกี่ยวพันกับความอยู่รอดของทุกคนในวง บ่าเลยค่อนข้างหนักกว่าเป็นธรรมดา แต่พอพักวงและได้มาทำงานเดี่ยว กลายเป็นว่าเราได้ค้นพบหลืบแง่มุมที่ไม่เคยพบมาก่อน จนนำมาสู่งานในแบบปัจจุบันนี่แหละ


 

หลืบแง่มุมที่ว่าคืออะไร

เราว่าเราคือคนขี้เกียจที่ซ่อนอยู่ในร่างของคนบ้างาน (หัวเราะ) เหมือนเรามีรากแห่งความขี้เกียจกองอยู่ข้างล่างที่ไม่เคยโชว์ที่ไหนมาก่อน จนการทำเพลงนี่แหละที่ทำให้ได้ค้นพบว่าเราขี้เกียจขนาดไหน ชอบอยู่เฉยๆ เพียงใด และอินในสิ่งธรรมดาๆ ได้ขนาดนี้เลยเหรอ

(นิ่งคิด) แต่อาจเป็นเพราะก่อนหน้า ด้วยจังหวะชีวิตทำให้เราต้องตะบี้ตะบันกับตัวเองและการงานเยอะด้วยมั้ง พอพาตัวเองมาอยู่จุดพักที่หนึ่งของการปีนเขาได้ เราจึงมีโอกาสได้สำรวจรอบตัวมากขึ้นเสียที  ถึงปีนเขาขึ้นไปต่อเราก็ไม่จำเป็นต้องรีบเท่าเดิมเพราะปีนขึ้นมาได้ประมาณหนึ่งแล้ว อีกอย่างคือตอนนี้การแวะพักกินกาแฟระหว่างทางมีความสุขมากกว่าด้วย

จะว่าไปฟังดูเป็น ‘ช่วงชีวิตสามสิบบวก’ ได้จริงๆ ด้วยแฮะ

 

แต่เราจะไม่ใช้คำนั้น

ใช่ (หัวเราะ) 


 

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าในงานเพลง คุณมองตัวเองเป็นคนเล่าเรื่องมากกว่านักร้อง แล้วกับอัลบั้มนี้คุณอยากเล่าเรื่องอะไร

ไม่ได้มีเรื่องหลักขนาดนั้น แต่เรามองว่ามันคือการพูดถึงความสัมพันธ์ของคนต่อสิ่งรอบตัว เหมือนกับชื่ออัลบั้ม (In a Relationship With_) น่ะแหละ ทั้งหมดไม่ได้มีเมสเสจเดียว เพราะแต่ละความสัมพันธ์มีเนื้อหาแตกต่างกันไป
 

เมื่อกี๊คุณบอกว่าเพลงจะงอกมาตามวันเวลาของชีวิต แปลว่าความสัมพันธ์คือสิ่งที่คุณสนใจในปัจจุบัน

ว่าอย่างนั้นก็ได้ เพราะพอเดินช้าลง เราเริ่มเห็นรายละเอียดมากขึ้น เริ่มสัมผัสคนอื่นและตัวเองได้ พูดแล้วฟังดูจั๊กจี้จังแฮะ  (หัวเราะ) แต่คือเรื่องจริงน่ะ เราเริ่มหยิบเอาเรื่องธรรมดามาเขียนเป็นเพลง เพราะเรารู้สึกกับมันมากขึ้นจริงๆ 

ยกตัวอย่างเพลง ดูดฝุ่น ก็ได้ เรารู้สึกว่ากับคนพิเศษ มันไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่พิเศษมากมายหรอก แค่ทำอะไรธรรมดาๆ ด้วยกันก็มีความสุขจะตาย แต่บอกแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเรามองเพลงรักแบบอื่นไม่ดีนะ มันดีและมีคนชอบในแบบของเขาแหละ เพียงแต่ปัจจุบันเราเชื่อมโยงกับความธรรมดามากกว่า เลยเขียนเพลงแบบนี้ออกมาเพราะอยากซื่อสัตย์กับความรู้สึกตัวเอง 

แต่มีแอบคิดแหละ ว่าคนทั่วไปอาจเชื่อมโยงกับความธรรมดาด้วยมั้ง ต้องมีคู่รักที่เลือกอยู่บ้านดูดฝุ่นในวันอาทิตย์เหมือนกันบ้าง (ยิ้ม)


 

คุณเพิ่งให้สัมภาษณ์ว่าเนื้อร้องที่คุณเขียน หลังๆ ไม่ได้ใช้คำที่ ‘มาก’ เท่าเดิมแล้ว  อยากให้ช่วยขยายความให้ฟังหน่อย มันเกี่ยวกับชีวิตช่วงนี้ของคุณหรือเปล่า

เราว่ามันคือการที่เราไม่พยายามใช้คำสละสลวยเท่าเดิม อย่างถ้าเทียบกับสมัยก่อน เวลาเขียนเพลงเราจะพยายามใช้คำที่มีวรรณศิลป์หน่อย คราฟต์เป็นคำๆ เพราะทุกคนในยุคนั้นทำแบบนั้น แต่พอมาช่วงอัลบั้มนี้ เรามีความ ‘อยากเขียนอะไรก็เขียน’ มากขึ้น มีความ ‘เอาแบบนี้แหละ ประมาณนี้แหละ’ มากขึ้น ซึ่งก็คงเกี่ยวกับช่วงชีวิตด้วย

คือเรายังคราฟต์เท่าเดิมนะ แต่เป็นการคราฟต์แบบถ้าเขียนแล้วไม่ดี เราเขียนใหม่ดีกว่า ไม่พยายามแก้เป็นคำๆ เหมือนเดิมแล้ว

 

ถ้าให้นิยามเนื้อเพลงที่ตัวเองเขียนแล้วผ่าน ในปัจจุบันคุณมองว่าเป็นเนื้อเพลงแบบไหน

(นิ่งคิด) กลับไปที่เรื่องเดิม คือเป็นเนื้อเพลงที่เราชอบเลย ไม่รู้จะอธิบายยังไง แต่คงเป็นการที่เราฟังแล้วชอบไหม รู้สึกกับเพลงหรือเปล่า ถ้าคำตอบคือไม่ เราก็เขียนใหม่ ที่เขียนมาแล้วก็ทิ้ง แค่นั้น

 

ทิ้งไปเยอะไหม

เยอะมาก (ตอบทันที) เรามีเศษเพลงอย่างพวกลูป ทำนอง หรือเนื้อร้องที่ไม่เสร็จและไม่ได้ไปต่อเยอะมาก ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการที่พอทำไปแล้วเราชอบไม่มากพอ ต่างจากอันที่เราชอบ เราจะอยากหยิบมาทำต่อเองแบบไม่ต้องฝืน ดังนั้นมั่นใจได้ว่าทั้ง 13 เพลงในอัลบั้มเป็นเพลงที่เราชอบแน่ๆ ครับ เพราะเราสามารถทำจนเสร็จ


 

คุณกลับไปฟังเพลงเก่าๆ ของตัวเองบ้างหรือเปล่า

ไม่ค่อย แต่อย่างล่าสุดกลับไปฟังก็ได้แต่คิดว่าทำไมร้องเสียงสูงจัง หรืออย่างเพลงแรกๆ ก็มีคิดบ้างว่าโห ร้อนวิชาจังเลย เพิ่งเรียนปรัชญามา แล้วพยายามทำเพลงพูดถึงเพลโตเนี่ยนะ ห้าวเหมือนกันนะเรา (หัวเราะ)

 

เอาจริงถ้านับจากเพลงแรกของ Ten To Twelve เวลาผ่านมา 14 ปีแล้ว คุณค้นพบการเปลี่ยนผ่านในตัวเองผ่านเพลงบ้างไหม 

มีแน่นอน เพราะเรามองเพลงเป็นการเล่าเรื่อง ดังนั้นเรื่องที่เล่า เรื่องที่สนใจหรือแม้กระทั่งน้ำเสียงที่เล่า มันเปลี่ยนไปตามกาลเวลาอยู่แล้ว และไม่ใช่แค่เพลงด้วย อย่างบทสัมภาษณ์ที่กำลังคุยกันอยู่ ถ้าอนาคตเรากลับมาอ่านอาจค้นพบว่าตัวเองเปลี่ยนไปได้เหมือนกัน
 

สิ่งนี้ส่งผลดีต่อคุณไหม

อย่างที่บอกไป ปัจจุบันเรามองผลงานตัวเองเป็นเหมือนชุดบันทึกความรู้สึก งานทำหน้าที่คล้ายไดอารี่ ดังนั้นมันดีกับเราอยู่แล้วในบริบทนั้น มันส่งผลให้เราซื่อสัตย์และจริงใจต่อสิ่งที่ทำมากขึ้น ยิ่งเมื่อประกอบกับหลายๆ อย่าง เรารู้สึกว่าตัวเองได้เติมเต็มมากกว่าเดิมนะ

ซึ่งหวังว่าในอนาคตจะทำได้แบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ เลย


 

ภาพถ่ายโดย : ณัชชา หาญภักดีปฏิมา