Jackson Pollock ศิลปินหัวขบถแห่งโลกศิลปะ
“ทุก ๆ ช่วงเวลาหนึ่ง จะมีศิลปินคนหนึ่งเกิดขึ้นมาทำลายขนบทางศิลปะที่มีอยู่ก่อน เซซานเคยทำไปแล้ว ปิกาโซก็เคยทำไปแล้วด้วยศิลปะบาศกนิยม แล้วโลกก็มีพอลล็อก เขากวาดความคิดดั้งเดิมที่เราเคยมีต่อภาพวาดทั้งหมดลงเหวไปเลย ซึ่งมันก็ต้องเป็นเช่นนั้นแหละ ถึงจะมีภาพวาดใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาได้” - Willem de Kooning ศิลปิน Abstract Expressionism ชาวอเมริกันเชื้อสายดัตช์
แจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) คือหนึ่งในศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของขบวนการทางศิลปะในช่วงยุคศตวรรษที่ 20 ผู้ทำลายขนบการสร้างงานศิลป์แบบดั้งเดิมในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการ เครื่องมือ พู่กันก็โยนทิ้งไป การจัดวางองค์ประกอบศิลป์แบบเดิม ๆ ก็ปลิดปลิวไปซะ แล้วเหลือไว้แต่เพียงสองมือ ถังสี และผืนผ้าใบเท่านั้น
พอลล็อกยังเป็นเสมือนผู้ชี้นำทางให้กับศิลปินยุคหลังในเรื่องของการ ‘ถ่ายทอดตัวตนของตัวเอง’ (Self-expression) ออกมาในผลงานโดยไม่ต้องคำนึงถึงผู้รับสารว่าจะเข้าใจหรือไม่ เขาคือผู้ปลดปล่อยศิลปินยุคหลังจากขนบใด ๆ ที่โลกเคยมี และประกาศกร้าวว่า “ศิลปินยุคนี้ไม่จำเป็นต้องไปหาซับเจกต์หรือหัวข้อที่อยู่นอกเหนือไปจากตัวเอง ศิลปินสมัยใหม่สร้างสรรค์ผลงานจากแหล่งที่ต่างกัน พวกเขาทำงานออกมาจากข้างใน”
เนื่องในโอกาสที่สัปดาห์นี้จะเป็นวันเกิดของแจ็กสัน พอลล็อก คอลัมน์ The Arts of Being An Artist ประจำสัปดาห์นี้ เราจึงจะขอพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับตัวตนและผลงานของหัวขบถแห่งโลกศิลปะผู้นี้ เพื่อชวนให้ทุกคนไปร่วมสุขสันต์วันเกิดและรำลึกถึงศิลปินคนนี้ด้วยกัน
พอล แจ็กสัน พอลล็อก เกิดเมื่อวันที่ 28 มกราคม 1912 ที่เมือง Cody รัฐไวโอมิง เขาเป็นน้องนุชสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 5 คน ในครอบครัวที่มีเชื้อสายไอริช-สก็อตติช ด้วยความที่พ่อของเขาเป็นช่างรังวัดที่ดินซึ่งต้องเดินทางไปทั่วพื้นที่ตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา จนทำให้แม่ของเขาที่เป็นช่างตัดเสื้อตัดสินใจหอบลูก ๆ ย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งทำให้พอลล็อกไปเติบโตในรัฐแอริโซนา และแคลิฟอร์เนียในภายหลัง ซึ่งในช่วงชีวิตหนึ่งที่พอลล็อกอาศัยอยู่ในเมืองฟินิกซ์ รัฐแอริโซนา เขาก็เริ่มผูกพันและหลงใหลในความงดงามของธรรมชาติ เด็กชายพอลล็อกเริ่มสนใจในชีวิตสัตว์โลกและทัศนียภาพของผืนแผ่นดินที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา และในช่วงนี้เองที่เขาได้รู้จักกับศิลปะของชาวอเมริกันพื้นถิ่น หรือชาวอินเดียแดง ซึ่งเป็นศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อสะท้อนและเฉลิมฉลองชีวิต การกำเนิด ความตาย วัฒจักรชีวิต ธรรมชาติ และสัตว์ ที่ในเวลาต่อมาจะกลายเป็นรากฐานของความคิดในการสร้างงานศิลปะของเขา
‘Guardians of the Secret’ (1943) ผลงานของพอลล็อกที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลที่พอลล็อกดึงมาจากศิลปะของชาวอเมริกันพื้นถิ่น โดยปกติแล้วศิลปะของชาวอเมริกันพื้นถิ่นจะเป็นการนำเสนอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่พวกเขาเคารพบูชา ซึ่งใน Guardians of the Secret ก็จะเห็นว่ามีสิ่งที่ดูเหมือนเสา 2 ต้นขนาบอยู่ด้านซ้ายและขวาของภาพ ทำให้เกิดเป็น ‘ภาพในภาพ’ โดยนักวิเคราะห์ศิลปะก็มองว่า เสาทั้งสองต้นน่าจะทำหน้าที่เป็นผู้ปกปักหรือ ‘Guardian’ ของภาพที่อยู่ด้านใน ทำให้ภาพนี้คือการนำเสนอ ภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในวิถีของพอลล็อก
ในปี 1930 พอลล็อกก็ย้ายตามพี่ชายคือ ชาร์ลส์ พอลล็อก (Charles Pollock) ไปยังกรุงนิวยอร์ก ที่ซึ่งเขาได้ร่ำเรียนทฤษฎีทางศิลปะกับ โทมัส ฮาร์ต เบนตัน (Thomas Hart Benton) ศิลปินจิตรกรรมภาพฝาผนังผู้เป็นหัวหอกคนสำคัญของขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะภูมิภาคนิยมหรือ Regionalism ซึ่งเป็นสไตล์ทางศิลปะที่เกิดขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ในสหรัฐอเมริกา โดยศิลปิน Regionalism จะมุ่งนำเสนอภาพทิวทัศน์ของบ้านเกิดหรือภูมิภาคที่ตนเองอาศัยอยู่ ทำให้ศิลปะแขนงนี้มีความสำคัญในฐานะภาพบันทึกภูมิทัศน์ท้องถิ่นหรือชนบทในสหรัฐอเมริกาที่อยู่ห่างไกล ต่างจากศิลปะกระแสหลักทั่วไปที่มักจะนำเสนอภาพและวิถีชีวิตของคนในเมืองใหญ่
ในช่วงที่พอลล็อกเป็นลูกศิษย์ของเบนตันนี้เองที่พอลล็อกได้ศึกษาเทคนิคการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง โดยช่วงนี้เขายังได้ทำความรู้จักกับ โคเซ คลีเมนต์ ออรอซโก้ (José Clemente Orozco) ศิลปินชาวเม็กซิกันผู้เป็นตัวพ่อของจิตรกรรมฝาผนัง นอกจากนี้พอลล็อกยังได้ใช้เวลาในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนไปกับการสำรวจผลงานของ ดิเอโก ริเบรา (Diego Rivera) ที่อยู่ที่ New York Workers School (ศูนย์ฝึกอาชีพของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งนิวยอร์ก)
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในการศึกษาวิธีการทางศิลปะของพอลล็อกเกิดขึ้นเมื่อเขาได้เข้าร่วมเวิร์คชอปศิลปะทดลองที่จัดขึ้นโดยศิลปินจิตรกรรมฝาผนังตัวพ่อชาวเม็กซิกันอีกคนอย่าง เดวิด อัลฟาโร ซิเควรอส (David Alfaro Siqueiros) ในปี 1936 ซึ่งจุดประสงค์หลักของเวิร์คชอปครั้งนี้ก็คือการทดลองทำงานศิลปะด้วยสีที่อยู่ในรูปของเหลวในแบบต่าง ๆ
สิ่งที่พอลล็อกได้เก็บเกี่ยวไปจากเวิร์คชอปครั้งนี้ก็คือเทคนิคการสาดสีเทสี (Paint Pouring) ซึ่งจะเป็นเทคนิคสำคัญที่พอลล็อกใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานในช่วงต้นยุค 1940s และหลังจากเวิร์คชอปนี้เป็นต้นมา วิธีการทำงานของพอลล็อกก็จะเป็นการปูผืนผ้าใบขนาดใหญ่ไว้บนพื้นในสตูดิโอ จากนั้นเขาจะสะบัดพู่กันหรือแปรงสีลงไปบนผืนผ้าใบโดยไม่คำนึงว่ารอยสีที่สาดลงไปนั้นจะกลายเป็นรูปรอยอะไร ซึ่งในกาลต่อมา เทคนิคนี้จะกลายเป็นเทคนิคศิลปะที่แพร่หลายในกลุ่มศิลปินนามธรรมที่รู้จักกันดีในชื่อ Drip Technique
การทำงานบนผืนผ้าใบที่ถูกวางไว้ในแนวราบนี้ก็ทำให้พอลล็อกสามารถมองเห็นภาพรวมของงานของเขาในมุมมองที่แตกต่าง ด้วยการทำงานกับผ้าใบแนวนอนนี้ พอลล็อกจะใช้อุปกรณ์อื่น ๆ นอกเหนือจากพู่กัน ไม่ว่าจะเป็นผ้าเช็ดตัว แปรงสี กิ่งไม้ นำมาจุ่มลงในถังสี แล้วสะบัดลงไปบนผืนผ้าใบ ซึ่งเทคนิคการ Drip นี้ ก็ทำให้พอลล็อกได้ชื่อเล่นใหม่ว่า ‘Jack the Dripper’
การสร้างสรรค์งานศิลปะของพอลล็อกด้วยวิถีใหม่นี้ยังเกิดศัพท์ทางศิลปะใหม่ที่เรียกว่า Action Painting ซึ่งหมายถึงการที่ศิลปะใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสรรค์ภาพวาด ทั้งการสะบัดข้อมือ การวาดแขน
ในช่วงพีคสุดของชีวิต พอลล็อกเริ่มติดแอลกอฮอล์อย่างหนัก ช่วงปี 1938 - 1941 พอลล็อกต้องเข้าออกสถานบำบัดผู้ติดสุราเรื้อรังอยู่บ่อยครั้ง จนทำให้เขาได้ผูกมิตรกับแพทย์จิตเวชอย่าง ดร.โจเซฟ แอล. เฮนเดอร์สัน (Dr. Joseph L. Henderson) ซึ่งกลายมาเป็นที่ปรึกษาด้านศิลปะของเขา เฮนเดอร์สันคือผู้ที่แนะนำให้พอลล็อกใช้ศิลปะในการบำบัด และเป็นผู้ที่แนะนำให้พอลล็อกศึกษาทฤษฎีจิตวิเคราะห์แบบ Jungian (ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ที่คิดค้นโดย คาร์ล ยุง ที่เน้นการสร้างความสมดุลย์ระหว่างจิตสำนึกและจิตไร้สำนึก) เพื่อนำมาใช้ในการทำงานศิลปะของพอลล็อก โดยในช่วงนี้พอลล็อกก็หันไปศึกษาผลงานของศิลปินบาศกนิยมอย่าง ฌูอัน มิโร (Joan Miro) และ ปาโบล ปิกาโซ (Pablo Picasso) ที่ใช้รูปทรงสมมาตรและเส้นสายในการถ่ายทอดความรู้สึกและประสบการณ์การรับรู้ รวมไปถึงมุมมองอันหลากหลายในการถ่ายทอดความเป็นจริง
แม้ว่าจะประสบกับปัญหาสภาวะทางจิตใจและการติดแอลกอฮอล์ แต่พอลล็อกก็ยังแสดงความมั่นใจและความเชื่อมั่นในวิถีการสร้างสรรค์ผลงานของเขา ในช่วงนี้พอลล็อกได้พบและผูกมิตรกับ ฮันส์ ฮอฟมานน์ (Hans Hofmann) ศิลปินชั้นครูในสายสำแดงพลังอารมณ์แนวนามธรรม (Abstract Expressionism) โดยมีเรื่องเล่าว่า ฮอฟมานน์เคยบอกกับพอลล็อกว่า เขาต้องทำงานกับธรรมชาติให้มากขึ้น แต่พอลล็อกก็ตอบกลับไปว่า
ผมไม่วาดธรรมชาติ ผมคือธรรมชาติ” ("I don't paint nature, I am nature.")
หลังปี 1951 ผลงานของพอลล็อกจะมีโทนที่มืดหม่นมากขึ้น หนึ่งในผลงานชิ้นสำคัญช่วงนี้ก็คือคอลเลกชั่นผลงานที่ใช้สีดำสาดลงไปบนผ้าใบ ซึ่งถูกเรียกว่าคอลเลกชั่น Black Pouring พอลล็อกได้นำผลงานชุดนี้ไปจัดแสดงที่ Betty Parsons Gallery และผลตอบรับที่ได้ก็คือความเงียบสงัด ผลงานของเขาในชุดนี้ไม่มีชิ้นไหนที่ขายได้เลย แต่แม้ว่างานชุดนี้จะไม่ได้รับการตอบรับที่ดีนักจากผู้ชมในยุคนั้น แต่ก็เป็นผลงานที่สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามในการหาจุดกึ่งกลางระหว่างความนามธรรมและการนำเสนอสัญญะของพอลล็อก
ในช่วงที่พอลล็อกทดลองหาจุดกึ่งกลางระหว่างนามธรรมกับสัญญะ พอลล็อกก็ได้ลด ละ เลิก การตั้งชื่องานด้วยคำหรือประโยค แล้วหันมาตั้งชื่อภาพด้วยตัวเลขแทน โดยพอลล็อกก็ให้เหตุผลว่า การตั้งชื่อด้วยตัวเลขทำให้ภาพนั้น ๆ ไม่มีชื่อมาชี้นำความคิดผู้ชม ไม่บอกใบ้ผู้ชมถึงสารใด ๆ ของภาพ และไม่นำเสนอไอเดียใด ๆ ของศิลปินเลย ซึ่งก็เข้ากับความตั้งใจของเขาที่จะให้ผู้ชมรู้สึกและตีความภาพด้วยประสบการณ์ของตัวเอง
ลี คราสเนอร์ (Lee Krasner) ศิลปินผู้เป็นคู่ชีวิตของพอลล็อกเคยเล่าว่า “เขา (พอลล็อก) เคยตั้งชื่อภาพด้วยคำและประโยค แต่ในเวลาต่อมาเขาก็แค่ตั้งชื่อภาพด้วยตัวเลขง่าย ๆ เพราะตัวเลขเป็นอะไรที่เป็นกลางมาก ๆ มันทำให้ผู้ชมได้เห็นภาพในแบบที่มันเป็น… เป็นภาพวาดที่แท้จริง”
พอลล็อกเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถยนต์ในปี 1956 ด้วยวัยเพียง 44 ปี แม้จะมีอายุการทำงานที่แสนสั้น แต่พอลล็อกก็ได้ทิ้งมรดกสำคัญไว้ให้โลกศิลปะ เขาคือผู้พร่าเลือนเส้นแบ่งศิลปะยุคใหม่ ทั้ง Cubism, Surrealism และ Impressionism
คำพูดของนักวิจารณ์ศิลปะ แฮโรลด์ โรเซนเบิร์ก (Harold Rosenberg) ที่เคยพูดถึงพอลล็อก อาจจะเป็นคำอธิบายมรดกที่พอลล็อกได้ทิ้งไว้ได้ดีที่สุด โดยโรเซนเบิร์กได้กล่าวถึงพอลล็อกว่า เขาเปิดให้เราได้เห็นว่าผืนผ้าใบไม่ใช่แค่
“พื้นที่ของการผลิตสร้าง ออกแบบ วิเคราะห์ หรือนำเสนอวัตถุใดวัตถุหนึ่งในมุมมองใหม่เท่านั้น แต่ผืนผ้าใบของพอลล็อกยังเป็นพื้นที่ของการแสดงด้วย”
ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงวิถีการสร้างผลงานด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายหรือ Action Paintng ของพอลล็อก ซึ่งในกาลต่อมาก็เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินแสดงสด (Performance Artist) รุ่นหลังด้วย
อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Jackson_Pollock https://www.theartstory.org/.../pollock.../life-and-legacy/ https://www.theartstory.org/.../pollock.../life-and-legacy/ https://www.kazoart.com/.../art-in-a-minute-jackson-pollock/