ใครที่เคยคิดว่างานกราฟฟิตี้เป็นแค่ศิลปะข้างถนนของเด็กมือบอนคงต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะศิลปินกราฟฟิตี้นิวมีเดีย นักเขียน และแฮคเกอร์ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันอย่าง KATSU (คัตสึ) ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าเขาสามารถพางานกราฟฟิตี้ที่เคยโดนดูแคลนให้ก้าวไปได้ไกลกว่าครั้งไหน ๆ ด้วยการนำมันเข้าไปผสมผสานกับเทคโนโลยี จนเกิดเป็นผลงานกราฟฟิตี้รูปแบบใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความบ้าคลั่ง ความสร้างสรรค์ และการท้าทายขนบงานศิลปะดั้งเดิม

ใครที่เคยคิดว่างานกราฟฟิตี้เป็นแค่ศิลปะข้างถนนของเด็กมือบอนคงต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะศิลปินกราฟฟิตี้นิวมีเดีย นักเขียน และแฮคเกอร์ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันอย่าง KATSU (คัตสึ) ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าเขาสามารถพางานกราฟฟิตี้ที่เคยโดนดูแคลนให้ก้าวไปได้ไกลกว่าครั้งไหน ๆ ด้วยการนำมันเข้าไปผสมผสานกับเทคโนโลยี จนเกิดเป็นผลงานกราฟฟิตี้รูปแบบใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความบ้าคลั่ง ความสร้างสรรค์ และการท้าทายขนบงานศิลปะดั้งเดิม

KATSU ศิลปินหัวขบถที่ผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับงานกราฟฟิตี้

ใครที่เคยคิดว่างานกราฟฟิตี้เป็นแค่ศิลปะข้างถนนของเด็กมือบอนคงต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ เพราะศิลปินกราฟฟิตี้นิวมีเดีย นักเขียน และแฮคเกอร์ชาวญี่ปุ่น-อเมริกันอย่าง KATSU (คัตสึ) ก็ได้พิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าเขาสามารถพางานกราฟฟิตี้ที่เคยโดนดูแคลนให้ก้าวไปได้ไกลกว่าครั้งไหน ๆ ด้วยการนำมันเข้าไปผสมผสานกับเทคโนโลยี จนเกิดเป็นผลงานกราฟฟิตี้รูปแบบใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความบ้าคลั่ง ความสร้างสรรค์ และการท้าทายขนบงานศิลปะดั้งเดิม

แม้ข้อมูลส่วนตัวเกี่ยวข้องกับตัวตนที่แท้จริงของ KATSU จะไม่ได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณชนมากนัก แต่เราก็พอทราบคร่าว ๆ ว่า เขาจบการศึกษาจาก Parsons School of Design และเริ่มสร้างชื่อเสียงในวงกว้างในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จากงานกราฟฟิตี้สุดบ้าบิ่นที่เขาไป ‘บอมบ์’ และ ‘แท็ก’ ลายเซ็นหัวกะโหลกของเขาไว้ในหลายเมืองทั่วสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะในเมืองสำคัญของโลกศิลปะไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ค ซานฟรานซิสโก หรือลอสแอนเจลิส และยังขึ้นมาเป็นผู้นำของวงการกราฟฟิตี้โลกด้วยการเป็นผู้ริเริ่มใช้โดรนในการสร้างงานศิลปะอย่างอิสระ รวมถึงการประยุกต์สื่อนิวมีเดียเข้ากับไอเดียสดใหม่ไร้กฎเกณฑ์ จนเกิดเป็นโลกของงานกราฟฟิตี้กลิ่นอายใหม่ที่ไม่เคยมีใครเข้ามาย่างกรายมาก่อน

ซึ่งไอเดียสุดล้ำของเขาก็ไม่เพียงได้รับการยอมรับแค่ในวงการศิลปะเท่านั้น แต่ยังไปเตะตา Virgil Abloh (เวอร์จิล แอบโลห์) ดีไซน์เนอร์และผู้อํานวยการสร้างสรรค์ของแบรนด์แฟชั่นขวัญใจวัยรุ่นสายสตรีท Off-White™ เข้าอย่างจัง จนไปดึงตัว KATSU มาร่วมออกแบบเสื้อผ้าในคอลเลคชั่นใหม่ในชื่อว่า ‘OFFKAT’ ที่หยิบเอาลายเซ็นหัวกะโหลกและลายสีสเปรย์สุดแปลกตาจากโดรนคู่ใจของ KATSU มาผสมผสานกับแฟชั่นเท่ ๆ ของ Off-White™ จนเกิดเป็นคอลเลคชั่นที่ดูสนุกสนานและท้าทายทุกกฎเกณฑ์

หลังจากที่เราได้เห็นการคอลแลบระดับแมทช์หยุดโลกในครั้งนี้แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกตื่นเต้นสุด ๆ เพราะทั้งตัว  Off-White™ และ KATSU ก็เป็นแบรนด์และศิลปินฝีมือดีที่เต็มไปด้วยไอเดียสดใหม่ท้าทายกรอบแนวคิดแบบเดิม ๆ อยู่เสมอ เราจึงอยากชวนทุกคนมาย้อนดูตัวตนและผลงานสุดเท่แสนกวนของ KATSU ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ได้เข้ามาพลิกโฉมหน้าวงการกราฟฟิตี้โลกไปตลอดกาล

หลาย ๆ คนมักจะจดจำ KATSU ได้จากลายเซ็นรูปหัวกะโหลกที่เขาพาไปเฉิดฉาย (โดยไม่ได้รับเชิญ) ตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง โดยไอเดียของมันเกิดจากการที่เขาต้องการจะใช้รูปหัวกะโหลกเป็นตัวแทนชีวิตของเขาที่เต็มไปด้วยความขบถและความท้าทาย เขาใช้มันเป็นเครื่องมือในการวิพากษ์พื้นผิว โครงสร้าง และพื้นที่สาธารณะ นอกจากนั้น เขายังออกแบบมันให้มีรูปทรงที่เรียบง่าย สามารถใช้แท็กลายเซ็นได้รวดเร็วด้วยการลากเส้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

แต่ความบ้าดีเดือดของ KATSU ก็ยังไม่หยุดแค่เพียงการสร้างสรรค์ผลงานข้างถนนเท่านั้น เพราะในช่วงปี 2010 เขายังปล่อยคลิปวีดีโอการแท็กพ่นลายเซ็นด้วยสีสเปรย์ในสถานที่สาธารณะที่สร้างเสียงฮือฮาในโลกอินเตอร์เน็ตในระดับไวรัลออกมาถึง 2 คลิป คลิปแรกคือที่บริเวณรั้วด้านนอก White House หรือทำเนียบขาวที่เป็นที่พำนักของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และอีกคลิปคือที่พิพิธภัณฑ์ Museum of Modern Art (MoMA) ในนิวยอร์ค ที่ครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพียงบริเวณด้านนอกอีกต่อไป แต่เป็นการพ่นทับบนภาพจิตรกรรมชิ้นเอกของโลกอย่าง ‘Girl Before a Mirror’ ของปิกัสโซ! 

ถึงแม้ในเวลาต่อมา วีดีโอทั้งสองคลิปจะได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นเพียงการตัดต่อผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และไม่เคยมีใครเข้าไปพ่นทำลายผลงานจริง ๆ แต่มันก็เป็นข้อพิสูจน์แล้วว่า KATSU กำลังพางานกราฟฟิตี้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการเปลี่ยนการทำงานในรูปแบบกายภาพมาสู่รูปแบบดิจิทัลกราฟฟิตี้ที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้างได้ไม่ต่างกัน

ชมวีดีโอการพ่นลายเซ็นทิพย์ได้ที่:
https://youtu.be/ogRaRgykVT0
https://youtu.be/_rEu50n8EDA 

อย่างไรก็ดี KATSU ก็ยังไม่ลืมการทำงานสุดขบถบนท้องถนน เขายังคงวนเวียนทำงานกราฟฟิตี้ทั่วนิวยอร์คเหมือนเคย ซึ่งหนึ่งในโปรเจกต์ที่น่าจดจำที่สุดของเขาในช่วงปี 2011 ก็คงหนีไม่พ้นการที่เขาแอบถอดป้ายโฆษณาบนตู้โทรศัพท์กว่า 100 ตู้ทั่วเมือง และแทนที่ด้วยโปสเตอร์โฆษณาปลอมที่นำรูปใบของเหล่าหน้าเซเลบคนดัง พร้อมด้วยโลโก้บริษัทและสถาบันยักษ์ใหญ่ของโลกมาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาต

ฝากรอยพ่นเอาไว้ที่ฝั่ง East Coast ยังไม่สาแก่ใจ KATSU ก็ขยับข้ามประเทศมาที่ลอสแอนเจลิส ซึ่งเป้าหมายในครั้งนี้ของเขาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ Museum of Contemporary Art, Los Angeles (MOCA) โดยเขาได้นำถังดับเพลิงที่มีแรงฉีดพ่นสูงมาใช้ฝากชื่อ KATSU ไว้บนบริเวณกำแพงด้านนอกของพิพิธภัณฑ์ ที่ครั้งนี้ไม่ใช่การพ่นทิพย์อีกต่อไป แต่เป็นการพ่นจริง ถ่ายจริง เพื่อเป็นการเสียดสีนิทรรศการ ‘Art in the Street’ ซึ่งเป็นงานที่ภัณฑารักษ์และนักสะสมงานศิลปะชื่อดังอย่าง เจฟฟรีย์ ไดทช์ ได้จัดขึ้น และกำลังถูกวิจารณ์ถึงการทำให้ประวัติศาสตร์ของงานกราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ตดู ‘สะอาดหมดจด’ ขัดแย้งกับจิตวิญญาณของมัน และนี่เองก็เป็นอีกหนึ่งครั้งที่ KATSU ได้เล่นสนุกกับการนำถังดับเพลิงมาใช้ในพื้นที่สาธารณะ ที่แม้ว่ามันจะไม่ใช่ของใหม่ในวงการกราฟฟิตี้ซะเดียว แต่ก็ถือเป็นเครื่องมือใหม่ที่​เขาในขณะนั้นกำลังให้ความสนใจ เพราะหลังจากเหตุการณ์ที่ MOCA ในครั้งนั้น KATSU ก็ยังนำถังดับเพลิงไปใช้สร้างสรรค์งานกราฟฟิตี้ในอีกหลายที่

ชมวีดีโอการใช้ถังดับเพลิงพ่นบนกำแพงด้านนอกพิพิธภัณฑ์ MOCA ได้ที่:
https://youtu.be/0I2mX8coJ1c 

ในระหว่างที่ยังทำงานศิลปะบนท้องถนน  KATSU ก็ได้พัฒนาอีกหนึ่งเทคนิคที่มาเปลี่ยนนิยามของงานกราฟฟิตี้ไปตลอดกาลด้วยการสร้างงานศิลปะจากการควบคุมโดรนที่ถูกพัฒนาให้สามารถบินพ่นสีสเปรย์ได้จากรีโมทในที่ไกล ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นกำแพงที่อยู่สูงแค่ไหนก็ไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งสารท้าทายของเขาอีกต่อไป !

โดยในปี 2015 ชื่อของเขาก็ได้ดังกระฉ่อนขึ้นมาอีกครั้งจากการที่เขาแอบเอาโดรนคู่ใจไปพ่นทับบนใบหน้าของนางแบบสาวคนดังอย่าง เคนดัล เจนเนอร์ บนป้ายโฆษณาบิลบอร์ดในนิวยอร์ค และนี่เองก็ยิ่งทำให้เกิดการถกเถียงในสังคมวงกว้างมากขึ้นไปอีกว่า การกระทำดังกล่าวของ KATSU ถือเป็นการสร้างงานศิลปะแบบนอกกรอบหรือเป็นการทำลายทรัพย์สินสาธารณะกันแน่?

ชมวีดีโอการพ่นสีทับหน้าสาวเคนดัลได้ที่:
https://youtu.be/We12p6yvNW0 

KATSU ก็ยังคงมุ่งหน้าพัฒนางานศิลปะจากการบินโดรนต่อไป โดยนำมาต่อยอดและใช้แท็กลายเซ็นของเขาในอีกหลายต่อหลายครั้งต่อมา รวมทั้งยังใช้โดรนสร้างผลงานศิลปะใน ‘Remember the Future’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขากับ The Hole แกลเลอรี่คู่บุญในนิวยอร์คในปี 2015 ด้วย โดยในเวลานั้น ถึงเขาจะใช้โดรนเป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน แต่ก็ยังคงบังคับและกำหนดทุกอย่างด้วยตัวเองเป็นหลัก

ในปี 2017 KATSU ก็ได้ก้าวล้ำไปอีกขึ้นด้วยการนำเอานวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์อย่าง AI มาใช้รวบรวมภาพ Mugshot ขาวดำที่ใช้ถ่ายภาพนักโทษในคดีอาชญากรรมต่าง ๆ ในอดีต และสร้างเป็นภาพถ่ายบุคคลชิ้นใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่จริงในนิทรรศการเดี่ยว ‘AI Criminals’ เพื่อต้องการพูดถึงความน่ากลัวของระบบอัลกอริทึมที่ยากต่อการควบคุมของมนุษย์และเต็มไปด้วยอคติ

และในนิทรรศการ ‘Memory Foam’ เมื่อปี 2018 KATSU ก็นำไอเดียดังกล่าวมาต่อยอด รวมทั้งมีการทำเทคโนโลยี VR เข้ามาผนวกรวมกับการสร้างสรรค์ผลงานในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย โดยมีโดรนคู่ใจกลับมาเป็นสร้างงานจิตรกรรมสุดแปลกตาอีกครั้ง ซึ่งความพิเศษของผลงานในครั้งนี้อยู่ที่การเขียนโปรแกรมวางแผนการบินของเหล่าโดรนล่วงหน้า โดยไม่ต้องควบคุมผ่านตัวเขาแบบเรียลไทม์อีกต่อไป ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า KATSU ก้าวสู่การเป็นศิลปินแนวทดลองที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้สร้างงานศิลปะเต็มตัว

และใน ‘DOT’ นิทรรศการเดี่ยวเมื่อปีที่แล้วของเขา KATSU ได้นำโดรนมาใช้สร้างงานศิลปะอีกครั้ง ในครั้งนี้เขาได้แขวนผืนผ้าใบขนาดใหญ่ 7 ชิ้นไว้ในแกลเลอรี่สีขาวโพลน และนำเหล่าโดรนพระเอกหลักของงานออกบินพ่นสีอย่างอิสระ ไร้การควบคุมโดยแท้จริง ถือเป็นเป็นครั้งแรกที่พวกมันเข้ามามีบทบาทต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะโดยไม่ต้องพึ่งการเขียนโปรแกรมล่วงหน้าหรือการควบคุมจากระยะไกลอีกต่อไป

แน่นอนว่างานศิลปะที่ไม่ได้สร้างขึ้นจากมือของศิลปิน แต่กลับถูกพัฒนามาจากนวัตกรรมที่ก้าวล้ำเหล่านี้เองก็นำมาซึ่งความกังขาในใจใครหลาย ๆ คนที่ยังไม่มั่นใจถึงคุณค่าของมันว่าจะทัดเทียมกับงานศิลปะตามขนบหรือไม่? แต่ไม่ว่าคำตอบของสังคมจะเป็นอย่างไร มันคงไม่สำคัญอีกต่อไป เพราะโดรนกลายมาเป็นคู่หูข้างกายของ KATSU ที่พาเขาก้าวออกจากกรอบการสร้างสรรค์งานศิลปะแบบเดิม ๆ ไปตลอดกาลเสียแล้ว

ไม่เพียงแค่การทำงานโปรเจกต์ส่วนตัวที่มักวิพากษ์วิจารณ์วัฒนธรรมการบริโภคในระบบทุนนิยมเท่านั้น แต่ KATSU ยังเป็นสมาชิกของ FAB หรือชื่อเต็มคือ The Free Art and Technology Lab กลุ่มศิลปิน นักพัฒนา วิศกร และนักวิทยาศาสตร์ ที่รวมตัวกันเพื่อพัฒนางานในรูปแบบเทคโนโลยี Open Source ที่เชื่อในการเข้าถึงงานศิลปะและนวัตกรรมต่าง ๆ อย่างเสรี โดยตัวเขาเองก็ได้มีการแจกจ่ายข้อมูลในการพัฒนา ‘ICARUS ONE’ โดรนพ่นสีรุ่นบุกเบิกที่เขาได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา โดยแจกแจงทุกรายละเอียดตั้งแต่อุปกรณ์ที่ใช้ไปจนถึงขั้นตอนในประดิษฐ์โดยละเอียดแบบไม่มีกั๊ก 

ซึ่งนี่น่าจะเป็นเพราะเขาต้องการจะส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์งานศิลปะในที่สาธารณะ โดยไม่ต้องจำกัดตัวเองเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์เท่านั้น เห็นได้จากการที่เขาปล่อยแอพพลิเคชั่น ‘Fat Tag’ ออกมาทั้งใน iOS และ Google Play เพื่อให้ทุกคนสามารถรับบทเป็นศิลปินกราฟฟิตี้ได้ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว ด้วยการแท็กลายเซ็นของเราในสถานที่ต่าง ๆ ผ่านสื่อดิจิทัล

และล่าสุดในปี 2021 นี้เอง KATSU ก็ไปจับมือกับ เวอร์จิล แอบโลห์ ดีไซน์เนอร์และผู้อํานวยการสร้างสรรค์ของแบรนด์แฟชั่นหัวขบถอย่าง Off-White™ และร่วมกันสร้างสรรค์เสื้อผ้าในคอลเลคชั่น ‘OFFKAT’ ที่หยิบเอางานกราฟฟิตี้สีสันสดใสจากฝีมือโดรนอันเป็นเอกลักษณ์ของ KATSU มาผสมผสานกับแฟชั่นสุดล้ำของ Off-White™ จนเกิดเป็นคอลเลคชั่นที่ดูสนุกสนานและท้าทายทุกกฎเกณฑ์

โดยแอบโลห์ได้เปิดเผยว่า ตัวเขาได้ติดตามเป็นแฟนคลับมานานแล้ว จากพรสวรรค์และความกล้าบ้าบิ่นเฉพาะตัวของ KATSU อีกทั้งผลงานของ KATSU ยังมีความล้ำหน้าและการก้าวข้ามขีดจํากัดและกําแพงทางความคิดแบบเดิม ๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้เขาชักชวน KATSU มาร่วมสร้างสร้างเสื้อผ้าคอลเลคชั่นใหม่ โดยเชื่อว่าความแตกต่างของ KATSU จะมาช่วยเติมเต็มผลงานคอลเลคชั่นนี้ของ Off-White™ ได้อย่างลงตัว

โดยความพิเศษของคอลเลคชั่น OFFKAT ในครั้งนี้อยู่ที่การนำลายหัวกะโหลก ‘Skull Monkier’ และลายพ่นสเปรย์สีสันจัดจ้านจากโดรนอันเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวของ KATSU มาใช้ในการออกแบบเสื้อของทั้งชายและหญิงในรูปแบบสตรีทลักชัวรี่ นอกจากนั้น ยังเสริมความเท่ด้วยไอเทมสุดฮิปชิ้นอื่น ๆ ทั้งกระเป๋าถือ รองเท้าบูทสูง และรองเท้าหนังคัทชู ที่มาร่วมเนรมิตให้คอลเลคชั่นนี้โดยมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

นอกจากการเสื้อผ้าสุดชิคที่เป็นความร่วมมือของทั้งคู่แล้ว OFFKAT ยังล้ำสมัยไปกว่าเดิมด้วยการจัดแฟชั่นโชว์ขึ้นที่ปักกิ่งผ่านระบบไลฟ์สตรีมมิ่งใน วันที่ 10-11 กรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมทั้งได้มีการจัดนิทรรศการบริเวณถนน The Mercer Street ในนิวยอร์ก ถิ่นเก่าของ KATSU นั่นเอง

ความล้ำของการคอลแลบครั้งนี้ยังไม่จบแค่นั้น เพราะทั้งคู่ยังได้มีการพัฒนาวิดีโอเกมภายใต้ชื่อ OFFKAT ที่เปิดตัวพร้อมกับคอลเลคชั่นเสื้อผ้าในวันเดียวกัน ภายในเกมมีทั้งการสํารวจเมือง และการแข่งขันสร้างกราฟฟิตี้ โดยสามารถแข่งขันกับคนอื่น ๆ ได้แบบเรียลไทม์ ทั้งบนระบบ iOS และ Google Play ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการผสมผสานระหว่างวงการแฟชั่นกับงานกราฟฟิตี้และนิวมีเดียที่แอบโลห์และ KATSU ได้พาเราไปเปิดประตูบานใหม่ให้กับวงการแฟชั่นของโลก 

หลังจากได้เห็นความร่วมมือที่เต็มไปด้วยไอเดียสดใหม่ไร้กฎเกณฑ์ของทั้งคู่ในครั้งนี้แล้ว เราก็อดไม่ได้ที่จะรู้สึกตื่นเต้น และรอลุ้นจะได้เห็นการเดินทางครั้งใหม่ของ KATSU ที่ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร แต่เรามั่นใจเลยว่ามันจะต้อง ‘ไปสุด’ ในทุกทางแน่นอน

ติดตามผลงานของเขาได้ที่:
https://www.instagram.com/katsubot/

ชมคอลเลคชั่น Off-White™ x KATSU: OFFKAT Collection ได้ที่:
https://www.off---white.com/en-th/sets/offkat-collection
https://youtu.be/7X_JLxgUw34

แหล่งข้อมูล:
https://www.vice.com/en/article/mvxedv/katsu-shows-you-how-to-make-a-graffiti-drone-456
https://www.complex.com/style/2011/04/portfolio-review-graffiti-artist-katsu/7
https://design-milk.com/painting-drones-art-katsu/
https://dianerosenstein.com/artists/54-katsu/overview/
http://theholenyc.com/2016/08/03/katsu-2/