Biennale อุบัติการณ์งานศิลปะ ‘ทุก 2 ปี’ ที่ใหญ่ที่สุดและ ‘ดราม่า’ ที่สุดในโลกศิลปะ
“พีซีเวอร์ (ออกเสียง ‘เวอร์’ แบบไบรอัน ตัน)” “โวค (Woke) สุด ๆ” “พยายามเท่าเทียมจนตลก” ฯลฯ คือเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่อื้ออึงไปทั่วโลกศิลปะ ทันทีที่ เซลิเลีย อเลอมานี ภัณฑารักษ์ชาวอิตาเลียนผู้เป็นแม่งาน Venice Biennale ครั้งที่ 59 ประกาศรายชื่อศิลปินที่จะได้เข้าร่วมแสดงผลงาน ซึ่งประมาณ 90 เปอร์เซนต์ …เป็นศิลปินหญิง
แม้ว่าเทศกาลศิลปะนานาชาติที่เก่าแก่ที่สุดในโลกประจำปีนี้จะก่อดราม่าตั้งแต่ยังไม่เริ่มเปิดม่าน แต่ที่จริงแล้ว ‘ดราม่า’ และการตบตีกันในโลกศิลปะคือสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำใน Venice Biennale และหากว่ากันจริง ๆ แล้ว ปีไหนไม่ดราม่า ไม่มีคนทะเลาะ หรือไม่มีใครออกมาประท้วง ก็อาจเรียกได้ว่างานในปีนั้น ‘ล้มเหลว’ นั่นก็เพราะจุดประสงค์หลักของการที่ศิลปินจากต่างมุมโลกต่างวัฒนธรรมกว่า 200 คนมาชุมนุมกัน (โดยนัดหมาย) ทุก ๆ 2 ปี ก็เพื่อที่คนในโลกศิลปะจะได้แลกเปลี่ยนมุมมอง ความคิด โลกทัศน์ วัฒนธรรม จนนำไปสู่การปะทะสังสรรค์เพื่อก่อกำเนิดเป็นแนวคิดใหม่ ๆ ให้ชาวโลกได้ไปขบคิดกันต่อ (หรือหากจะมุ่งดูคนตีกันอย่างเดียว ก็ยังได้ผลลัพธ์เป็นความบันเทิงอยู่ดี)
‘Milk of Dreams’ คือธีมงานประจำ Venice Biennale 2022 ซึ่งอเลอมานีหยิบยืมมาจากชื่อหนังสือของศิลปินเชื้อสายเม็กซิกัน เลโอโนรา แคร์ริงตัน อันว่าด้วยเรื่องราวในโลกจินตนาการที่ชีวิตของผู้คนที่อาศัยอยู่ในโลกใบนั้นแสนจะเซอร์เรียล ราวกับถูกส่องมองผ่านแท่นปริซึมอันบิดเบี้ยว ที่ซึ่งผู้คนสามารถเปลี่ยนรูปร่างของร่างกาย เปลี่ยนหูเป็นปีก หรือจะเปลี่ยนร่างเป็นคนอื่นไปเลยก็ได้
การดึงธีมจากเรื่องราวของโลกในจินตนาการที่ทุกสิ่งอย่างกลับหัวกลับหาง และสามารถ ‘เป็นอะไรก็ได้’ จึงสะท้อนสถานะของพื้นที่จัดแสดงงาน Venice Biennale ในปีนี้ที่ทำหน้าที่เป็นดัง ‘สนามอารมณ์’ ที่ทุกความเชื่อและทุกกรอบความคิด ไม่ว่าจะเป็นกรอบเรื่องเพศ กรอบความเป็นมนุษย์ กรอบข้อจำกัดทางร่างกาย กรอบทางการเมือง ฯลฯ ทุกอย่างถูกเทลงมาปะทะ แล้วชวนผู้ชม ‘ฝัน’ ถึงโลกในอนาคตที่ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้
เพื่อเป็นการต้อนรับการมาถึงของเทศกาลศิลปะนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกศิลปะ ซึ่งมีจำนวนคนที่ตั้งตารอพอ ๆ กับคนยี้ที่ขอไม่บายคอนเซปต์เวทีศิลปะชั้นเลิศของพวกชนชั้นสูงคอเต่าชุดดำกันอีกต่อไป คอลัมน์ Artเทอม ประจำสัปดาห์นี้ เราจึงขอชวนทุกคนกลับไปทำสำรวจที่มาที่ไปและคำถามทุกอย่างเกี่ยวกับ Biennale …ทำไม Venice Biennale ถึงใหญ่ที่สุด? ทำไมต้องจัดแค่ทุก 2 ปี? ทำไมคนยังให้ความสำคัญกับ Biennale และในขณะเดียว ทำไมคนถึงขยัน ‘แบน’ งานนี้กันจังเลย?
Biennale คืออะไรกันแน่?
คำว่า Biennale ในภาษาอิตาเลียน เป็นคำเรียกงานเทศกาล หรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทุก ๆ 2 ปี หรือเกิดขึ้นทุกปีเว้นปี (every other year) โดยไม่จำเป็นต้องหมายถึงแค่งานหรือเทศกาลที่จัดขึ้นโดยคนเท่านั้น แม้กระทั่งพืชที่ใช้เวลา 2 กว่าจะเติบโตและเก็บเกี่ยวได้ ก็เรียกว่าเป็น Biennale Plant เช่นกัน (ต้องระวังให้ไม่สับสันกับคำว่า Biennual ซึ่งหมายถึง 2 ครั้งต่อปี)
Biennale กลายเป็นคำศัพท์เฉพาะในวงการศิลปะ โดยมักหมายถึงงานเทศกาลศิลปะนานาชาติที่จัดขึ้นทุก ๆ 2 ปี และแม้ว่าในปัจจุบันเราจะคุ้นเคยกับเทศกาลศิลปะนานาชาติเบียนนาเล่ที่จัดขึ้นในหลากหลายประเทศ (Bangkok Art Biennale (BAB), Berlin Biennale, Moscow Biennale ฯลฯ) แต่เมื่อพูดคำว่า Biennale ขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นที่รู้กันว่าหมายถึง Venice Biennale งานเบียนนาเล่ที่เวนิซ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเทศกาลอาร์ตเบียนนาเล่ และยังคงยืนหยัดเป็นเวทีศิลปะโลกที่ ‘ขลัง’ และใหญ่ที่สุด จนถูกขนานนามว่าเป็น ‘มหกรรมโอลิมปิกแห่งโลกศิลปะ!’
ทำไมต้อง Venice Biennale?
แม้กระแสโลกาภิวัตน์และท้องถิ่นนิยมที่แพร่สะพัดจะทำให้ประเทศและเมืองต่าง ๆ ลุกขึ้นมาจัดเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ของตนเอง แต่ต้นตำรับแม่ช้อยนางรำที่ขลังและอร่อยเหาะที่สุดก็ยังคงเป็น Venice Biennale ที่กรุงเวนิส ประเทศอิตาลี อันเป็นต้นกำเนิดของการจัดงานเบียนนาเล่ และยังคงเป็นเวทีศิลปะที่ใหญ่ที่สุดในโลก
ว่ากันว่าแม่แบบอันเป็นที่มาของไอเดียการจัดงานเทศกาลศิลปะนานาชาติที่เวนิสนั้น มาจาก Great Exhibition ในปี 1851 งานแฟร์ที่จัดขึ้นที่คริสตัลพาเลซ ณ กรุงลอนดอน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของงาน World Expo โดยจุดประสงค์หลักของการชวนประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมาเปิดพาวิลเลียนเพื่อนำเสนอของดีของประเทศตนเองนั้น ก็เพื่อแสดงแสนยานุภาพของอังกฤษในฐานะประเทศมหาอำนาจผู้เป็นศูนย์กลางของโลก นับตั้งแต่นั้นมา ไอเดียเรื่องการจัดงานแฟร์ที่ชวนประเทศต่าง ๆ มาร่วมโชว์เคสก็เริ่มแพร่กระจายไปในวงการต่าง ๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งในแวดวงศิลปะ
เวนิสในยุคศตวรรษที่ 19 นั้นหาใช้ภาพเมืองสวยงามแสนจรรโลงใจอย่างที่เราคุ้นเคยกันในทุกวันนี้ ด้วยปัญหาการเมืองภายในประเทศ กวีเอกแห่งยุคอย่างลอร์ดไบรอนถึงกับกล่าวว่า ‘เมืองที่เคยเป็นสรวงสวรรค์แห่งทะเลเอเดรียติกเหลือเพียงแต่เถ้าถ่านและรอยน้ำตา’
ด้วยความพยายามที่จะฟื้นฟูเมืองให้กลับมาเป็นหมุดหมายโลกทางด้านทางวัฒนธรรม และที่สำคัญคือการทำให้อิตาลีกลับมาผงาดในฐานะผู้นำด้านศิลปะของโลกตะวันตกอีกครั้ง รัฐบาลอิตาลีจึงได้ประกาศจัดงานเวิลด์แฟร์แห่งโลกศิลปะในปี 1894 ซึ่งเป็นปีครบรอบการอภิเษกสมรสของกษัตริย์อิตาลีในยุคนั้นด้วย
แต่กว่าที่งานจะได้จัดจริง ๆ ก็ในอีก 1 ปีต่อมา ‘I Esposizione Internazionale d'Arte della Città di Venezia หรือ 1st International Art Exhibition of the City of Venice เปิดประตูต้อนรับผู้ชมเป็นครั้งแรกในวันที่ 30 เม.ย. 1895 โดยมีผู้ชมเข้าร่วมงานถึง 224,000 คน
ใน Biennale มีอะไรให้ดูบ้าง?
ปกติแล้วองค์ประกอบของงานเบียนนาเล่จะประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน คือ 1) Central Exhibition หรือนิทรรศการกลางที่ถือเป็นศูนย์กลางของงานทั้งหมด ผลงานทั้งหมดที่จัดในนิทรรศการกลางล้วนได้รับการคัดเลือกหรือคิวเรทจากภัณฑารักษ์ผู้เป็นพ่องานแม่งานของปีนั้น ๆ โดยจะจัดอยู่ภายในอาคารที่เรียกว่า Central Pavillion หรือ พาวิลเลียนกลาง ซึ่งตั้งอยู่ในสวนจิอาร์ดินี สวนเก่าแก่ที่ก่อตั้งโดยนโปเลียน โบนาปาร์ต และถูกใช้เป็นบริเวณที่จัดงานมาตั้งแต่ Venice Biennale ครั้งแรกเมื่อปี 1895 โดยนอกจากอาคารพาวิลเลียนกลางแล้ว ในพื้นที่สวนจิอาร์ดินียังมีพาวิลเลียนถาวรของประเทศขาประจำที่เข้าร่วมจัดแสดงงานอีก 30 อาคารด้วย
ซึ่งทำให้ 2) พาวิลเลียนประจำชาติ คืออีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของ Venice Biennale ที่แต่ละชาติต่างนำผลงานศิลปะจากศิลปินในชาติของตน หรือผลงานที่ถ่ายทอดเรื่องราวและอัตลักษณ์ประจำชาติ มาจัดแสดงแข่งกัน โดยตั้งแต่ปี 1907 เป็นต้นมา ก็มีประเทศที่มาสร้างพาวิลเลียนถาวรในพื้นที่สวนจิอาร์ดินีแห่งนี้ โดยมีเบลเยียมเป็นเจ้านำร่อง ส่วนประเทศที่ไม่ได้สร้างพาวิลเลียนถาวรไว้ ก็มักจะไปจัดในพื้นที่ของ Arsenale อาคารโบราณขนาดใหญ่ที่เริ่มสร้างมาตั้งแต่สมัยยุคกลาง ตั้งอยู่ริมน้ำในบริเวณท่าเรือตอนเหนือของเวนิซ
และองค์ประกอบสุดท้ายภายในงาน Venice Biennale ก็คือ 3) Collateral Events หรือนิทรรศการจากองค์กรต่าง ๆ ที่ได้รับเชิญโดยคณะกรรมการเบียนนาเล่ เช่นในปีนี้ก็มี ‘Surrealism and Magic: Enchanted Modernity’ นิทรรศการจาก Peggy Guggenheim Museum ที่สำรวจความเชื่อของศิลปินเซอร์เรียลในเรื่องของวิญญาณและเวทมนตร์ หรือที่พิพิธภัณฑ์ Gallerie dell’Accademia ก็มีงานปืนใหญ่ของ อนิช กาปูร์ มาจัดแสดง
ทำไม Biennale จึงสำคัญ?
แม้ว่าเบียนนาเล่จะวางตัวมันเองเป็นศูนย์รวมเครือข่ายแห่งโลกศิลปะที่ศิลปะท้องถิ่น (ของประเทศที่จัดงาน) และศิลปะจากนอกประเทศ ได้มารวมตัวกันในงานนี้ แต่เราแอบชอบคำจำกัดความของ เทอร์รี สมิธ นักประวัติศาสตร์ศิลปะผู้มีตำแหน่งใน Biennial Foundation คณะกรรมการจัดงานเบียนนาเล่ ซึ่งเคยให้คำนิยามว่า งานเบียนนาเล่คือ “หน้าต่างที่ชวนเราเยี่ยมหน้าเข้าไปส่องดูความเป็นไปของโลกศิลปะร่วมสมัย ที่ซึ่งศิลปะทั้งสนุก บันเทิง ให้ความรู้ และในขณะเดียวกันก็แข่งขันห้ำหั่นกันเอง”
แต่ในความสำคัญของเบียนนาเล่นอกจากจะเป็นพื้นที่โชว์เคสความก้าวหน้าทางศิลปะทั้งในแง่ของกระบวนการคิดของศิลปินและวิธีการนำเสนอ และการเป็นพื้นที่สำหรับผู้ชมและคนในแวดวงศิลปะได้มาอัพเดตเทรนด์ในโลกศิลปะให้ไม่ตกเทรนด์ไลน์กลุ่ม ในอีกแง่หนึ่ง เบียนนาเล่คือโอกาสสำคัญสำหรับศิลปิน ทั้งในแง่ความก้าวหน้าทางอาชีพ และการขายผลงานของตัวเอง (อารมณ์เดียวกับผู้มีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์)
จริงอยู่ว่าหนึ่งในจุดประสงค์ของการจัดงานเบียนนาเล่ตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตคือการพยายามแยกงานศิลปะออกจากการพานิชย์ โดยที่ผลงานศิลปะที่จัดแสดงในงานจะไม่มีการซื้อขายเหมือนในแกลเลอรีหรือเทศกาลศิลปะอื่น ๆ แต่ในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมีชื่อติดโผเป็นศิลปินที่ได้นำงานไปจัดแสดงในเบียนนาเล่ ถือเป็นการเรียกแสงสปอตไลท์ให้บรรดาแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ หันมาให้ความสนใจ และเพิ่มโอกาสในการถูกเก็บเข้าชอปปิงลิสต์ของบรรดาแกลเลอรีและพิพิธภัณฑ์เหล่านั้น
และแน่นอนว่า เมื่อมีการคัดเลือก ก็ย่อมหมายถึง ‘อภิสิทธิ์’ จากการถูกเลือก และยังรวมถึงอภิสิทธิ์ของผู้เลือกด้วย ‘ชนชั้นในโลกศิลปะ’ คือข้อครหาที่เบียนนาเล่ประสบมาโดยตลอด เป็นเวลาเนิ่นนานมาแล้วที่เบียนนาเล่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นมาเฟียแห่งโลกศิลปะ (โดยเฉพาะงานโอลิมปิกแห่งโลกศิลปะอย่าง Venice Biennale) ศิลปินและคนที่ทำงานอยู่ในแวดวงศิลปะส่วนหนึ่งมองว่า คณะกรรมการเบียนนาเล่ซึ่งเป็นเพียงคนกลุ่มเล็ก ๆ ได้ตั้งตัวเป็นผู้ตัดสินทิศทางความเป็นไปในโลกศิลปะ ตั้งแต่การคัดเลือกศิลปิน ไปจนถึงการมอบรางวัลให้ศิลปิน ซึ่งนอกจากการคัดเลือกที่อาจสะท้อนถึงการเลือกที่รักมักที่ชังของตัวเองแล้ว บางทีคณะกรรมการเบียนนาเล่ก็ทำตัวเป็นกองเซนเซอร์ ตัดสินว่าสิ่งใดควรถูกนำเสนอ สิ่งใดไม่ควรให้พื้นที่ฉายแสง จนทำให้เบียนนาเล่ โดยเฉพาะ Venice Biebnale ถูกมองว่าเป็น Salon ยุคใหม่ หรือสถาบันศิลปะแห่งฝรั่งเศสที่เคยมีอิทธิพลในการกำหนดทิศทางในแวดวงศิลปะ ที่เคยตราหน้าผลงานของศิลปินลัทธิประทับใจอย่าง โคลด โมเนต์ หรือ เอดัวร์ มาเนต์ ว่าเป็นผลงานชั้นต่ำที่ไม่ควรค่าแก่การถูกแขวนไว้ใน Salon
มีอะไรเกิดขึ้นบ้างในประวัติศาสตร์ของ Venice Biennale
ไม่ว่าจะรักหรือเกลียดงานนี้อย่างไร แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านี่คืออิเวนต์ที่สร้างบทใหม่ในประวัติศาสตร์ศิลปะโลกอยู่เสมอ ทั้งการเป็นที่แจ้งเกิดศิลปินดัง ไปจนถึงดราม่ามากมายที่ทิ้งประเด็นให้คนในแวดวงศิลปะได้เก็บไปขบคิดกันต่ออยู่เสมอ
มีเหตุการณ์น่าจดจำอะไรเกิดขึ้นใน Venice Biennale บ้าง เราไปย้อนดูกันเลย
ฉายแสงและแจ้งเกิดศิลปิน
Venice Biennale ที่จัดขึ้นในปี 1910 ได้กลายเป็นที่ยกย่องเหล่าศิลปินโมเดิร์นผู้เคยถูกเมินจากสถาบันศิลปะชั้นสูงอย่างเป็นทางการ ด้วยการอุทิศพื้นที่จัดแสดงผลงานเดี่ยวให้กับศิลปินโมเดิร์นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น กุสตัฟต์ คลิมท์, ปีแอร์-ออกุสต์ เรอนัวร์ หรือ กุสตัฟ โคแบรต์
ภาพนี้ต้องโดนแบน
‘เริ่มเลอ!’ แค่ปีแรกของการจัดงานก็เกิดเรื่องดราม่าแล้ว เมื่อคณะผู้จัดงานเปิดหีบห่อที่บรรจุผลงานของศิลปินอิตาเลียนชั้นครู จาโกโม กรอสโซ ออกมา แล้วต้องตกตะลึงกับภาพวาดสุดฉาว (ในยุคนั้น) ที่เป็นภาพวาดหญิงสาวเปลือย 5 นางเอนกายบนโลงศพแบบเปิดหน้า จนผู้จัดถึงกับต้องถามเจ้าตัวว่า ‘เอาจริงเหรอ’ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมันถูกเผยต่อหน้าสาธารณชน ก็เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึง ถึงขนาดที่คณะสงฆ์ของอิตาเลียนขู่ว่าจะเอาเรื่อง จนสุดท้ายทางผู้จัดต้องทำการย้ายผลงานไปจัดแสดงเดี่ยว ๆ ในห้องหับลึกลับมิดชิด ซึ่งกลายเป็นว่ามีผู้ชมมาต่อแถวรอเข้าชมแบบถล่มทลาย และกลายเป็นงานป็อปปูลาร์โหวตประจำปีนั้น
อีกหนึ่งดราม่าคือในปี 1910 เมื่อภาพ Family of Saltimbanques ของ ปาโบล ปิกัสโซ ถูกถอดออกจากพาวิลเลียนของสเปน เพราะผู้จัดเกรงว่าภาพที่สะท้อนความโหดร้ายเศร้าสร้อยเบื้องหลังรอยยิ้มสดใสของชาวคณะละครสัตว์จะทำให้คนดูรับไม่ได้
ป้าจุดที่ Venice Biennale
ในปี 1966 ยาโยอิ คุซามะ ได้นำลูกบอลแวววับ 1,500 ลูกไปจัดแสดงที่ Venice Biennale ครั้งที่ 33 แต่การไปของคุซามะในครั้งนั้นไม่ได้มาจากคำเชิญอย่างเป็นทางการของเทศกาล แต่เป็นการไปแบบกองโจรและได้รับการสนับสนุนจาก ลูซิฌอ ฟอนตานา ศิลปินคอนเซปชวลเจ้าของผลงานมีดกรีดผ้าใบอันโด่งดัง
คุซามะไม่ได้จัดแสดงผลงานในพาวิลเลียนใด เธอนำลูกบอลทั้ง 1,500 ลูกของเธอไปวางไว้ในสวน แล้วสวมบทบาทเป็นแม่ค้าหาบเร่ เรียกผู้คนที่ผ่านไปมาให้เข้ามาซื้อลูกบอลของเธอในราคาแสนถูก
เอดส์ในนามของพระผู้เป็นเจ้า
นอกจากวิธีการนำเสนอผลงานที่เรียกความสนใจจากผู้ชมได้อย่างล้นหลาม ตัวลูกบอลของคุซามะก็ทำงานในฐานะวัตถุที่พร่าเลือนเส้นแบ่งระหว่างศิลปิน ผู้ชม และพื้นที่ศิลปะ ภาพที่สะท้อนอยู่บนพื้นผิวของลูกบอลทั้งดูบิดเบี้ยว ห่างไกล หรือไม่ก็ใกล้เกินจริง จนราวกับว่าภาพสะท้อนนั้นเป็นภาพสะท้อนห้วงเวลาอื่น ตัวเราและศิลปินในห้วงเวลาอื่น
คุซามะได้รับเสียงชื่นชมอย่างล้นหลาม จนคณะกรรมการ Venice Biennale ในปีนั้นต้องออกมาปรบมือให้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของคุซามะในเวทีศิลปะระดับโลก
แกรน ฟิวรี ศิลปินและนักรณรงค์เคลื่อนไหวเรื่องเอดส์ ไม่เพียงตบหน้าสังคมในยุคนั้นที่กีดกันและรังเกียจผู้ป่วยโรคเอดส์ แต่ยังลากเหล่าคนมือถือสากปากถือไม้กางเขนที่ต่อต้านคนรักเพศเดียวกันออกไปตบหน้ากลางสี่แยก ด้วยการนำเสนอโปสเตอร์ขนาดใหญ่ที่เป็นรูปของพระสันตปาปายอห์น ปอลที่ 2 พาดด้วยถ้อยความที่ถอดมาจากการเทศนาของพระองค์ในเรื่องของบาปจากการมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน พร้อมด้วยข้อความใหญ่เบิ้มจากศิลปินที่แปะอยู่เคียงข้างกันว่า “AIDS is caused by a virus and a virus has no morals.” “เอดส์มาจากเชื้อไวรัส และไวรัสไม่รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ‘ศีลธรรม’ (โว้ย)”
ศิลปะ VS. ศาสนา
เมื่อ เกรเกอร์ ชไนเดอร์ กลับมายัง Venice Biennale ในปี 2005 หลังจากที่เขาได้รางวัลสิงโตทองคำประจำเทศกาลกลับบ้านไปในปี 2001 เขาก็สร้างความสั่นสะเทือนด้วยการประกาศว่าจะนำลูกบาศก์ขนาดมหึมาสูง 50 ฟุต ที่ถูกห่อไว้ในผ้าสีดำ จนดูเหมือนกะอ์บะฮ์ที่เป็นที่เคารพของชาวมุสลิม มาตั้งไว้กลางจัตุรัสเซนต์มาร์กที่พลุกพล่านไปด้วยนักท่องเที่ยว แม้ว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเซนเซอร์งานศิลปะ แต่คณะกรรมการก็ยังคงยืนกรานไม่ให้ผลงานชิ้นนี้ได้จัดแสดงในงาน (แต่สุดท้ายชไนเดอร์ก็นำไปจัดแสดงที่เยอรมนีในปี 2007)
ในขณะที่ปี 2015 ศิลปินชาวสวิส คริสตอฟ บูเชล ได้ท้าทายและกระตุกหนวดชาวคริสต์และมุสลิมอย่างเท่าเทียมกัน ด้วยการเปลี่ยนภายในโบสถ์คริสต์ของกรุงเวนิสให้กลายเป็นมัสยิด! ซึ่งงานของบูเชลก็ทำให้ผู้คนสับสนงุนงงว่า นี่คือผลงานที่สะท้อนความเหนือกว่าของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง? หรือผู้ชมอย่างเราควรจะต้องมองให้เป็นการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวของสองศาสนากันแน่? แต่สุดท้ายผลงานมัสยิดในโบสถ์ก็ถูกปิดตัวลงหลังจัดแสดงได้เพียงสัปดาห์เดียว เพราะทางผู้จัดงานเกรงว่าจะไปกระตุ้นความโกรธเคืองของผู้ก่อการร้ายชาวมุสลิม ในขณะเดียวกันตัวแทนจากคณะสงฆ์ฝั่งคริสต์ก็ออกมาแสดงความไม่พอใจต่องานชิ้นนี้
อ้างอิง