‘Midnight in Paris’ คือภาพยนตร์โดย Woody Allen ที่เล่าเรื่องราวของ Gil Pender นักเขียนหนุ่มจากสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับคู่หมั้นของเขา แต่การมาเที่ยวในเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้กลับไม่ได้ปกติสามัญแบบคนอื่น ๆ เพราะเขาดันหลงกลับสู่ยุค 20s (ที่ตัวเขาเองมองว่าเป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรม) จนได้เจอกับเหล่าศิลปินและนักเขียนในตำนานมากมาย

‘Midnight in Paris’ คือภาพยนตร์โดย Woody Allen ที่เล่าเรื่องราวของ Gil Pender นักเขียนหนุ่มจากสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับคู่หมั้นของเขา แต่การมาเที่ยวในเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้กลับไม่ได้ปกติสามัญแบบคนอื่น ๆ เพราะเขาดันหลงกลับสู่ยุค 20s (ที่ตัวเขาเองมองว่าเป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรม) จนได้เจอกับเหล่าศิลปินและนักเขียนในตำนานมากมาย

ส่อง 10 ศิลปินและนักเขียนชื่อดัง ใครเป็นใครในภาพยนตร์ Midnight in Paris

‘Midnight in Paris’ คือภาพยนตร์โดย Woody Allen ที่เล่าเรื่องราวของ Gil Pender นักเขียนหนุ่มจากสหรัฐอเมริกาที่เดินทางมาท่องเที่ยวที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับคู่หมั้นของเขา แต่การมาเที่ยวในเมืองประวัติศาสตร์แห่งนี้กลับไม่ได้ปกติสามัญแบบคนอื่น ๆ เพราะเขาดันหลงกลับสู่ยุค 20s (ที่ตัวเขาเองมองว่าเป็นยุคทองของศิลปวัฒนธรรม) จนได้เจอกับเหล่าศิลปินและนักเขียนในตำนานมากมาย

ซึ่งตัวละครศิลปินและนักเขียนมากมายที่มาปรากฏตัวในภาพยนตร์เรื่องนี้ล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์โลก ที่มีส่วนช่วยวางรากฐานและผลักดันวงการศิลปะและวรรณกรรมในเวลาต่อมาแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักเขียนชาวอเมริกันที่เข้ามาใช้ชีวิตในประเทศฝรั่งเศสขณะนั้น อย่างกลุ่ม ‘The Lost Generation’ หรือจะเป็นศิลปินจากหลายประเทศในยุโรปที่เข้ามาทำงานในกรุงปารีส ซึ่งกำลังเฟื่องฟูและโดดเด่นด้วยยุคศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ที่เปิดกว้างต่อแนวทางและรูปแบบที่หลากหลาย

ด้วยตัวละครและ Easter Egg จำนวนมากที่แอบสอดแทรกอยู่ เชื่อว่าเมื่อครั้งภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉายครั้งแรกในปี 2011 คอศิลปะหลาย ๆ คนน่าจะรู้สึกเซอร์ไพรส์ที่ได้เห็นศิลปินและนักเขียนในดวงใจได้กลับมามีชีวิตโลดแล่นอีกครั้งไม่ต่างจาก Gil พระเอกของเรื่อง แต่เนื่องจากว่าลุง Woody ก็ช่างซ่อนเก่ง มีศิลปินหลายคนที่มาร่วมซีน อาจจะมีตกหล่นกันบ้างว่าใครเป็นใครในภาพยนตร์เรื่องนี้ เราจึงอยากชวนทุกคนมาร่วมย้อนดูว่าในภาพยนตร์ Midnight in Paris จะมีบุคคลเจ๋ง ๆ คนไหนซ่อนอยู่บ้าง เผื่อตอนหยิบภาพยนตร์เรื่องนี้มาดูใหม่รอบหน้าจะได้อินขึ้นยิ่งกว่าเดิม

F. Scott Fitzgerald (1896 - 1940) 
played by Tom Hiddleston

เปิดเรื่องมาได้ไม่ทันไร Gil Pender พระเอกหนุ่มของเราก็หลงกลับมาสู่กรุงปารีสยุค 20s ซะแล้ว และบุคคลสำคัญคนแรก ๆ ที่เขาได้เจอก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นนักเขียนดังระดับตำนานอย่าง F. Scott Fitzgerald และ Zelda Fitzgerald คนรักของเขา ซึ่งกำลังเอ็นจอยอยู่กับการกินดื่มและเต้นรำ ไม่ต่างจากชีวิตจริงของทั้งคู่ที่หลงใหลในแสงสีของงานปาร์ตี้

ถึงจะประหลาดใจจนต้องขยี้ตาหลายรอบ แต่แน่นอนว่าสำหรับนักเขียนอย่าง Gil แล้ว การได้พบศิลปินจากกลุ่ม ‘The Lost Generation’ อย่าง Fitzgerald ตัวเป็น ๆ คงเป็นเรื่องวิเศษ เหมือนฝัน เพราะสำหรับคอวรรณกรรมแล้ว Fitzgerald ถือเป็นหนึ่งนักเขียนชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 20 เลยทีเดียว แม้ชีวิตของเขาจะไม่ได้ยืนยาวและมีหนังสือภายใต้ชื่อของเขาไม่มากนัก แต่ผลงานของเขาทั้งนวนิยายและรวมเรื่องสั้นกลับถ่ายทอดเรื่องราวของความหรูหราฟู่ฟ่าใน ‘ยุคแจ๊ส’ ได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะเรื่องที่สร้างชื่อเสียงให้กับเขาที่สุด ‘The Great Gatsby (1925)’ ที่ภายหลังถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันในอีกหลายครั้ง รวมทั้งเวอร์ชั่นปี 2013 ที่เล่นโดย Leonardo DiCaprio พระเอกดังที่เราคุ้นเคยนั่นเอง

Ernest Hemingway (1899 - 1961) 
played by Corey Stoll 

แน่นอนว่าเมื่อได้เจอ Fitzgerald แล้วก็ต้องได้เจอเพื่อนรักของเขาจากกลุ่ม The Lost Generation อย่าง Ernest Hemingway อีกหนึ่งนักเขียนชาวอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาล ผู้วางรากฐานให้แก่นักเขียนชาวอเมริกันรุ่นหลังมากมาย

หลังจากรับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่ 1 Hemingway ก็ย้ายมาอยู่ที่กรุงปารีสพร้อมกับภรรยาคนแรกของเขา และใช้ชีวิตในฐานะนักข่าวต่างประเทศ ซึ่งที่นี่เองก็เป็นสถานที่ให้กำเนิดผลงานนวนิยายเรื่องแรกของเขาอย่าง ‘The Sun Also Rises (1926)’ โดยตลอดชีวิตการทำงานในฐานะนักเขียน เขาได้ทิ้งผลงานนวนิยายและรวมเรื่องสั้นที่โด่งดังมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘The Old Man and the Sea (1952)’, ‘A Farewell to Arms (1929)’, และ ‘For Whom the Bell Tolls (1940)’ นอกจากนั้น ภายหลังในปี 1954 เขายังได้รับรางวัลโนเบลในสาขาวรรณกรรมอีกด้วย

ตรงข้ามกับ Fitzgerald ผลงานของ Hemingway มักจะใช้ภาษากระชับแต่มีลูกเล่น เรื่องราวในหนังสือของเขามักจะพูดถึงการผจญภัยและวีรกรรมของลูกผู้ชาย ทั้งสงคราม การล่าสัตว์ การตกปลา และการสู้วัวกระทิง ซึ่งเราก็คงพอจะเห็นได้จากคาแรกเตอร์แมน ๆ ของเขาในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ทั้งโผงผางและตรงไปตรงมาไม่ต่างจากผลงานของเขาเลย

Pablo Picasso (1881 - 1973) 
played by Marcial Di Fonzo Bo

แม้ในภาพยนตร์จะปรากฏตัวให้เราเห็นไม่มากนัก แต่ชื่อของ Pablo Picasso กลับถูกอ้างอิงถึงอยู่บ่อยครั้ง โดยเราจะได้เห็นโฉมหน้าของเขาจากซีนในบ้านของ Gertrude Stein อีกหนึ่งสมาชิกของกลุ่ม The Lost Generation ซึ่งในขณะนั้นเธอกำลังวิจารณ์ภาพ ‘La Baigneuse (1928)’ ของเขา ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมากจากตัวละคร Adriana ( Marion Cotillard) คนรักของเขาในขณะนั้น

ถึงจะเกิดที่ประเทศสเปน แต่ Picasso ก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ของเขาในประเทศฝรั่งเศส เขามีส่วนอย่างมากในการช่วยผลักดันวงการศิลปะสมัยใหม่ (Modern Art) ในยุคนั้น โดยเฉพาะการเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกศิลปะลัทธิ Cubism ซึ่งเห็นได้ชัดจากผลงานชิ้นเอกของเขาอย่าง ‘The Young Ladies of Avignon (1907)’, ‘Girl before a Mirror (1932)’, และ ‘Guernica (1937)’ ด้วยสไตล์อันโดดเด่นล้ำยุคที่พลิกโฉมหน้าของศิลปะสมัยใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง ทำให้ Picasso ได้รับการยอมรับเป็นศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดในศตวรรษที่ 20 ด้วย

Salvador Dalí (1904 - 1989)
played by Adrien Brody 

"I see a rhinoceros!" อีกหนึ่งตัวครที่แม้จะโผล่มาเพียงสั้น ๆ ในภาพยนตร์ แต่ด้วยหนวดสุดเท่ น้ำเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ และบุคคลิกอันโดดเด่นก็ทรงเสน่ห์จนเป็นที่จดจำของใครหลาย ๆ คน

Salvador Dalí คือศิลปินชาวสเปนผู้เป็นเหมือนบิดาของศิลปะลัทธิ Surrealism ผลงานของเขานอกจากจะมีทักษะการวาดภาพที่วิจิตรบรรจงแล้วยังเต็มจินตนาการเหนือจริงที่ยากจะหาใครเทียบ ซึ่งนอกจากแนวคิดสุดล้ำที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากความฝันและจิตใต้สำนึกแล้ว เขายังมักสอดแทรกสัญลักษณ์เชิงจิตวิทยาไว้ในภาพวาดอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกา ทะเลทราย ไข่ มด ช้าง และหอยทาก ซึ่งสามารถเห็นได้จากผลงานดัง ๆ ของเขาอย่าง ‘The Persistence of Memory (1931)’, ‘Soft Construction with Boiled Beans (Premonition of Civil War) (1936)’, ‘Dream Caused by the Flight of a Bee (1944)’ และ ‘Galatea of the Spheres (1952)’

Man Ray (1890 - 1976)
played by Tom Cordier 

ย้อนเวลากลับมาเจอ Dalí ทั้งที แน่นอนว่าเขาไม่ได้มาคนเดียว แต่ยังพาเพื่อนรัก Luis Buñuel และ Man Ray มาร่วมพูดคุยกับ Gil พระเอกของเราด้วย (กรี๊ด)

Man Ray คือศิลปินชาวอเมริกันที่ทำงานภายใต้แนวคิดแบบลัทธิ Surrealism และ Dada ผลงานของเขามีหลายรูปแบบ ตั้งแต่งานจิตรกรรมไปจนถึงงานภาพถ่าย ‘Rayography’ โดยผลงานของเขาที่เป็นที่จดจำมากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นผลงานภาพถ่ายขาวดำจำนวนมากที่มักจะมีลักษณะทดลองและท้าทายกับเรือนร่างของมนุษย์ แม้เวลาจะผ่านมาหลายทศวรรษ แต่ผลงานของเขายังคงเป็นที่สนใจของคนรุ่นใหม่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือวงดรีมป็อปจากสหรัฐอเมริกาอย่าง Cigarettes After Sex ที่นำภาพ ‘Necklace - Anatomy (1930)’ ของเขาไปใช้เป็นปกอัลบั้มนั่นเอง

ซึ่งความตลกของซีนสนทนานี้ก็คือการที่แม้ Gil จะพยายามพร่ำบอกว่าเขามาจากอนาคต แต่แทนที่ Ray จะแสดงท่าทีตกใจ เขากลับรู้สึกเฉย ๆ กับไอเดียการย้อนเวลา เพราะภายใต้แนวคิดการทำงานของศิลปิน Surrealist อะไรก็ดูจะไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดทั้งนั้น

Luis Buñuel (1900 - 1983)
played by Adrien de Van

Luis Buñuel คือศิลปินคนทำภาพยนตร์ชาวสเปน-เม็กซิกันที่โผล่มาร่วมจอยในวงสนทนาครั้งนี้ด้วย เขาคือบุคคลที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้นำของภาพนตร์ Avant-garde Surrealism ที่ทรงอิทธิพลต่อคนทำภาพยนตร์ในรุ่นหลังมากมาย โดยเขาเริ่มสร้างชื่อเสียงมาจากผลงานภาพยนตร์เหนือจินตนาการเรื่องแรก ‘Un Chien Andalou (1929)’ ร่วมกันกับ Dalí ที่มีซีนกรีดตาในตำนาน ภาพจำของใครหลาย ๆ คน นอกจากนั้นยังมีผลงานภาพยนตร์อย่าง ‘Belle de Jour (1967)’, ‘The Discreet Charm of the Bourgeoisie (1972)’ และ ‘That Obscure Object of Desire (1977)’

โดยนอกจาก Gil จะได้พบกับ Buñuel พร้อม ๆ กับ Dalí และ Ray ในการสนทนาครั้งนั้นแล้ว เขายังได้กลับมาพบกับ Buñuel ในงานเลี้ยงอีกครั้ง ซึ่งในครั้งนี้ เขาไม่รอช้า เข้าไปแนะนำพล็อตเรื่องสุดแหวกให้กับ Buñuel ฟัง ซึ่งแม้ตัวละคร Buñuel ในภาพยนตร์จะฟังอย่างงง ๆ แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า ภายหลังพล็อตเรื่องที่ว่ากลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่โด่งดังที่สุดของ Buñue อย่าง ‘The Exterminating Angel (1962)’ นั่นเอง

Henri Matisse (1869 - 1954)
played by Yves-Antoine Spoto 

แม้จะปรากฏตัวเพียงสั้น ๆ ในซีนบ้านของ Gertrude Stein แต่จะไม่กล่าวถึงก็คงไม่ได้ Henri Matisse คือศิลปินที่เป็นทั้งเพื่อนรักและคู่แข่งคนสำคัญของ Picasso เขาคือศิลปินเอกชาวฝรั่งเศส หนึ่งในผู้วางรากจากของศิลปะลิทธิ Fauvism ซึ่งเป็นคำที่มาจากภาษาฝรั่งเศสแปลว่า สัตว์ป่า ที่ภายหลังถูกใช้เป็นชื่อเรียกกลุ่มศิลปินที่ผลงานที่ให้ความรู้สึกดุดัน รุนแรง และตื่นเต้นในเวลาเดียวกัน ผลงานของ Matisse โดดเด่นด้วยการนำสีสันฉูดฉาดมาใช้ตัดกัน และใช้เพียงรูปทรงที่เรียบง่าย เป็นอิสระ ผลงานของเขากลายเป็นมาสเตอร์พีซเหนือกาลเวลาอยู่หลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็น ‘La Danse - Dance (1909)’, ‘Woman with a Hat (1905)’, ‘The Dessert: Harmony in Red - The Red Room (1908)’ และ ‘The Joy of Life (1906)’

Henri de Toulouse-Lautrec (1864 - 1901) 
played by Vincent Menjou Cortes 

นอกจาก Gil จะย้อนเวลากลับมาสู่กรุงปารีสในช่วงปี 1920s แล้ว เขาและ Adriana ยังย้อนกลับไปสู่ช่วงปี 1880s หรือที่เรียกว่ายุค Belle Époque ซึ่งเป็นยุคทองของปารีสในความคิดของ Adriana อีกด้วย

ซึ่งในครั้งนี้ ศิลปินเอกคนแรกที่เขาได้พบเจอก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น Henri de Toulouse-Lautrec ศิลปินชาวฝรั่งเศสร่างเล็ก หนึ่งในหัวหอกสำคัญของลัทธิ Post-Impressionism ซึ่งกำลังนั่งเพลิดเพลินกับโชว์การเต้นระบำแคนแคน ในร้าน Moulin Rouge แม้จะติดกับไลฟ์สไตล์หรูหรา ฟู่ฟ่า แต่แท้ที่จริงแล้วชีวิตของ Toulouse-Lautrec กลับผจญแต่ความทุกข์มากมาย ทั้งร่างกายที่พิการตั้งแต่ยังเล็ก อาการติดสุราเรื้อรัง และชีวิตที่ไม่เคยว่างเว้นจากซ่องโสเภณี อย่างไรก็ดี ชีวิตที่แสนเศร้าของเขาก็นำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่ามากมาย โดยผลงานภาพวาดและโปสเตอร์ของเขามักถ่ายทอดชีวิตและการเฉลิมฉลองอย่างหรูหรา ฟุ้งเฟื้อของคนเมือง และมักจะเล่าเรื่องของเหล่านักเต้นระบำแคนแคน และโสเภณีที่เขาได้พบเจอ เห็นได้จากผลงานอย่าง ‘Au Moulin Rouge - At the Moulin Rouge (1892 - 1895)’, ‘Le Lit - The Bed (1892)’ และโปสเตอร์มากมายที่เขาวาดให้ Moulin Rouge โรงคาราบาเรต์ชื่อดังของปารีสในยุคนั้น 

Paul Gauguin (1848 - 1903)
played by Olivier Rabourdin

อีกหนึ่งศิลปินชื่อดังชาวฝรั่งเศสที่ Gil และ Adriana ได้พบเจอ ณ Moulin Rouge คือ Paul Gauguin ศิลปินเอกของโลกที่แม้ยามมีชีวิตจะไม่ได้มีชื่อเสียงโด่งดังมากนัก แต่กลับได้รับคำสรรเสริญและเป็นที่ยอมรับในวงการศิลปะโลกหลังจากโลกใบนี้ไปแล้ว 

Gauguin ถูกจดจำในฐานะศิลปินที่มีส่วนช่วยผลักดันลัทธิ Post-Impressionism และความสนิทสนมของเขากับศิลปินระดับตำนานของโลกอย่าง Vincent van Gogh และ Paul Czanne ผลงานของ Gauguin มักเกิดจากการทดลองการใช้สีสันที่จัดจ้าน รูปทรงแบน ๆ และการวาดภาพสไตล์ Synthetist ของศิลปะสมัยใหม่ ภายหลังจากเขาได้ไปใช้ชีวิตอยู่บนเกาะตาฮิติ ผลงานของเขามักจะถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตอันเรียบง่ายของชาวเกาะตาฮิติ ซึ่งปรากฏเป็นภาพของเหล่าหญิงสาวผิวสีเข้มจำนานมากในงานของเขา ไม่ว่าจะเป็น ‘Tahitian Women on the Beach (1891)’, ‘Woman with a Flower (1891)’, ‘Two Tahitian Women (1899)’ และ ‘The Midday Nap (1894)’ ซึ่งเอกลักษณ์อันโดดเด่นเหล่านี้เองก็เป็นแรงบันดาลใจให้แก่ศิลปินในรุ่นหลังอย่าง Picasso และ Matisse ในการสร้างศิลปะในเวลาต่อมา

Edgar Degas (1834 - 1917)
played by François Rostain 

ปิดท้ายกันที่ Edgar Degas อีกหนึ่งศิลปินชาวฝรั่งเศสที่อยู่ร่วมซีนกับ Toulouse-Lautrec และ Gauguin แม้ในภาพยนตร์เขาจะไม่ได้มีบทบาทสำคัญมากนัก แต่ผลงานของเขาก็มีส่วนช่วยวางรากฐานของศิลปะลัทธิ Impressionism อยู่ไม่น้อย 

ผลงานเกินกว่าครึ่งของเขามักจะถ่ายถอดเรื่องราวของเหล่านักเต้นบัลเลต์ที่ทำให้เห็นถึงความเคลื่อนไหวที่อ่อนช้อย นอกจากนั้น เขายังมีผลงานภาพวาดหญิงสาวในร่างกายเปลือยเปล่าอยู่อีกหลายภาพ จะเห็นได้จากผลงานดังของเขาอย่าง ‘The Bellelli Family (1858 - 1867)’, ‘The Ballet Class (1871 - 1874)’, ‘L'Absinthe  - The Absinthe Drinker (1875 - 1876)’ และ ‘The Tub (1886)’

รับชมรายการ Self-Quarantour EP. Midnight IN Paris เต็ม ๆ ได้ที่:

แหล่งข้อมูล:
https://www.dailyartmagazine.com/artists-portrayed-in-midnight-in-paris/
https://www.dailyartmagazine.com/representation-vs-reality-artists-portrayed-in-midnight-in-paris-part-2/
https://www.theguardian.com/global/2011/oct/11/midnight-in-paris-guide-modernism