ทำความรู้จัก 7 นักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กที่แม้ (ไม่ใช่) เด็กก็อ่านได้
กลายเป็นสัปดาห์ที่น่าเศร้าของเหล่าคนรักหนังสือเด็กหลาย ๆ คน เพราะภายในไม่กี่วันที่ผ่านมามีนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กที่เรารักอย่าง Eric Carle และ Lois Ehlert เสียชีวิตติด ๆ กันถึง 2 คนด้วยกัน
แม้ในช่วงหลังเหล่านักวาดภาพประกอบรุ่นใหญ่หลายคนในวงการหนังสือเด็กจะทยอยจากเราไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือคนที่ยังทำงานจนถึงปัจจุบันอยู่เพียงไม่มาก แต่ตลอดชีวิตบนเส้นทางการทำงานของพวกเขาก็ได้ผลิตผลงานดี ๆ ที่น่าจดจำไว้ให้แก่วงการไม่น้อย หลายครั้ง หนังสือเด็กเหล่านี้ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่เสริมสร้างจินตนาการและพัฒนาทักษะการอ่าน การฟัง และการพูดให้เจ้าตัวจิ๋วได้เติบโตมาอย่างดีเท่านั้น แต่มันยังมีคุณค่าในฐานะวรรณกรรมและทัศนศิลป์อันทรงคุณค่าที่แม้แต่ผู้ใหญ่หลาย ๆ คนก็ยังคงตกหลุมรักอยู่ซ้ำ ๆ
มาทำความรู้จักกับ 7 นักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กที่เรารักไปพร้อม ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นภาพสไตล์คลาสสิคเหนือกาลเวลา ไปจนถึงสไตล์เซอร์เรียลล้ำจินตนาการ ที่เรารับรองได้เลยว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่เศษเสี้ยวความทรงจำเล็ก ๆ ในวัยเด็กจากภาพเหล่านี้ก็ยังอยู่ในใจทุกคนอย่างแน่นอน
Eric Carle (1929 - 2021)
นักวาดภาพประกอบเจ้าของผลงานสัตว์คอลลาจสุดไอคอนนิค
เมื่อพูดถึงหนังสือเด็ก ภาพหนอนผีเสื้อตัวเขียวที่กำลังคืบคลานผ่านหน้ากระดาษสีขาวเด่นก็น่าจะเป็นภาพแรก ๆ ที่หลายคนนึกถึง เพราะแม้จะเวลาผ่านมามากว่าห้าทศวรรษ แต่เรื่องราวการเดินทางของเจ้าหนอนผีเสื้อผู้หิวโหยตัวนี้ก็ยังคงครองใจเหล่าเจ้าตัวน้อยในทุกยุคทุกสมัยไม่เสื่อมคลาย โดยเจ้าหนอนผีเสื้อที่ว่า คือตัวละครหลักของหนึ่งในหนังสือเด็กที่ขายดีที่สุดตลอดกาลอย่าง ‘The Very Hungry Caterpillar (1969)’ ผลงานระดับคลาสสิคของ Eric Carle นักเขียนและนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กชาวเยอรมัน-อเมริกันที่ล่วงลับ แม้เขาจะก้าวเข้าสู่อาชีพนักวาดภาพประกอบในวัยเกือบ 40 ปี หลังจากทำงานกราฟฟิกดีไซน์มาตลอดชีวิต แต่เรื่องราวของเหล่าแมลงและสัตว์น้อยใหญ่ที่มีทั้งความน่ารักและขี้เล่นของเขาก็คงจะเป็นที่รักของเด็ก ๆ ทั่วโลกได้ไม่ยาก
ผลงานของเขามักจะใช้เพียงรูปทรงที่เรียบง่าย ตัดปะกระดาษคอลลาจที่ถูกแต่งแต้มด้วยสีสันสดใสบนพื้นเรียบ ๆ สีขาว และใช้คำที่ไม่สลับซับซ้อน โดยนอกจาก The Very Hungry Caterpillar แล้ว ตลอดเส้นทางในแวดวงหนังสือเด็กของ Eric Carle ก็ได้ทิ้งผลงานดี ๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น ‘Brown Bear, Brown Bear, What Do You See? (1967)’, ‘The Grouchy Ladybug (1977)’ และ ‘Papa, Please Get the Moon for Me (1986)’ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือเด็กระดับขึ้นหิ้งทั้งนั้น ด้วยผลงานที่ทรงคุณค่าตลอดชีวิตการทำงาน ทำให้ American Library Association ได้มอบรางวัล Laura Ingalls Wilder Medal (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น Children's Literature Legacy Award) ให้กับเขาในปี 2003 ด้วย
Antoine de Saint-Exupéry (1900 - 1944)
นักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กในตำนานที่ผู้ใหญ่ทั่วโลกต่างหลงรัก
หากจะพูดถึงหนังสือเด็กที่ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘The Little Prince (Le Petit Prince) (1943)’ หรือที่คนไทยรู้จักกันดีในชื่อ ‘เจ้าชายน้อย’ น่าจะติดหนึ่งในลิสต์ของหนังสือเหล่านั้นแน่นอน
นอกจากเจ้าชายน้อยจะเป็นผลงานที่โด่งดังที่สุดแล้ว มันยังเป็นหนังสือเด็กเล่มแรกและเล่มเดียวจากบรรดาหนังสือทั้งหมดของ Antoine de Saint-Exupéry นักบิน นักเขียน และนักวาดภาพประกอบชาวฝรั่งเศส เขาได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนเจ้าชายน้อยมาจากประสบการณ์ตรงของตัวเองจากเหตุเครื่องบินตกในทะเลทราย Libyan ในปี 1935 อย่างไรก็ดี แม้เจ้าชายน้อยจะได้รับคำชมอย่างล้นหลาม ได้รับการแปลกว่า 301 ภาษาทางการและภาษาถิ่น และยังขายได้มากถึง 140 ล้านเล่มทั่วโลก ซึ่งนับเป็นหนึ่งในหนังสือที่ขายดีที่สุดและถูกแปลมากที่สุดตลอดกาล รวมถึงถูกนำไปดัดแปลงในอีกหลายสื่อ ไม่ว่าจะเป็นอนิเมชั่น ภาพยนตร์ ซีรี่ส์ ละครเวที และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่เบื้องหลังที่แท้จริงแล้ว Antoine de Saint-Exupéry กลับได้อยู่เห็นความสำเร็จของมันเพียงชั่วเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เพราะในปีถัดมาหลังการตีพิมพ์ครั้งแรก เขาก็ได้หายตัวไปพร้อมกับเครื่องบินขณะกำลังบินลาดตระเวนอยู่เหนือน่านฟ้าแอฟริกาในวัยเพียง 44 ปี (เป็นความบังเอิญที่ในหนังสือเจ้าชายน้อยเองก็ดูพระอาทิตย์ตกเป็นจำนวน 44 ครั้งเหมือนกัน) หลังจากนั้นหลายปีก็มีหลักฐานที่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นซากเครื่องบินของเขาที่ถูกยิงตกตั้งแต่ปี 1944 เหลือไว้เพียงตำนานลายเส้นสเกตช์ไร้เดียงสาแต่มากด้วยจินตนาการของเจ้าชายน้อย ซึ่งกลายมาเป็นหนังสือเด็กที่ไม่ได้เขียนไว้สำหรับเด็กเท่านั้น แต่ยังเป็นหนังสือปรัชญาชีวิตที่เรียบง่ายสำหรับผู้ใหญ่หลาย ๆ คนด้วย
Beatrix Potter (1866 - 1943)
นักวาดภาพประกอบหนังสือลายเส้นสุดคลาสสิคขวัญใจเด็กทุกยุคทุกสมัย
ด้วยแรงบันดาลใจจากพื้นที่ชนบทที่เธอได้พบเห็นและการเติบโตมาอย่างโดดเดี่ยว Beatrix Potter นักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวอังกฤษจึงมีความหลงใหลในพืชพรรณและสัตว์นานาชนิดมาตั้งแต่เด็ก เธอเริ่มต้นความสนใจในศิลปะจากการศึกษาและวาดภาพประกอบทางวิทยาศาตร์ของทั้งพืชและสัตว์ แต่ด้วยการกีดกันทางเพศในยุควิคตอเรียน เธอจึงเริ่มหันเหมาเขียนหนังสือเด็กกว่า 30 เล่มแทน ซึ่งผลงานที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอที่สุดคงหนีไม่พ้นซีรี่ส์ ‘The 23 Tales’ ซึ่งเป็นหนังสือเด็กสไตล์เทพนิยายที่เล่าเรื่องราวของสัตว์ชนิดต่าง ๆ กว่า 23 ตัว ไม่ว่าจะเป็น ‘The Tale of Benjamin Bunny (1904)’, ‘The Tale of Jemima Puddle-Duck (1908)’, ‘The Tale of Squirrel Nutkin (1903)’ และ The Tale of Peter Rabbit (1902) ที่โด่งดังไปทั่วโลกจนถึงปัจจุบันนั่นเอง
แม้จะถูกวาดอย่างถูกต้องตามหลักกายวิภาคทางวิทยาศาสตร์ แต่ลายเส้นของ Beatrix Potter กลับให้ความรู้สึกอบอุ่นและเป็นมิตร ซึ่งจุดนี้เองจึงเป็นสาเหตุให้ผลงานของเธอมีความคลาสสิคอยู่เหนือกาลเวลา จนแม้ว่าเราจะเดินทางก้าวข้ามผ่านยุควิคตอเรียนมาเกินศตวรรษ แต่ผลงานของ Beatrix Potter ก็ยังคงครองใจเหล่าเจ้าตัวน้อยในทุกยุคทุกสมัย และยังถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และซีรี่ส์จนถึงปัจจุบัน
Lois Ehlert (1934 - 2021)
นักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กที่ Barack Obama เลือกอ่านให้เด็ก ๆ ฟัง
อีกหนึ่งนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กชาวอเมริกันที่เพิ่งล่วงลับ Lois Ehlert เริ่มต้นอาชีพจากการเป็นกราฟฟิกดีไซเนอร์ก่อนจะผันตัวมาทำภาพประกอบหนังสือเด็กในวัยกว่า 50 ปี ผลงานที่โด่งดังที่สุดของเธอคงจะหนีไม่พ้น ‘Chicka Chicka Boom Boom (1989)’ เรื่องราวของเหล่าตัวอักษรที่พยายามปีนป่ายขึ้นต้นมะพร้าว ซึ่งความนิยมของของมันคงพิสูจน์ได้จากยอดขายกว่า 12 ล้านเล่มทั่วโลก นอกจากนั้น Chicka Chicka Boom Boom ยังเป็นหนังสือที่ Barack Obama อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐเลือกอ่านให้เด็ก ๆ ฟังในงาน White House Easter Egg Roll ปี 2013 อีกด้วย
ผลงานของ Lois Ehlert มีจุดเด่นที่การนำกระดาษสีสันฉูดฉาดมาตัดปะคอลลาจ และใช้เพียงรูปทรงง่าย ๆ มาประกอบร่างให้เกิดเป็นตัวละครต่าง ๆ นอกจาก Chicka Chicka Boom Boom แล้ว เธอยังมีงานที่โด่งดังอีกหลายเล่ม ไม่ว่าจะเป็น ‘Eating the Alphabet (1996)’, ‘Planting a Rainbow (1988)’, ‘Waiting for Wings (2001)’ และ ‘Color Zoo (1989)’ ผลงานที่ทำให้เธอได้รับรางวัล Caldecott Honor ในปี 1990
Sir Quentin Blake (1932 - Present)
นักวาดภาพประกอบคู่ใจ Roald Dahl ที่ผลงานถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์มากมาย
ไม่ว่าจะเป็นผลงานหนังสือเด็กที่เขาเขียนเองหรือจะเป็นผลงานการเขียนของนักเขียนคนอื่น แต่ปัจจุบัน Sir Quentin Blake ก็มีผลงานภาพประกอบที่ถูกตีพิมพ์แล้วมากกว่า 300 เรื่อง แม้ว่านักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวอังกฤษคนนี้จะคลุกคลีกับวงการศิลปะมาตั้งแต่ยังเด็ก (เขาตีพิมพ์การ์ตูนลงในนิตยสาร Punch ตั้งแต่อายุ 16) แต่ Sir Quentin Blake ก็เพิ่งจะมาเริ่มต้นอาชีพในเส้นทางหนังสือเด็กอย่างจริงจังครั้งแรกในปี 1961 ด้วยการวาดภาพประกอบให้หนังสือ ‘The Wonderful Button by Evan Hunter (1961)’ ของ Evan Hunter เป็นเรื่องแรก และต่อมาในปี 1979 เขาจึงเริ่มทำงานร่วมกับ Roald Dahl นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษจนเกิดเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซถึง 18 เรื่อง รวมถึง ‘Matilda (1988)’, ‘The BFG (1982)’ และ ‘Charlie and the Chocolate Factory (1964)’ ที่ภายหลังถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ดังที่เราคุ้นเคยนั่นเอง
ด้วยลายเส้นสเกตช์คอนทัวร์หยาบ ๆ การลงสีอย่างอิสระ และมุกตลกร้ายที่สอดแทรกอยู่ในผลงานของเขา Sir Quentin Blake ได้รับการยอมรับในวงการหนังสือเด็กอย่างกว้างขวางจนถูกเชิญไปสอนวิชาภาพประกอบในมหาวิทยาลัย Royal College of Art ร่วม 20 ปี ในที่สุด ประสบการณ์ทั้งชีวิตในวงการก็นำมาซึ่งรางวัล Hans Christian Andersen Award ในปี 2002 ซึ่งนับว่าเป็นรางวัลสูงสุดสำหรับคนทำหนังสือเด็ก นอกจากนั้น ในปี 2014 เขายังได้รับเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวิน (Chevalier of the Légion d'Honneur) จากรัฐบาลฝรั่งเศสด้วย
Dr. Seuss (1904 - 1991)
นักวาดภาพประกอบจ้าของลายเส้นแปลกตาล้ำจินตนาการในตำนาน
Theodor Seuss Geisel หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ Dr. Seuss เป็นทั้งนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็ก นักวาดการ์ตูนล้อการเมือง กวี และคนทำภาพยนตร์อนิเมชั่น ด้วยความสามารถรอบด้าน ทำให้ผลงานของเขาได้รับความสนใจจากทั้งคนในวงการโฆษณา คอการเมือง และเหล่าคนรักงานศิลปะมาโดยตลอด เขาเริ่มเขียนและวาดหนังสือเด็กเล่มแรกจาก ‘And To Think That I Saw It On Mulberry Street (1937)’ แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาผันตัวไปทำงานในฐานะนักวาดการ์ตูนล้อการเมืองและคนทำภาพยนตร์ให้กับกองทัพสหรัฐอเมริกา ซึ่งการทำงานตรงนี้เองก็ทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมจาก ‘Design for Death (1947)’
หลังสงครามจบลง Dr. Seuss จึงกลับมาทำหนังสือเด็กอีกครั้ง โดยผลงานที่ทำให้เขาเริ่มมีชื่อเสียงในวงการคือ ‘The Cat in the Hat (1957)’ หลังจากนั้น เขาก็ผลิตผลงานระดับตำนานมากมายทั้ง ‘How the Grinch Stole Christmas! (1957)’, ‘Green Eggs and Ham (1960)’, ‘The Sneetches (1961)’, ‘The Lorax (1971)’ และ ‘Oh, the Places You'll Go (1990)’ ซึ่งได้รับการแปลมากกว่า 20 ภาษา และมียอดขายรวมกันกว่า 600 ล้านเล่ม ด้วยเรื่องราวล้ำจินตนาการ และภาพประกอบสุดเซอร์เรียล ทำให้ผลงานของเขามีเอกลักษณ์โดดเด่นไม่ซ้ำใครจนถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์และซีรี่ส์ที่โด่งดังมากมาย
Maurice Sendak (1928 - 2012)
นักวาดภาพประกอบที่ทำลายเส้นแบ่งระหว่างเด็กและผู้ใหญ่จนถูก Spike Jonze นำไปสร้างเป็นภาพยนตร์
Maurice Sendak คือนักเขียนและนักวาดภาพประกอบหนังสือเด็กชาวอเมริกันเจ้าของผลงานดัง ‘Where the Wild Things Are (1963)’, ‘Chicken Soup with Rice (1962)’, ‘In the Night Kitchen (1970)’ และ ‘Outside Over There (1981)’ ที่แม้จะสร้างผลงานหนังสือที่ส่งเสริมพัฒนาการและต่อยอดจินตนาการของเด็กมานับไม่ถ้วน แต่ชีวิตในวัยเด็กของตัวเขาเองกลับไม่ได้สวยงามนัก
เขาเติบโตมาในครอบครัวชาวยิวอพยพที่มีสมาชิกในครอบครัวมากมายถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกทั้งตัวเขาเองยังป่วยหนักจนต้องนอนติดเตียงอยู่หลายครั้ง ซึ่งไม่ว่าจะเกี่ยวข้องในทางตรงหรือทางอ้อม แต่ชีวิตในวัยเด็กของเขาก็มีส่วนหล่อหลอมให้ผลงานหนังสือเด็กของเขามีกลิ่นอายของรสชาติชีวิตที่ไม่ได้มีแต่ความหอมหวาน แต่ยังมีความเจ็บปวดแฝงอยู่ลึก ๆ แม้แต่เมื่อครั้งผลงานสร้างชื่ออย่าง Where the Wild Things Are ถูกตีพิมพ์เป็นครั้งแรกก็ยังมิวายถูกวิจารณ์ว่ามีความน่ากลัวเกินกว่าจะเป็นหนังสือเด็ก เพราะเหล่าสัตว์ประหลาดที่ร่วมเดินทางไปพร้อม ๆ กับ Max ตัวละครเอกของเรื่องมีหน้าตาน่ากลัวมากเกินไป อย่างไรก็ดี Where the Wild Things Are ก็ทำให้ Maurice Sendak ได้รับรางวัลมากมาย และภายหลังในปี 2009 มันก็ยังถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันโดยผู้กำกับอินดี้มากฝีมืออย่าง Spike Jonze อีกด้วย
แหล่งข้อมูล:
https://theculturetrip.com/north-america/usa/articles/top-9-children-s-books-illustrators/
https://mymodernmet.com/best-childrens-book-illustrators/
https://www.artsy.net/article/artsy-editorial-illustrators-favorite-childrens-books