แฟชั่น Androgynous หมายถึง แฟชั่นที่ยากจะระบุว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่ง เพราะมีลักษณะของทั้ง ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ อยู่ด้วยกันทั้งคู่

แฟชั่น Androgynous หมายถึง แฟชั่นที่ยากจะระบุว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่ง เพราะมีลักษณะของทั้ง ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ อยู่ด้วยกันทั้งคู่

จาก David Bowie ถึง Harry Styles แฟชั่น Androgynous ก้าวไปไกลแค่ไหนในโลกของผู้ชาย

แฟชั่น Androgynous หมายถึง แฟชั่นที่ยากจะระบุว่าเป็นเพศใดเพศหนึ่ง เพราะมีลักษณะของทั้ง ‘ความเป็นชาย’ และ ‘ความเป็นหญิง’ อยู่ด้วยกันทั้งคู่

ในโลกของแฟชั่น เป็นที่รู้กันดีว่า บุคคลแรก ๆ ที่ผสานโลกของชายและหญิงเข้าด้วยกันในช่วงยุค 1910s ไม่ใช่ใครอื่น แต่เป็นมาดาม Coco Chanel ผู้โด่งดังแห่งห้องเสื้อ Chanel ที่เปลี่ยนการแต่งกายของผู้หญิงจากกระโปรงฟูฟ่องและคอร์เซ็ตมาเป็นชุดกางเกงที่ทะมัดทะแมงมากขึ้น ซึ่งในช่วง 1930s เทรนด์นี้ก็ยังคงทรงอิทธิพลมาถึงเหล่าเซเลบคนดังแห่งฮอลลีวูดอย่าง Katherine Hepburn และ Marlene Dietrich ที่เริ่มหันมาแต่งกายในลุคแมน ๆ มากขึ้น ในเวลาต่อมา Yves Saint Laurent ที่เริ่มเข้ามามีอิทธิพลในช่วงยุค 1960s ก็เข้ามาทำลายกรอบแฟชั่นของเพศหญิงด้วยชุดทักซิโด้สุดเท่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะของสุภาพบุรุษเท่านั้น นี่เองถือเป็นวิวัฒนาการของ แฟชั่น Androgynous ในช่วงเริ่มแรก

อย่างไรก็ดี เมื่อพูดถึงแฟชั่น Androgynous ของผู้ชาย เราจะเห็นว่า เทรนด์เหล่านี้กลับถูกทำให้เป็นที่สนใจต่อสาธารณชนจากเหล่าร็อกเกอร์สายแกลมผู้โด่งดังอยู่หลายต่อหลายคน ไม่ว่าจะเป็น David Bowie, Prince หรือ Freddie Mercury ผู้ซึ่งผสานความเป็นชายและความเป็นหญิงเข้าด้วยกันอย่างลงตัว

The Peacock Revolution ช่วงปลายยุค 1960s

ด้วยความจัดจ้านและสไตล์ล้ำสมัย เหมือนนกยูงตัวผู้ที่กำลังรำแพนหางอวดความงามไม่ซ้ำใคร จึงเป็นสาเหตุให้ผู้คนเริ่มเรียกการเปลี่ยนแปลงทางแฟชั่นของเหล่าร็อกเกอร์ชายในช่วงปลายยุค 1960s ว่า The Peacock Revolution โดยมีผู้นำด้านการแต่งกายและการแต่งหน้าเป็น David Bowie นักร้องคนล้ำผู้ไม่เคยเกรงกลัวการแต่งกายที่มีกลิ่นอายความเป็นหญิง นอกจากนั้น เขายังมีตัวตนอีกคนชื่อ Ziggy Stardust ที่เป็นเอเลี่ยนลุค Androgynous ที่มายังโลกเพื่อส่งสารบางอย่าง หรือ Jimi Hendrix ในชุดพลิ้วไหวอันเป็นเอกลักษณ์ ในเวลาต่อมาในช่วง 1980s ยังมีร็อกเกอร์ร่วมอุดมการณ์อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น Prince นักร้องผู้ที่ไม่เพียงเป็นผู้นำด้านแฟชั่น Androgynous แต่ยังมีทั้งความลื่นไหลทางเพศในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องสนใจความเป็นชายที่สังคมคาดหวัง และยังเป็นไอคอนแห่งชาวผิวสีด้วย รวมไปถึง Freddie Mercury นักร้องนำแห่งวง Queen ตัวแทนชาว LGBTQ+ ผู้มักจะปรากฏตัวด้วยชุดรัดรูปบนเวทีคอนเสิร์ตที่ดูงดงามชวนมอง

กรันจ์ครองเมืองช่วงยุค 1990s

แม้จะแสดงออกผ่านเสียงเพลงอันหยาบกร้านและดิบเถื่อน อันเป็นลักษณะของชายผู้โชกโชนกับชีวิต แต่ผู้นำแห่งดนตรีกรันจ์อย่าง Kurt Cobain แห่งวง Nirvana กลับไม่เคยดูถูกความเป็นหญิง เขาโอบรับความลื่นไหลทางเพศอย่างเต็มภาคภูมิ ตั้งคำถามกับอคติทางเพศ และแสดงออกผ่านเสื้อผ้าสวย ๆ ของผู้หญิงที่เขาใส่ขึ้นคอนเสิร์ตอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเดรสวินเทจสุดพลิ้ว เครื่องประดับมีสไตล์ และอายไลเนอร์สุดคูล สิ่งเหล่านี้ไม่เคยทำให้ความเป็นชายของเขาลดลง แต่กลับทำให้เขากลายเป็นไอคอนของคนรุ่นใหม่ทั่วทั้งโลก

ช่วงยุค 2010s - ปัจจุบัน

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในปัจจุบัน ยังคงมีความคาดหวังจากสังคมให้ผู้คนแต่งกายตรงตาม ‘เพศสภาพ’ อยู่ และการแต่งกายด้วยแฟชั่น Androgynous ของผู้ชายอาจจะยังดูเป็นของแปลกใหม่ในสังคมอยู่บ้าง แต่ต้องยอมรับว่า ในช่วงยุคแห่งความอิสระเสรีที่ผู้คนสามารถแสดงออกถึงตัวตนของตัวเองผ่านเสื้อผ้าได้มากขึ้น เทรนด์แฟชั่นเหล่านี้ถูกทำให้เป็นปกติมากขึ้นในเหล่าวัยรุ่น Gen Z รวมไปถึงจากเหล่าแบรนด์ดังที่เริ่มปล่อยคอลเลกชั่นเสื้อผ้าสไตล์ใหม่ที่ไม่แบ่งแยกเพศอีกต่อไป แม้แต่เหล่าเซเลบแหล่งโลกตะวันตกมากมายก็เริ่มหันมาแต่งกายด้วยชุดที่ไม่ระบุเพศอีกต่อไป ที่เห็นได้ชัดเจนคงจะหนีไม่พ้น Harry Styles ผู้นำแห่งแฟชั่น Androgynous ในยุคนี้ที่แม้มีลุคน่าตื่นเต้นใหม่ ๆ ออกมาให้เราเห็นกันแทบทุกเดือน แต่ก็ไม่ได้ทำให้สาว ๆ คลั่งไคล้เขาน้อยลงแม้แต่น้อย แถมล่าสุดเขายังเปิดตัวบิวตี้แบรนด์อย่าง Pleasing ด้วย นอกจากนั้น ยังมี Jaden Smith หนุ่มน้อยสุดเท่ผู้สามารถสวมใส่กระโปรงได้ดูดีสุด ๆ รวมถึงตัวแทนจากฝั่งตะวันออกอย่าง G-Dragon แห่งวง BIGBANG ที่เป็นผู้นำด้านแฟชั่นที่ผสมผสานความเป็นชายและความเป็นหญิงมาอย่างยาวนาน ทั้งการแต่งหน้า ทาเล็บ และมิกซ์แอนด์แมชท์แฟชั่นชาย-หญิง แต่ที่น่าประหลาดใจที่สุดคงหนีไม่พ้นเหล่าแรปเปอร์คนคูลอย่าง Young Thug หรือ ASAP Rocky อาชีพที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นตัวแทนของความเป็นชายผู้ดำดิ่งในโลกของดนตรีฮิปฮอป และมุ่งถ่ายทอดถึงชีวิตอันขมขื่นผ่านเซ็กซ์ ความรุนแรง และยาเสพติด

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าแฟชั่น Androgynous จะมาแล้วจากไป เป็นเพียงเทรนด์ดาด ๆ ที่เหล่าเซเลบหยิบยกขึ้นมาสวมใส่เพื่อแสดงถึงความก้าวหน้าว่าพวกเขาไม่เกรงกลัวต่อความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) หรือจะเป็นการแสดงออกของตัวตนที่สามารถแหกกรอบของสังคมที่คอยสอนสั่งให้เราต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ได้จริง ๆ เชื่อเหลือเกินว่า แฟชั่น Androgynous จะยังคงมีอะไรใหม่ ๆ มาให้เราติดตามอีกมากมายแน่นอน

แหล่งข้อมูล:
https://www.buro247.my/fashion/mens/male-icons-androgynous-fashion.html
https://www.bustle.com/articles/149928-the-evolution-of-androgynous-fashion-throughout-the-20th-century-photos
https://www.bustle.com/articles/164464-7-reasons-the-peacock-revolution-of-the-1960s-was-important-for-gender-norms