André Masson ศิลปินคนสำคัญแห่งลัทธิ Surrealism
ผู้ถ่ายทอดโลกที่อยู่ภายในด้วยเส้นสายแห่งจิตใต้สำนึก

André Masson ศิลปินคนสำคัญแห่งลัทธิ Surrealism ผู้ถ่ายทอดโลกที่อยู่ภายในด้วยเส้นสายแห่งจิตใต้สำนึก

André Masson ศิลปินคนสำคัญแห่งลัทธิ Surrealism ผู้ถ่ายทอดโลกที่อยู่ภายในด้วยเส้นสายแห่งจิตใต้สำนึก

“ความมุ่งมั่นที่จะลองเสี่ยงคือพลังขับเคลื่อนที่พามนุษย์ไปเผชิญหน้ากับโลกที่ไม่คุ้นเคย และ อ็องเดร มัสซง (André Masson) ก็คือผู้ที่ครอบครองความมุ่งมั่นนั้นอย่างเต็มเปี่ยม” - André Masson

André Breton กวีและนักเขียนชาวฝรั่งเศส หนึ่งในบิดาผู้ก่อตั้งขบวนการคิดลัทธิเหนือจริง (Surrealism) โดยคำกล่าวนั้นก็เป็นคำที่เบรต็องใช้ในการอธิบายตัวตนและผลงานของ อ็องเดร มัสซง ศิลปินชาวฝรั่งเศสผู้มีคุณูประการในการขับเคลื่อนลัทธิเหนือจริงในงานศิลปะ

เมื่อพูดถึงศิลปะเหนือจริง มัสซงอาจไม่ได้ ‘ป็อป’ เท่า ซัลบาดอร์ ดาลี (Salvador Dalí) หรือ เรอเน มากริต (René Magritte) แต่ที่จริงแล้วมัสซงเป็นศิลปินเหนือจริงที่มีบทบาทสำคัญในการสำรวจพรมแดนของแขนงศิลปะที่มุ่งขุดค้นจิตใต้สำนึกของมนุษย์แขนงนี้ โดยผลงานที่โดดเด่นของมัสซงก็คือการสำรวจจิตใต้สำนึกผ่านการวาดลายเส้นที่เรียกว่า Automatic Drawing ซึ่งเป็นการปล่อยให้มือที่จับดินสอวาดลายเส้นอย่างอิสระ ไร้ขอบเขตทางสุนทรียะใด ๆ มาขวางกั้น ซึ่งเชื่อว่าการวาดด้วยวิถีดังกล่าวจะเป็นการสะท้อนภาพที่ซ่อนอยู่ใต้จิตสำนึกของมนุษย์ได้แจ้งชัดที่สุด โดยที่ในกาลต่อมา กระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะด้วยวิธี Automatic Drawing ของมัสซงนี้ก็จะส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับแวดวงศิลปะอเมริกัน และพัฒนาการกลายเป็นศิลปะนามธรรม (Abstract Art) ที่มี แจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) เป็นผู้รับมรดกทางความคิดคนสำคัญ

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 4 มกราคม เป็นวันเกิดของ อ็องเดร มัสซง ศิลปินลัทธิเหนือจริงผู้ที่ในปีนี้จะมีอายุครบ 125 ปีพอดี คอลัมน์ The Art of Being An Artist สัปดาห์นี้จึงจะขอพาชาว GroundControl ทุกคนไปรู้จักแง่คิดและผลงานของศิลปินผู้นี้ด้วยกัน

ก่อน Surrealism

อ็องเดร มัสซง เกิดที่หมู่บ้าน Balagny-sur-Therain ที่อยู่ในเมือง Oise ทางตอนเหนือของฝรั่งเศส ก่อนที่พ่อของเขาจะพาครอบครัวย้ายไปตั้งถิ่นฐานในประเทศเบลเยียมเมื่อเขาอายุ 8 ปี และเมื่อเขาอายุได้ 11 ปี เขาก็เข้าศึกษาใน Royal Academy of Fine Arts สถาบันศิลปะที่ยิ่งใหญ่ของเบลเยียม โดยช่วงแรกเขาเน้นไปที่การฝึกวาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง แต่สไตล์และความคิดของเขาก็เปลี่ยนไป เมื่อเขาได้ไปยืนตื่นตะลึงอยู่หน้าภาพวาดซึ่งเป็นผลงานของ เจมส์ เอ็นเซอร์ (James Ensor) ผู้เป็นหนึ่งในหัวหอกของกลุ่มศิลปินอาวองต์การ์ดแห่งเบลเยียมที่ชื่อว่า Les Vingt ซึ่งสิ่งที่ทำให้มัสซงสนใจก็คือการถ่ายทอดแคแร็กเตอร์ล้ำโลกในภาพวาดของเอ็นเซอร์

นอกจากเอ็นเซอร์แล้ว มัสซงยังหลงใหลหมกมุ่นในบทกวีที่ถ่ายทอดผ่านวิถีสัญลักษณ์นิยม (Symbolism) ของ เอมีล แวร์เฮอรอง กวีชาวเบลเยียมผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งลัทธิสัญลักษณ์นิยมในฝั่งกวีนิพนธ์ การพัฒนาทางความคิดที่ลึกซึ้งเกินไปกว่าแค่สุนทรียะทางศิลปะทำให้อาจารย์ของมัสซงแนะนำให้ครอบครัวส่งเขาไปศึกษาต่อที่สถาบันศิลปะในปารีส เพื่อที่เขาจะได้ลับคมความคิดและก้าวไปสู่หนทางการเป็นศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ และนั่นเองที่ทำให้มัสซงได้ย้ายกลับมายังประเทศบ้านเกิด และเข้าศึกษาต่อในสถาบันศิลปะ Beaux-Arts แห่งกรุงปารีส

แต่เพียงไม่นาน มัสซงก็ต้องประสบกับจุดหักเหครั้งสำคัญในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง เมื่อเขาถูกเกณฑ์ไปรับใช้ชาติในสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่ออายุได้เพียง 19 ปี นี่คือช่วงเวลาที่มัสซงเข้าใกล้ความตายมากที่สุด เขาถูกพบบาดเจ็บสาหัสอยู่ในหลุมกระสุนปืนใหญ่ โดยมีอาการบาดเจ็บสาหัสที่หน้าอกที่ทำให้เขาต้องถูกย้ายตัวไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลหลายแห่ง ในช่วงระหว่างความเป็นกับความตายนี้เองที่มัสซงครุ่นคิดถึงชะตากรรมของมนุษย์และความยิ่งใหญ่ของจักรวาล ซึ่งคำถามนี้ก็ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต และกลายเป็นแก่นหลักในงานของเขาที่มักสำรวจประเด็นเรื่องความรุนแรง ความเจ็บปวด รวมไปถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในเนื้อแท้ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความใคร่ ไปจนถึงการตอบสนองต่อธรรมชาติอันไม่แน่นอนของมนุษย์

หลังจากพักรักษาตัวจนหายดี มัสซงจึงออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ตอนใต้ของฝรั่งเศส เพื่อตามรอยศิลปินผู้ยิ่งใหญ่ที่ล้วนแล้วแต่เคยมารับพลังงานและแรงบันดาลใจจากทิวทัศน์อันงดงามของที่นี่ ไม่ว่าจะเป็น อ็องรี มาติส (Henri Matisse), ปอล เซซาน (Paul Cézanne) และ ฟินเซนต์ ฟัน โคค (Vincent van Gogh)

Surrealist และ Automatic Drawing

หลังชาร์จพลังจากธรรมชาติอันงดงามมาเต็มเปี่ยม มัสซงก็เดินทางกลับสู่กรุงปารีสในปี 1920 โดยช่วงนี้เองที่เขาเช่าสตูดิโออยู่ร่วมกับ ฌูอัน มิโร (Joan Miró) ซึ่งทำให้สองศิลปินได้แลกเปลี่ยนความคิดและเริ่มสำรวจเส้นทางในการไปสู่ศิลปะเหนือจริงด้วยกัน

แต่ก่อนที่จะถูกดึงดูดเข้าสู่แนวคิดของลัทธิเหนือจริง มัสซงก็เริ่มสนใจการวาดภาพแบบบาศกนิยม (Cubism) โดยมีผลงานของ อังเดร เดอแร็ง (Andre Derain) เป็นต้นแบบ จนในที่สุดเขาก็ได้จัดแสดงผลงานครั้งแรกของตัวเองในปี 1923 โดยได้ ดาเนียล-อองรี กาห์นไวเลอร์ (Daniel-Henri Kahnweiler) ตัวแทนของเจ้าพ่อศิลปะบาศกนิยม ปาโบล ปิกาสโซ (Pablo Picasso) เป็นพ่องานในการจัดงานให้

การจัดแสดงผลงานครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญอีกครั้งของมัสซง เพราะหนึ่งในผู้ที่เข้ามาชมผลงานก็คือ อ็องเดร เบรต็อง (Andre Breton) นักเขียนและกวีผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘ตัวพ่อ’ แห่งแนวคิดเหนือจริงซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนคำประกาศลัทธิเหนือจริง หรือ Manifeste du surréalisme (Surrealist Manifesto ฉบับสำคัญมีอยู่ 2 ฉบับด้วยกัน คือฉบับที่เบรต็องเขียน และอีกฉบับที่เขียนโดย อีวาน กอลล์ (Yvan Goll) กวีชาวฝรั่งเศส-เยอรมัน ซึ่งเป็นผู้นำกลุ่มลัทธิเหนือจริงที่เป็นคู่แข่งกับกลุ่มของเบรต็อง)

เบรต็องดึงมัสซงเข้าสู่โลกของลัทธิเหนือจริงด้วยการจ้างมัสซงให้วาดภาพ Les Quatre éléments ในตอนนั้น เบรต็องเป็นที่รู้จักในฐานะนักเขียนตัวพ่อที่นำแนวคิดเรื่องจิตใต้สำนึกของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) มาใช้ทั้งในศิลปะภาพวาดและงานประพันธ์ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการสร้างสรรค์งานประพันธ์จากจิตใต้สำนึกที่เรียกว่า Automatic Writing ซึ่งเป็นการปลดปล่อยถ้อยคำออกมาบนหน้ากระดาษโดยปราศจากการฉุกคิดและพันธนาการของกรอบความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลที่ได้รับอิทธิพลมาจากสังคมรายล้อม โดยเชื่อว่าถ้อยคำที่ปราศจากการกลั่นกรองนั้นคือถ้อยคำที่มาจากจิตใต้สำนึก อันเป็นพื้นที่ที่สถิตย์ไว้ซึ่งแรงบันดาลใจและความสามารถในการสร้างสรรค์ศิลปะที่แท้จริงของมนุษย์ การเขียนอย่างอิสระไร้กรอบเกณฑ์ทางสุนทรียะและเหตุผลจึงเป็นเหมือนการจำลองการสร้างภาพฝันของจิตใต้สำนึก ที่กลุ่มเหนือจริงของเบรต็องเชื่อว่าเป็นสสารแห่งความคิดที่แท้จริงของมนุษย์

จากแนวคิดการเขียน Automatic Writing ของเบรต็อง มัสซงได้ปรับเปลี่ยนกระบวนการนั้นออกมาเป็นกระบวนการในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่เรียกว่า Automatic Drawing ซึ่งเหมือนกับการเขียนโดยไร้กรอบเหตุผล การวาดแบบอัตโนมัตินี้ก็คือการปล่อยให้มือที่จับดินสอวาดเส้นลงไปบนกระดาษแบบอิสระเสรีโดยปราศจากการยั้งคิดใด ๆ แล้วให้ลายเส้นที่ปรากฏนั้นทำหน้าที่สร้างรูปฟอร์มหรือรูปวาดออกมาเอง โดยในเวลาต่อมา มัสซงก็ได้ต่อยอดการวาดลายเส้น (Drawing) จากจิตใต้สำนึกไปสู่การสร้างภาพวาดสีน้ำมันแบบไร้สำนึก ซึ่งเป็นการย้อนกลับไปสำรวจช่วงบาศกนิยม ก่อนที่เขาจะก้าวเข้ามาในศิลปะลัทธิเหนือจริง โดยภาพสีน้ำมันที่สร้างสรรค์ด้วยวิธีการวาดแบบปราศจากพันธนาการทางความคิดของมัสซงก็เห็นได้จากการใช้สีที่ดูลื่นไหลและเบาเบางมากขึ้น

ในช่วงนี้ มัสซงยังผลักดันให้ตัวเองเข้าสู่สภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นเพื่อเลียนแบบช่วงเวลาที่สิ่งที่อยู่ในจิตใต้สำนึกปรากฏขึ้นมาเป็นภาพฝันยามหลับใหล มัสซงบังคับตัวเองให้ไม่นอนหลับเป็นระยะเวลาติดต่อกันหลายวัน หรือไปจนถึงขั้นใช้สารเสพติด

Sand Paintings

นอกจากการวาดด้วยดินสอและพู่กัน ในเวลาต่อมา มัสซงยังได้เริ่มหันไปสู่การสร้างภาพวาดจากจิตใต้สำนึกด้วยสื่อชนิดอื่น คราวนี้เขาทดลองใช้สื่อที่ควบคุมได้ยากขึ้น นั่นก็คือ ทราย โดยเขาจะทากาวลงไปทั่วผืนผ้าใบ แล้วจึงหยิบทรายขึ้นมาแล้วสาดลงไปโดยปราศจากการพยายามควบคุม จากนั้นเขาจึงบีบสีลงไปถมทับ จนก่อเกิดเป็นภาพและเท็กซ์เจอร์ต่าง ๆ แบบแรนดอม

ภาพทรายของมัสซงเผยให้เห็นความคิดและจิตใจของเขาที่ยังคงติดอยู่กับประสบการณ์เลวร้ายในช่วงสงคราม การสาดทรายลงไปในช่วงแรก ๆ ทำให้ภาพที่ออกมาดูหยาบกร้านและรุนแรง กระทั่งเขาเติมลายเส้นลงไปจึงทำให้เห็นรูปรอยของอดีตที่ยังคงตามหลอกหลอน ภาพทรายของเขามักปรากฏเป็นรูปของสิ่งมีชีวิตที่มีเขี้ยวคมและกรงเล็บ บางรูปดูเป็นสัตว์ ในขณะที่บางรูปก็ดูเป็นคน หนึ่งในผลงานภาพทรายชิ้นสำคัญของเขาก็คือ Battle of Fishes (1926) ที่นำเสนอภาพของสัตว์ใต้ท้องทะเลที่เต็มไปด้วยคมเขี้ยว นอกจากนี้ยังมีการบันทึกไว้ว่า ในยามที่มัสซงสร้างสรรค์ผลงาน เขาจะตะโกนร้องออกมาอย่างดุดัน หรือหากเขาไม่พอใจกับผลงาน เขาจะทำร้ายภาพวาดของเขาแบบไม่ยั้งมือ

หลัง Surrealism และเบรต็อง

ชีวิตศิลปินเหนือจริงของมัสซง (และมิโร) มาถึงจุดสูงสุดในช่วงปี 1929 แต่ในช่วงที่รุ่งเรืองสุด ๆ นี้ เขากลับตัดสินใจออกจากกลุ่มศิลปินเหนือจริงของเบรต็องด้วยเหตุผลว่าแนวทางของเบรต็องนั้นคับแคบเกินไป เขาได้ไปเข้าร่วมกลุ่มศิลปินเหนือจริงที่ไม่ได้อยู่ในกระแสหลักเท่ากลุ่มของเบรต็อง โดยกลุ่มนี้นำโดยนักปรัชญาและนักเขียน จอร์จส์ บาทาย (Georges Bataille) ที่มุ่งสำรวจจิตใต้สำนึกผ่านความอีโรติกและความรุนแรง ซึ่งทั้งบาทายและมัสซงต่างก็มีความสนใจในประเด็นนี้ร่วมกัน โดยตั้งแต่ยุคหลัง 30s เป็นต้นมา ผลงานของมัสซงก็มีความดุดันเกรี้ยวกราดน้อยลง

ในช่วงระหว่างปี 1930-37 มัสซงเดินทางไปมาระหว่างตอนใต้ของฝรั่งเศสและประเทศสเปน กระทั่งสงครามกลางเมืองในสเปนปะทุขึ้น เขาจึงพำนักอยู่ในฝรั่งเศส และใช้เวลาในช่วงนี้ไปกับการทดลองไอเดียที่ได้แรงบันดาลใจมาจากปกรณัมกรีก, วรรณกรรมสเปน และภาพของสงครามกลางเมืองสเปน หนึ่งในผลงานที่สำคัญของเขาในยุคนี้ก็คือ Don Quixote and the Chariot of Death (1935) ที่มัสซงตีความฉากหนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิกของนักประพันธ์ชาวสเปน มิเกล เด เซร์บันเตส (Miguel de Cervantes) ที่ตัวละคร ดอนกิโฆเต้ เกิดภาพหลอนและกำลังมุ่งจู่โจมคณะนักแสดงที่ผ่านทางมา โดยที่นักแสดงผู้นั้นยังอยู่ในคอสตูมที่แสดงสัญลักษณ์ของความตายและปีศาจ

มัสซงในอเมริกา และลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Abstract Expressionism)

ในช่วงยุค 1940s มัสซงหนีภัยสงครามและกองทัพนาซีที่บุกยึดกรุงปารีสไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา (ภรรยาคนที่สองของเขาเป็นคนยิว) มัสซงและครอบครัวพำนักอยู่ในนิวยอร์ก และที่นี่เองที่เขาและผู้ที่ชักนำเขาเข้าสู่โลกของจิตใต้สำนึกอย่างเบรต็องได้กลับมาคืนดีกัน ที่โลกใหม่แห่งนี้ มัสซงยังได้ทำความรู้จักกับ มาร์แซล ดูว์ช็อง (Marcel Duchamp) เจ้าศิลปินแห่งคติดาดา (Dadaism) รวมไปถึงศิลปินเหนือจริงอย่าง อีฟส์ ทางไก (Yves Tanguy), ประติมากรเหนือจริงคนสำคัญแห่งอเมริกาอย่าง อเล็กซานเดอร์ คาลเดอร์ (Alexander Calder) และ อาร์ไชล์ กอร์กี (Arshile Gorky) ศิลปินผู้มีบทบาทในการก่อตั้งศิลปะลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ (Abstract Expressionism) ในอเมริกา

ในช่วงที่อยู่อเมริกาและแวดล้อมด้วยศิลปินจากลัทธิเหนือจริง มัสซงจึงหวนกลับไปเยี่ยมเยียนกระบวนการทางศิลปะที่เคยรักอย่าง Automatic Drawing หรือการวาดลายเส้นจากจิตใต้สำนึกอีกครั้ง ผลงานของเขาในยุคนี้กระทบใจกอร์กีเป็นอย่างมาก จนทำให้กระบวนการทำงานศิลปะเพื่อสำรวจจิตใต้สำนึกนี้แพร่หลายไปในกลุ่มศิลปินลัทธิสำแดงพลังอารมณ์ในอเมริกา ซึ่งหนึ่งในผู้ที่ได้รับมรดกทางความคิดของมัสซงก็คือ แจ็กสัน พอลล็อก (Jackson Pollock) ที่ประทับใจในวิธีการวาดภาพแบบ Automatism ของมัสซง โดยเฉพาะวิธีการวาดภาพที่ต้องตีความจากลายเส้นและเน้นให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวของลายเส้นอันเป็นอิสระ

อ้างอิง: https://www.barnebys.com/blog/andre-masson-risk-taker

https://www.widewalls.ch/.../automatic-drawing/andre-masson

http://www.visual-arts-cork.com/famou.../andre-masson.htm...