มองโลกผ่านสายตาของ ‘พืช’ ใน ‘Life’ ของ Olafur Eliasson ที่เปลี่ยนมิวเซียมเป็นบ่อน้ำสีเขียว!

มองโลกผ่านสายตาของ ‘พืช’ ใน ‘Life’ ของ Olafur Eliasson ที่เปลี่ยนมิวเซียมเป็นบ่อน้ำสีเขียว!

มองโลกผ่านสายตาของ ‘พืช’ ใน ‘Life’ ของ Olafur Eliasson ที่เปลี่ยนมิวเซียมเป็นบ่อน้ำสีเขียว!

ใครที่ติดตามแวดวงศิลปะร่วมสมัย ย่อมต้องคุ้นเคยกับชื่อของ โอลาเฟอร์ เอเลียสซัน (Olafur Eliasson) ศิลปินชาวเดนนิช-ไอซ์แลนด์ที่เป็นที่รู้จักจากบรรดาศิลปะจัดวาง (Installation Art) ที่มักเล่นกับประสบการณ์การผัสสะของผู้ชมผ่านศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่กระตุ้นการปฏิกิริยาการรับรู้เกี่ยวกับแสงและอุณหภูมิของมนุษย์

 

เอเลียสซันก็กลับมาพร้อมกับผลงานที่พาผู้ชมหลุดจากประสบการณ์การรับรู้ของตนเองแล้วเข้าไปสำรวจโลกผ่านประสาทการรับรู้ของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่ร่วมโลกกับเรา ผ่านนิทรรศการที่ชื่อว่า Life ที่เขาพลิกพื้นที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย Fondation Beyeler แห่งกรุงบาเซิล ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ให้กลายเป็นบ่อน้ำสีเขียวขนาดใหญ่ที่มีพืชน้ำมากมายอาศัยอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเฟิร์น ดอกบัว จอกแดง กระจับเขาควาย ฯลฯ

ความพิเศษของนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ เอเลียสซันได้ถอดเอากระจกทั้งหมดที่ติดตั้งรอบ ๆ พิพิธภัณฑ์ออกไป เพื่อเปิดพื้นที่แบบโอเพ่นแอร์ที่ผู้ชมสามารถเดินเข้ามาในสภาพแวดล้อมของหนองบึงที่ศิลปินจัดไว้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือกลางคืน! โดยในเวลากลางวันนั้นผู้ชมก็จะได้สัมผัสกับสิ่งแวดล้อมในธรรมชาติที่กระตุ้นประสาทสัมผัสด้านต่าง ๆ ของเรา ไม่ว่าจะเป็นอากาศ แสงอาทิตย์ ความชื้น กลิ่น ไปจนถึงเสียงต่าง ๆ ส่วนตอนกลางคืน บ่อน้ำสีเขียวก็จะเรืองแสงขึ้นมาจากระบบแสง UV ที่ศิลปินติดตั้งไว้ ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับสีย้อมฟลูออเรสเซนต์ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม (และเอเลียสซันก็เคยใช้ในงานก่อนหน้านี้มาแล้ว) อันเป็นการนำเสนอประสบการณ์ด้านผัสสะจากมุมมองของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่มนุษย์ไม่สามารถเข้าถึงได้นั่นเอง

นอกจากนี้สภาพแวดล้อมที่เปิดโล่งยังเชื่อมโยงสภาพแวดล้อมธรรมชาติด้านนอกตัวอาคารพิพิธภัณฑ์เข้ากับพื้นที่ภายในอาคารอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จนทำให้ Life กลายเป็นพื้นที่ศิลปะขนาดยักษ์ที่เราสามารถเดินเข้าไปในงานศิลปะแล้วสัมผัสประสบการณ์การดำรงอยู่ในธรรมชาติที่ไม่อาจแยกออกได้แล้วว่า ส่วนไหนเป็นธรรมชาติที่มนุษย์สร้าง หรือส่วนไหนเป็นธรรมชาติที่ดำรงอยู่เช่นนั้นจริง ๆ

 

แซม เคลเลอร์ (Sam Keller) ไดเรกเตอร์ของพิพิภัณฑ์ Fondation Beyeler ยังได้อธิบายเพิ่มว่า ความน่าสนใจของผลงานชิ้นนี้ก็คือการที่สภาพของงานจะเปลี่ยนแปลงไปตลอดช่วงระยะเวลาที่จัดแสดง ซึ่งผลลัพธ์ที่ศิลปินคาดหวังก็คือการที่ผู้ชมได้มามีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมที่ถูกจัดขึ้นมา ซึ่งเป็นการพาผู้ชมไปสำรวจสายปฏิกิริยาระหว่างมนุษย์กับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ และสรรพสิ่งที่อยู่ร่วมโลกเดียวกับเราในระบบนิเวศน์ที่กำลังทรุดโทรมนี้

นอกจากตัวงานที่จัดแสดงที่ Fondation Beyeler แล้ว อีกส่วนหนึ่งของงานชิ้นนี้ก็คือการถ่ายทอด Livestream ด้วยกล้องที่เลียนแบบการมองเห็นของสัตว์และแมลงต่าง ๆ โดยเอเลียสซันได้แรงบันดาลใจมาจากโปรเจกต์ของนักมานุษยวิทยา นาตาชา มายเออร์ (Natasha Myers) ที่นำเสนอแนวคิดเรื่อง ‘Planthroposcene’ ที่กระตุ้นให้มนุษย์หันมาสนใจมองโลกผ่านมุมมองของ ‘พืช’ อันเป็นสิ่งมีชีวิตที่ทำให้โลกนี้สามารถดำรงอยู่ได้ ซึ่งแนวคิดนี้ก็เป็นการต่อยอดจากแนวคิดใหญ่ที่สั่นสะเทือนความรู้ของมนุษย์ นั่นก็คือ Anthropocene อันว่าด้วยการที่มนุษย์คือสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในโลกที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ของโลก ซึ่งแนวคิดที่ดูเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์สุด ๆ นี้กลับส่งอิทธิพลสำคัญอย่างยิ่งต่อนักคิดและศิลปินร่วมสมัยมากมายที่พยายามจะทลายแนวคิดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง และนำเสนอโลกผ่านมุมมองของสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ เช่น พืชและสัตว์

 

‘Life’ จะจัดแสดงไปจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้ แต่เราสามารถเข้าไปส่องผลงานผ่าน Livestream ที่เลียนแบบการมองเห็นของสัตว์และแมลงได้ที่ https://olafureliasson.net/life/

อ้างอิง: 
Thisiscolossal
News.artnet