ถือกล้อง มองอาคาร - รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ในมุมมองของช่างภาพบันทึกสถาปัตยกรรม

ถือกล้อง มองอาคาร - รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ในมุมมองของช่างภาพบันทึกสถาปัตยกรรม

ถือกล้อง มองอาคาร - รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ในมุมมองของช่างภาพบันทึกสถาปัตยกรรม

เมื่อพูดถึงสถาปนิกที่สร้างความเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมประเทศไทย ชื่อของ "รังสรรค์ ต่อสุวรรณ” จะต้องขึ้นมาเป็นลำดับต้นๆ อย่างแน่นอน 

ผลงานของรังสรรค์ตั้งแต่การออกแบบในสถาปัตยกรรมแนว Brutalism (คอนกรีตเปลือย) และ Post Modern ที่นำเสารูปทรงกรีกและโรมันมาดัดแปลงใช้กับอาคารร่วมสมัย หรือการใช้โดม ระเบียงโค้งเว้า อย่างที่เราเห็นได้ทุกครั้งทีผ่านไปแถวเจริญกรุงกับอาคารสเตท ทาวเวอร์ และ สาธร ยูนีค ทาวเวอร์ ล้วนกลายเป็นที่นิยมแพร่หลายสไตล์นี้ไปทั่วประเทศไทย 

จากเด็กหนุ่มผู้ฉายแววการวาดมาตั้งแต่เยาว์วัย สู่เส้นทางการเป็นสถาปนิกเบอร์ต้นๆ แห่งยุคจนผันตัวมาเป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์นั้น รังสรรค์ ต่อสุวรรณมีขึ้นมีลงอย่างสุดขั้ว ทั้งผลงานการออกแบบและชีวิตธุรกิจของเขาล้วนเคยเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ระดับประเทศมาแล้วทั้งสิ้น แต่ไม่ว่าจะเจอเรื่องราวท้าทายชีวิตมาแค่ไหน ผลงานของเขาก็จุดประกายและเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ สร้าง landmark สวยๆ ชวนมองให้กับกรุงเทพมาจนถึงทุกวันนี้

GroundControl อยากให้คุณรู้จักสถาปนิกในตำนานคนนี้มากขึ้น ผ่านภาพถ่ายจาก 4 ช่างภาพสถาปัตยกรรม มาร่วมแบ่งปันภาพถ่ายอาคารที่ออกแบบโดยคุณรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ที่ล้วนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวและเป็นที่คุ้นเคยอย่างยิ่งสำหรับคนกรุงเทพ

"ผมเคยคุยเล่นกับเพื่อนว่าถ้าเกิดภัยพิบัติจนทำให้ประเทศไทยหายไปจากแผนที่โลกและมีนักประวัติศาสตร์รุ่นหลังจากนี้อีกหลายร้อยปีมาทำการขุดค้นสำรวจบรรดาสถานที่ที่เคยเป็นกรุงเทพนั้น เขาเหล่านั้นจะต้องคิดว่าเราเคยเสียกรุงและเอกราชให้กับชาวกรีกหรือโรมันเป็นแน่แท้ เพราะรูปแบบสถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิคที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหมุดหมายสำคัญของบรรดาผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพแห่งนี้นั่นแหละ 

รังสรรค์ ต่อสุวรรณ คือสถาปนิกผู้ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับหน้าตาของสถาปัตยกรรมของประเทศไทยไปอย่างที่ไม่มีใครคาดคิด เขาคือผู้ที่เป็นทั้งสถาปนิก อาจารย์มหาวิทยาลัย นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในคนเดียวกัน และเป็นคนที่หยิบเอาสถาปัตยกรรมแบบนีโอ-คลาสสิคให้กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งนึงในประเทศขวานทองแห่งนี้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เราจะเห็นเขาออกแบบสถาปัตยกรรมแบบ brutalism กันมาอย่างยาวนาน และงานที่เป็นที่ติดตาตรึงใจข้ามยุคสมัยมาก็น่าจะเป็นการออกแบบสถาปัตกยรรมของธนาคารกสิกรไทยที่หยิบเอาโลโก้มาปรับกลายเป็นอาคารที่น่าจดจำเป็นอย่างมาก(ปากซอยบ้านผมมีอยู่หลังนึง ทุกครั้งที่เดินทางผ่านก็ต้องมองอยู่เสมอๆ)

ด้วยการที่เขาเป็นทั้งสถาปนิกและผู้พัฒนาที่ดินในสมัยยุคปี 2520s และประสบปัญหาการที่ไม่สามารถขายพื้นที่ของอาคารแบบโมเดิร์นได้ เลยทำให้เขาไปหยิบเอาสถาปัตยกรรมของพระที่นั่งอนันตสมาคม ที่คนไทยส่วนมากในยุคนั้นมองว่าหรูหรา มาปรับใช้ในการออกแบบสถาปัตกรรมของตัวเอง โดยหยิบมาทั้งเสาโรมันที่มากันครบทั้งดอริก ไอโอนิก โคลินเทียน ไปจนถึงรูปปั้นอย่างวีนัส ซึ่งอาคารที่เขาหยิบเอาสไตล์นี้มาออกแบบเป็นอันแรกคืออัมรินทร์พลาซ่าหรือห้างโซโก้ในตอนนั้นนั่นเอง ซึ่งนอกจากการเป็นสถาปนิกออกแบบอาคารแล้ว รังสรรค์ยังเป็นคนที่ทำหน้าที่เป็นเซลส์ขายพื้นที่ในอาคารอีกด้วย ซึ่งโครงการนี้นั้นขายพื้นที่หมดภายใน 7 วันซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าตกใจเอามากๆในยุคนั้น ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่-รายย่อยเจ้าอื่นๆในยุคนั้นต่างพากันหยิบยืมเอาสไตล์นีโอคลาสสิคแบบเดียวกับอัมรินทร์พลาซ่าแห่งนี้ไปใช้กับโครงการของตัวเองกันเต็มไปหมด ตั้งแต่ตึกระฟ้าไป ตึกแถวกลางเมืองไปจนถึงตึกแถวชายขอบของเมือง จนทำให้เกิดการผลิตวัสดุก่อสร้างบ้านทั้งเสาบ้านแบบดอริก ไอโอนิก คอรินเทียน เสาระเบียง หน้าบัน โคมไฟวีนัส และอีกมากมายหลายต่อหลายสิ่งในสไตล์นี้มาวางขายกัน และยิ่งทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆมาซื้อเอาไปใช้ในโครงการตัวเองต่ออีกซึ่งก็ยิ่งทำให้เกิดการผลิตมามากขึ้นไปอีก และนี่คือสาเหตุที่ทำให้เราสามารถเห็นตึกแถวและทาวน์เฮ้าส์ที่มีเสาโรมันแบบนี้อยู่ทั่วประเทศ

สถาปนิกระดับตำนานอาจจะออกแบบตึกและบ้านได้หลายสิบหลังทั่วทั้งชีวิต แต่สถาปนิกคนนี้ออกแบบตึกไม่กี่หลัง (บางหลังเกิดปัญหาจนกลายเป็นตึกร้างด้วย) จนเกิดเทรนด์ที่ฮิตทั่วบ้านทั่วเมือง จนทำให้ตึกที่สร้างใหม่เกือบทั้งหมดในยุคนั้นกลายพันธ์มีเสาแบบโรมันสืบทอดมาให้เราเห็นในยุคนี้นี่แหละ 

และเหนือสิ่งอื่นใดบ้านผมที่อาศัยอยู่ในตอนนี้นั้นก็มีเสาโรมันอยู่หน้าบ้านเช่นเดียวกัน, fashion come and goes but styles lasts forever 

"น้อยคนจะรู้ว่า 'บ้านบุญนำทรัพย์' หลังนี้เป็นเครือญาติทางสถาปัตยกรรมกับโรงพิมพ์ผ้าปีนังที่ซอยทองหล่อ เจ้าของบ้านทั้งสองหลังนี้เองล้วนอยู่ในธุรกิจ textile เหมือนกัน เมื่อเจอกับสถาปนิกอย่างรังสรรค์ ต่อสุวรรณ ทุกอย่างล้วนไม่ธรรมดา 

หลังนั้นอาจจะเป็นที่รู้จักมากกว่าเพราะตั้งอยู่ริมถนน และเรียกความสนใจด้วยดาดฟ้าหลังคาที่มีแผ่นคอนกรีตโค้งเรียงติดๆ กัน ในขณะที่บ้านหลังนี้ดูย่อมกว่า แล้วหลังคาเป็นรูปคล้ายกรวยสี่เหลี่ยมหลายๆ ยูนิตมาวางต่อกัน เป็นวิธีก่อสร้างที่สถาปนิก รังสรรค์ ต่อสุวรรณ เรียกเองว่าโครงสร้างรูปแก้ว คงจะคล้ายแก้วที่ใส่ไวน์นั่นเอง เมื่อนำแก้วหลายๆใบมาวางชิดกันก็เกิด space ข้างล่างไว้ใช้งาน แต่การก่อสร้างก็ไม่ง่ายเพราะต้องหล่อคอนกรีตเป็นชุดๆ ที่ต้องปราณีตและใช้ฝีมือมาก ถ้ามีใครคิดจะสร้างใหม่แบบนี้ แม้กระทั่งช่างก่อสร้างในปัจจุบันก็คงต้องร้องขอชีวิต"

"ตอนสมัยเด็กๆผมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำที่ กกท. สระว่ายน้ำนั้นจะอยู่ข้างๆ สนามราชมังคลา เห็นทุกวันตั้งแต่เด็กไม่ได้รู้สึกอะไรในตอนนั้น ออกจะรู้สึกว่าดูเก่าจังดูโทรมจัง คอนกรีตกระดำกระด่าง ผมรู้สึกแบบนั้นจริงๆ

สนามกีฬาแห่งนี้ถูกออกแบบโดย อ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนตัวผมนั้นได้เข้าไปใช้งานอาคารนี้หลายอย่าง ดูบอล ดูคอนเสิร์ต หรือแม้จะไปวิ่งรอบๆสนามบ่อยๆ พอโตมาเป็นสถาปนิก เป็นช่างภาพ ก็ได้กลับไปเดินเล่น ลองถ่ายภาพดู ครั้งนี้ผมรู้สึกว่าตัวสถาปัตยกรรม 
รูปแบบ(Form)มันยังดูสวยอยู่เลย ถึงแม้ว่ามันจะผ่านมานานหลายปีมากแล้ว และปัจจุบันได้ถูกทาให้เป็นสีเทาไปแล้วก็ตาม

ผมเลยอยากจะถ่ายทอดภาพชุดนี้ออกมาเป็นภาพขาวดำ โดยไม่มีสีมาเติมแต่ง ให้รู้สึกถึง Formอาคารจริงๆว่า มันยังสวยงดงามTimeless ขนาดไหน"

"สง่างามเหนือกาลเวลา
คลาสสิก ด้วยรูปลักษณ์
รูปทรงให้ได้จินตนาการร่วม
หรือเห็นต่างจากผู้ออกแบบ 
แต่ที่แน่ๆ อาคารหลังนี้...
สวยที่สุดในปลายซอยทองหล่อ"