The Beatles วงดนตรีที่ไม่ใช่แค่วงดนตรี แต่คือหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก
ก่อนที่จอห์น เลนนอน, พอล แมคคาร์ธนีย์, จอร์จ แฮร์ริสัน และ ริงโก สตาร์ จะได้พบกัน มันคงเป็นเรื่องเกินคิดฝันสำหรับเหล่าเด็กหนุ่มจากครอบครัวยากจนจากเมืองลิเวอร์พูลทั้งสี่คนที่จะจินตนาการว่า ในวันหนึ่งข้างหน้า พวกเขาจะกลายเป็นกลุ่มศิลปินที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา ถึงขนาดที่ว่า แม้เวลาผ่านไปแล้วครึ่งทศวรรษหลังจากที่พวกเขาแยกไปทำงานดนตรีของตัวเอง แต่ชื่อของพวกเขาก็ยังคงเป็นศิลปินเบอร์ 1 ที่มีฐานแฟนคลับมากที่สุดในโลก และเมื่อปี 2020 หรือ 50 ปีหลังจากที่พวกเขาแยกวงกันไปแล้ว อัลบั้มของพวกเขาก็ยังขายได้เกิน 1 ล้านแผ่น ซึ่งพวกเขาก็คือศิลปินจากฝั่งตะวันตกเพียงวงเดียวที่ทำสถิตินี้ได้ (มีแค่ 2 วงที่ขายอัลบั้มได้เกินล้านแผ่นในปี 2020 อีกวงหนึ่งคือ BTS)
‘The Beatles’ ไม่ใช่แค่วงดนตรี พวกเขาคือประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของมนุษย์ ไม่ว่าจะในชื่อวงหรือชื่อของตัวเอง ชื่อของพวกเขาล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างความเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลงในวัฒนธรรมของโลกยุคใหม่ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ศิลปะ แฟชั่น ภาพยนตร์ การเมือง หรือแนวคิดของคนในยุคนั้น
ก่อนที่เราจะไปย้อนรอยตามหาแรงบันดาลใจเบื้องหลังบทเพลงผ่านสถานที่ในตำนานของ The Beatles ใน Self-Quarantour EP. The Beatles Footsteps ในวันพฤหัสบดีที่ 20 เวลา 19:30 น. นี้ GroundControl จึงขอชวนสาวกแก๊งสี่เต่าทองย้อนกลับไปสำรวจเส้นทางความสำเร็จของวงร็อกแอนด์โรลสัญชาติอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกวงนี้เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนไปร่วมเม้ามอยย้อนวัยหวานกันในค่ำวันพฤหัสบดีนี้
ถ้าเลือกอัลบั้มหรือเพลย์ลิสต์ของ The Beatles ที่ถูกใจได้แล้ว… ก็คลิกไปย้อนสำรวจคืนวันและเส้นทางกว่าจะมาเป็น The Beatles กันได้เลย!
When John Met Paul
วันที่ 6 กรกฎารม 1957 จอห์น เลนนอน ในวัย 16 ปี ได้พบกับ พอล แม็คคาร์ธรีย์ วัย 15 ปี ที่โบสถ์ St. Peter’s, Woolton’s Parish ในเมืองลิเวอร์พูล บ้านเกิดของทั้งสอง โดยตอนนั้นเลนนอนมาขึ้นเวทีกับวง Quarry Men ที่เขาเป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา และเป็นที่รู้จักของเด็กวัยรุ่นในย่านนั้นในฐานะวงสุดเฟี้ยวที่นอกจากเลนนอนแล้ว ก็ยังมีสมาชิกที่เป็นเด็กหนุ่มอายุรุ่นราวคราวเดียวกันอีก 5 คน ซึ่งชื่อวงก็เอามาจากชื่อโรงเรียน Quarry Bank High School ที่พวกเขาเรียนอยู่นั่นเอง
เมื่อมองย้อนกลับไปในวันที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของเส้นทางของ The Beatles แม็คคาร์ธนีย์เล่าความทรงจำถึงวันที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปอย่างสิ้นเชิงว่า “วันนั้นผมสวมแจ็คเก็ตสีขาวลายสะท้อนแสงกับกางเกงขากระบอกสีดำ ผมได้คุยกับจอห์นนิดหน่อย และโชว์เทคนิคการปรับจูนสายให้เขาอีกเล็กน้อย ผมจำได้ว่าวันนั้นจอห์นร้องเพลง Come Go With Me ที่เขาฟังมาจากรายการวิทยุ เขาจำเนื้อเพลงท่อนอื่นนอกจากท่อนคอรัสไม่ได้เลย เขาก็เลยด้นสดคิดเนื้อเพลงขึ้นมาเองเดี๋ยวนั้น ตอนนั้นผมคิดแค่ว่า ‘โห ไอ้นี่มันหล่อ แถมยังร้องเพลงดีอีก หมอนี่เป็นนักร้องนำที่เก่งนะ’”
หลังจากการพบกันในวันนั้น เลนนอนจึงไปปรึกษากับ พีท ชอตตัน หนึ่งในสมาชิกของวง Quarry Men ว่าน่าจะเอาแม็คคาร์ธนีย์มาร่วมวงด้วย และเมื่อวันหนึ่งชอตตันเห็นแม็คคาร์ธนีย์กำลังขี่จักรยานผ่านหน้าบ้าน เขาจึงเข้าไปชวนหนุ่มรุ่นน้องให้มาร่วมวงด้วยกัน และจุดเริ่มต้นของ The Beatles ก็ถือกำเนิดขึ้นตรงนั้น… เมื่อจอห์นและพอลได้พบกัน
ไม่นานหลังจากแม็คคาร์ธนีย์เข้ามาร่วมจอยวงแล้ว เขาก็ไปชวนเพื่อนที่ชื่อ จอร์จ แฮร์ริสัน มาชมการแสดงของ Quarry Men และในที่สุดแฮร์ริสันก็กลายมาเป็นมือกีตาร์คนที่สามของวง โดยพวกเขามักจะมารวมตัวกันที่บ้านเลขที่ 251 บนถนน Menloce Avenue ของจอห์นเพื่อฝึกซ้อมและทำเพลงร่วมกัน
เมื่อถึงปี 1959 สมาชิกในวง Quarry Men ก็เริ่มแยกออกไปใช้ชีวิตของตนเอง เหลือแต่เพียงมือกีตาร์ทั้งสามคนอย่างเลนนอน, แม็คคาร์ธนีย์, แฮร์ริสัน และสมาชิกวงอีกคนคือ สจ๊วต ซุตคลิฟฟ์ ซึ่งก็เป็นสจ๊วตนี่เองที่ชวนเพื่อนในวงเปลี่ยนชื่อวงกันใหม่ ซึ่งทั้งหมดก็ลงความเห็นกันว่าชื่อ Beatals นั้นลงตัวที่สุด เพราะเป็นการตั้งชื่อวงตามชื่แมลงเพื่อเป็นการคารวะให้กับวงร็อกแอนด์โรลในตำนานอย่าง Buddy Holly and the Crickets ที่พวกเขาชื่นชอบ ซึ่งพวกเขาก็ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปี 1959 ก่อนจะเปลี่ยนเป็น Silver Beetles, the Silver Beatles และมาจบที่ชื่อ The Beatles ในที่สุด
Hamburg
เมื่อชื่อวงลงตัว The Beatles ก็พร้อมที่จะเฉิดฉาย ในตอนนั้นพวกเขาได้ อัลลัน วิเลียมส์ มาเป็นผู้จัดการให้กับวง ซึ่งวิลเลียมส์ก็ได้ทำหน้าที่เป็นพ่องานจัดดีลให้พวกเขาได้เดินทางลัดฟ้าไปเล่นดนตรีที่คลับในเมืองแฮมเบิร์ก ประเทศเยอรมนี โดยตอนนั้นทางวงได้ พีท เบสต์ มือกลองประจำคลับ The Blackjacks ในเมืองลิเวอร์พูล (ซึ่งเป็นคลับของแม่ของเบสต์นั่นแหละ) มาเป็นมือกลองประจำของวง
การเดินทางไปเล่นดนตรีต่างบ้านต่างเมืองของกลุ่มเต่าทองนั้นกลับไม่ได้สวยหรูดังที่พวกเขาฝันไว้ เค้าลางความซวยแรกที่ปรากฏขึ้นก็คือการที่แฮร์ริสันที่ตอนนั้นอายุเพียง 17 ปี ถูกทางการของเยอรมนีจับได้ว่าปลอมอายุ จึงถูกส่งตัวกลับประเทศ ก่อนที่ในเวลาต่อมา แม็คคาร์ธรีย์กับเบสต์จะทำการเผาเทียนเล่นไฟในที่พักของเขาจนทำให้เกิดไฟไหม้ลุกลาม ทั้งคู่ถูกจับและถูกส่งตัวกลับประเทศเช่นเดียวกัน ส่วนเลนนอนกับซุดคลิฟฟ์ก็ต้องบินตามเพื่อนกลับบ้านในเวลาต่อมา
เหล่าเต่าทองได้กลับไปเหยียบแฮมเบิร์กอีกครั้งด้วยความตั้งมั่นที่จะไม่ให้ล้มเหลวแบบครั้งแรก และในระหว่างที่พวกเขาเล่นประจำที่คลับที่ชื่อว่า Top Ten ซุตคลิฟฟ์ก็ตัดสินใจเลือกเส้นทางการเป็นจิตรกร และได้ออกจากวงเพื่อที่จะเป็นศิลปินในเยอรมนี การจากไปของซุตคลิฟฟ์ก็ทำให้แม็คคาร์ธนีย์ต้องผันตัวมารับหน้าที่มือเบสของวงแทนเพื่อนที่ออกไป
ในเวลาต่อมา โลกก็ได้เหวี่ยงซุป’ตาร์ร็อกแอนด์โรลชาวอังกฤษอย่าง โทนี เชริดาน ให้มาพบกับแก๊งเต่าทอง โดยตอนนั้นเชริดานเดินทางมาทำเพลงกับค่ายเพลง Polydor Records ของเยอรมัน และเขาก็ได้เลือกให้วง The Beatles จากคลับ Top Ten มาช่วยเล่นเป็นวงแบ็คกิงให้
เดือนตุลาคม ปี 1961 เพลง My Bonnie (Mein Herz ist bei dir nur) ก็ได้ถูกปล่อยออกมาภายใต้ชื่อศิลปิน Tony Sheridan and The Beat Brothers ซึ่งก็ดังฮิตติดชาร์ตของเยอรมัน และลามไปถึงสหรัฐอเมริกา จนทำให้ชื่อของ The Beatles ที่ตอนนั้นเป็นที่รู้จักในชื่อ The Beat Brothers ได้รับความสนใจและเริ่มมีแฟนคลับของตัวเอง
เมื่อ The Beatles กลับมายังลิเวอร์พูลและเจองานชุกที่ทำให้พวกเขาต้องวิ่งรอกขึ้นเวทีเกือบ 50 เวที พวกเขาก็ได้ตัวแทนคนใหม่ ไบรอัน เอพสไตน์ มาเป็นตัวแทนและผู้จัดการวงคนใหม่ในปี 1962 ซึ่งเอพสไตน์ก็หมายมั่นปั้นมือที่จะให้วงได้เซ็นสัญญากับค่ายเพลงสักแห่งในอังกฤษให้ได้ เอพสไตน์ต้องวิ่งรอกพาวงไปเสนอต่อค่ายเพลงมากมาย แต่ในตอนนั้นเขากลับได้รับคำปฏิเสธไปในแนวทางเดียวกัน “วงกีตาร์มันเอาต์ไปแล้วนะ คุณเอพสไตน์”
สู่ Abbey Road
ในที่สุดเอพสไตน์ก็พบกับคนที่เห็นแววในตัวสี่หนุ่มสี่สไตล์นี้ นั่นก็คือโปรดิวเซอร์ จอร์จ มาร์ติน แห่งค่าย Parlophone ที่อยู่ใต้เครือ EMI ที่ได้เชิญสมาชิกทั้งสี่ให้มาออดิชั่นที่สตูดิโอที่ชื่อว่า Abbey Road ที่อยู่ในกรุงลอนดอน ในตอนนั้นมาร์ตินไม่ประทับใจในเทปเดโมที่ทางวงส่งมาให้ฟังเท่าไหร่นัก แต่ด้วยความที่รู้สึกได้ว่าวงนี้มีของ เขาจึงต้องการที่จะฟังวงเล่นสดต่อหน้า และเมื่อได้เจอการสำแดงฤทธิ์ของสมาชิกในวงเข้าไป เขาก็ตัดสินใจได้ว่า ในด้านเพลงแล้ววงนี้อาจไม่ได้มีอะไรโดดเด่นแตกต่างจากวงร็อกแอนด์โรลอื่น ๆ ในยุคนั้น แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาเฉิดฉายก็คือไหวหริบและอารมณ์ขันที่ปล่อยออกมาระหว่างทำการแสดง
มาร์ตินยื่นข้อเสนอกับเอพสไตน์ว่า เขาจะเซ็นสัญญากับวงภายใต้เงื่อนไขว่า ในการอัดเพลงในสตูดิโอนั้น ทางวงต้องเลือกใช้มือกลองคนอื่น ซึ่งข้อนี้ก็ไม่ได้ทำให้สมาชิกในวงลำบากใจอะไรมากมายเลย เพราะในตอนนั้นสมาชิกวงทั้งสามก็ไม่ค่อยพอใจในตัวเบสต์อยู่แล้ว เนื่องด้วยนิสัยส่วนตัวและการที่เขา ‘หล่อ’ เกินไปสำหรับวง ส่วนเอพสไตน์ก็ไม่พอใจที่เบสต์ยืนกรานว่าจะไม่ยอมทิ้งความหล่อด้วยการเปลี่ยนทรงผมเหมือนเพื่อนร่วมวงคนอื่น ๆ อันเป็นแผนการสร้างเอกลักษณ์ให้กับวง ในที่สุดเบสต์จึงถูกไล่ออกจากวงในปี 1962 และตำแหน่งมือกลองที่ว่างลงก็ถูกแทนที่ด้วย ริงโก สตาร์ มือกลองจากวง Rory Storm and the Hurricanes ที่เลนนอนและแม็คคาร์ธนีย์ไปชวนให้มาร่วมวงด้วย
ซิงเกิลแรกของ The Beatles กับ EMI ยังไม่ใช่การแจ้งเกิดของวง แต่ซิงเกิลที่สองที่ปล่อยมาในปีเดียวกันอย่าง Love Me Do เริ่มได้รับการตอบรับที่ดีจนสามารถไต่ชาร์ตในบ้านขึ้นไปได้ถึงอันดับที่ 17 และในสหรัฐอเมริกา เพลงนี้ก็ค้างอยู่ในชาร์ตนานกว่า 18 เดือน
กระแสตอบรับอันดีงามทำให้ The Beatles ได้ปล่อยอัลบั้มแรกของตัวเองออกในที่สุด การมาถึงของอัลบั้มนี้ทำให้ The Beatles ได้ออกรายการทีวีครั้งแรกในปี 1962 และได้เริ่มออกทัวร์ในยุโรปจนเกิดปรากฏการณ์ที่สาว ๆ เริ่มวิ่งตามรถของเหล่าสี่หนุ่ม และถึงตอนนี้… ก็ไม่มีอะไรจะมาหยุดสี่เต่าทองเหล่านี้ได้อีกต่อไป
To America
กำแพงในบ้านถูกทลายลงได้แล้ว กำแพงต่อไปที่ทั้งสี่ต้องข้ามให้ได้ก็คือกำแพงดนตรีอเมริกาที่ทั้งท้าทายและยากที่ศิลปินต่างชาติใด ๆ จะก้าวข้ามไปได้ แม้ว่าค่าย Parlophone จะมีสาขาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ทางฝั่งนั้นก็ยืนกรานปฏิเสธที่จะโปรโมต The Beatles ในสหรัฐอเมริกา เพราะก่อนหน้านี้ยังไม่เคยมีศิลปินฝั่งอังกฤษคนไหนที่เข้ามาแล้วขายได้ในประเทศนี้มาก่อน
ค่ายเพลงในอเมริกาที่สนใจในเพลงของ The Beatles กลับกลายเป็นค่าย Vee-Jay Records ในชิคาโกที่เสนอทำโปรโมตซิงเกิลของ The Beatles ในอเมริกา โดยแลกกับดีลที่ทางค่ายจะได้ศิลปินดัง ๆ คนอื่น ๆ ในค่าย Parlophone มาร่วมงานในภายภาคหน้า พูดง่าย ๆ ว่าตอนนั้น The Beatles มีสถานะเป็นเพียงของแถมเท่านั้น
ในปี 1964 คอดนตรีในอเมริกาก็ได้ลิ้มรสชาติของ The Beatles เป็นครั้งแรกจากรายการวิทยุที่พากันเปิดเพลงของวงสัญชาติอังกฤษที่ฟังสนุกและน่าโยกตามนี้ กระแส The Beatles เริ่มจุดติดในสหรัฐอเมริกา และเมื่อ The Beatles ได้มาออกรายการโทรทัศน์ของอเมริกาเป็นครั้งแรก แล้วกวาดยอดผู้ชมไปถึง 73 ล้านคน อเมริกันชนก็ได้เผชิญหน้ากับปรากฏการณ์ ‘British Invasion’ หรืออังกฤษครองเมืองเป็นครั้งแรก
Beatlemania
‘Beatlemania’ คือคำศัพท์เฉพาะที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ The Beatles ครองเมืองในช่วงยุค 1960s หลังจากที่ The Beatles ได้ทำลายกำแพงที่หนาที่สุดของโลกดนตรีฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกาได้สำเร็จ โดยคำนี้มักถูกใช้อธิบายอาการ ‘เก็บทรงไม่อยู่’ ของเหล่าแฟนเกิร์ลและแฟนบอยเวลาที่อยู่ในสถานที่จัดงานคอนเสิร์ตของ The Beatles รวมไปถึงปรากฏการณ์ที่แฟน ๆ วิ่งไล่ตามกันไปในทุกที่ที่ The Beatles ไปปรากฏตัว
เมื่อเพลงแอบรักหวานเจี๊ยบอย่าง I Want to Hold Your Hand ถูกเปิดในรายการวิทยุของนิวยอร์ก กระแส Beatlemania ที่เกิดขึ้นในวอชิงตันมาก่อนหน้านี้ก็แพร่ระบาดเข้ามาในกรุงนิวยอร์กทันที แผ่นเพลง I Want to Hold Your Hand ทำสถิติ ‘ล้านแตก’ ในเพียงสิบวันหลังวางขาย และเมื่อเหล่าสี่เต่าทองเหยียบเท้าลงบนสนามบิน John F. Kennedy เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 1964 ก็มีเหล่าแฟน ๆ ไปรอต้อนรับจนสนามบินแทบแตก (แต่เรื่องฮาก็คือว่า ตอนนั้นทั้งสี่ไม่รู้เลยว่าตัวเองสร้างชื่อเสียงไว้ขนาดไหนที่อเมริกา จนพอเครื่องลงจอดและพวกเขาได้เห็นกองทัพแฟน ๆ ที่มารวมตัวกัน พวกเขาก็คิดว่าคนเหล่านี้มารอต้อนรับการมาถึงของศิลปินดังคนอื่น) ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อ The Beatles ไปปรากฏตัวในรายการ Ed Sullivan Show คนอเมริกันก็พร้อมใจกันหมุนช่องไปดูทั้งสี่จนทำยอดผู้ชมทะลุไปถึง 73 ล้านคน หรือคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรชาวอเมริกันทั้งประเทศ!
The Studio Years
หลังออกทัวร์คอนเสิร์ตไปทั่วโลก (จนเกิดเรื่องราวอื้อฉาวมากมาย ทั้งการต้องหนีตายออกมาจากประเทศฟิลิปปินส์จากการที่ทั้งสี่ไม่ไปเข้าพบสตรีหมายเลข 1 ของฟิลิปปินส์ในเวลานั้นอย่าง อิเมลดา มาร์กอส จนทำให้ครอบครัวมาร์กอสโกรธเกรี้ยวและสื่อฟิลลิปปินส์ก็ตีข่าวว่า The Beatles คือศัตรูหมายเลข 1 ของประเทศ แถมพอกลับมาก็เจอกระแสคว่ำบาตร The Beatles จากการที่เลนนอนไปให้สัมภาษณ์กับแม็กกาซีนหัวหนึ่งว่า ‘The Beatles ดังกว่าพระเจ้าไปแล้ว’) สมาชิกในวงก็ตัดสินใจที่จะงดเดินสายเพื่อโฟกัสกับการทำเพลงในสตูดิโอ ถึงตอนนี้ ทั้งสี่เติบโตขึ้นมาก และพวกเขาก็พบว่าเพลงที่พวกเขาอยากจะทำต่อไปนั้นมีความซับซ้อนกว่าเพลงป็อปแบบที่พวกเขาเคยทำมาก่อนหน้านี้
หลัง 129 วันแห่งการขังตัวเองในสตูดิโอเพื่อทำคลอดอัลบั้มใหม่ของพวกเขา sgt. Pepper's Lonely Hearts Club Band ซึ่งเป็นอัลบั้มที่ 8 ของวงก็ได้ออกสู่สายตาและหูของประชาชนในวันที่ 1 มิถุนายน 1967 และในอีก 24 วันต่อมา พวกเขาก็กลายเป็นวงดนตรีวงแรกของโลกที่ได้ทำการแสดงสดผ่านหน้าจอโทรทัศน์ที่มีแฟน ๆ กว่า 400 ล้านคนรับชมจากทุกที่ในโลก จากห้องสตูดิโอที่ Abbey Road พวกเขาได้ทำการอัดเพลง All You Need Is Love สด ๆ โดยมีสายตาของผู้ชมทั่วโลกเป็นสักขีพยานในการมาถึงของหนึ่งในเพลงที่ดังที่สุดในประวัติศาสตร์ของ The Beatles
การจากไปของผู้จัดการวงผู้เป็นที่รักของสมาชิกอย่างเอพสไตน์ที่เสียชีวิตจากการกินยานอนหลับเกินขนาดในวัย 32 ปี คือจุดเริ่มต้นแห่งการเปลี่ยนแปลงของ The Beatles ในปี 1967 The Beatles ต้องเผชิญหน้ากับคำวิจารณ์ผลงานในแง่ลบเป็นครั้งแรก อัลบั้ม Magical Mystery Tour ที่มาพร้อมกับหนังฉายโทรทัศน์แนวเซอร์เรียลของพวกเขาถูกสับแหลกจากนักวิจารณ์และคนฟังในยุคนั้น
การสูญเสียเพื่อนรักผู้อยู่กับวงมาตั้งแต่วันเริ่มออกเดินทาง และการเผชิญหน้ากับคำวิจารณ์หนักหน่วงเป็นครั้งแรก ทำให้ในปี 1968 สมาชิกในวงตัดสินใจออกแสวงหาการเดินทางแห่งจิตวิญญาณไปยังเมืองฤษีเกศ รัฐอุตตราขัณฑ์ ประเทศอินเดีย พวกเขาเรียนการทำสมาธิกับ มหาฤาษี มเหศ โยคี และหนึ่งปีหลังจากนั้น จอห์น เลนนอน ก็ได้ตัดสินใจโบกมือลาเพื่อน ๆ วง The Beatles ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในปี 1970 โดยมีอัลบั้ม Abbey Road เป็นอัลบั้มสุดท้ายที่พวกเขาได้ทำงานร่วมกัน