เมื่อศิลปะสะท้อนหยาดเหงื่อและแรงงาน
The Gleaners (1857)
Jean-François Millet

เมื่อศิลปะสะท้อนหยาดเหงื่อและแรงงาน The Gleaners (1857) Jean-François Millet

เมื่อศิลปะสะท้อนหยาดเหงื่อและแรงงาน

The Gleaners คือผลงานของศิลปินชาวฝรั่งเศสคนสำคัญแห่งลัทธิสัจนิยม (Realism) อย่าง Jean-François Millet ภาพที่หาได้ดูมีความผิดปกติอันใดในสายตาของผู้ชมในยุคปัจจุบัน หากแต่เมื่อย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่ผลงานชิ้นนี้เผยแพร่ต่อสาธารณชน มันกลับก่อกระแสคำวิพากษ์วิจารณ์จวกยับจากเหล่านักวิจารณ์และผู้ทรงคุณวุฒิทางศิลปะของยุคนั้น

ภาพที่นำเสนอภาพหญิงชาวนา 3 คนที่กำลังเอาหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินนี้ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองอันแสนรุนแรง โดยในตอนที่ The Gleaners ถูกเปิดตัวที่ Salon ในปี 1857 สังคมฝรั่งเศสเพิ่งผ่านบรรยากาศควันหลังจากเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศสปี 1848 ซึ่งมีสาเหตุมาจากความขัดแย้งระหว่างประชาชนชนชั้นแรงงานและรัฐบาลอนุรักษ์นิยมมาได้ไม่นาน และแม้ว่าสุดท้ายแล้วฝ่ายแรงงานจะได้รับชัยชนะ แต่ก็ยังมีเหล่าคนชนชั้นสูงที่เกรงว่าชัยชนะครั้งนี้จะพาฝรั่งเศสไปสู่การปกครองแบบสังคมนิยม ด้วยเหตุนี้ ผลงานที่นำเสนอภาพหญิงผู้ใช้แรงงานของ Millet จึงถูกมองว่าเป็นการพยายามยกย่องเชิดชูชนชั้นแรงงาน และเป็นการที่ศิลปินพยายามจะสื่อสารว่า ประเทศชาติถูกสร้างขึ้นมาด้วยหยาดเหงื่อของคนชนชั้นแรงงาน อันส่งผลให้บรรดาขุนนางและคนชนชั้นสูงในยุคนั้นตีความว่า ผลงานชิ้นนี้คือความตั้งใจของศิลปินที่จะเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยม

นอกจากคำวิจารณ์ในแง่การเมืองแล้ว The Gleaners ยังขัดแย้งกับขนบศิลปะในยุคนั้นในแทบทุกด้าน ภาพ The Gleaners มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งโดยปกติแล้วภาพที่มีขนาดใหญ่เท่านี้มักจะเป็นภาพที่นำเสนอเรื่องราวทางศาสนาหรือเทพยากรีกมากกว่า หากแต่ Millet กลับแหวกแนวด้วยการนำเสนอความทุกข์เข็ญอันยิ่งใหญ่ของผู้ใช้แรงงานและคนสามัญธรรมดา ... ด้วยสเกลขนาดภาพที่ทัดเทียมกับการนำเสนอความยิ่งใหญ่ของเทพและพระเจ้า...