Egon Schiele พระบิดาแห่งการปลดเปลื้อง เปลือยเปล่า และเร้าอารมณ์ผ่านลายเส้นหนักแน่นเป็นอิสระ

Egon Schiele พระบิดาแห่งการปลดเปลื้อง เปลือยเปล่า และเร้าอารมณ์ผ่านลายเส้นหนักแน่นเป็นอิสระ

Egon Schiele พระบิดาแห่งการปลดเปลื้อง เปลือยเปล่า และเร้าอารมณ์ผ่านลายเส้นหนักแน่นเป็นอิสระ

การขัดขวางศิลปินคืออาชญากรรมและเป็นการพรากชีวิตในชั่วบัดดล

ในวัยยี่สิบปี Egon Schiele แตกหักอย่างสิ้นเชิงกับประวัติศาสตร์และจารีตแห่งศิลปะที่มีมาอย่างยาวนาน เขาละทิ้งภาพวาดทางศาสนา กล้ามเนื้อล่ำสันของบุรุษ ชายผ้าพลิวไหวของสตรี และดำดิ่งสู่โลกของลายเส้นที่หงิกงอบิดเบี้ยว สรีระของมนุษย์ที่เปิดเผยเปลือยเปล่า หญิงสาวช่วยตัวเอง และคู่รักที่บรรเลงจังหวะขณะร่วมเพศ

เขาคือศิลปินที่ถูกขังคุกจากการวาดภาพของตนเอง

เขาคือศิลปินที่หาญกล้าแหวกจารีตและขนบทางศีลธรรมของการสร้างสรรค์งานศิลปะออกมา

ในวันเกิดของ Egon Schiele ปีนี้ GroundControl จะขอนำทุกท่านไปรู้จักกับศิลปินผู้เปี่ยมไปด้วยแพชชั่นอันเร่าร้อนและมีชื่อเสียงฉาวโฉ่ก้องโลกนามว่า Egon Schiele ศิลปินชาวออสเตรียที่มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ 1900 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านครั้งยิ่งใหญ่ของการเมือง สังคม และศิลปวัฒนธรรมในประเทศออสเตรียอันเป็นผลมาจากการล่มสลายของราชวงศ์ฮับสบวร์ก งานของชีเลอสะท้อนความเปลือยเปล่าของร่างกายมนุษย์ เส้นขนรุงรังในที่ลับ และการร่วมเพศอย่างโจ่งแจ้งผ่านฝีแปรงที่หนักแน่นและลายเส้นที่เฉียบขาด

วัยเด็กอันแสนเจ็บปวด

Schiele เกิดเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 1890 ที่เมืองทูลน์ เมืองทางตอนใต้ของประเทศออสเตรีย เขาเป็นลูกคนที่สามของ Marie Schiele และ Adolf Eugen Scheile ผู้ซึ่งทำงานเป็นนายสถานีในสถานีรถไฟประจำเมือง การเติบโตมาในห้องเล็ก ๆ ของสถานีที่มองออกไปก็จะเห็นหัวรถไฟขนาดมหึมา ผู้คนที่เดินขวักไขว่คลาคล่ำ และรถไฟที่วิ่งเข้าวิ่งออก ส่งผลให้พรสวรรค์ที่ซ่อนเร้นอยู่ในตัวเด็กน้อย Schiele ถูกกระตุ้นให้ระเบิดออกมา Schiele ในวัยเด็กใช้เวลาเกือบทั้งวันนั่งเฝ้ามองรถไฟและเริ่มวาดมันออกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่าลงไปในสมุดวาดภาพเล่มเล็ก ๆ ของเขา 

พฤติกรรมเหล่านี้ไม่อาจเล็ดรอดสายตา Eugen ผู้เป็นบิดาไปได้ นายสถานีที่กังวลว่าลูกชายจะเอาแต่วาดรูปจนลืมการใฝ่หาความรู้ด้านวิชาการก็ได้ฉีกทึ้งทำลายสมุดวาดภาพของเด็กน้อย schiele ในที่สุด และการกระทำครั้งนี้เองก็ได้สร้าง ‘แผลแรก’ ให้กับเด็กน้อยโดยผู้ที่เขาเรียกว่า ‘บิดา’

ต่อมา เมื่อ Schiele ได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษา เขาก็ถูกมองว่าเป็นคนแปลกทันที เนื่องจากบุคลิกที่ชอบเก็บตัวและขี้อาย ทั้งยังทำคะแนนได้ไม่ค่อยดีนักในวิชาต่าง ๆ ยกเว้น วิชาด้านกีฬาและศิลปะ ในช่วงเดียวกันนี้เองที่เขาถูกมองว่ามีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงกับ Gertrude (Gerti) น้องสาวของเขา ทั้งคู่สนิทสนมกันมากเกินไปจนทำให้บิดาสงสัย มีเรื่องเล่าว่าวันหนึ่งบิดาของเขาต้องพังประตูห้องที่ Schiele กับ Gertrude อยู่ด้วยกันสองต่อสองเพื่อที่จะดูว่าพวกเขาทำอะไรกัน แต่แล้วก็พบเพียงว่าทั้งสองกำลังพัฒนาภาพยนตร์อยู่
 

จุมพิตกับอิสรภาพและพานพบเมนเทอร์

หลังลาออกจากโรงเรียน Schiele เริ่มต้นหนทางแห่งอิสรภาพของตนเองด้วยการเป็นศิลปินอิสระที่ผลิตผลงานโดยไร้กรอบเกณฑ์ใดใดมาจำกัด เขาได้เปิดสตูดิโอวาดภาพเล็ก ๆ เป็นของตัวเองในปี 1907 และในปีเดียวกันนี้เองที่เขสได้พบกับ Gustav Klimt จิตรกร มัณฑนากร และนักออกแบบหัวก้าวหน้าแห่งยุค

Klimt รับ Schiele ไว้เป็นศิษย์เพราะสนใจในความสามารถและพรสวรรค์ของ Schiele ที่ขณะนั้นมีอายุเพียง 17 เป็นอย่างมาก เขาสนับสนุน Schiele โดยการซื้อภาพวาด จัดหานางแบบ รวมทั้งแนะนำชีเลอให้กับศิลปินชื่อดังคนต่าง ๆ

ความใกล้ชิดระหว่าง Schiele กับ Klimt ส่งผลให้งานของเขาในช่วงปี 1907-1909 ได้รับอิทธิพลทั้งในด้านรูปแบบและลายเส้นมาจากงานของ Klimt เต็ม ๆ สำหรับ Schiele แล้ว Klimt เป็นทั้งครู ผู้อุปถัมภ์ และเพื่อน ความสัมพันธ์อันดีนี้ส่งผลให้ชีเลอวาดภาพชิ้นหนึ่งขึ้นมาเพื่ออุทิศให้กับ Klimt 

ภาพดังกล่าวมีชื่อว่า ‘The hermit’ ซึ่งเป็นภาพเหมือนของ Klimt และ Schiele ที่อยู่ในชุดของพระสงฆ์ (คาทอลิก) ทั้งสองยืนอยู่คู่กันโดยมี Schiele ยืนบัง Klimt อยู่ด้านหน้า เขาใช้สีทองเป็นพื้นหลังภาพเพื่อสื่อถึงภาพทางศาสนาในยุคกลาง และให้ Klimt หลับตาเพื่อเป็นสัญญะถึงศาสดาที่นำทางเขาจากจิตวิญญาณภายใน

ภายหลังชีเลอได้เริ่มพัฒนาผลงานของตนเองจนฉีกแนวออกจากเงาของคลิมท์ผ่านการใช้ฝีแปรงที่หนักแน่น และลายเส้นที่คมชัดในการวาดรูปร่างของมนุษย์ เนื้อหาในงานของเขาในช่วงนี้จึงชัดเจนและเป็นเอกลักษณ์มากกว่าแต่ก่อน

ภาพของเขามักจะเป็นมนุษย์ที่มีรูปร่างบิดเบี้ยวยืดตัวผิดปกติ และมักเกี่ยวกับการเสพสังวาส หญิงสาวที่เปลือยเปล่าล่อนจ้อนเผยอวัยวะเพศให้เห็นอย่างตรงไปมา และบ่อยครั้งเขาก็วาดภาพเหมือนของตนเองรวมไปทั้งภาพเหมือนของหญิงสาวหลาย ๆ คน สิ่งที่สำคัญที่สุดในงานของชีเลอคืออารมณ์ของผู้คนที่ถูกถ่ายทอดลงไปในผืนผ้าใบอย่างแจ่มชัด รุนแรง และทรงพลัง สำหรับชีเลอแล้ว สรีระของมนุษย์คือพาหนะของการแสดงออกทางด้านอารมณ์ ในทุก ๆ ท่าทางและการเคลื่อนไหวนั้นมีความหมายถึงบางอย่างเสมอ

ในปี 1910 การวาดภาพเปลือยของชีเลอเริ่มมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยเป็นภาพของผู้คนที่มีรูปร่างผอมแห้ง โทนสีซีดทว่ากลับเปิดเผยความหวือหวาทางเพศที่รุนแรง 

ช่วงนี้ เขาได้เริ่มวาดภาพเปลือยของตนเองในผลงานชื่อ Kneeling Nude with raised hands ซึ่งภาพดังกล่าวได้กลายเป็นหนึ่งในภาพเปลือยที่โด่งดังมากที่สุดของศตววรษที่ 21 เนื่องจากเป็นภาพเปลือยที่มีความก้ำกึ่งระหว่างการใช้ลายเส้นอย่างไร้รูปร่างกับภาวะที่แสดงความสมจริงทางกายวิภาคศาสตร์ 

ความโดดเด่นในการสร้างผลงานนี้ส่งผลให้เขาสามารถจัดนิทรรศการภาพวาดของตัวเองด้วยวัยเพียง 20 ปีได้ในที่สุด

กักขังฉันเถิด กักขังไป

ในปี 1911 ชีเลอได้พบกับ Walburga (Wally) Neuzil หญิงสาววัย17 ผู้ทำหน้าที่เป็นนางแบบให้กับคลิมท์และตัวเขาเอง ทั้งสองตกหลุมรักกันและตัดสินใจย้ายออกจากนครเวียนนาอันเป็นเมืองที่แสนอึดอัดไม่เอื้อต่อการสร้างผลงานศิลปะ แล้วไปอยู่ที่เมืองนอยแลงบาคที่สงบกว่า

หนึ่งปีถัดมา ชีเลอถูกจับกุมด้วยข้อหาล่อลวงเยาวชนและถูกยึดภาพวาดกว่าร้อยภาพไปทั้งหมด เนื่องจากเขามักจะจ้างเด็ก ๆ ในหมู่บ้านให้มาเป็นแบบในการวาดภาพเปลือยในลักษณะท่าทางที่ยั่วยวน เปิดเผยโจ่งแจ้ง สิ่งนี้เกินจะรับไหวสำหรับผู้ปกครองของเด็กในละแวกนั้น พวกเขาคิดคลางแคลงถึงขั้นว่าลูกสาวของพวกเขาเป็นแค่เพียงแบบจริง ๆ หรือถูกกระทำอย่างอื่น

อย่างไรก็ตามชีเลอได้รับการพิพากษาจากศาลว่าไม่มีความผิดในฐานะล่อลวงและกระทำอนาจารเด็ก ทว่าเขากลับถูกพิพากษาให้ถูกจำคุกเป็นเวลา 21 วันจากความผิดในฐานการแสดงภาพอิโรติกในสถานที่ที่เยาวชนสามารถเข้าถึงได้

ในขณะที่เขาถูกไต่สวนอยู่นั้น ผู้พิพากษาได้เผารูปวาดของเขาด้วยเปลวไฟจากเทียนเพียงเล่มเดียว ภาพของกระดาษที่ถูกเปลวเทียนค่อย ๆ แผดเผานั้นสร้างความสะเทือนใจให้ศิลปินหนุ่มอยู่ไม่น้อย

ถึงแม้จะถูกจำคุก เลือดศิลปินในตัวชีเลอก็ไม่ได้จางหายไปไหน ชีเลอยังคงยืนหยัดในจุดยืนของการเป็นศิลปินโดยการวาดภาพที่แสดงถึงความเจ็บปวดจากการถูกจองจำและจำกัดเสรีภาพให้อยู่ภายในห้องขังสี่เหลี่ยม ๆ เล็ก ๆ ภาพที่เขาวาดขณะที่อยู่ในคุกมีทั้งหมด 12 ภาพ เช่น The single orange was the only light ,feel not punished but cleased ,The door to open ,Organic movement of chir and picher

ในบรรดาภาพทั้งหมดที่เขาวาดขณะอยู่ในคุก มีภาพหนึ่งที่ได้กลายเป็นตำนานมาถึงปัจจุบัน นั้นคือภาพ ‘Hindering the Artist Is a Crime,it is murdering life in the bud’ ซึ่งเป็นภาพวาดของตัวเขาเองในสภาพหนวดเครารุงรัง ดวงตาเปิดกว้าง นอนกองอยู่ในเสื้อโค้ตซอมซ่อบนเตียงแคบ ๆ ในห้องขัง ในช่วงนั้น

แม้แต่ในหมู่เพื่อนของชีเลอเองยังแปลกใจว่าเหตุใดเขาจึงถูกตั้งข้อกล่าวหามากมายถึงเพียงนี้ ทั้งการล่อลวงผู้เยาว์ การใช้เด็กเป็นแบบในการวาดภาพเปลือย การวาดภาพคู่รักเลสเบียนโอบกอดกัน และการดูหมิ่นพระศาสนจักรคาทอลิกอย่างรุนแรงด้วยการวาดภาพพระคาร์ดินัลจูบกอดกับแม่ชี (Cardinal and nun caress)

นอกจากนี้ยังมีการวาดภาพเปลือยและกึ่งเปลือยอีกนับไม่ถ้วน เช่น ภาพหญิงสาวถกกระโปรงเพื่อโชว์อวัยวะเพศของตนเอง ภาพการช่วยตัวเองของหญิงสาว

รักแท้แพ้อะไร

แรงกดดันจากการถูกตั้งข้อกล่าวหาและการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมส่งผลต่อชื่อเสียงของ Schiele มาก ในปี 1914 เขาจึงตัดสินใจแต่งงานกับ Edith หญิงสาวที่อาศัยอยู่กับครอบครัวไม่ไกลนักจากสตูดิโอแน่นอนว่าการแต่งงานครั้งนี้เป็นไปเพื่อการยกระดับทางสังคมของตัวชีเลอเองเท่านั้น เขาพิจารณามาอย่างดีแล้วว่า Edith เป็นคนชนชั้นกลางจากกรุงเวียนนา ต่างจาก Wally ที่มาจากชนชนล่างแถมยังเคยทำงานเป็นโสเภณีอีก

แม้ชีเลอจะแต่งงานกับ Edith แล้ว เขาก็ยังคาดหวังที่จะสานต่อความสัมพันธ์กับ Wally อย่างลับ ๆ ต่อ ทว่าเมื่อ Wally ทราบเรื่องทั้งหมด เธอก็ทิ้งเขาไปอย่างไม่มีวันหวนกลับพร้อมกับหัวใจที่แตกสลายเพราะชายอันเป็นที่รักเลือกแต่งงานกับคนอื่นเพียงเพื่อหน้าตาทางสังคม

การที่ Wally เดินออกจากชีวิตชีเลอไป ทำให้เขาวาดภาพ ‘death and the maiden’ ขึ้นเพื่อสะท้อนความพังพินาศที่เกิดขึ้นภายในใจภาพดังกล่าวเป็นภาพของชายหญิงที่โอบกอดกัน ทว่าการกอดนี้ดูเหมือนว่าจะไม่ได้นำพาความสุขมาสู่พวกเขา มันกลับเป็นโอบกอดที่ปกคลุมไปด้วยความเศร้า เห็นได้จากดวงตาของชายหนุ่มที่มองทอดออกไปอย่างไร้จุดหมาย

หลังจากแต่งงานได้เพียงสามวัน ชีเลอก็ถูกทางการสั่งให้เข้าร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ที่กำลังปะทุขึ้นอย่างดุเดือด อย่างไรก็ตามระหว่างที่เขาทำหน้าที่รับใช้ชาติ เขาก็ยังไม่ได้หยุดทำหน้าที่ของการเป็นศิลปิน ชีเลอยังคงวาดภาพต่อไป ภาพที่เขาวาดขึ้นในช่วงนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทิวทัศน์และกิจกรรมทางการทหาร รวมไปถึงภาพเปลือยที่มีความพิสดารมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

รุ่งโรจน์และดับสูญ

ในปี 1917 ชีเลอกลับมาที่กรุงเวียนนาอีกครั้งและเริ่มโฟกัสกับงานศิลปะอย่างจริงจัง เวลานี้เองที่ถือเป็นจุดรุ่งเรืองที่สุดในชีวิตของเขาในฐานะศิลปิน เขาได้สร้างผลงานขึ้นมายมาย ทั้งยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงผลงานกว่า 50 ชิ้นในนิทรรศการครั้งที่ 49 ของ Secession ที่จัดขึ้นที่กรุงเวียนนาในปี 1918 เขายังทำหน้าที่ออกแบบโปสเตอร์สำหรับนิทรรศการในครั้งนี้อีกด้วย ซึ่งภาพที่เขาออกแบบทำให้เรานึกถึงภาพพระกระยาหารมื้อสุดท้ายโดยมีเขานั่งอยู่หัวโต๊ะในตำแหน่งประธาน ในช่วงนี้ราคารูปภาพของชีเลอเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัว และมีการว่าจ้างให้วาดภาพเหมือนบุคคลเป็นจำนวนมาก

ความรุ่งโรจน์อยู่กับเขาได้ไม่นานนัก ฤดูใบไม้ร่วงปีเดียวกัน ไข้หวัดสเปนอันเป็นโรคติดต่อที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 20 ล้านคนในยุโรปก็ได้ระบาดขึ้น Edith ซึ่งตั้งครรภ์ได้เพียงหกเดือนก็เกิดติดเชื้อและเสียชีวิตลงพร้อมกับลูกน้อย เพียงสามวัดถัดมาชีเลอที่ติดโรคระบาดก็เสียชีวิตตามภรรยาและลูกด้วยวัยเพียง 28 ปี ถือเป็นการปิดฉากศิลปินผู้หาญกล้าแหวกม่านจารีตศิลปะไปตลอดกาล

แม้จะเสียชีวิตด้วยอายุเพียงยี่สิบกว่า ๆ แต่ชีเลอก็ได้ฝากผลงานไว้ให้กับโลกใบนี้ถึงสองร้อยกว่าภาพ แบ่งเป็นภาพแนว Portrait ตัวเขาเองและสตรีผู้เป็นที่รัก ภาพเปลือยและการเสพสังวาส และภาพวิวทิวทัศน์ จำนวนผลงานที่มากถึงเพียงนี้เมื่อเทียบกับอายุงานของเขา แสดงให้เราเห็นถึงความหลงใหลและแพสชั่นอันแรงกล้า

ไม่แปลกใจหากโลกจะจารึกชื่อของเขา ‘Egon Schiele’ ในฐานะศิลปินผู้พลิกโฉมประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ และต้นกำเนิดแห่งการวาดภาพเปลือยที่เต็มไปด้วยอารมณ์อันทรงพลังอย่างหาใครมาเปรียบไม่ได้

อ้างอิง :

SCHIELE, Wolfgang Georg Fischer
https://bit.ly/3zwCcfo
https://bit.ly/39kc2BU