Mise-en-scène : จัดฉาก สร้างภาพ(ยนตร์)
ดูเหมือนคำว่า Mise-en-scène จะเป็นวลีที่วนเวียนอยู่รอบ ๆ บทความว่าด้วยเรื่องของภาพยนตร์อยู่เสมอ แม้จะเป็นคำที่ฟังดูหรูและซับซ้อน แต่สิ่งนี้คือพื้นฐานของภาษาภาพ และรากฐานของทฤษฎีภาพยนตร์ ที่อธิบายถึงการรวมเอาองค์ประกอบหลายส่วนเข้าด้วยกัน ถ้าแปลตามภาษาฝรั่งเศส Mise-en-scène ถูกใช้เพื่ออธิบายถึง ‘การจัดฉาก’ สิ่งนี้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ศิลปะและภาพยนตร์อย่างแยกจากกันไม่ขาด เห็นได้ชัดตั้งแต่การจัดฉากบนภาพวาด รวมไปถึงการจัดแสงเงา สะท้อนไปถึงเรื่องราวทางสังคม อธิบายพื้นที่ และอิทธิพลของการแสดง
หากเทียบกับโรงละครกรีกยุคแรกเมื่อ 500 ปีก่อนคริสตกาล เห็นได้ชัดว่าการจัดฉากทางภาพมีการเปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลา เนื่องจากความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และสังคมโลกที่เปลี่ยนไปอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะคำว่า Mise-en-scène ที่ถูกนำมาใช้อธิบายประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ช่วง German Expressionism หลังสงครามครั้งที่ 1 (1914 –1918) เมื่อการทำสงคราม ส่งผลให้ประเทศแถบยุโรปเกิดความขัดสนด้านการเงิน ซึ่งก็ส่งผลต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน รูปแบบของฉากในหนังจึงแสดงให้เห็นถึงภาพที่บิดเบี้ยว มีคู่แสงเงาจัดจ้าน สะท้อนแนวทางภาพยนตร์เชิงศิลปะมากกว่าการมุ่งเป้าไปในเชิงพานิชย์ จะเห็นได้ว่า การจัดฉาก ต่างทำหน้นที่เป็นเงาของสภาพสังคมสมัยนั้น เช่นในช่วงราว ๆ ปี 1930 และ 1940 ความสมจริงของภาพ กลายมาเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก ๆ ในการสร้างหนัง ส่งผลให้ฉากของเรื่องการแต่งกาย สถานที่ การคัดเลือกนักแสดง และรวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ ล้วนแต่ถูกวางแผนมาเป็นอย่างดีแล้ว
Mise en scène จึงไม่ใช่แค่การจัดฉาก หรือ คุณสมบัติของละครเวที แต่ยังหมายถึง ‘ทุกสิ่งที่อยู่หน้ากล้อง’ เพราะสิ่งที่แสดงออกมา ได้ปลุกให้ผู้ชมสังเกตสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้สร้างต้องการให้เห็น และเมื่อฉากเหล่านั้นถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม ภาพยนตร์ก็จะกระตุ้นให้เกิดการตีความตัวหนังในฐานะที่หนังเป็นผลงานศิลปะ เป็นตัวกระตุ้นบรรยากาศซึ่งสร้างอารมณ์ ดึงดูดความรู้สึกร่วมตั้งแต่ต้นจนจบเรื่อง
เมื่อ Mise-en-scène สื่อความถึง ‘การจัดองค์ประกอบ’ ที่ผู้ชมจะได้เห็นบนจอภาพยนตร์ นั่นหมายความว่า สิ่งที่ตาเราเห็นผ่านจอภาพยนตร์ทุกส่วน ต่างมีความสัมพันธ์กันไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเสมอ ซึ่งรวมแม้กระทั่งการออกแบบพื้นผิวของฟิล์มถ่ายหนังด้วยเช่นกัน และการสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น ส่วนสำคัญไม่แพ้การถ่ายทำก็คือการเตรียมงานตั้งแต่ช่วงก่อนเวลาถ่ายทำ ซึ่งนอกจากภาพแล้ว การวางแผนการแสดง หรือการคิดบทสนทนาเองก็สามารถบอกถึงลักษณะตัวละคร ระยะเวลา คำอธิบายเกี่ยวกับฉากนั้น ๆ ได้ไม่ต่างจากพร็อพ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าหน้าที่ของ การจัดฉาก ส่งผลโดยตรงต่อการเล่าเรื่องและทิศทางของตัวหนัง ที่กำลังจะนำผู้ชมไปสู่การตีความธีมของเรื่องเล่า
จึงอาจบอกได้ว่าการจัดองค์ประกอบภาพ หรือการจัดเฟรมภาพ เป็นหนึ่งในปัจจัยพื้นฐานของ Mise-en-scène ซึ่งสามารถกำหนดได้ตั้งแต่ขั้นตอนการเขียนบท และจัดทำสตอรี่บอร์ด เมื่อทีมงานฝ่ายต่าง ๆ เริ่มวางแผนการถ่ายทำร่วมกับผู้กำกับ ภาพของฉากก็จะยิ่งชัดเจนมากขึ้น นำมาสู่การจัดวางเฟรมภาพเพื่อสื่อถึงความหมายที่ผู้สร้างต้องการถ่ายทอดให้กับคนดู
นอกจากนี้ลักษณะของการจัดแสง ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงตามธรรมชาติ แสงฟุ้งฝัน หรือแสงคอนทราสจัด สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ส่งข้อความ ความหมาย และเชื่อมความรู้สึกให้ผู้ชมได้เป็นส่วนหนึ่งกับตัวภาพยนตร์มากขึ้นเช่นกัน อีกทั้งการออกแบบฉากหลัง สถาปัตยกรรม และเครื่องแต่งกายตัวละครเองก็ทำหน้าที่บอกยุคสมัยของเรื่อง และแม้ว่าการกำหนดท่าทางของนักแสดงจะฟังดูเป็นคนละส่วนกับการจัดฉาก แต่สิ่งนี้กลับมีความสำคัญไม่แพ้องค์ประกอบอื่น ๆ เลยก็ว่าได้ เพราะการออกแบบ Mise-en-scène ยังรวมไปถึงการตัดต่อ และการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า Blocking หรือ การวางตำแหน่ง เพื่อให้ท่าทางและการเคลื่อนไหวของตัวละคร สัมพันธ์กับฉาก อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือเมื่อตัวละครเคลื่อนที่ พวกเขาก็กำลังตอบโต้กับสิ่งแวดล้อมโดยรอบอยู่ด้วย ดังนั้น ทั้งหมดที่ผู้ชมได้เห็นบนจอ จึงนำไปสู่หัวใจหลักของภาพยนตร์คือ การเล่าเรื่องด้วยภาพ นั่นเอง
เมื่อพูดถึง Mise-en-scène หนึ่งในหนังที่เป็นเหมือนตัวจุดประกายด้านการออกแบบฉากในแวดวงหนังสไตล์ German Expressionism ท่ีสะท้อนความบิดเบี้ยว เผยให้เห็นความคิดและความรู้สึกของผู้สร้างอย่างชัดเจน คงหนีไม่พ้น The Cabinet of Dr. Caligari (1920) ผลงานของผู้กำกับชั้นครูอย่าง Robert Wiene ที่ฝากผลงานให้นักเรียนหนังได้ต่อยอดแนวทางของตัวเองต่อไปอีกมากมาย
ด้วยความที่หนังสมัยนั้นยังเป็นหนังเงียบ มีการบรรยายเรื่องราวผ่านตัวอักษร ทำให้การจัดองค์ประกอบภาพ มีความสำคัญอย่างมากต่อความเข้าใจของคนดู การจัดเรียงลำดับภาพ รวมถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ จึงส่งผลต่อเรื่องเล่าและธีมของหนังเสมอ
Cabinet of Dr. Caligari เป็นหนังเงียบของเยอรมนียุคแรก ๆ ที่เกิดขึ้นในปี 1920 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบไปได้ไม่นาน ทำให้ตัวหนังเป็นที่รู้จักในวงกว้างเนื่องจากมีความโดดเด่นทางภาพและสไตล์งาน โดยเฉพาะการออกแบบแสงที่นับได้ว่ามีความแปลกตาไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะนอกจากแสงจะช่วยสร้างพิศวงแล้ว แสงยังทำหน้าที่เพิ่มมิติให้กับภาพ รวมถึงส่งผลต่อความรู้สึกผู้ชมอยู่ไม่น้อย ระดับความมืดและสว่าง ทำให้ฉากต่าง ๆ ในเรื่องมีความเป็นนามธรรม คล้ายกับผู้ชมกำลังดูผลงานศิลปะที่เคลื่อนไหวได้ จนสร้างความทึ่งให้ผู้ชมยุคนั้น รวมถึงเป็นหมุดสำคัญในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ต่อยอดมาถึงการจัดฉากในหนังทุกวันนี้ที่นับวันยิ่งเพิ่มความเหนือชั้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขึ้นชื่อว่าเป็น Roy Andersson ผู้กำกับที่เปลี่ยนโลกของหนัง ท้าทายภาษาภาพด้วยการทำให้เป็นภาพวาดผลงานศิลปะ พร้อมสอดแทรกเนื้อหาจิกกัดสังคมอย่างตลกร้าย การจัดองค์ประกอบภาพจึงมีความสำคัญอย่างมากต่อตัวหนังที่เขาสร้างขึ้นชนิดที่แนวคิดของงานกับภาษาภาพนั้น กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันเลยก็ว่าได้
ในหนังของเขา เราจะได้เห็นตัวละครกำลังยืนอยู่บนโลกที่แปลกประหลาดและนิ่งช้าจนผู้ชมเองอาจรู้สึกล้าไปตาม ๆ กัน อย่างไรก็ตาม ความนิ่งช้านี้มีเหตุผลเพื่อให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำตัวหนังนาทีต่อนาที มองดูรายละเอียดของภาพที่ผู้สร้างต้องการจะสื่อออกมาได้อย่างครบถ้วน จะเห็นได้ว่าโลกใน Songs from the Second Floor แตกต่างจากชีวิตจริงอย่างชัดเจน แต่น่าแปลกที่เมื่อผู้ชมได้ชมหนังเรื่องนี้ รวมถึงหนังเรื่องอื่น ๆ ของ Roy Andersson เราจะพบเศษเสี้ยวของความรู้สึกอ้างว้างที่อยู่ภายใน ราวกับผู้กำกับหยิบเอาการจัดวางฉาก มาเป็นตัวสะท้อนความคิด กระตุ้นให้ผู้ชมดำดิ่งลงไปในความรู้สึกของตัวเอง
อ้างอิง :
filmart101
academy wedio
nfi