กล่องฟ้าสาง
นิทรรศการบันทึกความทรงจำของคนเดือนตุลาฯ ที่ไม่ควรถูกหลงลืม

กล่องฟ้าสาง นิทรรศการบันทึกความทรงจำของคนเดือนตุลาฯ ที่ไม่ควรถูกหลงลืม

กล่องฟ้าสาง นิทรรศการบันทึกความทรงจำของคนเดือนตุลาฯ ที่ไม่ควรถูกหลงลืม

แม้เวลาจะผ่านมาร่วม 40 - 50 ปีแล้ว แต่เรื่องราวการเคลื่อนไหวของประชาชนหัวก้าวหน้าหลายภาคส่วน ทั้งกรรมกร ชาวนา และนิสิตนักศึกษา ตั้งแต่ช่วง 14 ตุลาคม 2516 จนถึงช่วง 6 ตุลาคม 2519 ก็ยังควรค่าแก่การหยิบยกนำมาพูดคุยถึงความกล้าหาญและความเสียสละที่ประชาชนสามประสานเหล่านี้เข้ามามีส่วนในการเรียกร้องระบอบประชาธิปไตย ขับไล่เผด็จการ รวมถึงผลักดันสิทธิและความเท่าเทียมของประชาชนในทุกองคาพยพ โดยเฉพาะกับเหล่าแรงงานและผู้ถูกกดขี่ ที่หลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สิทธิแรงงานหลาย ๆ อย่างที่เราได้รับทุกวันนี้ล้วนเกิดมาจากการเรียกร้องของคนเดือนตุลาฯ เหล่านี้แทบทั้งสิ้น

ในวาระครบรอบ 45 ปี เหตุการณ์สังหารหมู่ 6 ตุลาฯ 19 ในปีนี้ ก็เป็นอีกครั้งที่เราตั้งตารอการจัดนิทรรศการเพื่อรำลึกถึงเรื่องราวการต่อสู้ที่นำมาซึ่งหนึ่งในความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของหน้าประวัติศาสตร์ไทย แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จึงทำให้ในปีนี้ทีมทำงานไม่สามารถลงพื้นที่จัดงานในสถานที่จริงได้เหมือนเคย และจำเป็นจะต้องเปลี่ยนการนำเสนอมาเป็นรูปแบบนิทรรศการขนาดย่อมในชื่อ ‘กล่องฟ้าสาง’ ที่จะนำทุกคนไปร่วมเดินทางเข้าสู่กล่องบันทึกความทรงจำของคนเดือนตุลาฯ ได้จากที่บ้านแทน ซึ่งกล่องฟ้าสางที่ว่านี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของโปรเจกต์ ‘5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสาง’ ที่เกิดจากความร่วมมือของทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่าที่ต้องการจะบอกเล่าและส่งต่อเรื่องราวของขบวนการต่อสู้ภาคประชาชนก่อนเสียงปืนนัดแรกในเช้ามืดวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จะดังขึ้น

หลังจากรวบรวมข้อมูลและบทสัมภาษณ์จากคนเดือนตุลาฯ หลายสิบชีวิต ในที่สุด กล่องฟ้าสางก็ถูกผลิตขึ้นภายใต้การออกแบบของ Eyedropper Fill กลุ่มนักออกแบบ Multi-Disciplinary Design ที่เราคุ้นเคย ร่วมกับความช่วยเหลือของทีม Rackscene Collective, Studio Dialogue และ พี-วิศรุต ศรีพุธสมบูรณ์ ผู้กำกับรุ่นใหม่จากหนังสั้น 'สุสานใต้ดิน (Underground Cemetery)' ที่มาร่วมสร้างสรรค์ให้ประสบการณ์การรับชมนิทรรศการขนาดย่อมนี้มีความถูกต้องและสมจริงมากที่สุด โดยกล่องฟ้าสางถูกถ่ายทอดในรูปแบบกล่องบันทึกความทรงจำจากวันวานเก่า ๆ ที่มีทั้งรูปภาพ จดหมาย และสิ่งของต่าง ๆ ที่ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวในตัวของมันเอง คอยบอกเล่าการเดินทางและหน้าที่รับผิดชอบของฝ่ายต่าง ๆ ในอดีตเมื่อครั้งการต่อสู้ของประชาชนยังเรืองรองแม้จะต้องตกอยู่ภายใต้เงาของรัฐบาลเผด็จการก็ตาม

สิ่งที่เราชอบมาก ๆ คือการที่กล่องฟ้าสางมีลักษณะเป็นกล่องประสบการณ์แบบ Immersive Experience ที่พาเราย้อนเวลาด่ำดิ่งกลับไปในช่วงปี 2516 - 2519 ได้โดยไม่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีแสงสีเสียงสุดอลังการใด ๆ แต่กลับให้ทั้งข้อมูลและอารมณ์ร่วมได้อย่างสมบูรณ์ องค์ประกอบทุก ๆ อย่างในกล่องถูกออกแบบและผลิตมาอย่างสมจริง ค่อย ๆ เรียงลำดับการบอกเล่าเรื่องราวอย่างมีชั้นเชิง อีกทั้งยังมี QR Code ให้แสกนฟังเสียงบรรยากาศไปพร้อม ๆ กันด้วย (นอกจากเสียงบรรยากาศที่ว่าแล้ว ในช่อง SoundCloud นี้ยังมีคลิปเสียงที่น่าสนใจอีกมากมายหลายประเด็นด้วย ลองไปกดฟังกันต่อได้) เรียกได้ว่า เป็นการใช้ประโยชน์จากประสาทสัมผัสทุก ๆ ด้านของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วนเลยทีเดียว

อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องชื่นชมคือการที่กล่องฟ้าสางไม่ได้ถ่ายถอดประสบการณ์การเคลื่อนไหวภาคประชาชนในครั้งนี้ด้วยความรุนแรงชวนหดหู่ แต่เป็นการสร้างความน่าขนลุกที่เกิดจากภาพความหวังและความฝันของคนรุ่นก่อนเสียมากกว่า ซึ่งพลังแห่งความเชื่อในการเปลี่ยนแปลงตรงนี้เองที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ได้ลุกขึ้นต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคมต่อไป

บนการ์ดที่แนบมาพร้อมกันปรากฏข้อความที่ว่า “ข้าวของภายในนี้อาจจะเป็นเพียงสิ่งของที่ถูกจัดทำขึ้น แต่ความทรงจำต่าง ๆ ล้วนแต่เกิดขึ้นจริง” เราคิดว่านี่คือคำจำกัดความที่ดีที่สุดของกล่องฟ้าสางเท่าที่พอจะนึกออก เพราะแม้ว่าเหตุการณ์ในวันนั้นจะเดินทางผ่านมาแล้วหลายทศวรรษ แต่มันยังควรค่าแก่การจดจำและนำขึ้นมาปัดฝุ่นรอการสะสางใหม่เสมอ เรื่องราวของคนเดือนตุลาฯ ไม่ใช่แค่เรื่องเล่าสั้น ๆ ไม่กี่ย่อหน้าในหนังสือเรียน แต่เป็นโศกนาฏกรรมที่ไม่ควรถูกทำให้เลือนหายไปจากความทรงจำของคนไทยทุกคน

แม้ว่าขณะนี้กล่องฟ้าสางจะถูกสั่งจองจนครบจำนวนที่กำหนดแล้ว แต่ในอนาคตจะมีการจัดจำหน่ายสินค้าที่ระลึกอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อสมทบทุนเข้าโปรเจกต์ 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสางต่อไป ผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: บันทึก 6 ตุลา - Documentation of Oct 6

สั่งจองกล่องฟ้าสางในราคา 1,619 บาทได้ที่นี่

รายได้จากการจัดจำหน่ายจะถูกสมทบเข้าโปรเจกต์ 5 ตุลาฯ ตะวันจะมาเมื่อฟ้าสางต่อไป