‘น้อย แต่ มาก’ เสียงจากอนาคตถึงผู้คนในปัจจุบัน ผ่านงานของ Willy Verginer

‘น้อย แต่ มาก’ เสียงจากอนาคตถึงผู้คนในปัจจุบัน ผ่านงานของ Willy Verginer

‘น้อย แต่ มาก’ เสียงจากอนาคตถึงผู้คนในปัจจุบัน ผ่านงานของ Willy Verginer

ในตอนเด็ก Willy Verginer เคยบอกกับพ่อว่าเขาอยากเป็นศิลปิน พ่อของเขาตอบกลับในทันที ‘… แต่นั่นไม่ใช่งานที่สร้างอาชีพได้’ ถึงแม้ในวันนั้นพ่อของเขาจะไม่สนับสนุนเส้นทางสายนี้ ทว่า เวอร์จิเนอร์ ยังคงมุ่งมั่นและใช้ชีวิตไปกับการผลิตผลงานศิลปะ เขาเข้าเรียนในโรงเรียนวิจิตรศิลป์โดยตรง และยังศึกษาเพิ่มเติมด้านประติมากรรมไม้จากพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่ จนสร้างผลงานอันเป็นเอกลักษณ์ และกลายมาเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินร่วมสมัยในที่สุด

วิลลี่ เวอร์จิเนอร์ (Willy Verginer) เกิดและเติบโตในหมู่บ้าน Val Gardena ที่รายล้อมไปด้วยธรรมชาติอันสวยงามท่ามกลางเทือกเขา Dolomites ทางตอนเหนือของอิตาลี ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของช่างแกะสลักสไตล์บาโรกที่มีรากฐานจากคริสตศาสนาตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 17 จนกลายมาเป็นศูนย์กลางสำคัญด้านการแกะสลักไม้จนถึงปัจจุบัน การแกะสลักไม้แบบดั้งเดิมส่งอิทธิพลถึงงานของเวอร์จิเนอร์เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าเขาจะเริ่มศึกษาศิลปะจากการวาดภาพ แต่เขาก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมในด้านการแกะสลักไม้จากสตูดิโอของประติมากรหลายคนในหุบเขาแห่งนี้

แต่แทนที่เขาจะทำตามธรรมเนียมเก่า เวอร์จิเนอร์ไปไกลกว่านั้นด้วยการสร้างแนวทางของตัวเองที่เป็นสากลและร่วมสมัยมากขึ้น งานเขาประกอบด้วยไม้หลายชิ้นที่ถูกทำให้แห้งตามธรรมชาติเป็นเวลากว่า 5 ปี เพื่อคงสภาพไม้เอาไว้ เขาติดต่อแบบซึ่งเป็นเด็กหนุ่มสาวในเมือง จากนั้นจึงร่างโครงชิ้นงานด้วยเลื่อยไฟฟ้าและขวาน ก่อนจะปั้นแต่งรูปทรงด้วยสิ่วและเครื่องมือขนาดเล็กเพื่อเผยให้เห็นรายละเอียดยิบย่อยบนเรือนร่างของวัตถุ เขาใช้กระดาษทรายขัดพื้นผิวให้เรียบเนียน แล้วจึงปิดท้ายด้วยการแต่งแต้มสีสันลงบนชิ้นงานอย่างมีความหมาย เกิดเป็นประติมากรรมแนวตั้งขนาดเท่าวัตถุจริงราวกับผู้ชมกำลังเผชิญกับร่างตรงหน้าแบบตัวต่อตัว

งานของเวอร์จิเนอร์คือการหลอมรวมเอาชีวิตวัยเยาว์ผูกเข้ากับวัตถุ แทนความเสื่อมโทรมของโลกอุตสหกรรมและทุนนิยม เปรียบเสมือนแบบจำลองภาพอนาคตซึ่งเป็นผลจากความนิ่งนอนใจต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของผู้คนในปัจจุบัน เขาได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานจากภาพความขัดแย้งในสังคม จากนั้นจึงตีความใหม่ด้วยการใส่สัญลักษณ์ที่ไม่เข้ากัน เช่นกวางบนถังน้ำ หรือเด็กท่ามกลางขยะที่ลอยอยู่รอบตัว ซึ่งดูเหมือนจะแปลกประหลาด แต่ก็สะท้อนภาพสิ่งแวดล้อมในสังคมออกมาได้อย่างชัดเจน

ในประติมากรรมเด็กน้อยร้องไห้บนหลังลาขณะที่พื้นเต็มไปด้วยเศษทอง เวอร์จิเนอร์อธิบายว่า ผลงานชิ้นนี้เกิดจากเหตุการณ์การล่มสลายของธนาคารในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถานที่เชื่อมต่อระบบทางการเงินขนาดใหญ่ ทองบนพื้นเปรียบได้กับเศษปฏิกูลอันไร้ค่า แต่ก็เป็นสิ่งที่เราไม่อาจยื่นมือลงไปเก็บได้เช่นกัน

เวอร์จิเนอร์ได้สร้างผลงานศิลปะรูปแบบใหม่ในแบบของตัวเองที่ทั้งเหมือนจริงและดูแปลกตาในเวลาเดียวกัน ถึงแม้งานของเขาจะประกอบขึ้นจากชิ้นไม้ที่มีความแข็งแรง แต่รูปทรงอันโค้งมนละเมียดละไมจนหากมองผิวเผินอาจดูเหมือนงานปั้นด้วยดิน ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสามารถอันโดดเด่นหาตัวจับยาก ทำให้งานของเขาสะดุดตาผู้พบเห็น เวอร์จิเนอร์สร้างความเหนือชั้นด้วยการเพิ่มมวลน้ำหนักของประติมากรรมโดยการเติมแต่งสีสันบนระนาบเดียวกันราวกับจุ่มวัตถุลงในถังสี เหตุผลทั้งหมดนี้ คือความพยายามที่จะลดทอนเศษเสี้ยวของธรรมชาติให้ได้มากที่สุด และทำให้ชิ้นงานของเขาดูง่ายแต่ก็ขยายอิสระทางความคิดให้แก่ผู้ชมนั่นเอง

อ้างอิง : stirworld