Nature versus Nurture ดอกไม้ สังคม และการเติบโตของ นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คงจะไม่มีศิลปินรุ่นใหม่คนไหนมาแรงไปกว่า บอล-นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ศิลปินผู้ใช้ศิลปะการจัดวางและศาสตร์แห่งภาพถ่ายปลดเปลื้องตัวตน เพศสภาพ และความเป็นไปในสังคม ผ่านสีสันของดอกไม้นานาพรรณ
หลังจากได้ทราบข่าวคราวว่า เขากำลังจะต้องเดินทางไกลเพื่อไปเข้าร่วมโครงการศิลปินในพำนัก ณ ประเทศฝรั่งเศสในอีกไม่ช้า เราจึงถือโอกาสนี้ชวนคุณบอลมาร่วมพูดคุยถึงชีวิต และการเติบโตของเขาผ่านผลงานใน Nature versus Nurture นิทรรศเดี่ยวครั้งใหม่ล่าสุดของเขาซะเลย
คุณบอลเล่าให้เราฟังว่า เขาเติบโตมาพร้อมกับความรักในดอกไม้มาอย่างยาวนาน ความทรงจำของเขาล้วนแล้วแต่มีดอกไม้เป็นเพื่อนร่วมทางในการเติบโต แค่การได้นำมงกุฎดอกไม้สวย ๆ มาสวมใส่ก็เป็นความสุขเล็ก ๆ ในวัยเด็กของเขาแล้ว อย่างไรก็ดี สิ่งเหล่านี้กลับโดนตั้งคำถามจากคนรอบข้างอยู่บ่อยครั้งจนเขาต้องค่อย ๆ ปิดกั้นตัวตนที่แท้จริงจากสังคมภายนอกไปทีละนิด ผลงานศิลปะชิ้นแรก ๆ ของเขาจึงยังเป็นเพียงการหลบซ่อนสัญลักษณ์ทางเพศไว้แบบไม่เปิดเผยออกมาตรง ๆ จนเมื่อเวลาผ่านไป การทำงานศิลปะร่วมกับดอกไม้เหล่านี้ถึงค่อย ๆ ช่วยบำบัดและเยียวยาเขาให้สามารถยอมรับตัวเองได้มากขึ้น
“นอกจากดอกไม้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราได้ค้นพบตัวตนแล้ว มันยังเป็นสิ่งหนึ่งเหมือนกันที่ทำให้ผู้คนมาจำกัดเรา ไม่เว้นแม้แต่คนในครอบครัวเองก็ตาม มันทำให้เราไม่มีพื้นที่ที่จะได้เติบโต พื้นที่ในสังคมก็ไม่มี พื้นที่ในบ้านก็ไม่มี กลายเป็นว่า งานศิลปะเป็นสิ่งเดียวที่ทำให้เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้”
เรื่องราวเหล่านี้เองที่ทำให้เขาได้รับแรงบันดาลใจในการสรรค์สร้าง Nature versus Nurture นิทรรศการที่มีแนวคิดว่าด้วยทฤษฎีทางจิตวิทยาเรื่องธรรมชาติและการเลี้ยงดูที่ส่งผลต่อการเติบโตของคน ๆ หนึ่ง ในผลงานชุดนี้ เขาพูดถึงตัวของเขาเองที่ถูกสังคมกรอบให้กลายเป็นใครสักคนหนึ่งที่สังคมต้องการ โดยเฉพาะกับเรื่องเพศสภาพที่เขาต้องปกปิดมาอย่างยาวนาน กว่าจะเริ่มเปิดเผยให้คนรอบตัวได้รับรู้ เวลาก็ล่วงเลยมาจนถึงวัยทำงานแล้ว
“ตอนเด็ก ๆ เราชอบดูเซเลอร์มูนมาก เราชอบเล่นของเล่นของเด็กผู้หญิง ชอบตุ๊กตาบาร์บี้ ชอบสีชมพู ชอบวาดตัวการ์ตูนญี่ปุ่นลงในหนังสือ แต่พอถึงจุดหนึ่งที่เพื่อนรอบตัวเห็นว่า การกระทำแบบนี้มันเป็นสิ่งที่ตุ๊ดทำ เราเลยต้องจำกัดตัวเองไว้โดยการบอกว่า เราไม่ได้ชอบสิ่งนี้ เราไม่ได้อยากทำสิ่งนั้น เพราะเรากลัวโดนเพื่อนล้อ ซึ่งนี่คือการสูญเสียการเป็นตัวของตัวเองไป และเมื่อเราโตขึ้นมา เราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปทำสิ่งในที่เราอยากทำหรืออยากเป็นได้อีก มันเลยเกิดคำถามขึ้นมาว่า แล้วเราจะทำยังไงกับช่วงเวลาและตัวตนที่เราสูญเสียไปได้บ้าง”
ประสบการณ์และความทรงจำอันเจ็บปวดในฐานะการเป็นเพศหลากหลาย (LGBTQI+) ของคุณบอล (และเชื่อว่าอีกหลายคนในสังคม) ตรงนี้เองที่เป็นที่มาของการถ่ายทอดแนวคิดของนิทรรศการครั้งนี้ผ่านไม้ตัดดอก (Cut Flower Plant) ใน 3 ช่วงเวลา ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปลายทางสุดท้าย
ผลงานชุดแรก Cut Chrysanthemum Production เป็นการจำลองภาพของสวนเบญจมาศ ดอกไม้ที่ถูกตัดแต่งพันธุกรรมมาอย่างยาวนาน เพียงเพื่อให้พวกมันมีลักษณะก้านยาว ดอกโต ตามความต้องการของมนุษย์ จนถึงวันนี้ ก็คงไม่มีใครรู้ว่า อัตลักษณ์ที่แท้จริงของดอกเบญจมาศเหล่านี้เป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันพวกมันมีหน้าที่เพียงสร้างความสวยงามให้กับผู้คน แต่เมื่อความสมบูรณ์แบบเหล่านั้นถูกทำลายลง และแทนที่ด้วยความเหี่ยวเฉา คุณค่าของของพวกมันก็หมดลงไปด้วย ไม่ต่างจากตัวตนของเราที่สูญเสียไประหว่างเส้นทางการเติบโตจากกรอบของสังคม และคุณค่าในตัวเองที่ค่อย ๆ จางหายไปพร้อม ๆ กับจิตวิญญาณที่แห้งเหี่ยวจากมาตรวัดที่ไม่เท่าเทียม
ผลงานชุดที่สอง Flower Refrigerator คุณบอลเล่าให้เราฟังว่า เขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากดอกไม้ที่ถูกอัดแน่นเต็มตู้แช่ในปากคลองตลาด แต่ละดอกล้วนถูกตัดแต่งกิ่งก้านมาอย่างสวยงาม ไม่ต่างกับตัวของเขาเองที่โดนคาดหวังให้เป็นบางสิ่งที่งดงามตามอุดมคติในบรรทัดฐานของสังคม กลายเป็นแค่สินค้าที่ถูกทำให้คงความสดไว้ในพื้นที่จำกัดอย่างตู้แช่ดอกไม้ รอเวลาให้คนมาเลือกซื้อไป
โดยเมื่อสังเกตดี ๆ ก็จะพบว่า เมื่อเราลองพลิกภาพของดอกไม้ในตู้แช่นี้จากแนวตั้งเป็นแนวนอน สีสันสดใสของพวกมันก็ดูคล้ายคลึงกับสีธงชาติของ 10 ประเทศทั่วโลกที่การเป็นเพศหลากหลายนั้นมีบทลงโทษที่ร้ายแรง อีกทั้งตัวหนังสือในฟอนต์สุดเฉิ่มที่ถูกประดับตกแต่งอยู่ด้านบนยังเป็นชื่อของดอกไม้ประจำชาติของประเทศเหล่านั้นด้วย
“มนุษย์เลือกเกิดไม่ได้ เราเลือกเพศไม่ได้ เราเลือกครอบครัวไม่ได้ สุดท้าย เราเลือกประเทศที่มาเกิดไม่ได้ เราถูกกฎหมายเหล่านี้จองจำให้เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ แต่สิ่งเขามองว่าสมบูรณ์แบบมันใช่สิ่งที่เราต้องการรึเปล่า สิ่งเหล่านี้มันกลายเป็นข้อจำกัดที่ถูกนำเสนอในรูปของตู้แช่ที่ทำให้เรากลายเป็นดอกไม้ที่สด สวยงาม แต่หมดอิสรภาพในการแสดงออก”
และในผลงานชุดสุดท้าย The Other Side of Flower Arrangement คุณบอลเลือกที่จะนำเสนอปลายทางของดอกไม้เหล่านี้ผ่านรูปแบบการจัดดอกไม้ กิจกรรมที่ครั้งหนึ่งเคยมีไว้เพียงเพื่อการสักการะบูชาในพิธีกรรมทางศาสนา ก่อนที่ภายหลังจะถูกสงวนไว้เพื่อชนชั้นสูงเท่านั้น เขาตั้งใจที่จะลดทอนความสูงส่งของการจัดดอกไม้ในอดีตมาสู่วิถีแบบ ‘บ้าน ๆ’ ตามประสาชนชั้นกลางผ่านการใช้ดอกไม้ตามฤดูกาล และดอกไม้ลดราคา รวมไปถึงการหยิบเอาสิ่งของในชีวิตประจำวันอย่างขันอาบน้ำ ครกหิน ชามข้าวหมา หรือแม้แต่ชามพลาสติกสีเจ็บที่แถมมากับการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคมาใช้เป็นพาชนะรองรับช่อดอกไม้เหล่านี้ แทนที่กระถางหรือแจกันราคาแพงที่ไม่อาจเอื้อมถึง
นอกจากนั้น หากชนชั้นสูงในยุควิคตอเรียนนิยมใช้ภาษาดอกไม้ในการบอกเล่าความรู้สึกแบบอ้อม ๆ ในหมู่ชนชั้นสูงด้วยกันเอง คุณบอลก็เลือกที่จะสื่อสารมันออกมาอย่างตรงไปตรงมาผ่านข้อความสองแง่สองง่าม ไม่ว่าจะเป็น ‘Pussy’, ‘Cunt’, ‘Cock’, ‘Bitch’, ‘Fuck’ และอื่น ๆ อีกมากมายที่ล้วนแล้วแต่ถูกดัดแปลงมาจากการดัดใบไม้ กิ่งไม้ภายในภาพ จนอาจกล่าวได้ว่า การจัดดอกไม้ที่ครั้งหนึ่งเคยดูสูงส่งกลับกลายเป็นการท้าทายกับระบบชนชั้นในสังคมแทน
ท้ายที่สุดนี้ ไม่ว่าตัวตนในวันนี้ของเราจะถูกหล่อหลอมมาจากธรรมชาติตามพันธุกรรมที่ฝังรากลึกถึงระดับ DNA หรือการเลี้ยงดูจากครอบครัว และสังคมภายนอกในภาพที่กว้างกว่า แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่าคือ เราจะสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทุก ๆ คนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้อย่างไรบ้าง ในวันที่ประเทศถูกนำพาจากผู้มีอำนาจที่แสนล้าหลัง
📍 Nature versus Nurture โดย นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์
วันที่ 18 มิถุนายน - 13 สิงหาคม 2022
อาคารหอศิลป์ ชั้น 3 SAC Gallery
เปิดวันอังคาร - เสาร์ (10:00 - 18:00 น.)