Acid Graphics เทรนด์การออกแบบสุดจี๊ดที่มาแรงที่สุดในช่วงนี้
มาแรงไม่มีตกจริง ๆ สำหรับ Acid Graphics เทรนด์การออกแบบสุดจัดจ้านที่ไม่ได้จำกัดขอบเขตอยู่แค่ในแวดวงกราฟฟิกและแฟชั่นอีกต่อไป แต่ตอนนี้ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็พบเจอได้ทุกหัวระแหง ไม่เว้นแม้แต่วงการดนตรีที่ตอนนี้ดูจะกำลังคลั่งไคล้สุนทรียะแบบนี้มากเป็นพิเศษ
ฟังจากชื่อ Acid Graphics ก็คงจะทำให้หลาย ๆ คนเดาได้ไม่ยาก สไตล์การออกแบบแนวนี้ถือกำเนิดขึ้นมาจากการหยิบยืมสุนทรียะของสไตล์ไซคีเดลิกจากยุค 60s ช่วงเวลาที่งานศิลปะและการออกแบบมักสะท้อนสีสันและความมึนเมาจากภาพหลอนของยาเสพติดประเภท LSD (Lysergic Acid Diethylamide) ที่กำลังเฟื่องฟูในเวลานั้น มาผสมผสานเข้ากับสไตล์ Acid House จากยุค 90s ที่มักถูกจดจำจากภาพงานเรฟปาร์ตี้ของวัยรุ่นตัวจี๊ดที่เต็มไปด้วยแสงสีเสียงแบบจัดเต็ม
ดังนั้น เราอาจกล่าวได้ว่า Acid Graphics คือการมองย้อนกลับไปเอาแนวคิดและรูปแบบของการออกแบบในอดีตมาเล่นแร่แปรธาตุใหม่ให้มีมุมมองก้าวล้ำของอนาคต (Futuristic) โดยเล่าผ่านรูปแบบของกราฟฟิกสีนีออนเจ็บ ๆ ลวดลายลวงตาของศิลปะแนวออพอาร์ต (Op Art) การใช้ตัวอักษรสไตล์โครมไทป์ (Chrometype) ที่เป็นการนำเสนอตัวอักษรผ่านรูปแบบพื้นผิวโลหะสามมิติ รวมไปถึงกลิ่นอายความไซ-ไฟของโลกดิสโทเปียในอนาคต
หนึ่งในดีไซเนอร์ชื่อดังที่นำสไตล์แบบ Acid Graphics มาใช้ในงานออกแบบของตัวเองอยู่เสมอจนแทบจะกลายเป็นลายเซ็นเฉพาะตัวคือ ยูตะ คาวากุจิ หรือที่รู้จักกันในชื่อ GUCCIMAZE กราฟฟิกดีไซเนอร์หนุ่มจากโตเกียวที่มีชื่อเสียงจากผลงานการออกแบบกราฟฟิกพื้นสีดำ และองค์ประกอบสีนีออนสุดจี๊ดจ๊าด รวมไปถึงตัวอักษรโลหะสามมิติแนวทดลองที่ถูกนำไปใช้งานในผลงานการคอลแลบร่วมกับแบรนด์ดังมากมายไม่ว่าจะเป็นสตรีทแวร์อย่าง NEW ERA, สปอร์ตแวร์ชื่อดังอย่าง Adidas หรือแม้แต่นาฬิกาหรูอย่าง Seiko ขนาดบนปกอัลบั้ม Queen (2018) ของราชินีเพลงแรพอย่าง Nicki Minaj เขาก็เคยพาตัวอักษรของเขาขึ้นไปอวดโฉมมาแล้ว
ไม่ใช่แค่ Nicki Minaj เท่านั้น แต่ยังมีตัวแม่ของวงการเพลงป็อปที่ขึ้นชื่อเรื่องความแปลกแหวกล้ำอย่าง Lady Gaga ที่ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปินที่นำสุนทรียะแบบ Acid Graphics มาใช้ในการออกแบบงานภาพทั้งหมดของ Chromatica (2020) อัลบั้มเต็มชุดล่าสุดของเธอ ตั้งแต่สัญลักษณ์ sine wave ปกอัลบั้ม (รวมไปถึงปกซิงเกิลนำร่องอัลบั้มเต็มอย่าง Stupid Love (2020) ด้วย) โปสเตอร์ แพคเกจอัลบั้ม ไปจนถึงสินค้าที่ระลึก ที่นำสีเขียว-ชมพู และพื้นผิวโลหะมาตีความ และถ่ายทอดโลก Chromatica ออกมาในแบบฉบับของดิว่าสาวได้อย่างแซ่บลืมสุด ๆ
ฝั่งเกาหลีเองก็ไม่น้อยหน้า ส่ง aespa ดาวลูกใหม่ของวงการ K-Pop จากค่าย SM Entertainment ที่มาพร้อมกับดนตรีอิเล็กโทร-ไฮเปอร์ป็อปแนวทดลอง และงานภาพสุดล้ำสมัยที่ดูมีเอกลักษณ์แตกต่างตั้งแต่วันแรกที่เปิดตัว ไม่ว่าจะเป็นโลโก้วง หรือปกอัลบั้มในแทบทุกซิงเกิล ในมินิอัลบั้มล่าสุด Girls (2022) สี่สาว aespa ก็กลับมาอีกครั้งกับการหยิบยืมสไตล์ Acid Graphics นำมาบอกเล่าเรื่องราวในดินแดนกวางยาผ่านงานสื่อสารของวง โดยเฉพาะกับโปสเตอร์แสดงแทรคลิสต์ในอัลบั้มที่สามารถเรียกเสียงฮือฮาจากการนำชื่อเพลงในอัลบั้มมาออกแบบตัวอักษรใหม่ในสไตล์โครมไทป์ และนำมาจัดรูปแบบเลย์เอาต์ในแบบโปสเตอร์คอนเสิร์ตวงเมทัลที่ไม่ได้ดูดุดันตามต้นฉบับ แต่กลับดูเท่แบบพอดิบพอดี ตามสไตล์สาว ๆ
ไม่เพียง aespa เท่านั้นที่นำพาสไตล์ Acid Graphics กลับมาทวงพื้นที่สื่อของตลาด K-Pop อีกครั้ง แต่ยังมีศิลปินเกาหลีอีกหลายคนที่รับเอาเทรนด์การออกแบบนี้มาใช้ในผลงานตัวเอง น่าสนใจว่า สุนทรียะแห่งโลกอนาคต (แบบเก่า ๆ) เหล่านี้จะอยู่ยืนยงต่อไป หรือล้มหายตายจากไปตามกาลเวลาไปพร้อม ๆ กับสไตล์ Y2K ที่กำลังมาแรงในยุคสมัยนี้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม เชื่อเหลือว่า น่าจะยังมีเทรนด์การออกแบบสนุก ๆ ในโลกป็อปคัลเจอร์ให้เราได้ติดตามกันอีกแน่นอน
อ้างอิง:
https://eyeondesign.aiga.org/acid-graphics-are-the-new-psychedelia-with-a-heady-dose-of-cynicism/
https://www.printmag.com/culturally-related-design/acid-aesthetic-history-of-psychedelic-design/
https://www.typeroom.eu/diesel-art-gallery-x-guccimaze-prepare-for-acid-graphics-overload