สนทนากับจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ถึงนิทรรศการล่าสุด  ‘ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust)’

สนทนากับจิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ ถึงนิทรรศการล่าสุด ‘ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust)’

จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ - ประวัติศาสตร์ที่เฝ้ามอง เครื่องดูดฝุ่นสีทอง และนิทรรศการ ‘ฝ่าละออง’ ที่เตือนให้นึกถึงคนที่ถูก (ทำให้) ลืม

ในวันที่ 9 กรกฎาคม - 28 สิงหาคมนี้ ณ VS Gallery กำลังมีนิทรรศการ ‘ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust)’ โดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ จัดแสดงอยู่

ถ้ายึดตามคำบรรยายนิทรรศการ นี่คือนิทรรศการศิลปะจัดวางภาคต่อของนิทรรศการ ‘คิดถึงคนบนฝ้า (Our Daddy Always Looks Down on Us)’ ที่จัดขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2563 โดยนิทรรศการครั้งนี้ประกอบไปด้วยผลงานภาพเคลื่อนไหวแบบหลายจอผสมเข้ากับการพากย์เสียงตัวบทจากเรื่องสั้นที่เขียนขึ้่นโดยตัวศิลปินเอง และเครื่องดูดฝุ่นทรงกลมสีทองอร่ามที่ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน ด้วยการวิ่งไปตามสถานที่ที่บรรจุเรื่องราวที่เชื่อมโยงสู่ขบวนการประชาธิปไตยไทย ฃเพื่อดูดฝุ่นละอองในพื้นที่นั้นๆ 

สำหรับส่วนที่เหลือของงาน เราอยากเชียร์ให้ทุกคนได้ไปสัมผัสประสบการณ์ของตัวเอง แต่แค่คำอธิบายนิทรรศการข้างต้น มันก็เพียงพอแล้วที่ GroundControl จะนัดสนทนากับจิรัฏฐ์ในบ่ายวันหนึ่ง เพื่อสนทนากันถึงความคิดเบื้องหลังที่พาให้นักเขียนอย่างเขากลั่นกรองต่อยอดตัวหนังสือจนเกิดเป็นนิทรรศการที่ว่าด้วย ‘ฝ่าละออง’ ในที่สุด


 

จุดเริ่มต้นเมื่องานเขียนกลายเป็นทัศนศิลป์

“ตามปกติเรามีอาชีพเป็นคนเขียนหนังสือครับ และเราก็เป็นคนที่สนใจการเมือง โดยเฉพาะการเมืองในเชิงปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อทัศนคติและวิถีชีวิตของคนตัวเล็กๆ อย่างเรา ดังนั้นในช่วงหลายปีหลัง เราจึงทำงานเขียนที่ตรงกับความสนใจส่วนตัวตรงนี้มาตลอด

“แต่ทีนี้ในอีกแง่ เราก็เป็นคนที่ชื่นชอบและผูกพันกับงานศิลปะ คือทั้งชอบดู ชอบเสพ และชอบเขียนถึง ทำให้พอถึงวันหนึ่ง เราเลยไม่ได้คิดว่าการเขียนหนังสือต้องจำกัดอยู่แค่ตัวอักษรอย่างเดียว มันสามารถอยู่ในรูปแบบไหนของศิลปะก็ได้ เพียงแต่สำหรับเราในต้นฉบับของทุกอย่าง มันจะมาจากเรื่องสั้นที่เราแต่งก็แค่นั้นเอง

"แต่ทีนี้ด้วยความที่เราเคยทำงานกับจอยส์ (กิตติมา จารีประสิทธิ์ - คิวเรอเตอร์ประจำพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม) ก่อนหน้า พอเกิดไอเดียแบบนี้เราเลยได้คุยและมาร่วมทำงานกัน จนเกิดเป็นนิทรรศการ ‘คิดถึงคนบนฝ้า (Our Daddy Always Looks Down on Us)’  เมื่อปีพ.ศ. 2563 และนิทรรศการ ‘ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust)’ ในครั้งนี้

“(นิ่งคิด) จริงๆ จะว่าไปก็เพราะ VS Gallery ด้วยที่ทำให้เราอยากลองพางานเขียนของตัวเองมาสื่อสารในแนวทางของศิลปนะ เพราะพี่บี (วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ - เจ้าของ VS Gallery) มีไอเดียในการเอานักเขียนมาลองทำงานศิลปะและชวนเรามานานแล้ว เพียงแต่ตอนนั้นเรายังไม่มั่นใจว่าไอเดียของตัวเองจะขายได้ เลยลองไปทำนิทรรศการ ‘คิดถึงคนบนฝ้า’ ก่อน จนเริ่มเห็นภาพว่างานเราสามารถเป็นทัศนศิลป์ได้ยังไงทำให้พอพี่บีทักมาชวนอีกที เราเลยอยากลองดูจนเกิดเป็นนิทรรศการครั้งนี้ครับ”


 

ลบไม่ได้ชวยให้ลืม

“ตอนนิทรรศการ ‘คิดถึงคนบนฝ้า (Our Daddy Always Looks Down on Us)’ ประเด็นหลักของนิทรรศการคือเราพูดถึงเรื่องความพยายามของรัฐในการทำให้คน ‘จดจำ’ บางอย่าง แต่ทีนี้ถ้ามองกลับกัน จะเห็นได้ว่ารัฐเองก็กำลังทำงานอีกด้านหนึ่งอยู่ นั่นคือการพยายาม ‘ลบ’ ให้บางอย่างถูกลืมเลือนไป ตรงนี้เองคือจุดตั้งต้นของนิทรรศการ  ‘ฝ่าละออง (From Dawn Till Dust)’ เพราะเราอยากต่อยอดในเรื่องเดียวกันที่เคยพูดถึงเมื่อครั้งก่อน

“แต่ถ้าว่ากันถึงถึงแรงบันดาลใจแรกจริงๆ เราว่ามันเริ่มจากเหตุการณ์ที่หมุดคณะราษฎรหายไปเมื่อ 5 ปีก่อนแล้วครับ ครั้งนั้นจุดประกายให้เราตระหนักได้ว่าที่ผ่านมารัฐพยายามจะ ‘ลบ’ ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตยในประเทศไทยอยู่เสมอ  ทำให้งานชุดนี้หลักๆ เลยจะประกอบไปด้วย Video Installation 6 จอ และเครื่องดูดฝุ่นสีทองที่ทำงานอยู่ด้านล่าง โดยสิ่งที่อยู่ในทั้ง 6 จอก็คือฟุตเทจที่เราเอาเครื่องดูดฝุ่นเครื่องนี้แหละ ไปดูดฝุ่นตามที่ต่างๆ ทั่วกรุงเทพที่เชื่อมโยงกับขบวนการประชาธิปไตยในไทย โดยเราเอาข้อมลูมาจากอาจารย์ชาตรี ประกิตนนทนาการที่นำเสนอเรื่อง ‘การรื้อทำลายศิลปะคณะราษฎร’ มาประกอบด้วย

“แต่ทีนี้ด้วยความที่เราเป็นนักเขียน สิ่งที่เราอยากนำเสนอเลยไม่ได้เป็นการเล่าออกมาอย่างตรงไปตรงมา แต่เป็นการเล่าผ่านเรื่องสั้นของเราที่เกี่ยวกับชะตากรรมของเจ้าหน้าที่รัฐคนหนึ่งที่ชื่อ วินสตัน สมิทธิ โดยดำเนินไปพร้อมๆ กับ Video Installation ทั้ง 6 จอนี้ ประกอบกับชื่อ ‘ฝ่าละออง’ ที่เป็นกิมมิกให้ใครมาเหยียบสติ้กเกอร์คำนี้ก็ได้”


 

สิทธิโดยชอบทำ

“เราเป็นคนที่โตมาในยุคที่เป็นไปด้วยโฆษณาชวนเชื่อเลยนะครับ อย่างปีนี้เราอายุ 37 ปีแล้ว ดังนั้นถ้านับถอยไปจะเห็นเลยว่าเราโตมาในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างเห็นได้ชัด แต่เหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนเลยคือการล้อมปราบคนเสื้อแดงในปี 2553 มันทำให้เราตั้งคำถามในอะไรหลายอย่างมากๆ จนนำมาสู่การสนใจการเมืองสังคมอย่างจริงจัง ซึ่งส่งผลต่อการเขียนหนังสือและงานอื่นๆ ของเราในเวลาต่อมา

“เพราะเราว่าการเมืองเป็นเรื่องสำคัญในชีวิต ในการทำความเข้าใจอะไรหลายๆ อย่าง มันต้องอาศัยพื้นฐานของการเมืองทั้งนั้น รวมถึงการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีที่ควรเป็นสิทธิ์ของเราทุกคน มันก็ต้องอาศัยการขับเคลื่อนด้วยการเมือง สิ่งเหล่านี้เกี่ยวพันกันหมด น่าเศร้าที่ในขณะที่คนรุ่นใหม่มีความตื่นตัวทางการเมือง และต้องการที่จะปฏิรูปโครงสร้างให้สอดรับกับความเป็นไปของยุคสมัย แต่รัฐบาลที่เราต่างเห็นตรงกันแล้วว่ามีความล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดินโดยสิ้นเชิง กลับพยายามที่จะแช่แข็งสิ่งต่างๆ ไว้

“ในฐานะที่ผมเป็นคนสนใจอ่าน เขียน และชอบดูงานศิลปะที่มีความเหนือจริงอยู่แล้ว คำถามที่ว่าอะไรคือความเหนือจริงที่สุดในบ้านเรา ณ เวลานี้ ก็คงเป็นการที่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องมาถึง 8 ปี และมีแนวโน้มว่าจะเป็นต่อไปเช่นนั้นอีกสักพักเลย แม่งโคตรน่าเศร้าเลยครับ”