นับตั้งแต่ยุคสมัยของมนุษย์เดินทางมาถึงยุค ‘Blackpink In Your แอเรี๊ยะ!’ เวลาที่เราอยากจะสวมวิญญาณสาวฟาดเริ่ด ๆ สะบัดเชิดใส่ผู้ ก็มีบทเพลงของแก๊งสาวมาด Blackpink นี่ล่ะที่เราใช้เป็นบทสวดเรียกองค์แม่มาประทับร่างก่อนออกไปเฉิดฉาย (บิช นานึล โซโล่)

นับตั้งแต่ยุคสมัยของมนุษย์เดินทางมาถึงยุค ‘Blackpink In Your แอเรี๊ยะ!’ เวลาที่เราอยากจะสวมวิญญาณสาวฟาดเริ่ด ๆ สะบัดเชิดใส่ผู้ ก็มีบทเพลงของแก๊งสาวมาด Blackpink นี่ล่ะที่เราใช้เป็นบทสวดเรียกองค์แม่มาประทับร่างก่อนออกไปเฉิดฉาย (บิช นานึล โซโล่)

ย้อนดูคอนเซปต์ ‘Greek Goddess’ ใน MV ของ Blackpink ก่อนการมาถึงของ Pink Venom

“ฉันจ้องลึกเข้าไปในดวงตาของคุณ พร้อมจูบลา ถ้ายังหัวเราะได้ก็หัวเราะไปเถอะ เพราะเดี๋ยวก็จะถึงตาของคุณแล้วเหมือนกัน!”
 

นับตั้งแต่ยุคสมัยของมนุษย์เดินทางมาถึงยุค ‘Blackpink In Your แอเรี๊ยะ!’ เวลาที่เราอยากจะสวมวิญญาณสาวฟาดเริ่ด ๆ สะบัดเชิดใส่ผู้ ก็มีบทเพลงของแก๊งสาวมาด Blackpink นี่ล่ะที่เราใช้เป็นบทสวดเรียกองค์แม่มาประทับร่างก่อนออกไปเฉิดฉาย (บิช นานึล โซโล่)

แม้ว่าเพลงสไตล์ผู้สาวสะบัดบ็อบ ฉันน่ะเริ่ด ฉันน่ะเก่ง จะเป็นท่ามาตรฐานของเพลงป็อปที่มีมาหลายยุคหลายสมัย แต่ศิลปินตัวแม่ทั้งหลายต่างก็ใช้ความฟาดในแบบของตัวเอง นำเสนอแง่มุมความมั่นนี้ในแนวทางที่ต่างกันออกไป ซึ่ง Blackpink ก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกเธอมีแนวทางการฟาดและศิลปะแห่งการฟาดหน้าผู้ชายในแบบของตัวเองที่ไม่เพียงถูกนำเสนอผ่านเนื้อเพลงเท่านั้น แต่ยังสะท้อนอยู่ในคอนเซปต์อาร์ตในแต่ละคัมแบ็ก ไดเรกชันของเอ็มวี ไปจนถึงคอสตูมเสื้อผ้าและท่าเต้น

และสำหรับ Blackpink การสะบัดบ็อบใส่ผู้ของพวกเธอนั้นทั้งแซ่บและสาแก่ใจกว่าใคร เพราะความเจ็บของพวกเธอนั้นไม่ใช่ความเจ็บในเลเวลของมนุษย์ธรรมดา แต่เป็นความเจ็บระดับ ‘เทพ’ ที่นำมาซึ่งความโกธราของ ‘เทพี’ แห่งการลงทัณฑ์ เห็นได้จากเรื่องราวในเอ็มวีสองเพลงโปรโมตล่าสุดอย่าง ‘Kill This Love’ และ ‘How You Like That’ ที่ซ่อนองค์ประกอบเรื่องเล่าจากตำนานและปกรณัมกรีกไว้ในหลายส่วน จนทำให้แฟน ๆ สามารถปะติดปะต่อเรื่องราวที่กลายมาเป็นคอนเซปต์หลักของวง นั่นก็คือการนำตำนานของเทพีและตัวละครหญิงในตำนานที่เคยเป็นผู้ถูกกระทำจากเพศชายมา ‘เล่าใหม่’ (Retelling) จนกลายเป็นเรื่องราวการ Empower ของผู้หญิงในโลกยุคใหม่ และการเขียนตำนานบทใหม่ที่ผู้หญิงอย่างเราจะไม่ยอมเป็นเหยื่อของแก (ชายเป็นใหญ่) อีกต่อไป!

ก่อนที่ Pink Venom จะปล่อยพิษกันในวันพรุ่งนี้ GroundControl จึงขอชวนทุกคนกลับไปย้อนสำรวจคอนเซปต์ Greek Goddess ของ Blackpink ที่เป็นการนำเรื่องราวของเทพีผู้เคยถูกกระทำในเรื่องเล่าปกรณัมกรีกมาเล่าใหม่ในรูปแบบของตำนานยุคใหม่ที่ผู้หญิงจะลุกขึ้นสู้!

มีตำนานไหนบ้างที่ถูกนำมาใช้ ไปย้อนดูกันเลย!

Leda And the Swan 
หญิงผู้ถูกกระทำ

ในฉากเปิดของเพลง Kill This Love เราจะได้เห็น เจนี่ ปรากฏตัวพร้อมกับฉากหลังที่เป็นหงส์สีขาวและสีดำ โดยตอนแรกเธออยู่ในชุดขาวที่ทำให้เธอดูงดงามบริสุทธิ์ ก่อนที่เธอจะเปลี่ยนมาสวมชุดสีดำและแสดงท่าทางบ้าคลั่งและอารมณ์ที่เปลี่ยนไปมาระหว่างหัวเราะและโกรธแค้น

ฉากนี้ทำให้นึกถึงตำนานใดไปไม่ได้นอกจาก เลดากับหงส์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในฉากจากปกรณัมกรีกที่อื้อฉาวที่สุด และยังถูกศิลปินในยุคต่อ ๆ มานำมาตีความและถ่ายทอดใหม่อยู่เสมอ ตำนานของเลดากับหงส์ว่าด้วยเรื่องราวของ เลดา เจ้าหญิงแห่งเมืองเอโทเลียที่กำลังจะเข้าพิธีแต่งงานกับ ทีอันแดเรียส กษัตริย์แห่งสปาตาร์ แต่ในคืนวิวาห์ ซุส ราชาแห่งเทพ ก็เกิดต้องใจในความงามของเธอ จนออกอุบายแปลงกายเป็นหงส์ที่หนีจากการตามล่าของเหยี่ยว ตกลงมาในอ้อมกอดของเลดา เลดาที่หารู้ไม่ก็โอบอุ้มหงส์ที่บาดเจ็บเอาไว้ ก่อนที่เธอจะถูกซุสในร่างของหงส์ขืนใจ แต่ในคืนเดียวกันนั้น เธอก็ยังเข้าห้องหอกับสามี และในเวลาต่อมาเธอก็ได้ให้กำเนิดไข่สองใบ ใบหนึ่งฟักออกมาเป็น เฮเลนกับไคลเทมเนสตา และอีกใบฟักออกมาเป็น แคสเตอร์กับพอลล็อกซ์

ด้วยความอื้อฉาวทั้งในเรื่องของการข่มขืนและฉากการร่วมประเวณีกับสัตว์ ตำนานเลดากับหงส์จึงมักถูกศิลปิน นักเขียน กวี และคนทำหนัง นำตำนานนี้กลับมาเล่าใหม่หรือนำเสนอผ่านมุมมองใหม่ หนึ่งในผลงานที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดก็คือบทกวี Leda and the Swan โดย วิลเลียม บัตเลอร์ ยีตส์ ที่ตีพิมพ์ในปี 1923 ที่นำตำนานโบราณมาพรรณนาเป็นฉากสุดสะเทือนใจ ทั้งการนำเสนอความรุนแรง และการนำเสนอสภาพจิตใจอันบอบช้ำของเลดา ไม่เพียงเท่านั้น ยีตส์ยังเชื่อมโยงตำนานเลดากับหงส์เข้ากับตำนานสงครามกรุงทรอย โดยเสนอว่า ความรุนแรงที่เกิดกับเลดานั้นคือจุดเริ่มต้นของสงครามที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปมากมายอย่างสงครามกรุงทรอย นั่นก็เพราะเฮเลนที่เกิดจากไข่ของเลดาคือเฮเลนแห่งทรอย ผู้เป็นชนวนเหตุของสงครามกรุงทรอยนั่นเอง ส่วนไคลเทมเนสตาผู้เป็นน้องสาวร่วมไข่กับเฮเลนก็ต้องประสบโศกนาฏกรรมอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากสงครามกรุงทรอย เมื่อสามีของเธอคือ อากาเมมนอน อาสาไปรบในสงคราม แล้วได้ทำการฆ่าลูกสาวของตัวเองเพื่อบูชายัญแก่เทพีแห่งการรบอย่างอาทีมิส

ในยุคของกระแสสตรีนิยม (Feminism) ตำนานเลดากับหงส์ก็ถูกศิลปินหญิงนำมาตีแผ่ในแง่มุมเรื่องการกระทำความรุนแรงต่อเพศหญิง หนึ่งในนั้นคือบทกวีในปี 1996 ของ บาร์บารา เบนท์ลีย์ ที่เล่าถึงบาดแผลทางจิตใจของเลดาหลังถูกข่มขืนซึ่งทำให้เธอเสียสติ เป็นต้น ซึ่งฉากหงส์ขาวและดำของเจนีในเอ็มวี Kill This Love ก็อาจสะท้อนถึงสภาพจิตใจของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงด้วย

Artemis
เทพีแห่งการลงทัณฑ์
 

อีกฉากหนึ่งในเอ็มวี Kill This Love ที่นำเสนอเทพีจากปกรณัมกรีกชัดเจนก็คือฉากของจีซูที่ปรากฏตัวขณะอยู่ในน้ำ โดยมีพระจันทร์ดวงโตลอยอยู่ด้านหลัง ซึ่งหญิงสาวกับพระจันทร์ก็เป็นโมทิฟที่ชัดเจนของเทพีแห่งดวงจันทร์และนายพรานอย่าง อาร์ทิมิส

อาร์ทิมิสเป็นหนึ่งในเทพเจ้าที่ประทับอยู่บนยอดเขาโอลิมปัส เธอเป็นเทพีแห่งการล่าสัตว์ ธรรมชาติ การกำเนิด และดวงจันทร์ โดยที่เธอมีน้องชายฝาแฝดเป็น อพอลโล เทพแห่งดวงอาทิตย์นั่นเอง สาเหตุที่ทำให้อาร์ทิมิสเป็นเทพีแห่งการกำเนิด เพราะทันทีที่เธอคลอดออกมาจากครรภ์มารดา เธอก็มาช่วยแม่ทำคลอดน้องชายด้วย ซึ่งสาเหตุที่ทำให้แม่ของเธอประสบปัญหาในการคลอด ก็เพราะ เฮรา เทพีเมียหลวงของซุส อิจฉาและหึงหวงที่ซุสไปมีอะไรกับแม่ของอาร์ทิมิสจนท้อง จึงได้สั่งห้ามไม่ให้ผืนดินใดก็ตามเป็นที่พักพิงและที่คลอดบุตร (สุดท้ายก็ได้มาคลอดบนเกาะลอยน้ำเล็ก ๆ)

ด้วยความที่ถูกคุกคามจากเมียหลวงของพ่อตั้งแต่อยู่ในท้อง  อาร์ทิมิสจึงกลายเป็นเทพีที่คอยปกป้องและช่วยเหลือเด็ก ๆ โดยเฉพาะเด็กสาว และด้วยความที่เธอฝังใจกับความลำบากที่แม่ต้องเผชิญเพราะความรักที่ต่อพาอ เมื่อโตขึ้นมา เธอได้ขอซุสผู้เป็นพ่อให้อนุญาตให้เธอคงพรหมจรรย์และครองตัวเป็นโสดตลอดไป เธอจึงกลายเป็นหนึ่งในเทพีไม่กี่องค์ที่ไม่มีคู่ครอง โดยซุสได้สั่งห้ามไม่ให้ อะโฟรไดที เทพีแห่งความรัก สำแดงพลังต่ออาร์ทิมิส

หนึ่งในเหตุการณ์ที่ทำให้อาร์ทิมิสกลายเป็นต้นแบบของหญิงแกร่ง ก็คือเหตุการณ์ที่เธอและเหล่าบริวารนางพรานสาวออกไปล่าสัตว์ในค่ำคืนหนึ่ง ระหว่างที่เธอและบริวารกำลังอาบน้ำในสระ ก็ปรากฏนายพรานที่ชื่อว่า แอ็คทีออน มาแอบดูเธออาบน้ำ เมื่ออาร์ทิมิสรู้ตัว เธอจึงสาปให้เขากลายร่างเป็นกวาง จนทำให้บรรดาหมาล่าเนื้อที่ติดตามเขาพากันรุมฉีกร่างของเขาทั้งเป็น ซึ่งฉากที่จีซูปรากฏตัวในน้ำโดยมีพระจันทร์เป็นฉากหลังก็อาจสะท้อนฉากแห่งการลงทัณฑ์นี้ก็เป็นได้

Amphitrite
เทพีแห่งท้องทะเลผู้มีชัยเหนือ ‘โพไซดอน’

ในฉากเปิดของเอ็มวี How You Like That เจนีปรากฏตัวในฉากที่ทำให้ดูเหมือนกับว่าเธอกำลังอยู่ในโลกใต้บาดาล เมื่อดูจากฉากและเนื้อเพลงที่กล่าวว่า “ฉันแหลกสลายลงต่อหน้าคุณ และกำลังจมลงสู่ก้นทะเลลึก” ก็ทำให้อนุมานได้ว่า ฉากนี้อาจเป็นการนำเสนอเทพีคนสำคัญแห่งท้องทะเลอย่าง แอมฟิไทรที ภรรยาของเทพเจ้าแห่งท้องสมุทร โพไซดอน ที่ลักพาตัวเธอมาอยู่ในโลกใต้บาดาลด้วยความไม่เต็มใจ

แอมฟิไทรทีเป็นพี่สาวคนโตสุดในบรรดาพี่น้องนางพราย 50 ตน เมื่อเทพเจ้าแห่งท้องทะเลอย่างโพไซดอนได้แสดงเจตจำนงที่จะแต่งงานกับเธอ แอมฟิไทรทีที่อยากครองตัวเป็นโสดและรักษาพรหมจรรย์ของตัวเองไว้ก็ได้หนีไปซ่อนตัวที่เทือกเขาแอตลาส ซึ่งโพไซดอนก็ได้ส่งสมุนแห่งท้องทะเลมากมายให้ไปพาตัวเธอกลับมา แต่สิ่งมีชีวิตแห่งท้องทะเลที่สามารถเกลี้ยกล่อมให้แอมฟิไททียอมกลับมาแต่งงานกับโพไซดอนได้ก็คือโลมา และเพื่อเป็นการตอบแทน โพไซดอนจึงได้สร้างกลุ่มดาวโลมาขึ้นมาบนท้องฟ้านับแต่นั้น

แม้ว่าโพไซดอนจะเป็นเจ้าแห่งท้องทะเล แต่กลายเป็นว่าผู้ที่ได้รับความเคารพยำเกรงของคนเดินทะเลกลับเป็นชายาอย่างแอมฟิไทรที เพราะเธอได้ให้กำเนิดสัตว์ทะเลมากมาย ตั้งแต่แมวน้ำ โลมา ไปจนถึงสัตว์ประหลาดแห่งท้องทะเลต่าง ๆ อีกทั้งเธอยังเป็นคนที่ให้กำเนิดคลื่นยักษ์ด้วย ชาวเรือจึงมักบูชาเธอเพื่อไม่ให้เธอกราดเกรี้ยวจนทำให้คลื่นลมในทะเลปั่นป่วน ด้วยบทบาทของเธอที่เชื่อมโยงกับชีวิตของชาวเรือ แอมฟิไทรทีจึงมักปรากฏตัวในงานศิลปะแบบเดี่ยว ๆ แบบไม่ต้องพึ่งพาบารมีของโพไซดอนอีกต่อไป

Themis
เทพีแห่งความยุติธรรม
 

ในเอ็มวี How You Like That ฉากที่จีซูดึงผ้าปิดตา โดยที่เบื้องหลังของเธอเป็นกำแพงที่ถูกทุบพังทลาย อาจอนุมานได้ว่าเทพีกรีกที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับฉากนี้ก็คือ ทีมิส หรือที่รู้จักกันในนามของ Lady Justice หรือเทพีแห่งความยุติธรรมนั่นเอง

ทีมิสเป็นหนึ่งในพี่น้องไททัน 12 ตนที่เกิดจากแม่พระธรณี ไกอา และ ยูเรนัส ผู้เป็นพ่อซึ่งเป็นผู้ครองผืนฟ้า โดยเธอยังเป็นชายาองค์ที่สองของซุสด้วย ทีมิสได้ชื่อว่าเป็นเทพีแห่งความยุติธรรม ความถูกต้อง และกฎหมาย ย้อนกลับไปในยุคกรีกโบราณ ผู้พิพากษาหรือผู้ตัดสินความขัดแย้งจะถูกเรียกว่า ‘themistopóloi’ ที่แปลว่า ข้ารับใช้ของทีมิส

ตามความเชื่อของชาวกรีกโบราณ กฎหมายไม่เพียงหมายถึงกฎข้อบังคับที่ประชาชนพึงปฏิบัติเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมความหมายถึงกฎแห่งธรรมชาติ กฎแห่งชีวิต รวมไปถึงกฎแห่งโชคชะตาหรือความเป็นไปของสรรพสิ่งด้วย ด้วยเหตุนี้ ที่ประทับของทีมิสจึงอยู่ที่วิหารเดลฟี อันเป็นวิหารศักดิ์สิทธิ์ที่ทั้งเทพ กษัตริย์ และฮีโร่ในตำนาน ต่างพากันมาขอคำพยากรณ์ ตามตำนานกรีกโบราณ ทีมิสจะรับคำพยากรณ์มาจากไกอาหรือพระแม่ธรณีผู้เป็นแม่ของเธอ ก่อนจะส่งต่อให้กับเทพีแห่งวิหารเดลฟี เพื่อนำไปบอกต่อคนอื่น ๆ ทีมิสเชื่อว่าการบอกคำพยากรณ์ของเธอคือการช่วยเหลือมนุษย์ โดยมีเหตุการณ์ในตำนานหลายครั้งที่ข้องเกี่ยวกับคำพยากรณ์ของเธอ หนึ่งในนั้นคือการบอกให้ ดีเคไลอัน (ลูกชายของโพรมีธีอุส ผู้สร้างมนุษย์ ซึ่งบางตำนานก็เชื่อมโยงดีเคไลอันกับโนอาห์) โยนกระดูกของแม่ไปด้านหลัง เพื่อให้กำเนิดมนุษยชาติใหม่ หลังจากที่ซุสได้สาปให้น้ำท่วมโลก

ทิมิสมักปรากฏในตราสัญลักษณ์หรือรูปปั้นหน้าศาลว่าความ โดยเธอมักถูกนำเสนอในรูปของผู้หญิงถือตาชั่ง ดาบ และมีผ้าปิดตา การนำเสนอทิมิสพร้อมผ้าปิดตาเพิ่งเริ่มมีในศตวรรษที่ 15 เท่านั้น ซึ่งผ้าปิดตาก็เป็นสัญลักษณ์ว่าเทพีแห่งความยุติธรรมจะอยู่ข้างความถูกต้องโดยไม่เลือกปฏิบัติตามชนชั้น เชื้อชาติ ฐานะ หรือรูปร่างหน้าตา

ไม่แน่ว่าฉากที่จีซูกระชากผ้าปิดตาออกนั้น อาจเป็นการถ่ายทอดความหมายเรื่องความยุติธรรมในแบบของเธอเอง กำแพงที่ปรากฏด้านหลังก็อาจเป็นการสื่อถึงวิหารเดลฟีที่กำลังถล่ม …อยู่กันดี ๆ ไม่ชอบ อยากให้แม่ร้าย แม่ก็จะร้ายให้ดู!

Persephone
เทพีแห่งฤดูกาล เมื่อเธอร้องไห้ โลกก็ต้องร้องไห้ไปกับเธอ

ในฉากต่อมาของเอ็มวี How You Like That เราจะเห็นโรเจ้โรใจมองขึ้นมาจากเบื้องล่าง สลับกับฉากที่เธอเอนกายลงบนพืชพรรณดอกไม้ ซึ่งสำหรับคนที่สนใจปกรณัมกรีก ฉากนี้จะทำให้นึกถึงใครอื่นไปไม่ได้ นอกจาก เพอร์เซโฟนี หนึ่งในเทพีที่ชีวิตรันทดที่สุดในตำนานกรีก และเป็นหนึ่งในตำนานกรีกที่มักถูกหยิบยกขึ้นมาอธิบายความรุนแรงที่เพศชายกระทำต่อเพศหญิง

เพอร์เซโฟนีเป็นธิดาของซุสและ ดีมีเทอร์ เทพีแห่งการเก็บเกี่ยวและพืชพรรณ ว่ากันว่าดีมีเทอร์รักลูกของเธอมาก และไม่เคยยอมให้ลูกห่างกาย เมื่อเทพเจ้าผู้ครองโลกแห่งความตายอย่างเฮเดสมาสู่ขอเพอร์เซโฟนีจากซุส ดีมีเทอร์ก็ขอร้องอ้อนวอนไม่ให้ซุสยกเพอร์เซโฟนีให้เฮเดส เพราะไม่อยากให้ลูกต้องแยกจากไปอยู่โลกเบื้องล่าง ด้วยเหตุนี้ เฮเดสจึงทำการลักพาตัวเพอร์เซโฟนีด้วยการแทรกตัวขึ้นมาจากผืนดินระหว่างที่เพอร์เซโฟนีกำลังเก็บดอกไม้ แล้วพาเธอลงไปสู่นครใต้พิภพ
.
เมื่อลูกสาวสุดที่รักหายตัวไป ดีมีเทอร์ผู้โศกเศร้าก็เที่ยวออกตามหาลูกสาวไปทั่วทุกหนแห่ง จนลืมทำให้พืชผลผลิบาน และก่อให้เกิดความอดอยากไปทั่วโลก ความเศร้าของเธอทำให้พระอาทิตย์เห็นใจ จนยอมเล่าเหตุการณ์ที่ตนเห็น ดีมีเทอร์ที่รู้ว่าเฮเดสจับตัวลูกสาวของเธอไปก็ได้ไปขอร้องให้ซุสช่วย ซุสที่ทนฟังเสียงความอดอยากทรมานของมนุษย์บนโลกไม่ไหวจึงได้สั่งให้เฮเดสปล่อยตัวเพอร์เซโฟนีเสีย

เฮเดสที่ไม่อยากปล่อยเพอร์เซโฟนีไป แต่ก็ไม่อาจขัดคำสั่งราชาแห่งเทพได้ ก็ได้การออกอุบายให้เพอร์เซโฟนีกินเมล็ดทับทิมจากต้นทับทิมที่ปลูกในนรก ด้วยความที่เธอได้กินอาหารของคนตายไปเสียแล้ว เพอร์เซโฟนีจึงไม่สามารถกลับขึ้นไปอยู่บนโลกได้ดังเดิม โดยทุก ๆ ปี เธอจะใช้เวลาสามเดือนอยู่ในโลกใต้พิภพ และใช้เวลาที่เหลือขึ้นไปอยู่กับดีมีเทอร์ผู้เป็นแม่ ตำนานของเพอร์เซโฟนีจึงเป็นตำนานที่ใช้อธิบายการหมุนเวียนเปลี่ยนผันของฤดูกาล โดยช่วงเวลาสามเดือนที่เพอร์เซโฟนีต้องจากดีมีเทอร์ไป โลกก็จะตกอยู่ในช่วงเวลาของฤดูหนาว อันเป็นช่วงเวลาอันแสนเศร้าที่ดีมีเทอร์ไม่สามารถให้กำเนิดพืชพรรณใด ๆ ได้นั่นเอง

ในบางวัฒนธรรมทางฝั่งตะวันตก เมื่อเด็กสาวเสียชีวิตโดยยังไม่ได้แต่งงาน ครอบครัวมักจะจัดให้ศพของเด็กสาวสวมชุดแต่งงาน แล้ววางร่างของเธอลงในโลงศพที่ประดับประดาด้วยดอกไม้ราวกับงานแต่ง เด็กสาวที่ตายไปโดยยังไม่ได้แต่งงานนี้มักถูกเรียกว่า ‘Bride of Hades’ หรือเจ้าสาวของเฮเดส ซึ่งในฉากที่โรเซ่นอนลงบนเตียงดอกไม้ ก็อาจอนุมานได้ว่าเธอกำลังกลายเป็นเจ้าสาวของฮาเดสนั่นเอง

Wings of Furies
ปีกแห่งความแค้น

อย่างที่กล่าวไปว่า แม้จะนำตำนานของเทพีหรือผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อมาใช้ แต่ด้วยการนำมาเล่าใหม่ในสไตล์ของ Blackpink ตำนานบทเก่าที่ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อก็มักกลายเป็นตำนานบทใหม่ที่ว่าด้วยผู้หญิงที่มีชัยเหนือผู้ชายด้วยการมูฟออน สะบัดบ็อบ รวมไปถึงกลับมาแก้แค้นพวกผู้ชายหลายใจให้เข็ดหลาบ!

หนึ่งในสัญลักษณ์ที่สะท้อนการกลับมาทวงแค้นของเหล่าผู้หญิงในตำนานก็คือการปรากฏตัวของหนึ่งในงานศิลปะกรีกที่มีชื่อเสียงที่สุดอย่างประติมากรรม Winged Victory of Samothrace ในเอ็มวี How You Like That นั่นเอง

Winged Victory of Samothrace เป็นงานประติมากรรมจากยุคเฮเลเนสติก (323 - 146 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ที่นำเสนอ ไนกี (Nike ยี่ห้อรองเท้านั่นแล) เทพีผู้เป็นสัญลักษณ์หรือบุคลาธิษฐานของ ‘ชัยชนะ’ โดยเธอมักปรากฏตัวเคียงข้าง อธีนา เทพีแห่งปัญญาและสงคราม

ถึงจะนำเสนอภาพของชัยชนะ แต่ Winged Victory of Samothrace ในเวอร์ชั่นของ Blackpink ก็หาใช่ชัยชนะแบบสวย ๆ พื้น ๆ เพราะแทนที่จะเป็นปีกสีขาวบริสุทธิ์ ปีกแห่งชัยชนะของ Blackpink กลับกลายเป็นปีกสีดำของ ฟิวรี เทพีแห่งการแก้แค้นผู้เป็นข้ารับใช้ของฮาเดสและเพอร์เซโฟนีในโลกใต้พิภพ ตามตำนานกรีก ฟิวรีมักปรากฏกายในรูปของพี่น้องสามสาวที่สวมชุดดำและมีปีก หน้าที่ของพวกเธอในนรกคือการลงโทษเหล่าผู้ก่อบาป โดยเฉพาะบาปแห่งการพูดปดหรือผิดคำสาบาน ในฉากท้าย ๆ ของเอ็มวี How You Like That ที่สี่สาวปรากฏตัวโดยมีปีกสีดำสยายอยู่เบื้องหลัง จึงอาจเป็นการสื่อนัยถึงการกลับมาท้วงแค้นของสาว ๆ โดยเฉพาะเหล่าผู้ชายที่โกหกผิดคำสัญญา… ‘Look up in the sky. There’s a bird. There’s a plane’ เมื่อเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า เทพีแห่งการล้างแค้นกำลังสยายปีกรอแล้ว! 

อ้างอิง

medium.com/

Graves, R. (2012). The Greek Myths:(Penguin Classics Deluxe Edition). Penguin.