The Commoner’s House สำรวจความซับซ้อนที่ซ่อนในความธรรมดากับศิลปะ 3 สไตล์ของ ‘ดุษฎี ฮันตระกูล’
ในโลกที่ใครต่อใครต่างบอกว่ามนุษย์คือสัตว์ประเสริฐผู้มีทั้งสมองและอำนาจมากว่าสิ่งอื่นใด เรามองเห็นแต่เพียงตัวเองและเพื่อนร่วมสปีชีส์ จนค่อยๆ ละเลยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของโลกใบนี้อย่างสิงสาราสัตว์ ต้นไม้ใบหญ้า และสรรพสิ่งนานา ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกครั้งทีเดียวที่การละเลยแง่มุมอันละเอียดอ่อนเหล่านี้ไม่เพียงส่งผลต่อพื้นที่ของมนุษย์เรากันเอง แต่ยังเป็นโดมิโนที่กระเทือนทั้งจักรวาลของสรรพสิ่ง
เหตุผลนี้เองที่เรามาเยือนบางกอก ซิตี้ ซิตี้ แกลลอรี่ อีกครั้งเพื่อเปิดตาที่สามรับรู้ความเป็นไปของโลกอย่างที่ควรจะเป็นผ่าน The Commoner’s House นิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ของศิลปินร่วมสมัยผู้สนุกกับการค้นหาวัสดุใหม่ๆ ในการสร้างผลงานอย่าง ‘ดุษฎี ฮันตระกูล’ โดยมี John Z.W. Tung ชาวสิงคโปร์ผู้ติดตามกระบวนการทำงานของดุษฎียาวนานกว่า 8 ปีเป็นภัณฑารักษ์
นิทรรศการครั้งแรกเมื่อปี 2562 อย่าง They Talk ดุษฎีเลือกใช้งานปั้นดินเป็นงานหลักในการจัดแสดงเพื่อทดลองความเป็นไปได้ของการสร้างผลงาน ในครั้งนี้ เขากลับมาพร้อมงานศิลปะ 3 แขนง ทั้งงานปั้น งานหล่อทองเหลือง และงานภาพถ่าย แต่ละงานดูเหมือนไม่มีอะไรเชื่อมกันแม้แต่น้อย แต่หากใช้สมาธิในห้องจัดแสดง ตาที่สามของเราจะค่อยๆ เห็นว่าผลงานต่างแขนงนี้มีที่มาที่ไป
“นิทรรศการครั้งนี้เกิดขึ้นจากการใช้ชีวิตธรรมดานี่แหละ”
ดุษฎีว่าอย่างนั้นทันทีที่เราผลักประตูห้องนิทรรศการเข้าไป แต่ชีวิตธรรมดาที่ดุษฎีว่านั้นเกิดขึ้นในช่วงการระบาดโควิด-19 ในช่วงแรกที่ทุกคนถูกจำกัดบริเวณ ในช่วงนั้นเองที่เขาเปลี่ยนไปอาศัยในบ้านของพ่อตาแม่ยาย บ้านที่ว่าเป็นบ้านในกรุงเทพที่มีสวนขนาดย่อม 100 ตารางวา
“ความที่เราทำงานศิลปะ เราต้องฝึกใช้สายตาและประสาทสัมผัสต่างๆ อยู่เสมอ เราจึงเริ่มไปหาว่าในสวนมันมีอะไรบ้าง”
ดุษฎีเริ่มต้นไล่ดูจากว่าต้นไม้ในสวนขนาดกลางๆ นี้มีต้นไม้ชนิดใดบ้าง ก่อนจะค่อยๆ เห็นเหล่าแมลงน้อยใหญ่ที่เกาะบนต้นไม้เหล่านั้น เขาเริ่มใช้ iPhone XR เครื่องประจำถ่ายรูปแมลงที่พบเห็น จากหนึ่งเป็นสอง จนเก็บภาพแมลงได้กว่า 30 ชนิด ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแมลงที่เขาเห็นและเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของแมลงทั้งโลกนี้เท่านั้น
“สิ่งที่เรารู้สึกอะเมซิ่งคือเราเห็นว่าจริงๆ แล้วมันมีชีวิตอีกหลายชีวิตมากกว่าที่ตาเปล่าเราจะเห็นได้นะ และเริ่มเห็นว่าในพื้นที่ของเมืองอย่างกรุงเทพที่เราเห็นแต่มนุษย์ ถ้าเราค่อยๆ เข้าไปมองต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เราจะเห็นว่าต้นไม้ต้นนี้มันเลี้ยงชีวิตเป็นแสน บางทีก็เป็นล้าน มันซัพพอร์ตกันเป็นเครือข่ายของอาหารเพื่อการมีชีวิตอยู่
“พอเราเข้าใจอะไรแบบนั้นมันก็ทำให้วิธีการมองและวิธีการใช้ชีวิตกว้างขึ้น มันทำให้เรามองเห็นอะไรบางอย่างที่สัมพันธ์กันนอกเหนือจากคนกับคน และไม่ใช่แค่เห็นแต่เราอาจจะต้องเริ่มให้คุณค่ากับมัน”
เป็นที่มาว่าเมื่อเดินเข้าไปในห้อง สุดสายตาของเราจึงคือภาพแมลงหลายชนิดที่เขาสะสมไว้ บางตัวเป็นแมลงที่เรารู้จักดี บางตัวเป็นแมลงชนิดใหม่ที่ไม่เคยเห็นที่ไหน ทั้งหมดนี้คือผลงานที่เขาเรียนว่า ‘Universe in a Garden’
ถัดจากภาพแมลงร้อยกว่าภาพตรงกำแพง เราจะเห็น People’s Sculpture งานประติมากรรมหล่อทองเหลือง 8 ชิ้น ที่วางเรียงกันตามแบบของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ แต่แต่ละชิ้นไม่ใช่ดาว บางชิ้นเป็นกระถางต้นไม้ บางชิ้นเป็นเป็นกรวยจราจร บ้างก็เป็นถังปูน จุดร่วมของแต่ละชิ้นคือทองเหลืองด้านนอก และเสาที่ตั้งขึ้นมา (ยกเว้นกรวยจราจร)
“มันก็เป็นสิ่งที่เราเห็นทั่วไปตามที่ห้ามจอด” ดุษฎีพูดถึงสิ่งประดิษฐ์ง่ายๆ ที่ชาวบ้านทำขึ้นเพื่อไม่ให้เหล่าเจ้าของรถทั้งหลายมาจอดรถกีดขวางทางเข้าออก
“เคยเห็นไหมที่เขาเอาปูนมาเทใส่กระถางต้นไม้แล้วเสียบท่อแป๊บ เราเห็นแล้วก็ชอบ รู้สึกว่ามันมีความเป็นประติมากรรมและมีความหมายชัดเจนอยู่ในพื้นที่ของมัน ความเป็นไปได้ของมันหลากหลายมาก แต่จุดร่วมมีแค่ 2 อย่าง คือเอาปูนมาเทแล้วเอาอะไรมาเสียบข้างบน สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งก็คือเป็นคนธรรมดาทำเอง มันเป็นสุนทรียะของคนธรรมดาที่เรารู้สึกว่ามันมีเสน่ห์
“ถ้าสังเกตดีๆ มันจะมีชีวิตอะไรบางอย่างที่ทำให้เราเห็นเวลากับร่างกาย ผ่านวัสดุที่ค่อยๆ ผุด้วยลมฝนหรือฉี่หมา เรามองเห็นว่าสิ่งนี้มันสร้างมานานแค่ไหน สักไม่กี่สิบปีได้มั้ย แล้วมันสามารถอ้างว่าพื้นที่สาธารณะที่มันวางอยู่เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลได้หรือเปล่า มันเป็นที่ของเราหรือเป็นที่ของใคร ใครเป็นเจ้าของ ใครไม่เป็นเจ้าของ”
จุดร่วมสำคัญของงานประติมากรรมเหล่านี้ก็คือทองเหลืองซึ่งดุษฎีชวนเราคิดว่ามันค่อนข้างจะเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับความเป็นไทยและศาสนาพุทธอย่างมาก นี่คืออีกการทดลองเปลี่ยนสภาพและความหมายของวัสดุ
ทันใดที่เรามองเห็นว่างานทองเหลืองหล่อตรงนี้เคยผูกพันกับศาสนาของไทยมากเท่าไหร่ หูของเราก็เริ่มได้ยินเสียงเคาะอะไรบางอย่างคล้ายเวลาพระจีนหรือพระทิเบตเคาะขันประกอบการสวดมนต์
“มันคือเสียงคนสับลาบ” ดุษฎีว่าอย่างนั้น
จริงๆ แล้วนอกจากผลงานศิลปะที่ตั้งเรียงรายตลอดห้องในนิทรรศการครั้งนี้ ดุษฎียังทำหนังสือลเล่มที่สองของเขาควบคู่กับงานไปด้วย นั่นคือ ‘12 Common House Geckos and a Butterfly’ ที่รวบรวมภาพถ่ายจิ้กจกและผีเสื้อบริเวณที่พักอาศัยของเขา เขาชี้ให้เราดูว่าจิ้งจกนั้นก็เป็นสัตว์ในเมืองเช่นกัน วิธีการหาอาหารของมันคือการไปอาศัยใกล้หลอดไฟ รอแมลงสักตัวบินผ่านเพื่อฉกเป็นอาหาร
“หลอดไฟตรงนี้มันก็คือพลังงาน การใช้ชีวิต และวิวัฒนาการของคนนะ แต่ตอนนี้มันวิวัฒนาการมาเป็นของที่มนุษย์และสัตว์ใช้ร่วมกัน ถ้าสังเกตในนิทรรศการมันก็จะมีขี้จิ้งจกอยู่เยอะมาก” ขี้จิ้งจกที่ว่ากระจายแปะติดที่ผลงานศิลปะแบบที่ 3 ซึ่งเป็นงานประติมากรรมที่มีรูปทรงแตกต่างหลากหลาย บางชิ้นกำลังหลับฝันถึงบางสิ่ง บางชิ้นมีดอกไม้หอมอย่างจำปีประดับอยู่ แต่บางชิ้นก็ลืมตาตื่นรู้
“จำนวนขี้จิ้งจกมันบ่งบอกถึงจำนวนแมลง เมื่อเห็นแมลง เราจะเห็นต้นไม้ เห็นดิน เห็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างแบคทีเรียบ้าง เชื้อราบ้างที่มันย่อยสลายแล้วก็ปรับสิ่งที่ย่อยสลายให้กลับมาเป็นอาหารอีกครั้งแล้วช่วยต้นไม้กับต้นไม้ติดต่อสัมพันธ์กัน ทั้งหมดนี้มาจากขี้ก้อนเดียวเท่านั้น” ดุษฎีบอกอย่างนั้นซึ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นที่เขาหยิบจับมาเล่าก็ล้วนเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้น เพียงแต่ว่าเราจะเห็นหรือไม่ก็เท่านั้น เช่นเดียวกับชื่อนิทรรศการ ‘The Commoner’s House’
.
“นี่คือบ้านของธรรมดา บ้านของคนชื่อธรรมดา ส่วนแมลงพวกนี้มันก็มีหน้าตาธรรมดาๆ แต่มันสามารถมีชีวิตรอดอยู่ท่ามกลางที่ที่เราอยู่ได้และอยู่มาก่อนคนต่างไม่รู้ตั้งกี่ร้อยล้านพันล้านปี เท่าๆ กับอายุจักรวาล มันจึงเป็นความซับซ้อนในความธรรมดา”
จะว่าไป ไม่ใช่เพียงงานนี้เท่านั้นที่เล่นกับประเด็นของเวลา พื้นที่ และชีวิต แต่มันแทรกอยู่ในผลงานของดุษฎีมาตลอด หนึ่งในสิ่งสำคัญที่ทำให้เขาสนใจในประเด็นนี้มากก็คงจะเป็นองค์ความรู้ด้านมานุษยวิทยาที่สั่งสมมาสมัยเรียนที่ต่างประเทศ
“เราได้เรียนกับอาจารย์ Anthony Seeger ผู้เขียนหนังสือ Why Suya Sing ซูย่าคือคนพื้นเมืองในป่าดงดิบของบราซิลที่ร้องเพลงทั้งวัน เพลงเขาบอกทุกอย่างเกี่ยวกับจักรวาลและชีวิตของเขา อาจารย์ก็เข้าไปเก็บบันทึกเพลงนานกว่า 1 ปี และทำลิขสิทธิ์ให้ด้วย
“ที่มันเจ๋งคือ 10 ปีผ่านไป อาจารย์ได้รับโทรศัพท์จากเผ่าซูย่าว่า เฮ้ย ยูต้องมาช่วยเรานะ มีพวกบุกรุกพื้นที่เข้ามาปลูกพวกไร่ข้าวโพดในป่า อาจารย์ก็บินไปเพื่อต่อรองนู่นนี่นั่น จนรัฐบาลของบราซิลยอมยกพื้นที่ส่วนใหญ่ให้เป็นของชนเผ่าซูย่า
“มานุษยวิทยาจึงทำให้เราเห็นเรื่องของพื้นที่และเวลาว่ามันมีอะไรมากกว่ารัตนโกสินทร์หรือสยาม มันทำให้เราเห็นว่าทำไมเราถึงเป็นเรา เพราะเราถูกสร้างสร้างจากวัฒนธรรม และจากสิ่งรอบตัว”