Spirulina Society ไม่ใช่แค่สาหร่าย... แต่คือการออกแบบการใช้ชีวิตเพื่อความยั่งยืน
อย่างที่หลาย ๆ คนทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมการผลิตอาหารคือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเป็นสาเหตุหลักของภาวะโลกร้อนมากที่สุดของโลก ดังนั้น จึงมีความพยายามจากทั้งนักวิจัยและนักโภชณาการจากทั่วสารทิศที่ต้องการจะคิดหาทางเลือกใหม่ ๆ ในการบริโภคที่ทั้งให้คุณประโยชน์ทางโภชณาการสูง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว โดยหนึ่งในอาหารที่ได้รับการยอมรับว่าตอบโจทย์ทั้งสองด้านอย่างครบถ้วนคือสาหร่ายสปิรูลิน่า สาหร่ายทรงพลังที่ทั้งองค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ต่างให้การยอมรับว่าเป็นแหล่งอาหารคุณภาพสูงที่ให้สารอาหารครบถ้วน ทั้งกากใย วิตามิน เกลือแร่ และโปรตีนในระดับใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์จริง ๆ อีกทั้งยังสามารถเพาะปลูกได้ง่าย ใช้พื้นที่น้อย ไม่ทิ้งขยะเศษอาหาร ไม่ต้องพึ่งพาระบบขนส่ง และยังใช้น้ำน้อยกว่าระบบฟาร์มทั่วไปถึงกว่า 200 เท่า เรียกได้ว่ามันเป็น ‘อาหารแห่งโลกอนาคต’ ที่แท้จริง
เยล-อัญญา เมืองโคตร คือหนึ่งในนักออกแบบที่สนใจทางเลือกการบริโภคที่ยั่งยืนของสาหร่ายสปิรูลิน่า โดยในช่วงที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทที่ Royal College of Art (RCA) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เธอก็ได้เริ่มต้นโปรเจกต์ ‘Spirulina Society’ ขึ้น เพื่อเป็นการนำงานออกแบบผลิตภัณฑ์เข้ามาสานต่อแนวคิดการเพาะปลูกสาหร่ายสปิรูลิน่าอย่างเป็นระบบ ดูสวยงาม มีสไตล์ และสามารถใช้งานได้จริงในวิถีชีวิตของคนเมืองที่มีพื้นที่ในการใช้ชีวิตน้อย โดยแทนที่จะใช้วัสดุอย่างพลาสติกที่ต้องอาศัยการขึ้นพิมพ์ต้นแบบเพื่อการผลิตในจำนวนมาก เธอเลือกใช้กระบวนการผลิตแบบ Digital Fabrication อย่าง 3D Printing ที่สามารถผลิตผลงานแต่ละชิ้นในจำนวนที่น้อยกว่าโดยไม่ต้องผลิตมามากเกินจนล้นความต้องการ
วัสดุที่เธอใช้ในผลิตภัณฑ์ทุก ๆ ชิ้นคือ Polylactic Acid หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า PLA พลาสติกชีวภาพจากแป้งข้าวโพดที่มีคุณสมบัติคงทนไม่ต่างจากพลาสติกปิโตรเลียมจริง ๆ โดยแม้ว่าจะมีหลายคนครหาว่า ความคล้ายคลึงจนแทบแยกไม่ออกจากพลาสติกทั่วไปของ PLA จะเข้ามารวนระบบการรีไซเคิลพลาสติกที่มีประสิทธิภาพอยู่แต่เดิมแล้ว แต่ความจริงแล้ว หาก PLA ถูกนำไปใช้ถูกที่ถูกทาง (และไม่ใช่การใช้แล้วทิ้งแบบ Single-Use) ก็เป็นวัสดุหมุนเวียนทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะนอกจากมันจะมีคุณสมบัติคงทนแทบไม่แตกต่างจากพลาสติกทั่วไปแล้ว มันยังสามารถย่อยสลายได้ด้วยการฝังกลบในโรงงานกำจัดที่อุณหภูมิประมาณ 60 องศา พร้อมจุลินทรีย์เฉพาะตัว รวมถึงยังสามารถนำเศษวัสดุมาใช้ผลิตเป็นเส้นใย 3D Printing เพื่อใช้ขึ้นรูปใหม่อีกครั้งได้ ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยจะยังไม่มีโรงงานที่สามารถทำงานในลักษณะดังกล่าวได้ แต่เยล-อัญญาก็ไม่ยอมแพ้ เธอเก็บรวบรวมเศษ PLA ที่ได้จากการทดลองผลิตในทุก ๆ ขั้นตอนและวางแผนจะนำเศษวัสดุเหล่านี้ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ด้วย
โดยในปัจจุบัน นอกจากชุดอุปกรณ์เพาะปลูกสาหร่ายสปิรูลิน่ารุ่นตั้งต้นที่เยล-อัญญาเปิดให้เข้าไปดาวน์โหลดไฟล์ 3D Printing ได้ฟรีในระบบ Open Source แบบไม่มีกั๊กแล้ว โปรเจกต์ Spirulina Society ยังตอบโจทย์วิถีชีวิตคนเมืองด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ 3D Printing จากวัสดุ PLA ออกมาอีกหลายชิ้น ทั้งแจกันและที่ใส่ปากกาดีไซน์เก๋หลากหลายรูปทรง โดยยังคงคอนเซ็ปต์ในการออกแบบที่พัฒนามาจากรูปทรงของเกลียวสาหร่ายสปิรูลิน่าเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกถึง 4 สีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น สีเหลือง น้ำเงิน ลาเต้ และสีใส ส่วนใครที่ได้ฟังสรรพคุณของสาหร่ายสปิรูลิน่าแล้วอยากได้อุปกรณ์เพาะเลี้ยงดีไซน์เก๋ (จนแทบดูไม่ต่างจากของตกแต่งบ้าน) มาใช้เองที่บ้านแบบไม่ต้องเหนื่อยก็คงอดใจรออีกสักนิด เพราะในอนาคต Spirulina Society จะกลับมาพร้อมกับเวิร์คช็อปสอนการเก็บเกี่ยวสาหร่ายสปิรูลิน่าแบบครบวงจร ใครที่สนใจการใช้ชีวิตแบบยั่งยืนก็อย่าลืมติดตามกันต่อด้วยนะ
ติดตาม Spirulina Society เพิ่มเติมได้ที่: spirulinasociety.company.site , spirulinasociety.org , Facebook , Instagram , Twitter