Creatures of Triloga : สำรวจไตรโลกา จักรวาลใหม่บนรากเดิมที่ชวนตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้สนุกๆ ของไตรภูมิ

Creatures of Triloga : สำรวจไตรโลกา จักรวาลใหม่บนรากเดิมที่ชวนตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้สนุกๆ ของไตรภูมิ

Creatures of Triloga : สำรวจไตรโลกา จักรวาลใหม่บนรากเดิมที่ชวนตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้สนุกๆ ของไตรภูมิ

น้ำที่เน่า คือน้ำที่ขังอยู่ในที่ๆ หนึ่ง ไร้การระบาย วัฒนธรรมก็เช่นกัน จะวัฒนะได้อย่างไรหากถูกเก็บไว้เฉยๆ ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที

นี่คงเป็นทั้งคำกล่าวต้อนรับและข้อสรุปของ Creatures of Triloga นิทรรศการที่เรามาเยือนในวันนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าให้คิดดีๆ ถ้าไม่ใช่นักเรียน นักศึกษา หรือนักวิชาการที่หลงใหลในวรรณคดีเก่า คนทั่วไปอย่างเราๆ ก็คงไม่ได้สนใจและอยากทำความรู้จัก ‘ไตรภูมิ’ วรรณคดีและคติความเชื่อ ที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมของไทยมานานแสนนานได้ ทั้งที่จริงแล้ว ภาพเขียนในวัด ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ กระทั่งหนังละครที่หยิบเอาสัตว์ป่าหิมพานต์มาเป็นตัวเอกก็อยู่ล้อมรอบเรามาโดยตลอด

Creatures of Triloga จากทีม Art of Triloga อันประกอบด้วยตัวตั้งตัวตีหลักอย่าง ‘ฮ่องเต้–กนต์ธร เตโชฬาร’ และทีมงานผู้สนใจในศิลปะและวัฒนธรรมอีก 18 คน คือนิทรรศการว่าด้วยจักรวาลไตรโลกาซึ่งกำเนิดขึ้นก่อนยุคประวัติศาสตร์ ณ จักรวาลแห่งนี้ มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่นำเอาเรื่องราวของจักรวาลมาบอกเล่า แต่ไม่ใช่เจ้าแห่งจักรวาลเช่นครุฑ ยักษ์ และราชสีห์ 4 เหล่า ที่ตั้งตระหง่านให้เราได้เชยชม

ความตั้งใจของฮ่องเต้และทีมงานคือการแสวงหาความสนุกและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของวรรณคดีเก่าที่หลายคนไม่คิดจะอยากอ่านอย่าง ‘ไตรภูมิ’ เพื่อให้สมบัติเก็บกรุที่คล้ายถูกปิดตายเป็นร้อยปีได้กลับมามีชีวิตและวัฒนะอยู่คู่กับสังคมได้ในทุกยุคทุกสมัย แต่จักรวาลแห่งนี้จะเป็นยังไง Creatures of Triloga พร้อมแล้วที่จะพาทุกคนเปิดประตูสู่จักรวาลอันยากจะลืม

นิทรรศการแห่งนี้ตั้งในห้องมืดสีดำคล้ายกับเอกภพที่เราคุ้นเคย ในห้องแห่งนี้เต็มไปด้วยงานศิลปะหลากหลายรูปแบบที่เล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตอันยิ่งใหญ่ของไตรโลกาที่ Art of Triloga หยิบเอาข้อมูลต่างๆ จากไตรภูมิมาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โบราณคดี และอีกหลายศาสตร์สาขา

ความน่าสนใจของนิทรรศการครั้งนี้คือทีมงานตั้งใจออกแบบให้สัตว์ทุกชนิดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เคยเกิดขึ้นจริงในยุคโบราณ หาใช่ตัวละครที่ปั้นแต่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้ว จักรวาลไตรโลกานั้นเคยเกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่แฟนตาซีกว่านี้มาก การเกิดขึ้นอีกครั้งของไตรโลกาในปีนี้จึงถือเป็นการเติบโตทางประสบการณ์และความรู้ของทีมงานเพื่อสร้างให้จักรวาลแห่งนี้เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ ความจับต้องได้ และความเป็นมนุษย์

เช่นว่าทีมงานหยิบเอาราชสีห์ 4 ตระกูลในไตรภูมิมาสร้างให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ก็จริง แต่ราชสีห์เหล่านั้นก็ไม่ได้สร้างขึ้นจากไตรภูมิล้วนๆ แต่มันถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงสัตว์โบราณที่มีอยู่จริงในโลกของเรา เพราะจากลักษณะที่ไตรภูมิอธิบายไว้ ‘ราชสีห์’ ของไทยหาได้เป็น ‘สิงโต’ ไม่ แต่คือราชาสัตว์ร้ายที่มีเขี้ยวพร้อมเขมือบ

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือในไตรภูมิกล่าวว่า ‘ติณราชสีห์นั้นมีขนาดเท่าแม่โค นิ้วเท้าเป็นกีบ’ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของแมวใหญ่อย่างสิงโตแม้แต่น้อย ทีมงาน Art of Triloga จึงสร้างติณราชสีห์ขึ้นโดยอิงจากสัตว์โบราณอย่าง ‘แดโอดอน’ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายหมูป่ายักษ์อันเป็นบรรพบุรุษของฮิปโป ก่อนจะนำมาผสมผสานกับสัตว์ในปัจจุบันอย่างหมูป่า ควายไบซัน และฮิปโป

หรืออย่างครุฑก็ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาแบบที่เราคุ้นเคยตามวัดวา กลับทำให้เรานึกถึงนกยักษ์จากยุคไดโนเสาร์มากกว่า หรือกระทั่งยักษ์ก็ไม่ได้วิเศษวิโสกว่ามนุษย์ในด้านใด เพียงแต่ตัวใหญ่ผิดแผกจากคนจริงๆ ไปมาก

เราอาจจะคิดว่ายักษ์ต้นสายของทศกัณฐ์ควรจะมี 10 หน้า 10 มือแบบที่เราคุ้นเคยและเรียนรู้กันมา แต่สำหรับ Art of Triloga ทศกัณฐ์ไม่ได้เก่งกาจเหนือมนุษย์ในลักษณะนั้น ทีมงานตีความให้ทศกัณฐ์ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่มาก แต่เปลี่ยนลักษณะ 10 หน้า 10 มือให้เป็นเครื่องแต่งกายและอาวุธนั้นมีหลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงว่ายักษ์ต้นสายตนนี้เก่งกาจในหลากหลายมิตินั่นเอง

ไฮไลต์ที่ใครมาก็น่าจะต้องแชะภาพและให้ความสนใจคือส่วนหน้าของนิทรรศการที่นำเสนอความตั้งใจของทีมงานพร้อมๆ กับห้องทำงานขนาดย่อมของฮ่องเต้ที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว และส่วนท้ายของนิทรรศการที่ชวนเราตั้งคำถามกับการมีอยู่ของวัฒนธรรมเก่าและความจำเป็นที่จะต้องให้ความเก่าเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตรของสังคม ข้อความเหล่านี้ไม่ได้มีเพื่อตั้งคำถามกับเพียงไตรภูมิเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับวัฒนธรรมต่างๆ ของสังคมไทยที่ถูกแช่แข็ง ห้ามแตะต้อง และห้ามตั้งคำถาม ทั้งที่จริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดในโลกที่อยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา

สำหรับเรา จักรวาลไตรโลกาจึงเหมาะนักกับทั้งคนที่หลงใหลในไตรภูมิอยู่แล้วและผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวรรณคดีเก่าเรื่องนี้เลย เพราะนี่คือจักรวาลแห่งความเป็นไปได้ที่ชวนให้ผู้หลงใหลในไตรภูมิได้มาสำรวจไตรภูมิในมุมใหม่และเห็นมุมมองในการนำเสนอวรรณคดีเก่าให้กลับมามีชีวิต ส่วนผู้ที่ไม่มีองค์ความรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับคติความเชื่อเหล่านี้เลยก็สนุกกับเรื่องราวและการตีความได้เช่นกัน

Creatures of Triloga
ห้อง Gallery ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ
16 กันยายน-20 พฤศจิกายน (ปิดวันจันทร์)
เวลา 10.30 - 19.00 น.