cerebrum_art.original ภาพคอลลาจบอกเล่าชีวิตผู้คนและทวยเทพ

cerebrum_art.original ภาพคอลลาจบอกเล่าชีวิตผู้คนและทวยเทพ

cerebrum_art.original ภาพคอลลาจบอกเล่าชีวิตผู้คนและทวยเทพ

ถ้าให้ลองสังเกตว่าตลอดช่วงชีวิต อะไรบ้างที่รายล้อมเราอยู่ในทุกจังหวะก้าวเดิน เราในฐานะนักเขียนคงตอบว่าหนังสือและดินสอนี่แหละ แต่ถ้าไปถาม ‘เมธัส แก้วดำ’ เจ้าของภาพคอลลาจประจำเพจ cerebrum_art.original เขาคงตอบว่า ‘ศิลปะ’

เมธัสเริ่มต้นเรียนศิลปะเพราะครอบครัวส่งเรียนพิเศษในวัยเด็ก แต่จุดสตาร์ทการเปิดเพจจริงๆ ปักหมุดอยู่ในช่วงปีที่ 2 ของการเรียนมหาวิทยาลัย เขาเล่าว่าวิชากราฟิกซึ่งเป็นวิชาบังคณะทำให้เขาได้กลับมาสนใจศิลปะอีกครั้ง ก่อนที่ปัจจุบันจะทำงานที่ยิ่งเกี่ยวข้องกับศิลปะเข้าไปใหญ่นั่นคือการเป็นผู้ช่วยศิลปินมัดร่างกาย หรือ shibari อย่าง ‘หญิง–ญาดา แก้วบุรี’ การทำงานร่วมกับศิลปินต่างศาสตร์ตรงนี้ยิ่งทำให้เขามีไอเดียดีๆ เกี่ยวกับประเด็นความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นไม่น้อย ที่สำคัญ สายตาของเขาก็เริ่มสอดส่องรายละเอียดเล็กน้อยที่แต่เดิมเคยมองข้ามไป

ภาพแรกๆ ที่เขาสร้างขึ้นเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่สถานการณ์การเมืองไทยกำลังครุกรุ่น เมธัสจึงเริ่มสร้างงานที่วิพากษ์รัฐบาล ความไม่เป็นธรรม และประชาธิปไตยลงในสตอรี่ไอจี

“สักวันภาพเหล่านั้นมันก็จะหายไป เพื่อนและรุ่นพี่ที่ชอบงานของผมก็บอกว่าอยากเห็นงานผมได้เติบโต ผมจึงกลับมาชั่งใจดูว่าเราพร้อมจะทำสิ่งนี้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิต พร้อมจริงจัง พร้อมจะบ้า พร้อมจะเติบโตไปกับมันหรือเปล่า และผมก็เห็นภาพตัวเองทำสิ่งนี้ในอนาคต มันจึงเกิด cerebrum_art.original ขึ้น” คอลเลกชั่นงานคอลลาจของเขาจึงค่อยๆ ทยอยปล่อยออกมา

“สิ่งที่ผมชอบที่สุดในงานศิลปะคือเรื่องราวและการเดินทางของมัน การคอลลาจมันคือการปะติดปะต่อภาพที่ต่างกัน มีที่มาต่างกัน และเรื่องราวที่ต่างกัน ให้มารวมกันจนเกิดเป็นเรื่องราวใหม่ๆ มันเหมือนผมกำลังสร้างเรื่องราวและการเดินทางใหม่ให้กับภาพ”

ประเด็นที่เมธัสมักหยิบเอามาเล่าในผลงานของเขามักเป็นประเด็นที่เกิดขึ้นในบริบทปัจจุบัน ผสมผสานเข้ากับเรื่องราวของเทพปกรณัม เทพนิยาย และนิทานพื้นบ้าน เพราะเขาบอกว่านี่คือเรื่องราวของผู้คน 

“ภาพของมนุษย์เป็นอย่างไร ภาพของทวยเทพจึงเป็นเช่นนั้น เพราะเทพคือมนุษย์ที่ไม่ต้องจ่ายภาษี ทำตามกฏหมาย หรือทำตามกฏเกณฑ์สังคม เทพเหล่านั้นจึงคือมนุษย์ที่มีอำนาจเหลือล้น มีการแสดงอารมณ์ที่มากกว่ามนุษย์ ทวยเทพจึงเป็นภาพแทนมนุษย์ในแบบที่สุดเหวี่ยงมากๆ” เขาอธิบาย

ว่าแต่เรื่องราวของผู้คนที่ปรากฏในงานของเขาจะเป็นยังไงบ้าง คำอธบายในภาพต่อๆ ไปมีคำตอบ

“นี่คือคอลเลกชั่นชุดล่าสุด ที่มาของงานชิ้นนี้คือความกลัว ผมอยากทำงานชิ้นนี้และโพสในเดือนตุลาคม เพราะมองว่าเดือนตุลาคมเป็นเดือนที่มีความสำคัญเกี่ยวกับคนตายเยอะ เช่น 6 ตุลาฯ วันฮาโลวีน ซึ่งเรามักจะมองว่าความตายมันน่ากลัว ผมเลยอยากมาชำแหละดูความกลัวว่าทำไมจึงรู้สึกกลัว"

"อย่างภาพสีหลืองชิ้นนี้ที่มีกระดูกสองตัว ภาพนี้จะพูดเรื่องตัวตนในร่างจิตและตัวตนในร่างจับต้องได้ เพราะเราต่างรับรู้ตัวตนทั้งสอง เราจึงมีความกลัวทั้งโลกจิตใจและโลกความเป็นจริง”

“ภาพสีชมพูที่มีกระดูกสองชิ้นกำลังมีอะไรกัน จะพูดถึงความต้องการ เพราะเราต้องการเราจึงเสพติดหรือผิดหวัง ภาพกระดูกที่มีเพศสัมพันธ์กันมันทำให้เห็นความต้องการแต่สุดท้ายแแล้วหากเรามองให้ดี ส่วนคอของกระดูกมันเชื่อมกัน ก็เหมือนว่าเรานั้นแหละกำลังมีเพศสัมพันธ์กับตัวเอง เพราะมีแต่เราที่จะตอบสนองความต้องการของตัวเอง” 


 

“นี่คือภาพของมนุษย์หลายคน มนุษย์แบบเติม s มันเป็นภาพกระดูกที่นั่งสมาธิอยู่คนเดียวพร้อมสัญลักษณ์มือที่แตกต่างกัน เหมือนกับที่เรามีร่างกายแยกจากผู้อื่น แต่ความรู้สึกยังรับรู้ว่ามีคนอยู่รอบๆ ผ่านการทำสัญลักษณ์มือที่หลากหลาย 

“เพราะมนุษย์มีสังคม สัญลักษณ์ตรงนี้จึงสื่อถึงการมีคนหลายแบบ หลายชนชั้น หลายนิสัยอยู่รอบตัวจนทำให้เรารู้สึกกลัวชนชั้น กลัวเหลื่อมล้ำ มันมีทุกสิ่งที่เรากลัวว่าเราจะกลายเป็นหรือไม่กลายเป็นอะไร”

ติดตาม cerebrum_art.original