Two in Row x Jentwo สำนักพิมพ์อิสระขนาดจิ๋วและนักวาดภาพประกอบตัวแจ๋วที่อยากเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในวงการหนังสือศิลปะ
'Two in Row' คือสำนักพิมพ์หนังสือศิลปะขนาดจิ๋วของสองเพื่อนซี้อย่าง ‘ฝน–ชาลิสา พริ้งสกุล’ และ ‘ไอซ์–อรอินทุ์ เดชสกุลฤทธิ์’ ทั้งคู่ร่วมเปิดร้านขายงานภาพประกอบและซีนกุ๊กกิ๊กมา 2-3 ปี แต่เพิ่งเปิดตัวในฐานะ Two in Row อย่างเป็นทางการไปหมาดๆ เมื่อต้นปีนี้เอง
ส่วน ‘Jentwo’ หรือ ‘เจินเจิน–เจนจิรา เตชกัมพู’ คือนักวาดภาพประกอบเจ้าของลายเส้นน่ารัก สีสันสดใส และเรื่องราวกวนโอ๊ยที่หลายคนอาจคุ้นเคยกันอยู่แล้ว เรื่องของเรื่องคือเจินเจินเป็นทั้งเพื่อนและนักวาดภาพประกอบที่ร่วมผลิตผลงานกับ Two in Row ของฝนและไอซ์ ทำไปทำมา ใน Bangkok Art Book Fair ปีนี้ ‘Two in Row x Jentwo’ จึงเกิดขึ้น
ความตั้งใจของทั้งสามคนคืออยากให้ศิลปะเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าเดิม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องราคาค่าใช้จ่าย แต่หมายรวมถึงสถานที่จัดงานที่ไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองเท่านั้น นอกจากนั้น พวกเขายังอยากสร้างพื้นที่ให้นักวาดทั้งหลายมีโอกาสในการสร้างงานอีกด้วย ‘Two in Row x Jentwo’ จึงไม่ได้มาเล่นๆ แต่มาพร้อมกับซีนและของกุ๊กกิ๊กน่ารัก ทั้งชวนจับจอง ชวนสร้างแพสชั่น และชวนให้หลายๆ คนลุกขึ้นมาทำซีนเป็นของตัวเองกันบ้าง
การรวมตัวของ Two in Row x Jentwo
ไอซ์และเจินเป็นเด็กกราฟิก ส่วนฝนเป็นเด็กเซรามิกที่มีความตลกในตัว ก่อนเกิด Two in row ทั้ง 3 คนทำอาร์ตบุ๊กมาวางขายที่งาน Bangkok Art Book Fair ด้วยกันอยู่แล้ว เรียกว่ามาขายในยุคตั้งไข่เพราะตอนนั้น Bangkok Art Book Fair เพิ่งเข้าสู่ปีที่ 2
“พอเราทำอาร์ตบุ๊กทุกปี เราก็เริ่มอยากทำจริงจังเป็นอาชีพเพราะน่าจะสนุกดีเลยไปชวนฝนที่ทำงานด้วยกันได้ค่อนข้างดีมาร่วมด้วย” ไอซ์เล่า ก่อนจะเสริมว่าเธอปิ๊งไอเดียการเปิดสำนักพิมพ์เล็กๆ ตั้งแต่เริ่มเรียนปีที่ 4
เพราะยังเป็นสำนักพิมพ์น้องใหม่ เกณฑ์การเลือกนักวาดภาพประกอบของฝนและไอซ์จึงมาจากคนรอบตัวที่ทำอาร์ตบุ๊กกันอยู่แล้ว ไม่ก็เลือกนักวาดที่มีเรื่องส่วนตัวที่อยากจะเล่า
“เราพยายามจะไม่ไปยุ่งกับเรื่องราวที่เขาอยากสื่อ เพียงแต่ช่วยทำให้งานของเขาแข็งแรงขึ้นเท่านั้น อย่างศิลปินบางคนเขาไม่เคยทำหนังสือภาพมาก่อน แต่มีภาพประกอบที่วาดเก็บไว้ เราก็มาช่วยออกแบบรูปเล่ม หรือทำให้คอนเซ็ปต์ของหนังสือมันชัดขึ้น ส่วนเจินเจินนั้นมีภาพชัดเจนในหัวอยู่แล้วเพราะเขาเคยทำอาร์ตบุ๊กมาหลายครั้ง เราก็แค่เข้ามาช่วยบางส่วน” ไอซ์อธิบาย
เพราะเป็นทั้งเพื่อนในชีวิตจริงและเพื่อนร่วมงานกันมาตลอด Bangkok Art Book Fair ปีนี้ เจินเจินจึงได้เข้ามาร่วมบูธด้วย กลายเป็น Two in Row x Jentwo นั่นเอง
อาร์ตบุ๊ก สำนักพิมพ์ ความสำคัญต่อวงการศิลปะ
แน่นอนว่าตั้งแต่เด็กจนโต เราต่างเคยอ่านหนังสือศิลปะกันมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะในรูปแบบของหนังสือนิทานเด็ก หนังสือภาพ หรือการ์ตูน แต่เมื่อโตขึ้น เราอาจไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าหนังสือภาพนั้นมีอยู่เพื่ออะไร
สำหรับไอซ์ที่เป็นตัวตั้งตัวตีของ Two in Row เธอคิดว่ามากกว่าความสวยงาม หนังสือภาพนั้นคือมิวเซียมขนาดย่อม
“พอพูดคำว่า ‘ศิลปะ’ มันดูเข้าถึงยากและดูอยู่แต่ในมิวเซียมเท่านั้น แต่พอมันเป็นหนังสือหรืออะไรก็ตามที่ราคาต่ำลง และพกพาไปได้ทุกที่ ศิลปะมันกลายเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม นอกจากนั้น มันยังส่งเสริมให้ศิลปินมีพื้นที่ในการเล่าสิ่งที่ตัวเองคิด สิ่งที่ตัวเองรู้สึกหรือสิ่งที่อยากทดลอง” ไอซ์บอก ก่อนที่เจินจะเสริมในมุมมองของศิลปิน
“เราเห็นด้วยกับไอซ์มาก เพราะส่วนใหญ่เราจะต้องทำงานตามความต้องการของลูกค้า การได้แบ่งเวลามาทำอาร์ตบุ๊กมันเหมือนการได้ทดลองโปรเจกต์ส่วนตัวที่ทำให้เราได้เห็นมุมมองใหม่ๆ มากขึ้น”
และในเหตุผลเดียวกันกับที่เจินประสบนี้เอง ไอซ์จึงมองว่าการมีอยู่ของสำนักพิมพ์อิสระขนาดย่อมจึงช่วยให้ศิลปินได้มีพื้นที่การทำงาน แถมคนทั่วไปก็เข้าถึงหนังสือศิลปะได้มากขึ้น
“ตอนแรกที่เราเริ่มทำงานตัวเอง เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าจะมีสำนักพิมพ์ไปทำไมในเมื่อเราก็ทำเองได้ แต่พอเริ่มทำงานมากขึ้นก็ได้เห็นว่าหน้าที่ของสำนักพิมพ์คือการช่วยศิลปินกระจายงาน ติดต่อลูกค้า คุยกับโรงพิมพ์ แถมพอยิ่งเป็นสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก เราก็สามารถปรับแต่งงานและทำอะไรยิบๆ ย่อยๆ ได้ง่ายโดยที่ยังควบคุมราคาไม่ให้สูงเกินไปได้”
อุดมคติ VS การอยู่รอดของสำนักพิมพ์
แม้สำนักพิมพ์ขนาดย่อมจะดูเหมือนไปได้ดี แต่ที่จริงแล้ว ทั้งไอซ์และฝนต่างก็ต้องแบกรับความเสี่ยงอะไรหลายอย่าง ยิ่งเป็นคนที่หลงใหลกับหนังสือภาพอยู่แล้ว ทั้งอยากให้ศิลปินได้พิมพ์งานดีๆ คนอ่านก็ได้เสพงานกันแบบไม่ต้องควักเลือดเนื้อตัวเองมาแลก Two in Row จึงต้องพยายามสร้างสมดุลระหว่างอุดมคติที่อยากไปให้ถึงและการอยู่รอดในสังคมที่ไม่มีต้นทุนทางศิลปะ
“ตอนเราเป็นนักวาด เราทำในสิ่งที่เราอยากทำ แล้วตอนที่ทำก็ยังเป็นเด็กเลยไม่ได้ใส่ใจเรื่องกำไรขนาดนั้น แต่พอเราหันมาทำสำนักพิมพ์ เราต้องคิดถึงความเป็นจริงมากขึ้น แต่ก็ต้องบาลานซ์ว่าจะทำธุรกิจแบบไหนให้ Two in Row ยังไม่เสียอุดมคติที่เราวางไว้” ไอซ์บอกปัญหา ก่อนที่ฝนจะขยายความอุดมคติที่ว่า
“เราอยากเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้กับนักวาดไทยได้สื่อสารงานของตัวเองออกไป อีกสิ่งคือเราอยากสนับสนุนให้คนทั่วไปทำซีนกันมากขึ้น ”
ส่วนเจินเจินที่เป็นที่รู้จักในฐานะนักวาดภาพประกอบก็ยิ่งเห็นด้วยกับ Two in Row เพราะซีนที่เธอทำขึ้นนี่แหละที่เป็นตัวเปิดประตูสู่วงการศิลปะ
“การทำซีนหรือหนังสือภาพของตัวเองมันทำให้เราได้ค้นหาตัวตนได้เร็วและหลากหลาย และมันก็เป็นช่องทางสำคัญที่ทำให้คนเห็นงานของเราด้วย”
เทศกาลหนังสือศิลปะในประเทศที่ศิลปะเป็นเรื่องธรรมดา
สำหรับคนไทย หนังสือศิลปะน่าจะเป็นเครื่องมือสุดนีชที่มีเพียงนักเรียนศิลปะเท่านั้นที่จะเข้าใจแต่ในฐานะสำนักพิมพ์และนักวาดเต็มตัวกลับบอกตรงกันว่าการที่หนังสือศิลปะยังคงกระจุกตัวอยู่ในวงแคบก็อาจเพราะศิลปะยังเป็นเรื่องพิเศษหรูหราในสังคมที่คนส่วนใหญ่ยังคงต้องก้มหน้าทำมาหากิน
“ไม่กี่เดือนก่อน เราได้ไปร่วมเทศกาลหนังสือศิลปะที่เยอรมันมา สิ่งที่เราเห็นคือเทศกาลของเขามันไม่ได้กระจุกตัวแค่ในเมืองใหญ่ แถมในแต่ละเดือนก็จัดกันถี่มากๆ งานที่นำมาขายก็หลากหลายสุดๆ เช่นหนังสือแนะนำสถานที่ท่องเที่ยว หรือหนังสือแนะนำพื้นที่อาบน้ำ” ฝนย้อนเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้พบ
“ความน่ารักอีกอย่างคือทุกคนทำอาร์ตบุ๊กกันเป็นเรื่องปกติ ไม่จำกัดแค่นักเรียนศิลปะหรือคนในวงการเท่านั้น บูธข้างๆ ที่เยอรมันเขาก็ทำอาร์ตบุ๊กเป็นงานอดิเรก ส่วนอีกคนก็เป็นอาจารย์ที่รวบรวมงานนักเรียนมาขาย” ไอซ์ยกตัวอย่าง
ทั้งหมดนี้ค่อยๆ เติบโตอย่างแข็งแรงเพราะสังคมให้ความสำคัญกับศิลปะชนิดที่เด็กๆ คุ้นชิ้นกับศิลปะกันอยู่แล้ว ทุกเมืองยังเต็มไปด้วยมิวเซียมและเวิร์กช็อปฟรีให้คนเข้าไปหาแรงบันดาลใจและทดลองอย่างหลากหลาย
ฝันที่อยากเห็นของวงการหนังสือศิลปะไทย
ย้อนกลับมายังไทยแลนด์กันบ้าง แม้คนไทยจะเริ่มเข้าถึงศิลปะได้มากขึ้น แต่ก็ยังคงเข้าถึงได้เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ การเข้าถึงศิลปะที่ไม่มากพอตรงนี้เองที่มีส่วนให้วงการหนังสือศิลปะไทยยังคงคึกคักน้อยกว่าในหลายๆ ประเทศ
ภาพฝันที่ทั้ง 3 คน อยากเห็นจึงไม่ใช่อะไรนอกเสียจากการสนับสนุนศิลปะจากภาครัฐ และการส่งเสริมให้มีเทศกาลหนังสือศิลปะในหลากหลายที่อย่างที่ Bangkok Art Book Fair จัดขึ้นทุกปี
“เราอยากให้ห้องสมุดแห่งชาติมีโซนหนังสือภาพบ้าง” เจินออกตัว
“เราอยากเห็นภาพที่คนทั่วไปสามารถเข้าถึงหนังสือศิลปะได้ง่ายๆ และทำกันเป็นปกติ และถ้าอุดมคติสุดๆ คืออยากให้มีห้องสมุดหนังสือภาพแบบที่เจินบอก เพราะบางทีเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเรากำลังหาหรือสนใจประเด็นเรื่องนี้ แต่พอเราอ่านและสัมผัสมัน เราถึงรู้ว่าเราสนใจมันนะ” ไอซ์เสริม
“ที่สำคัญคืออยากให้ทั้งสถานที่ทางศิลปะและงานหนังสือภาพศิลปะแบบนี้มันกระจายตัวไปต่างจังหวัด ไม่ใช่กระจกอยู่ที่กรุงเทพอย่างเดียว เพราะการที่คนได้เห็นหนังสือภาพผ่านทางออนไลน์กับเห็นและสัมผัสรูปเล่มจริงๆ ผลลัพธ์ของทั้งสองสิ่งนี้มันต่างกันอย่างใหญ่หลวง” ฝนทิ้งท้าย
Good Humour Folks – Jentwo
“เราหยิบมีมในอินเตอร์เน็ตมาตัดทอนให้เป็นภาพสไตล์ตัวเอง จากนั้นก็เอาแต่ละภาพมารวมกันและทำรูปเล่มคล้ายๆ แฟลชการ์ด"
“ส่วนอีกเซ็ตที่ทำขึ้นคืองานไดคัตที่เล่าคอนเซ็ปต์ Practice Makes Perfect ที่เป็นภาพคนกำลังเขียนอะไรบางอย่างซ้ำๆ กัน จากนั้นเราก็ใส่ไดอะแกรมข้างหลังให้ดูมีลูกเล่น ส่วนสติ๊กเกอร์ Shapen Your Skill คือภาพของคนที่อ่านหนังสือแล้วเชปหนังสือก็เคยจะค่อยๆ ไล่ระดับเป็นดินสอ สื่อว่ายิ่งอ่าน ยิ่งฉลาด หัวยิ่งแหลม”
Patchwork of emotions – Wunmoon
“เล่มนี้เป็นธีสิสของไอซ์เอง มันเป็นงานที่เล่าเรื่องราวส่วนตัวมากๆ เพราะมันเป็นเรื่องในช่วงที่เราดรอปเรียนจากโรคซึมเศร้า เราทำขึ้นมาเพราะคิดว่าถ้ามันมีสื่อที่คนสามารถมองแล้วรู้สึกว่าเหมือนที่ฉันเคยรู้สึกเลย มันก็คงทำให้คนรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง
“ในเล่มจะรวมเรื่องสั้นไว้ทั้งหมด 3 เรื่องโดยเราเปรียบอาการตอนที่เราเป็นซึมเศร้าว่ามันเหมือนคนที่อยู่บ้านกลางน้ำซึ่งทำให้เราเจออะไรหลายๆ อย่างที่คนทั่วไปไม่ได้ประสบ เช่น ถ้าคนอื่นฝนตก ก็อาจจะแค่รำคาญ แต่สำหรับเรามันคือน้ำท่วมแน่นอน สุดท้ายมันเลยเกิดเป็นพายุที่รุนแรงมาก
“ปกติเราจะไม่ได้ใส่ตัวอักษรในงานเท่าไหร่ แต่งานนี้จำเป็นต้องใส่ประกอบบ้างเพื่อให้คนเข้าใจสัญญะที่เราตั้งใจสื่อผ่านภาพ “
Peamojiiiii
“ฝนเป็นคนที่ในหัวคิดเราคิดอะไรแปลกๆ สัปดนนิดหน่อย เล่มนี้เลยเป็นเรื่องของไก่กับกบมันตีกัน ส่วนอีกโปรเจกต์ที่อยากดันให้ตัวเองกลับมาวาดรูปให้มากขึ้นเพื่อสื่อสารสิ่งที่อยู่ในหัวออกมาคือการเอาอิโมจิ 3 ตัวมาแปลงเป็นรูป เช่น ตอนนี้ก็จะมีโซ่ เจ้าสาว แล้วก็อูฐ”
Book of Magic Creatures – namsai_k
"ซีนนี้ได้รับแรงบันดาลใจตอนไปปีนเขาที่ดอยหลวงเชียงดาว น้ำใสลองจินตนาการถึงภูตและเหล่าแฟรี่ที่อาจจะหลบซ่อนจากสายตาเหล่ามนุษย์"
SS : Paradiso – sasi tee
“ซีนเล่มนี้เป็นจดหมายที่แสดงถึงความรักของศิลปินกับดอกกุหลาบที่เธอปลูก เป็นโฟโต้บุ๊กผสมผสานกับภาพประกอบ”
The Diary – Poom Winyoo
"หนังสือบันทึกเรื่องราวของสัตว์ประหลาดต่างๆ ที่พบพานกันระหว่างการเดินทาง โดยบางตัวนั้นเป็นมิตรและน่าคบหา ในขณะที่บางตัวนั้นร้ายกาจเกินกว่าจะอยู่ร่วมได้"
When Iuppiter falls in love with Luna – Ranuth Tong
“เนื้อหาของหนังสือจะเกี่ยวกับความรักและความหลงที่ต่างสร้างความสุขจนไม่อาจแยกแยะได้ว่าตัวลอยอยู่กลางอากาศแบบตอนนั่งเครื่องเล่นในสวนสนุกหรือล่องลอยในอวกาศจนขาดอากาศหายใจ”
BANGKOK ART BOOK FAIR ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ในวันที่ 25-27 พฤศจิกายนนี้