Georges Seurat ศิลปินผู้บุกเบิกศิลปะแบบ Neo-Expressionist
สิ่งที่ยิ่งใหญ่เกิดขึ้นได้จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่นำมารวมกัน
เชื่อว่าหลายคนคงเคยเห็นภาพสีสันสดใสซึ่งประกอบรวมขึ้นจากจุดสีเล็กๆ หลายจุดเหล่านี้กันมาบ้าง และก็คงจะอึ้งในความพยายามและความสามารถของศิลปินเจ้าของฝีแปรงอย่าง Georges Seurat ไม่น้อย
Georges Seurat ถือเป็นศิลปินผู้บุกเบิกขบวนการศิลปะแบบ Neo-Impressionism ที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ Pointillism หรือ Divisionism ในภาพของ Georges Seurat นั้นเน้นนำเสนอจุดเล็กๆ หรือเส้นสีที่ตัดกัน ซึ่งได้รับอิทธิพลจากทฤษฎีกึ่งวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสี ทั้งยังเป็นเทคนิคที่มีระเบียบแบบแผน เพื่อหลีกเลี่ยงความเป็นธรรมชาติและความโรแมนติกที่ศิลปินอิมเพรสชันนิสต์หลายคนหลงใหล
นอกจากนั้น เนื้อหาในภาพก็ยังนำเสนอความเป็นสมัยใหม่ผ่านการเติบโตของเมืองและเทคโนโลยี ความสัมพันธ์ของผู้คนกับเมืองและชนบท รวมถึงการแสดงภาพชนชั้นแรงงานในระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม แตกต่างจากภาพชนชั้นกลางและชนชั้นสูงที่มักปรากฏในศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ที่ดูมีเทคนิคการวาดคล้ายๆ กัน ไม่แปลกใจ หากเขาจะได้รับการขนานนามว่าเป็นศิลปินแนวหน้าของปารีสในสมัยนั้น
แม้เขาจะฝากผลงานไว้ไม่มากเพราะเสียชีวิตในวัยเพียง 31 ปีเท่านั้น แต่ผลงานของเขาก็มีอิทธิพลต่อวงการศิลปะมหาศาล ทั้งยังส่งผลต่อการสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปินหลายคน รวมถึงภาพ Sunday Afternoon on the Island of La Grand Jatte ก็ได้กลายเป็นไอคอนที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงจนปัจจุบัน
เนื่องในวันที่ 2 ธันวาคม คือวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 163 ปีของ Georges Seurat เราจึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักชีวิตของเขาผ่านภาพวาดสำคัญๆ กันแบบลงลึกระดับจุดสี
ภาพพอร์เทรตของ Aman-Jean กับความสำเร็จในวัย 23 ปี
Georges Seurat เกิดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 1859 เขาเป็นลูกคนสุดท้องของพ่อผู้เป็นปลัดอำเภอและแม่ที่มาจากครอบครัวร่ำรวยซึ่งผลิตช่างแกะสลักหลายคน ตั้งแต่เด็ก เขาได้รับการฝึกฝนศิลปะมาอย่างดีจากลุงของเขา Paul Haumonté ซึ่งเป็นพ่อค้าสิ่งทอและจิตรกรสมัครเล่น
นอกจากนั้น เขายังได้เข้าเรียนศิลปะในหลายสถาบัน ทั้งโรงเรียนสอนศิลปะของเทศบาลภายใต้การดูแลของประติมากร Justin Lequien หรือจะเป็น École des Beaux-Arts ซึ่งสอนโดย Henri Lehmann ลูกศิษย์ของศิลปินดังอย่าง Jean-Auguste-Dominique Ingres จากนั้น ยังได้ฝึกการวาดการจัดองค์ประกอบเป็นพิเศษ และการร่างแบบจากหุ่นจำลองที่ Academy ด้วย
เรียนหนักยังไม่พอ ศิลปินผู้กระหายศิลปะคนนี้ยังศึกษาศิลปะด้วยตัวเองในเวลาว่าง เดินชมพิพิธภัณฑ์และห้องสมุดทั่วปารีส รวมถึงขอคำแนะนำจากจิตรกร Pierre Puvis de Chavannes ซึ่งเชี่ยวชาญการวาดฉากคลาสสิกขนาดใหญ่เป็นพิเศษ
เรียกว่าเป็นศิลปินที่มีพื้นฐานครอบครัวดีและมีพื้นฐานศิลปะที่แข็งแรงมาก ไม่แปลกใจหากเขาในวัยเพียง 23 ปีจะได้จัดแสดงภาพที่ Paris Salon ในปี 1883 ภาพที่ว่าเป็นภาพวาดสีเอกรงค์ที่เขาวาดเพื่อนสนิท Aman-Jean ซึ่งแชร์สตูดิโอร่วมกันที่ปารีส นับได้ว่าเป็นหนึ่งในภาพวาดบุคคลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศตวรรษที่ 19 เลยทีเดียว
ในภาพนี้เขาเลือกใช้ดินสอสี conté อันเป็นเอกลักษณ์บนกระดาษ Michallet คุณภาพสูงทำให้ภาพดูส่องสว่างและโทนสีก็กลมกลืนกัน แถม Seurat ยังวางท่าทางของเพื่อนได้อย่างสมดุลและคลาสสิกจนภาพออกมาสวยงามเหนือกาลเวลา
ทฤษฎีสีและการหลุดพ้นจากความเข้มงวดทางศิลปะในภาพ Bathers at Asnières
หลังจากวาดภาพแบบโมโครมในช่วงแรก เขาก็เริ่มศึกษาทฤษฎีสีและศาสตร์แห่งทัศนศาสตร์จากหนังสือหลายเล่ม เล่มที่สำคัญสุดๆ คือ The Principles of Harmony and Contrast of Colours ของ Michel-Eugène Chevreul (1839) ซึ่งได้จุดไอเดียที่ว่าการใส่สีคู่ตรงข้ามเข้าด้วยกันสามารถสร้างความสว่างให้กับอีกสีหนึ่งได้
อีกเล่มคือ Modern Chromatics (1879) ของ Ogden N. Rood ซึ่งเสนอว่าศิลปินควรทดลองความเปรียบต่างของสีโดยวางจุดสีเล็กๆ ไว้ข้างๆ กันเพื่อดูว่าพวกมันถูกผสมด้วยตาอย่างไร
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น เขายังศึกษาเทคนิคการใช้พู่กันของจิตรกรแนวโรแมนติก Eugène Delacroix และยังได้เข้าชมนิทรรศการ Fourth Impressionist ซึ่งทำให้เขาอึ้งทึ่งกับงานศิลปะที่หลุดพ้นจากความเข้มงวดทั้งหลายของ Claude Monet และ Camille Pissarro ด้วย เมื่อโลกทัศน์ที่กว้างขึ้นของเขาผสานรวมกับไอเดียจากหนังสือที่อ่าน สมองของเขาเริ่มประมวลเทคนิคสำคัญขึ้นอย่างช้าๆ
ทฤษฎีแน่นแล้ว ถึงเวลาลงสนามจริง! The Bathers at Asnières (1884) ภาพกลุ่มคนงานกำลังพักผ่อนริมฝั่งแม่น้ำแซนในย่านชนชั้นแรงงานของกรุงปารีสซึ่งถือเป็นงานชิ้นสำคัญชิ้นแรกที่ทำให้คนตกตะลึง เพราะเขาแสดงภาพคนงานที่กำลังพักผ่อนในฤดูร้อนได้สมจริงมากๆ ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ศิลปินก่อนหน้าไม่ค่อยพูดถึง
แม้จะได้รับอิทธิพลสีที่อ่อนละมุนจากอิมเพรสชั่นนิสม์ แต่วิธีการวาดโครงร่างและการวาดคนคล้ายงานปั้นกลับแตกต่าง แสดงถึงพื้นฐานการฝึกฝนที่ได้จากงานนีโอคลาสสิก นอกจากนั้น ภาพนี้ยังถือเป็นความพยายามครั้งแรกของเขาในการประนีประนอมความคลาสสิกเข้ากับแนวทางสมัยใหม่กึ่งวิทยาศาสตร์ในเรื่องสีและรูปแบบด้วย
บางคนบอกว่าพวกเขาเห็นบทกวีในภาพวาดของฉัน แต่ฉันกลับเห็นเพียงวิทยาศาสตร์
ภาพไอคอนิกแห่งยุค Sunday Afternoon on the Island of La Grand Jatte
สองปีหลังจากภาพ The Bathers at Asnières ภาพสุดไอคอนิกของ Seurat อย่างบ่ายวันอาทิตย์บนเกาะ La Grande Jatte ก็เกิดขึ้น เกาะที่ว่าคือเกาะในแม่น้ำแซนที่ตั้งอยู่ในย่านชานเมือง Neuilly ของกรุงปารีสที่เขาไปเยือนหลายต่อหลายครั้งหลายครั้ง ทุกครั้งที่ไป เขาจะวาดภาพและสเก็ตช์สีน้ำมันกว่า 60 แบบเพื่อเตรียมวาดภาพเสร็จสมบูรณ์ภาพนี้ออกมา ในที่สุด ภาพชิ้นนี้ก็ออกสู่สายตาชาวโลก
ความโดดเด่นของภาพคือแทนที่เขาจะผสมสีเพื่อวาดภาพ เขากลับใช้จุดสีที่ตัดกันบนแคนวาสที่เขาเรียกว่า Chromoluminarism หรือในชื่อ Divisionism (การแยกสีเฉพาะที่ออกเป็นจุดต่างๆ) หรือ Pointillism (การลากเส้นสีเล็กๆ ) เมื่อมองจากระยะไกลก็จะทำให้ภาพดูระยิบระยับ
ไม่แปลกใจหากภาพนี้จะกลายเป็นภาพที่โด่งดังที่สุดในยุค 1880 และยังได้จัดแสดงที่นิทรรศการอิมเพรสชั่นนิสต์ครั้งที่ 8 ด้วย รวมถึงยังเป็นหนึ่งในภาพที่ทำให้ Félix Fénéon นักวิจารณ์ศิลปะคิดค้นคำว่า Neo-Impressionism เพื่อใช้เรียกงานของเขาและเพื่อนศิลปิน
นอกจากเทคนิคการวาดที่แปลกแตกต่างแล้ว การผสมผสานกันของผู้คนหลากหลายชนชั้นในภาพวาดยังทำให้เขาเป็นศิลปินต้นๆ ของศิลปะแบบ Neo-Impressionism ด้วย
The Channel of Gravelines, Petit Fort Philippe กับช่วงเวลารับราชการทหาร
ในช่วงฤดูร้อนปี 1887 เขาได้เข้ารับราชการทหารบนชายฝั่งนอร์มังดี ช่วงนี้เองที่ภาพวาดของเขาได้บันทึกภาพธรรมชาติไว้มากกว่าชีวิตของผู้คน หนึ่งในภาพที่ได้รับการพูดถึงคือ The Channel of Gravelines, Petit Fort Philippe ในปี 1890
ภาพเหล่านี้รวมถึงภาพนี้ยังคงสไตล์แบบ Pointillist ที่อาศัยความสามารถของดวงตาและจิตใจของผู้ชมในการผสมผสานจุดสีให้เป็นโทนสีที่สมบูรณ์ แต่จุดต่างๆ มักจะละเอียดกว่าและเว้นระยะห่างมากขึ้น ทำให้ภาพวาดดูเป็นธรรมชาติกว่าเดิม
‘ก็ความรักไม่ใช่ความลับ ถ้าอยากจะรักทำไมต้องปิด’ กับภาพ Young Woman Powdering Herself
ในปี 1889 Seurat เดินทางไปประเทศเบลเยียมเพื่อแสดงผลงานในกรุงบรัสเซลส์ แต่ไปหนึ่งดันได้ถึงสอง เพราะหลังกลับจากทริปนี้ เขาได้พบกับ Madeleine Knobloch นางแบบวัย 20 ปี และเริ่มใช้ชีวิตกับเธอแบบปิดๆ ทั้งคู่ยังมีลูกชายด้วยกัน 1 คนโดยที่เพื่อนและครอบครัวของเขาไม่รู้เรื่องมาก่อน
เป็นที่มาของภาพ Young Woman Powdering Herself ซึ่งเป็นภาพเหมือนของ Madeleine Knobloch เขาสร้างขึ้นเพื่อเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่แบบคลาสสิกของรูปปั้นกับความไร้สาระของศิลปะแบบโรโกโก ซึ่งภาพนี้ก็เกิดขึ้นหลังจากที่เขาเริ่มสนใจและคบค้ากับเพื่อนศิลปิน Symbolism แล้ว
The Circus กับการเป็นภาพวาดปิดฉากชีวิตศิลปิน
ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าภาพของ Seurat นั้นมักจะเป็นภาพตอนกลางวันเสียมากกว่า ทั้งยังเต็มไปด้วยความสงบ และความคลาสสิก Circus Sideshow ที่เขาวาดขึ้นเมื่อปี 1888 จึงดูแปลกใหม่มาก เพราะเป็นการวาดภาพขนาดเล็กและเป็นภาพวาดชีวิตกลางคืนครั้งแรกของเขา นำเสนอภาพของคณะละครสัตว์ที่เขามักจะเข้าชมเมื่อมีเวลาว่าง
The Circus ในปีต่อมา ก็เป็นภาพที่แปลกใหม่เช่นกันเพราะภาพนี้เป็นภาพที่แสดงการเคลื่อนไหว ต่างจากภาพก่อนๆ ที่มักจะดูนิ่งและมีการจัดองค์ประกอบภาพที่ซับซ้อน นอกจากนั้น ภาพนี้ยังมีต้นแบบเป็นโปสเตอร์โฆษณาอีกด้วย ไม่แปลกใจหากเขาจะได้รับคำชื่นชมจากเหล่าศิลปิน Surrealism ว่าเป็นคนนอกรีตและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
ดูแค่นี้ก็สวยแล้ว แต่เชื่อไหมว่าเขายังวาดภาพนี้ไม่เสร็จดีก็ต้องเสียชีวิตไปเสียก่อนจากโรคร้ายที่ไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แถม 2 สัปดาห์ต่อมา ลูกชายคนโตของเขาก็เสียไปด้วยอาการที่คล้ายกัน นอกจากนั้น ลูกคนที่สองซึ่ง Madeleine Knobloch ตั้งท้องอยู่ก็เสียชีวิตในที่สุด โดยที่ Knobloch นั้นได้รับภาพวาดบางส่วนของ Seurat เป็นมรดก แต่เธอก็ได้ตัดการติดต่อกับครอบครัวของเขาไป
แม้จิตรกรเอกคนนี้ของเราเสียชีวิตไปทั้งที่อายุเพียง 31 ปีเท่านั้น แต่เขาก็ทิ้งผลงานอันทรงอิทธิพลไว้จำนวนมาก เขาเป็นหนึ่งในศิลปินกลุ่มแรกๆ ที่ใช้ทฤษฎีสีอย่างเป็นระบบ ผลงานของเขายังมีผลต่อศิลปินหลายคนรวมถึงเพื่อนๆ ของเขาด้วย จนทำให้ศิลปะแบบ Neo-Impressionism ถูกบัญญัติขึ้น ทั้งหมดนี้เป็นเพราะความเชื่อของเขาที่ว่าจิตรกรสามารถใช้สีเพื่อสร้างความกลมกลืนและอารมณ์ในงานศิลปะได้ เช่นเดียวกับที่นักดนตรีใช้ความแตกต่างและความผันแปรเพื่อสร้างความกลมกลืนในดนตรี
theartstory
wikipedia