ถอดแรงบันดาลใจจากใบปิดหนังไทยในโปสเตอร์ ‘มนต์รักนักพากย์’ ย้อนวันวานสู่ยุคทองของศิลปะและหนังไทย

Post on 29 September

พอได้เห็นตัวอย่างเต็ม ๆ ของหนังเรื่อง ‘มนต์รักนักพากย์’ แล้ว เชื่อว่าหลายคนน่าจะรู้สึกตื่นเต้นและอยากดูเหมือนกันแน่นอน เพราะด้วยภาพบรรยากาศเมืองไทยยุค 60 (พ.ศ. 2503 - 2512) ที่น่าโหยหา กับเรื่องราวเบื้องหลังวงการนักพากย์ขายยายุคเก่าที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยสัมผัส ก็ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าไปอยู่ใน Wishlist ของทุกคนได้ไม่ยาก

ทว่าเมื่อเราพูดถึงวงการหนังไทยในยุค 60 นอกเหนือจากเหล่านักพากย์ขายยาแล้ว ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่อยู่คู่กับวงการภาพยนตร์ไทยมาอย่างช้านานไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ‘ใบปิด’ หรือ ‘โปสเตอร์หนังไทย’ ที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ จนเรียกได้ว่าแค่เห็นสไตล์การวาดและการใช้สี ก็บอกได้ทันทีว่านี่มันสไตล์โปสเตอร์หนังไทยยุคเก่าชัด ๆ ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง ‘มนต์รักนักพากย์’ เขาก็เก็บรายละเอียดส่วนนี้ไว้อย่างละเอียด และนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการทำโปสเตอร์หนังครั้งนี้เช่นกัน แถมยังได้อาจารย์บรรณหาร ไทธนบูรณ์ ศิลปินชั้นครู ผู้คร่ำหวอดในวงการวาดใบปิดภาพยนตร์ไทยตั้งแต่สมัยแรก ๆ มานำทีมขึ้นโครงวาดมือโปสเตอร์ครั้งนี้เองเลยด้วย

พอเห็นแบบนี้แล้ว GroundControl ก็เลยอยากจะชวนทุกคนมาร่วมกันแกะรอยและถอดรหัสใบปิดหนังไทยว่ามีความเป็นมาอย่างไรกันแบบสังเขป พร้อมส่องเรื่องการใช้เทคนิคและการวางองค์ประกอบภาพว่าเขามีวิธีคิดแบบไหน แล้วภาพยนตร์เรื่อง ‘มนต์รักนักพากย์’ เขานำสิ่งเหล่านั้นมาใช้อย่างไรบ้าง เพื่อเพิ่มความอินก่อนที่จะไปสนุกกันแบบเต็มอิ่มจริง ๆ ในวันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566 บน Netflix

ยุค 60 ยุคทองของวงการภาพยนตร์และใบปิดเขียนมือจากสีโปสเตอร์

ถ้าจะพูดถึงยุคทองของวงการภาพยนตร์ เชื่อว่าหลาย ๆ คนที่เคยเสพงานในยุคนั้นมาก่อนจะต้องนึกถึงภาพยนตร์เรื่อง อินทรีแดง อินทรีทอง และถิ่นผู้ดีกันเป็นแน่ ซึ่งผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นซูเปอร์สตาร์ของไทยในยุคนั้นย่อมเป็นใครไปไม่ได้นอกจากคู่ขวัญ มิตร ชัยบัญชา และ เพชรา เชาวราษฎร์ ผู้มาพร้อมกับทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ และแฟชั่นยุค 60 ที่จะเน้นหนักในเรื่องของลวดลายและสีสันสดใสแบบไม่มีใครยอมใคร

และถ้าเราลองมองกลับไปยังภาพโปสเตอร์ของภาพยนตร์ในยุคนั้น เราก็จะพบว่าเสน่ห์เหล่านั้นได้ถ่ายทอดมาถึงในโปสเตอร์หนังด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่นการแต่งกายของนักแสดง โทนสีที่เลือกใช้ รวมถึงการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ที่เน้นนักแสดงให้โดดเด่น เห็นแล้วรู้ได้ทันทีว่าหนังเรื่องนี้กำลังจะเล่าอะไรได้อย่างชัดเจน

ทว่าก่อนที่รูปแบบใบปิดจะกลายมาเป็นแบบนั้น ในช่วงเริ่มต้นของวงการภาพยนตร์ (พ.ศ.2501) บรรดาใบปิดภาพยนตร์จะบอกเพียงชื่อภาพยนตร์ ชื่อนักแสดง ฝ่ายผลิต กับคำโปรยโฆษณาเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ต่างจากในช่วงพ.ศ. 2510 เป็นต้นมาที่จะเริ่มเน้นความสนุกมากขึ้นและโฆษณากันจัดจ้านมากขึ้น เพราะดึงดูดใจคนดูได้มากกว่า ส่งผลให้เหล่าจิตรกรในวงการศิลปะในยุคนั้นรับงานเขียนใบปิดโฆษณากันอย่างคับคั่ง จนเกิดเป็นอาชีพที่อำนวยให้สามารถสร้างงานศิลปะได้อย่างราบรื่น

ซึ่งศิลปินนักเขียนใบปิดภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงมาก ๆ ในยุคนั้น ก็มีหลายคนมาก เช่น สมบูรณ์สุข นิยมศิริ (เปี๊ยก โปสเตอร์), ทองดี ภานุมาศ, พัชร์ อนรรฆวิบูล, วนะ บุญชู, บรรณหาร ไทธนบูรณ์, และ อนุวัต ฉายรัศมีวงศ์ เป็นต้น

สำหรับเทคนิคศิลปะที่เหล่านักเขียนใบปิดหนังเขาใช้กันก็คือสีโปสเตอร์ ที่ริเริ่มโดยบังเอิญจากอาจารย์เปี๊ยก หรือ เปี๊ยก โปสเตอร์ นักวาดใบปิดหนังวัยเก๋า ผู้ลองใช้สีโปสเตอร์เพื่อซ้อมมือแทนสีน้ำมัน แล้วก็ทดลองเขียนมาเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็พบทางออกว่าต้องคอยพ่นความชื้นบ่อย ๆ จึงจะสามารถเขียนสีโปสเตอร์ได้ง่ายขึ้นและสวยงาม จนในที่สุดก็กลายมาเป็นเทคนิคกระแสหลักที่ใคร ๆ ต่างก็ใช้เขียนใบปิดหนังในยุคนั้น

ซึ่งอาจารย์บรรณหาร ไทธนบูรณ์ ผู้นำทีมขึ้นโครงวาดโปสเตอร์ให้กับภาพยนตร์เรื่อง ‘มนต์รักนักพากย์’ เอง ก็เคยเล่าเรียนในโรงเรียน ‘เพาะศิลป์’ ที่อาจารย์เปี๊ยกเปิดสอนเช่นกัน อีกทั้งยังเป็นลูกศิษย์ที่ได้รับความไว้วางใจให้คอยช่วยงานและทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน จึงได้รับอิทธิพลวิธีการเขียนภาพใบปิดหนังทั้งหมดมาจากอาจารย์เปี๊ยกด้วย

อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงเรื่องเทคนิคการวาดและการใช้สีเท่านั้นที่ทำให้ใบปิดภาพยนตร์ในยุค 60 มีเอกลักษณ์ แต่ยังรวมไปถึงวิธีคิดเรื่องการจัดวางองค์ประกอบศิลป์ด้วยว่าควรเลือกใช้ตัวอักษรอย่างไร หรือโทนสีแบบไหนให้เข้ากับเนื้อเรื่อง เช่น ถ้าเป็นหนังสยองขวัญ ก็จะมาในโทนมืด แดง เทา และน้ำเงิน ผสมกันในภาพเดียว เพื่อเสริมความน่ากลัว หรือในยุคหลังที่ภาพยนตร์เริ่มแบ่งแนวทางกันชัดขึ้น ไม่ได้เน้นใส่ความสนุกให้ครบรสแบบเก่า การออกแบบสีต่าง ๆ ก็จะเริ่มโฟกัสความเป็นธีมมากขึ้นกว่าเดิม ไม่ผสมสีเยอะแบบเดิม

ซึ่งวิธีคิดและการออกแบบเหล่านี้ ก็สะท้อนให้เห็นถึงสภาพสังคมและเทรนด์การบริโภคของผู้คนในยุคนั้นได้ด้วย เพราะเมื่อเทียบกับใบปิดภาพยนตร์ในยุคเดียวกัน แต่ก็มีความต่างกัน อย่างฝั่งตะวันตกจะเน้นความสำคัญที่ตัวละครกับแก่นเรื่องเป็นหลัก ต่างจากไทยที่เน้นใส่มาให้เยอะ ๆ ไว้ก่อน จนไม่ค่อยเหลือพื้นที่ว่าง เรียกว่ามีอะไรในหนังบ้างก็ใส่มาให้มากที่สุดเพื่อเป็นจุดขาย เพราะคนไทยจะสนใจเรื่องความคุ้มค่า ความน่าดู ก่อนตัดสินใจกัน และการมีองค์ประกอบเยอะ ๆ แบบนี้ ก็เท่ากับหนังเรื่องนี้ลงทุนสูงและต้องออกมาดีแน่นอน

ในเวลาต่อมานอกเหนือจากเทคนิคการเขียนด้วยมือแล้ว ก็ยังมีการพัฒนาเทคนิคใหม่ ๆ เข้ามาใช้สร้างใบปิดด้วย เช่น การใส่ภาพถ่ายลงไป ใส่ภาพตัดปะลงไป หรืออื่น ๆ และเมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เติบโตมากขึ้น ต้นทุนถูกลง ก็ส่งผลให้ใบปิดแบบเขียนมือค่อย ๆ ซาความนิยมลงไป เหมือนกับตัวหนังกลางแปลง และเหล่านักพากย์ขายยาที่ต้องปรับตัว เพื่อรับมือกับยุคทองที่กำลังจะหมดไป

ถอดรหัสใบปิด ‘มนต์รักนักพากย์’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังระดับตำนาน ‘อินทรีทอง’

หลังจากรู้จักกับความเป็นมาของใบปิดหนังเก่า และเข้าใจองค์ประกอบศิลป์ของงานประเภทนี้แล้ว ก็มาถึงส่วนของใบปิดเรื่อง ‘มนต์รักนักพากย์’ ที่ทุกคนรอคอยว่าพวกเขาจะดึงเอกลักษณ์แบบไหนของใบปิดในยุค 60 มาใช้บ้าง

ดังที่เราได้บอกไปในตอนต้นว่า เทคนิคและศิลปะในการวาดใบปิดของยุคนั้น จะเน้นเรื่องการเขียนภาพด้วยมือ ใช้สีโปสเตอร์ รวมถึงเรื่ององค์ประกอบภาพก็ต้องคำนึงถึงตัวนักแสดงเป็นสำคัญ ต้องสอดแทรกฉากสำคัญ และฟอนต์ที่ใช้เขียนต้องสื่ออารมณ์เข้ากับเนื้อเรื่อง

และแน่นอนว่าใบปิด ‘มนต์รักนักพากย์’ จะเป็นโปสเตอร์หนังยุค 60 โดยสมบูรณ์ไม่ได้หากขาด ‘มิตร ชัยบัญชา’ นักแสดงผู้เป็นไอคอนิกแห่งยุค กับฉากโหนบันไดเฮลิคอปเตอร์บนท้องฟ้าในตำนาน รวมถึงเครื่องแต่งกายย้อนยุคอันน่าคิดถึง ที่ทำให้เราได้กลิ่นแรงบันดาลใจจากใบปิดของภาพยนตร์เรื่อง ‘อินทรีทอง’ ที่นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา ได้ชัดเจนมาก

เรียกได้ว่าใบปิด ‘มนต์รักนักพากย์’ นั้นมีคุณสมบัติของการเป็นใบปิดหนังยุคก่อนแบบครบถ้วน และเก็บทุกรายละเอียดของใบปิดอินทรีทองเอาไว้ได้อย่างดี ซึ่งถือว่าเป็นการทำให้เรามองเห็นภาพเลยว่า ถ้าได้เข้าไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากเราจะได้ดื่มด่ำไปกับเรื่องราวของเหล่านักพากย์ขายยากับการตระเวนฉายหนังกลางแปลงทั่วไทยแล้ว เราอาจจะได้เห็นดาราที่เป็นไอค่อนของยุค และภาพวงการบันเทิงยุครุ่งโรจน์อันน่าคิดถึงด้วยก็เป็นได้

สามารถติดตามชม ‘มนต์รักนักพากย์’ กันได้ ในวันพุธที่ 11 ตุลาคม 2566 บน Netflix

อ้างอิง

Sarakadee Magazine

Flim is all around