ในชั่วโมงนี้คงไม่มีประเด็นไหนที่จะทำให้โลกศิลปะเดือดไปได้มากกว่า ‘ศิลปิน VS AI’ อีกแล้ว เพราะถึงแม้ว่าเครื่องมือชิ้นนี้จะเพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาได้ไม่นาน แต่มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศของการสร้างงานศิลปะที่ถูกใช้เป็นวงกว้าง ซึ่งคุณประโยชน์ของงาน AI ที่ขึ้นชื่อเรื่องความรวดเร็วและการมอบชิ้นงานสวยสำเร็จรูปนั้น กลับมาพร้อมกับข้อกังขาจากเหล่าศิลปินหลายฝ่ายที่ออกมาแสดงความไม่พอใจ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่าบริษัท AI ‘ขโมย’ ผลงานของพวกเขาไปใช้ในการ ‘ฝึก’ โดยไม่ได้รับอนุญาต จนนำไปสู่การเตรียม ‘ฟ้องร้อง’ จากศิลปินในสหรัฐอเมริกา
จุดเริ่มต้นของการฟ้องร้องครั้งนี้มาจากกรณีที่ฐานข้อมูลของ Midjourney AI รั่วไหลออกมาเมื่อไม่กี่เดือนก่อน ข้อมูลเหล่านั้นแสดงให้เห็นว่ามีผลงานของศิลปินมากกว่า 16,000 คนทั่วโลก ถูกดึงไปใช้ในการฝึก AI โดยไม่ได้รับอนุญาตหรือจ่ายค่าตอบแทนใด ๆ มาก่อน ซึ่งผลงานของศิลปินชื่อดังที่ถูกดึงไปใช้ก็มีตั้งแต่ศิลปินที่ล่วงลับไปแล้วอย่าง ซัลวาดอร์ ดาลี และคีธ แฮริง ไปจนถึงศิลปินเบอร์ใหญ่ที่ยังมีชีวิตอยู่อย่าง, เดวิด ฮ็อคนีย์, เดเมียน เฮิร์สต์, เทรซี เอมิน, ยาโยอิ คุซามะ เป็นต้น ยังไม่รวมศิลปินตัวเล็กตัวน้อยอีกมากมาย และเมื่อได้เห็นหลักฐานเชิงประจักษ์แบบนี้แล้ว ศิลปินหลาย ๆ คนจึงตัดสินใจรวมตัวผนึกกำลังกันเพื่อหาทางออกอย่างเป็นธรรมให้กับตัวเอง
ล่าสุด ได้มีการเปิดเผยรายชื่อของศิลปินอเมริกา จากรัฐแคลิฟอร์เนียจำนวนสิบคน ที่ตัดสินใจยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อบริษัท AI อย่าง Midjourney, Stability AI, Runway AI และ DeviantArt แล้ว ซึ่ง แมทธิว บัตเทอริก หนึ่งในทนายความที่ดูแลเรื่องการฟ้องร้องครั้งนี้ยังออกมาเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า หลังจากข่าวการยื่นฟ้องนี้แพร่กระจายออกไป ก็ได้รับความสนใจจากศิลปินคนอื่น ๆ เพิ่มเติมเข้ามาอีกเหมือนกัน รวมถึงในฝั่งของประเทศอังกฤษด้วย โดยพวกเขาจะให้โอกาสทาง Midjourney ชี้แจ้งถึงวันที่ 8 กุมภาพันธ์นี้
อ้างอิงจากการทำงานของ Midjourney AI สิ่งที่ AI จะมอบให้กับผู้ใช้งาน คือหลังจากที่เราป้อนคำสั่งต่าง ๆ ลงไป มันก็จะทำการสร้างภาพในจินตนาการขึ้นมาให้ตรงกับสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ซึ่งศิลปินหลาย ๆ คนพบว่า ภาพที่ Midjourney สร้าง จะแตกต่างจากภาพต้นฉบับของศิลปินตัวจริงแค่นิดเดียวเท่านั้น จนไม่ต่างอะไรจากการลอกเลียนแบบ และที่สำคัญก็คือ Midjourney ยังสนับสนุนให้ผู้ใช้งานระบุลงไปได้ด้วยว่า อยากให้งานภาพที่ออกมามีสไตล์เหมือนศิลปินคนไหนได้อย่างอิสระอีกด้วย พวกเขาจึงจะใช้สิ่งนี้มาเป็นหนึ่งในหลักฐานตอนสู้บนชั้นศาล
ทิม แฟลช ประธานสมาคมช่างภาพและช่างภาพที่ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ ผู้เป็นหนึ่งในศิลปินจำนวน 16,000 ที่ถูกขโมยผลงานไป และสนับสนุนให้ศิลปินรวมตัวกันเพื่อทวงคืนความเป็นธรรม ก็ได้ออกมาประนามฟังก์ชันเหล่านี้ของ AI ว่า เป็นสิ่งที่ปล้นวิถีชีวิตของศิลปินไปอย่างสมบูรณ์ เพราะไม่เพียงขโมยผลงานเท่านั้น แต่ยังขโมยสไตล์การสร้างของแต่ละคนไปด้วย
ยังมี คริส ฟอส นักวาดภาพประกอบนิยายไซไฟชื่อดัง ที่เป็นหนึ่งในคนที่ถูก AI เลียนแบบเยอะสุด ๆ ก็ได้ออกมาให้ความเห็นเหมือนกันว่า “คนที่รู้จักงานของผมจริง ๆ จะจำได้ทันทีว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากผม” เขากล่าวหลังจากเห็นภาพสไตล์ ‘คริส ฟอสส์’ ในโลกออนไลน์เต็มไปหมด “พวกมันดูเรียบ ๆ และขาดความลึก” ทั้งนี้เขายังระบุอีกว่าเขามั่นใจว่าลูกค้าจะซื้อผลงานของเขาต่อไป และยอมรับว่าผลงานที่ AI เลียนแบบเขาไป ก็ได้จุดประกายจินตนาการบางอย่างให้เขาเหมือนกัน
ทางฝั่งสมาคมลิขสิทธิ์การออกแบบและศิลปิน (DACS) ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับประเด็นครั้งนี้ด้วยเช่นกัน โดยพวกเขาได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในหมู่ศิลปิน เพื่อหาแนวทางการแก้ไขที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่ายขึ้นมา จากผลสำรวจเผยให้เห็นว่ากว่า 89 เปอร์เซนต์ แนะนำให้รัฐบาลออกระเบียบการควบคุม ให้มีการออกใบอนุญาตที่คล้ายกับค่าลิขสิทธิ์ของ Spotify ก่อนนำผลงานไปใช้งาน
ไม่เพียงในหมู่ศิลปินเท่านั้นที่เตรียมดำเนินการฟ้องร้องบริษัท AI แต่บริษัทภาพสต็อกยักษ์ใหญ่อย่าง ‘Getty Images’ ก็ได้ดำเนินการทางกฎหมายกับ Stability AI แล้วเหมือนกัน รวมถึงคนนอกคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับดราม่าครั้งนี้อย่างเหล่านักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ก็พยายามหาแนวทางยับยั้งการเอาเปรียบจากบริษัท AI ด้วยการสร้างเครื่องมือที่จะขัดขวาง AI ไม่ให้ดูดภาพไปใช้งานได้ง่าย ๆ ด้วย
จะเห็นได้เลยว่า ณ ปัจจุบันนี้ การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับ AI ได้ดำเนินการในหลากหลายช่องทางมาก ๆ ทั้งทางกฎหมาย และการเอาเทคโนโลยีมาสู้กับเทคโนโลยี ซึ่งข้อโต้แย้งเหล่านี้ก็ได้สร้างความท้าทายต่อโลกศิลปะ ในการค้นหาสมดุลระหว่างการยอมรับเทคโนโลยี และการปกป้องสิทธิ์ในการสร้างสรรค์ของศิลปินแต่ละคนต่อไปในอนาคต