อันดับแรกคงต้องบอกก่อนเลยว่า ส่วนตัวแล้วไม่เคยกลัวการไปดูละครเวทีเรื่องไหนมาก่อนจนกระทั่งมาเจอกับ ‘PainKiller Test01’ ละครเวทีแบบมีส่วนร่วมที่เปิดพื้นที่ให้ผู้ชมสัมผัสและ 'ทดลองความเจ็บปวด’ ผ่านกิจกรรมในห้องเดียวกัน โดยมีฐานต่าง ๆ ที่ทางทีมงานออกแบบขึ้นมา เพื่อพาเราไปสัมผัสกับความเจ็บปวดในหลากหลายรูปแบบทั้งผ่านภาพ เสียง การอ่าน การกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า ไปจนถึงการชวนเราให้ลองสร้างความเจ็บปวดทางกายให้กับตัวเองดู
เหตุผลที่รู้สึกแบบนั้น เพราะสิ่งแรกที่รับรู้เกี่ยวกับการแสดงนี้ไม่ใช่เรื่องย่อของละคร แต่เป็นคำเตือนยาวประมาณหนึ่งหน้ากระดาษ ที่บอกเรากลาย ๆ ว่า “จงเตรียมพร้อมให้ดี ไม่ต้องกลัว แต่ห้ามลืมระวังตัวในการทดสอบนี้ด้วย” ดังนั้น ในฐานะคนใจเสาะคนหนึ่ง เราเลยถือวิสาสะนับความเจ็บปวดแรกของตัวเองไปแล้วตั้งแต่อ่านคำเตือนไปได้ครึ่งหน้า และขอกดเพิ่มอีกครั้งเมื่อเจอท่อนที่เตือนว่าจะมีเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้ารออยู่ด้านใน
แต่ก่อนที่ทุกคนจะเริ่มกลัวจนไม่กล้าไปดูละครเวทีเรื่องนี้ในอนาคต ก็ขอเฉลยไว้ก่อนเลยว่า จริง ๆ แล้ว PainKiller Test01 ไม่น่ากลัวเลย แต่ให้ความรู้สึกคล้ายกับกำลังเดินเข้าไปในฐานทดลองวิทยาศาสตร์ที่เปิดโอกาสให้เข้าไปลองอ่าน ลองรีเสิร์ช และลองสัมผัสความเจ็บด้วยตัวเองเงียบ ๆ มากกว่า หรือถ้าคุณเป็นคนที่คุยกับคนอื่นง่ายสักหน่อย มากับเพื่อนสักนิด ก็คงจะคอยเชียร์อัพกันและกัน และสนุกกับฐานบางฐานได้มันส์กว่าเดิมแน่นอน
แล้วความเจ็บปวดบอกอะไรเรา? ทำไมเราต้องเข้าใจความเจ็บปวด? ใน PainKiller Test01 ทุกคนจะได้เจอกับความเจ็บปวดหลายระดับ ผ่านเรื่องราวในหลายระนาบ ตั้งแต่ประสบการณ์ร่วมจากเรื่องใกล้ตัวอย่างการโดนผีอำ การโดนบูลลี่ การสูญเสียสัตว์เลี้ยง ไปจนถึงประสบการณ์บาดแผลทางการเมืองในประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งความเจ็บปวดจากการไม่ได้ลงมือทำอะไร ก็ถูกนำมาเปิดเผยในพื้นที่นี้เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเรื่องราวชวนเจ็บอันหลากหลาย สิ่งที่เรียกรีแอคชันจากผู้คน (ในรอบการแสดงที่เราเข้าร่วม) มากที่สุดกลับเป็นความเจ็บปวดทางกายที่เห็นได้ในทันทีผ่านเสียงกรี๊ด เสียงหัวเราะ และเสียงตีแรง ๆ
สำหรับเรา PainKiller Test01 จึงเหมือนกับพื้นที่ลองใจและตั้งคำถามกลาย ๆ ว่า นี่เราเก็บความรู้สึกเก่งหรือจริง ๆ แล้วกำลังชินชากับความเจ็บปวดมากเกินไปกันแน่ เพราะในขณะที่เราสามารถฟังเรื่องเศร้าได้ด้วยใจสงบ อ่านเรื่องรันทดได้แบบเฉยชา หลงลืมความโกรธแค้นบางอย่าง รวมถึงมองภาพเหตุการณ์เลวร้ายตรงหน้าได้ด้วยความเคยชิน แต่ทันทีที่เรารู้สึกเจ็บทางกาย เรากลับไม่คุ้นชินเสียยิ่งกว่าความเจ็บปวดทางใจเสียอีก .
ด้วยเหตุนี้ ในความรู้สึกของเรา ไฮไลต์ของ PainKiller Test01 ในวันนั้น คือจังหวะที่ได้สัมผัสกับความรู้สึกตื๊ด ๆ (ไม่เจ็บแต่ตกใจ) จากเครื่องกระตุ้นกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้า สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกกลัวมากที่สุดตั้งแต่ตอนต้นก่อนเริ่มการแสดง แต่ในท้ายที่สุด มันกลับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เราเข้าใจอะไรบางอย่างจากโชว์นี้ได้ดีที่สุด
สามารถติดตามรายละเอียดของโปรเจกต์ The PainKiller โดย ธงชัย พิมาพันธุ์ศรี และ ลภนภัทร ดวงพลอย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ที่เพจ The PainKiller
ขอบคุณภาพประกอบบทความจากเพจ Bacc หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร