(บทความนี้เขียนขึ้นก่อนที่ตอนสุดท้ายของ Nevertheless จะออกฉาย และมีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของซีรีส์)
‘อึดอัด’ คือคำที่เราได้ยินและได้เห็นบ่อย ๆ ในการอธิบายมวลความรู้สึกของผู้ชมที่ได้รับชมซีรีส์ ‘ไปดูผีเสื้อกันมั้ย?’ หรือ Nevertheless ซีรีส์โรแมนติกดราม่าแสนหน่วงหัวใจที่ว่าด้วยเรื่องราวความรักแสนขมของ ยูนาบี นักศึกษาคณะศิลปกรรมปีสุดท้าย ที่หลังจากสลัดความสัมพันธ์สุดท็อกซิกกับแฟนเก่าอายุมากกว่าที่เป็นศิลปินและอาจารย์สอนศิลปะมาได้ ก็ดันมาเจอกับความสัมพันธ์ ‘ไม่ต้องรู้ว่าเราคบกันแบบไหน’ กับ พัคแจออน เพื่อนร่วมคณะสุดหล่อที่มีนิสัย ‘ได้หมดถ้าสดชื่น’
ปมใหญ่ของซีรีส์เรื่องนี้คือการมุ่งสำรวจความสัมพันธ์แบบ Friends With Benefit ระหว่างยูนาบีและพัคแจออน รวมไปถึงความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สะท้อนผ่านตัวละครเพื่อนร่วมคณะ ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของเพื่อนที่ทลายด่านเฟรนด์โซน หรือการก้าวข้ามความกลัวในจิตใจของคนรักเพศเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ซีรีส์ดำเนินมาถึงตอนก่อนสุดท้าย และปมความสัมพันธ์ของทุกคู่ที่แวดล้อมพระนางได้คลี่คลายลงแล้ว แต่ปมความสัมพันธ์ของนาบีและแจออนกลับไม่ขยับไปไหน (ทั้งที่ถ้าคุยกันดี ๆ ก็น่าจะคลี่คลายไปได้ตั้งนานแล้ว แต่ก็อาจจะทำให้ซีรีส์เรื่องนี้จบได้ในห้าตอน) จนทำให้หลายคนที่ดูตอนล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้วบ่นว่าเพลียใจกับความสัมพันธ์ของสาวดอกไม้กับนายผีเสื้อเหลือเกิน
‘อึดอัด’ ก็เป็นความรู้สึกที่ผู้เขียนตกผลึกได้จากการดูซีรีส์เรื่องนี้เช่นเดียวกัน และเราก็เชื่อว่านั่นคือความพยายามของผู้สร้างที่ต้องการจะให้คนดูรู้สึกร่วมไปกับความสัมพันธ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของคู่พระนาง อย่างไรก็ตาม ความอึดอัดอีกแบบหนึ่งที่คนดู (โดยเฉพาะคนดูที่เป็นผู้หญิง) น่าจะได้รับจากการดูซีรีส์เรื่องนี้ ก็คือความอึดอัดในฐานะการเป็น ‘ผู้หญิง’ ในสังคมที่ฉากหน้าดูทันสมัยและขับเคลื่อนความเท่าเทียม แต่ความจริงแล้วก็ยังเต็มไปด้วยการกดขี่และการกำหนดตำแหน่งแห่งที่ว่าผู้หญิงสามารถทำอะไรหรือเป็นอะไรได้บ้างในสังคมนี้อยู่ดี ซึ่งสังคมเกาหลีก็อาจจะเป็นเช่นนั้น…
ในช่วงที่ข่าวการโต้กลับของกระแสเฟมินิสต์ในเกาหลีกำลังร้อนระอุ เมื่อกลุ่มต่อต้านการขับเคลื่อนสิทธิสตรีได้มีการล่ารายชื่อ (ที่ไม่ต่างอะไรกับการล่าแม่มด) ผู้หญิงที่ออกมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง รวมไปถึงก่อนหน้านี้ที่ไอดอลสาวถูกโจมตีเพราะอ่านหนังสือ ‘คิมจียอง เกิดปี 1982’ นวนิยายเกาหลีที่ตีแผ่ความลำบากของการเกิดเป็นผู้หญิงในสังคมเกาหลี ชะตากรรมของยูนาบีใน Nevertheless ก็ราวกับจะเป็นภาพขยายของความลำเค็ญในการเกิดเป็นผู้หญิงในสังคมเกาหลี
ในขณะที่แต่งการ์ตูนและผู้สร้างซีรีส์ได้สร้างโลกในอุดมคติสำหรับผู้หญิงที่มีฉากหลังเป็นคณะศิลปกรรมซึ่งอบอวลด้วยบรรยากาศแห่งเสรีภาพแห่งจินตนาการและความคิด ที่ซึ่งอาจารย์คะยั้นคะยอให้นักศึกษาออกไปใช้ชีวิตอย่างอิสระสมวัยหนุ่มสาวเพื่อค้นหาแรงบันดาลใจทางศิลปะ แถมเพื่อนสาวรอบตัวของนาบีก็สามารถพูดเรื่องเซ็กซ์ได้อย่างอิสระแบบไม่ต้องอายม้วน แต่ภายใต้ฉากหน้าของโลกที่ดูแสนเสรีสำหรับผู้หญิงนั้น เรากลับพบว่าในชีวิตประจำวันของนาบีต้องพบเจอกับการกดขี่ทางเพศและการเผชิญหน้ากับร่องรอยของความคิดชายเป็นใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมนี้ตลอดเวลา …ภายใต้ฟิลเตอร์ฟุ้งนวลอบอุ่นและภาพความสวยงามของกรุงโซล Nevertheless กลับสะท้อนเรื่องราวของผู้หญิงที่ยังคงต้องรับมือกับความไม่เท่าเทียมทางเพศในชีวิตประจำวัน โดยที่สิ่งเหล่านั้นถูกกลบซ่อนไว้ด้วยฟิลเตอร์ฟุ้งฝัน ราวกับจะเป็นการสะท้อนภาพความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมเกาหลีที่ถูกฉาบไว้ใต้ภาพแฟนตาซีซึ่งสะท้อนผ่านสื่อบันเทิงที่เราเสพกันจนคุ้นชิน
เมื่อมองเผิน ๆ Nevertheless ดูเหมือนจะเป็นซีรีส์ที่มุ่งนำเสนอ ‘เรื่องราว’ ชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่เรากลับพบว่าเรื่องราวของเธอแทบไม่เคยเป็นของเธอแต่เพียงผู้เดียว แต่ต้องไปผูกเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้ชายคนอื่น จนอาจเรียกได้ว่ายูนาบีแทบจะมีชีวิตผ่านเรื่องราวของผู้ชายคนอื่น ๆ ในตอนแรก เธอเป็นเพียงจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในภาพอันยิ่งใหญ่ของแฟนเก่า ในฉากเปิดเรื่องที่นาบีพบว่าตัวเธอถูกนำไปสร้างเป็นผลงานประติมากรรมสุดอื้อฉาวของแฟนเก่าผู้เป็นศิลปิน นาบีไม่เพียงต้องพบกับความอับอายโดยที่เธอไม่ทันได้ตั้งตัว แต่ผลงานศิลปะที่ไม่ได้รับความยินยอมจากนาบีนี้ยังสะท้อนถึงการ ‘ฉกฉวย’ อัตลักษณ์และตัวตนของคนคนหนึ่งเพื่อไปสร้างตัวตน (ในฐานะศิลปิน) ของคนอีกคน ยิ่งไปกว่านั้น งานศิลปะที่ไม่ได้รับการยินยอม (consent) จากนาบีชิ้นนี้ยังสะท้อนถึงการลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ผ่านกระบวนการ ‘มอง’ จากสายตาของผู้ชาย (male gaze) ในที่นี้ ตัวตนของนาบีที่ถูกนำเสนอผ่านสายตาของแฟนเก่าได้กลายเป็นเพียงวัตถุทางเพศที่ตัดขาดและปราศจากตัวตนด้านอื่น ๆ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง การใช้ชื่อผลงานว่า ‘นาบี’ ยิ่งเป็นการส่งสารถึงคนที่มาดูงานว่า หญิงสาวที่ชื่อนาบีที่ถูกถ่ายทอดผ่านสายตาของศิลปินนี้ คือตัวตนทั้งหมดของเธอแล้ว เธอไม่ได้มีชีวิตหรือความซับซ้อนไปมากกว่านั้น
สายตาของแฟนเก่าที่ไม่ได้ยอมรับนาบีในฐานะมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน สอดคล้องกับสถานการณ์ที่นาบีต้องเจอในสังคมที่แวดล้อมเธออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เรื่องราวชีวิตรักของเธอไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัว มันกลายเป็นหัวข้อในการพูดคุยที่เพื่อนในคณะของเธอสามารถหยิบยกขึ้นมาพูดคุยกันได้อย่างอิสระและสนุกปาก ราวกับว่าชีวิตของเธอเป็นเรื่องสาธารณะ ไม่ใช่เรื่องราวในชีวิตของปัจเจกชนคนหนึ่งที่มีความซับซ้อนและมีสิทธิ์ที่จะมีความเป็นส่วนตัว ฉากที่รุ่นน้องผู้ชายที่ถามนาบีขึ้นมาด้วยท่าทางสบาย ๆ ว่าเธอกับแจออนเป็นอะไรกัน โดยไม่แม้แต่จะเอะใจว่าเป็นเรื่องสมควรหรือไม่ หรืออีกฝ่ายสบายใจที่จะตอบหรือเปล่า สะท้อนให้เห็นว่าชีวิตของผู้หญิงในสังคมนี้ก็อาจเป็นแค่ ‘เรื่องโจ๊ก’ หรือหัวข้อสนทนาที่ทุกคนมีสิทธิ์ออกความเห็น แม้จะเป็นฉากเล็ก ๆ แต่ก็สะท้อนภาพในประเด็นใหญ่ที่ผู้หญิงไม่ได้ถูกให้คุณค่าหรือความเคารพในฐานะมนุษย์ที่มีมิติชีวิตที่ซับซ้อนและมีพื้นที่ส่วนตัว แต่ชีวิตของผู้หญิงและทุกการเลือกตัดสินใจของเธอสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกตรวจสอบโดยคนในสังคมได้ตลอดเวลา
แม้ในพื้นที่ของศิลปะที่ดูภายนอกแล้วดูเหมือนจะเป็นพื้นที่ของการให้อิสระทางความคิด แต่ก็เป็นเพียงฉากหน้าที่ดูสวยหรูเท่านั้น ตัวละครสำคัญตัวหนึ่งในซีรีส์เรื่องนี้ที่อาจไม่ได้มีบทบาทมาก แต่เป็นตัวละครที่ทำหน้าที่ขับเน้นประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศได้เป็นอย่างดี ก็คือตัวละครอาจารย์หญิงผู้สอนศิลปะที่พร่ำบอกให้นักเรียนออกไปหา ‘แรงบันดาลใจ’ และคอยกระตุ้นให้คนหนุ่มสาวออกไปมีความรัก แต่ในฉากที่เธอเข้ามาคุยกับนาบีในห้องเรียนศิลปะ เธอกลับบอกให้นาบีคิดตริตรองและเลือกตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ในชีวิตให้ดี ซึ่งที่จริงแล้วเป็นการกล่าวเตือนเป็นนัย ๆ ถึงความสัมพันธ์ระหว่างนาบีกับแจออน โดยอาจารย์สาวยังกล่าวต่ออีกว่า เราอาจคิดว่าสิ่งที่เราทำในตอนนี้จะไม่มีผลในอนาคต แต่ที่จริงแล้วสังคมไม่ได้เป็นแบบนั้น ฉากนี้สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากของการเกิดเป็นผู้หญิงในสังคมที่ไม่เท่าเทียม โดยเฉพาะในเรื่องความสัมพันธ์หนุ่มสาว การที่อาจารย์มาเตือนนาบี ไม่ใช่แจออน ก็ราวกับจะเป็นการบอกว่า เมื่อเกิดความผิดพลาด ผู้หญิงมักเป็นฝ่ายที่ได้รับความเสียหายมากกว่าผู้ชาย ซึ่งเมื่อคำเตือนนี้ออกมาจากปากอาจารย์หญิงที่คอยกระตุ้นให้นักเรียนหาแรงบันดาลใจผ่านการใช้ชีวิตอย่างอิสระ มันก็ยิ่งเป็นการขับเน้นภาพของสังคมที่เท่าเทียมแค่ฉากหน้า และการที่อาจารย์หญิงตระหนักดีและถึงกับมาเตือนนาบี ก็สะท้อนให้เห็นว่า การจะอยู่รอดในสังคมนี้ได้ ผู้หญิงก็ต้องเล่นไปตามบทบาทและความคาดหวังของสังคมเหมือนกัน
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าตอนจบของ Nevertheless ในคืนนี้จะเป็นอย่างไร ความสำคัญก็อาจจะไม่ได้อยู่ที่ว่านาบีเลือกใครแล้วก็ได้ เพราะไม่ว่านาบีจะเลือกใคร เธอก็ยังคงต้องอยู่ในสังคมนี้ต่อไป… สังคมที่ใคร ๆ ต่างพร่ำบอกว่าเป็นสังคมสมัยใหม่ที่ชายหญิงเท่าเทียม แต่ถึงอย่างนั้น… เราเท่าเทียมกันจริงหรือ? หรือเราอยากเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น? เหมือนกับที่แจออนบอกกับนาบีว่า เธอเป็นผู้ควบคุมความสัมพันธ์ครั้งนี้ แต่ใช่จริงหรือ? ผู้หญิงในสังคมนี้สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้อย่างอิสระจริงหรือ? หรือว่าแท้จริงแล้ว เรา (ผู้หญิง) ถูกทำให้เชื่อว่าสามารถเลือกและกำหนดชีวิตตัวเองได้ แต่ที่จริงแล้วเราแค่สามารถเลือกได้ในช้อยส์หรือข้อจำกัดที่วางมาแล้วเท่านั้น? เหมือนที่แจออนบอกว่านาบีเป็นผู้กำหนดความสัมพันธ์ แต่ทำไมเธอกลับไม่มีความสุขในความสัมพันธ์ครั้งนี้? เหมือนกับที่ผีเสื้อ (นาบี) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของจิตวิญญาณอันเป็นอิสระและการหลุดจากพันธนาการ แต่ในเรื่องนี้กลับมีอิสระได้แค่ในพื้นที่เรือนกระจกของแจออนเท่านั้น
อ้างอิง : Butterfly Lore,
[Newsmaker] Anti-feminism website singled out celebs, lists RM from BTS as ‘verified feminist’ ,
Mulvey, Laura (Autumn 1975). "Visual pleasure and narrative cinema". Screen. 16 (3): 6–18. doi:10.1093/screen/16.3.6.