พื้นที่ว่าง แสงเงาทอดยาวตัดกัน และใบหน้าผู้คนอันไร้ชีวิตชีวา ส่วนผสมที่ลงตัวท่ามกลางความเปลี่ยวเหงาบนผืนผ้าใบของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper) ศิลปินชาวอเมริกันสาย American Realism ในตำนาน ได้กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เหล่านักสร้างหนังมากมายทั้งในแง่ของการวางระยะตื้นลึกของภาพ การออกแบบแสงเงา งานด้านฉาก การใช้คู่สีที่ดูแปลกประหลาด การจำลองภาพวาดมาไว้ในภาพยนตร์แบบเหมือนเป๊ะด้วยเช่นกัน รวมถึงความรู้สึกนึกคิดของตัวละครที่กัดกินผู้ชมให้ดำดิ่งลึกลงไป
‘เมื่อฉันไม่มีอารมณ์วาดภาพ ฉันจะใช้เวลาไปกับการดูหนังเป็นอาทิตย์หรือมากกว่านั้น’
นอกจากผลงานของฮอปเปอร์จะส่งอิทธิพลโดยตรงถึงภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องแล้ว เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวเขาเองก็มีความผูกพันกับภาพยนตร์ด้วยเช่นกัน ครั้งหนึ่ง โจเซฟีน (Josephine Hopper) ภรรยาของฮอปเปอร์เคยเปิดเผยว่า เขามักจะไปดูหนังคนเดียวในเวลากลางคืน เพื่อค้นหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ และภาพ New York Movie (1939) ก็ตอกย้ำถึงสิ่งนี้ได้อย่างชัดเจน ซึ่งแน่นอนว่า ความรู้สึกที่เขาได้จากประสบการณ์การชมภาพยนตร์ ส่งต่อถึงงานของเขาในทางเดียวกับที่งานของเขาส่งต่อถึงผู้สร้างภาพยนตร์ หลังจากที่เราได้เห็นภาพเปรียบเทียบระหว่างผลงานของฮอปเปอร์กับฉากในหนังกันมาบ้างแล้ว วันนี้ GroundControl จึงขอชวนทุกคนมาส่องธีมหลักในงานของฮอปเปอร์ ที่ส่งผลถึงการออกแบบภาพยนตร์กัน!
‘ผู้หญิง’ ตัวแทนของความแปลกแยก
ภาพผู้หญิงที่จมอยู่กับความรู้สึกอันแสนเปราะบาง กำลังมองเหม่อไปที่ใครบางคนหรือของบางสิ่งอย่างไร้จุดหมาย ตอบรับกับพื้นที่โล่งและเส้นตัดของแสงเงา สร้างความโดดเดี่ยว แปลกแยกในตัวเองอย่างไม่ต้องมีคำบรรยายใดเพิ่มเติม ความจริงแล้วผู้หญิงในงานของฮอปเปอร์ อาจจะกำลังจ้องมองความว่างเปล่าอยู่ก็เป็นได้ พวกเธอตัดขาดจากโลกภายนอกและก้าวเข้าสู่ความรู้สึกอันเงียบสงัด ความคลุมเครือที่ปรากฏขึ้น ทำให้ภาพของเขามีพลัง และโดนใจผู้พบเห็นเข้าอย่างจัง มีการสันนิษฐานว่าในทางหนึ่ง ภาพวาดที่สร้างความรู้สึกอ้างว้างนี้ เป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับสภาวะของผู้คนหลังสงครามด้วยเช่นกัน
เอ็ด ลาชแมน (Ed Lachman) ผู้กำกับชาวอเมริกัน เคยพูดถึงองค์ประกอบในงานของฮอปเปอร์ผ่านสารคดีของตัวเขาเองว่า ‘ฮอปเปอร์ใช้ภาพของผู้หญิง เป็นตัวแทนความรู้สึกแปลกแยกจากโลกที่ตัวเขาอาศัยอยู่’ และแน่นอนว่าภาพยนตร์ในช่วงครึ่งหลังศตวรรษที่ 20 ต่างเต็มไปด้วยตัวละครประเภทนี้.. ภาพยนตร์เรื่อง Red Desert (1972) ซึ่งกำกับโดย มีเกลันเจโล อันโตนิโอนี (Michelangelo Antonioni) หนึ่งในผู้กำกับชั้นครูด้านการสร้างภาพยนตร์ร่วมสมัยที่เกาะธีมอยู่กับเรื่องราวของความแปลกแยก ยืนยันถึงคำกล่าวของเอ็ดได้อย่างดี เพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ บอกเล่าถึงแม่บ้านสาวที่กำลังต่อสู้กับความวิตกกังวลเกินเหตุ เธอใช้ชีวิตอยู่กลางสภาพแวดล้อมซึ่งเต็มไปด้วยโรงงานอุตสาหรกรรม ความเหงาที่กัดกินตัวเธอ ทำให้แม่บ้านสาวเลือกเข้ามาพัวพันฉันชู้รักกับเพื่อนร่วมงานของสามีตัวเอง นอกจากภาพยนตร์เรื่องนี้แล้ว แนวคิดหลักในการสร้างงานของฮอปเปอร์ที่เกี่ยวโยงกับความอ้างว้างของผู้หญิงในโลกยุคโมเดิร์น ยังส่งอิทธิพลถึงภาพยนตร์อีกมากมายในทำนองเดียวกัน
พื้นที่ว่าง
ความเหงาที่อัดแน่นอยู่ในภาพวาดร้านอาหารอันสะอาดตาของฮอปเปอร์ เผยให้เห็นถึงผู้คนเพียงเล็กน้อยที่กำลังสนใจแต่เรื่องของตัวเอง บางคนเพียงแค่นั่งจิบกาแฟโดยไม่มีปฏิสัมพันธ์กับใคร ทำให้บรรยากาศโดยรอบดูอึมครึมไปตามระเบียบ แม้ตัวพื้นที่ในงานของเขาจะไม่บีบรัดความรู้สึกผู้ชม แต่เราก็ต่างรู้สึกได้ถึงความอึดอัดชนิดที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกไปตาม ๆ กัน และไม่เพียงแค่ภาพในห้างร้านต่าง ๆ เท่านั้น แต่ทุกพื้นที่ของอเมริกาอันกว้างใหญ่ ล้วนสร้างความเปล่าเปลี่ยวใจให้ผู้คนได้โดยง่าย การเล่นกับพื้นที่ว่างบนผืนผ้าใบของฮอปเปอร์ จึงแทรกซึมไปในความรู้สึกผู้พบเห็นได้อย่างไม่มีข้อโต้แย้งใด
ภาพวาดที่ปล่อยให้พื้นที่ได้ทำงานกับผู้คน กลายมาเป็นภาพอ้างอิงในภาพยนตร์มากมาย ไม่ว่าจะเป็นภาพปั๊มน้ำมันริมทางอย่าง Four Lane Road (1956), แสงไฟสีเขียวในรถสาธารณะจาก Chair Car (1965) หรือภาพอื่น ๆ ของฮอปเปอร์ ทั้งหมดนี้ คือส่วนผสมที่ลงตัวใน Paris, Texas (1984) ภาพยนตร์เรื่องเยี่ยมของ วิม เวนเดอร์ส (Wim Wenders) ผู้กำกับชาวเยอรมันที่มีความหลงใหลในภูมิทัศน์ของอเมริกาขั้นสุด ไม่ว่าเราจะมองในมุมไหน พื้นที่อันว่างเปล่าทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ต่างสะท้อนความรู้สึกภายในของตัวละครที่จมปลักอยู่กับความหม่นหมองในอดีตได้อย่างลึกซึ้ง และด้วยการวางเฟรมภาพอันเหนือชั้นของผู้กำกับภาพมากฝีมือ ร็อบบี้ มึลเลอร์ (Robby Müller) ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเต็มไปด้วยความรู้สึกอันท่วมท้นเทียบเท่ากับทิวทัศน์อันกว้างขวางของอเมริกาได้เลยทีเดียว
หน้าต่างและบานประตู
ภาพอาคารสูงเหนือระดับพื้น และหน้าต่างที่ปล่อยให้แสงได้สาดส่องอย่างเป็นระเบียบ สะท้อนให้เห็นถึงสังคมเมืองที่เริ่มพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ช่วงหลังสงครามเป็นต้นมา ส่งผลให้ผู้คนต้องนั่งมองวิวทิวทัศน์ที่กำลังเปลี่ยนไปในห้องส่วนตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ภาพของฮอปเปอร์ไม่ได้เผยให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกที่ชัดเจนของตัวแบบ แต่ด้วยเหตุผลนี้เอง ทำให้งานของเขาเต็มไปด้วยปริศนามากมาย
อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก (Alfred Hitchcock) ผู้กำกับระดับตำนานชาวอเมริกัน เดินตามแนวทางเดียวกับฮอปเปอร์ในภาพยนตร์หลาย ๆ เรื่องของเขา โดยเฉพาะ Rear Window (1955) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของช่างภาพข่าวคนหนึ่ง ที่เฝ้าดูเพื่อนบ้านของเขาผ่านเลนส์เทเลโฟโต้
แม้ว่าภาพของฮอปเปอร์จะไม่ได้มีการถ่ายทอดเรื่องราวทางเพศให้เห็นเด่นชัด แต่ความรู้สึกเวิ้งว้างที่แพร่ไปในทุกอณู ก็ทำให้ผลงานของเขาอธิบายถึงความโหยหาสัมพันธ์ลึกซึ้งได้ด้วยเช่นกัน ในภาพยนตร์เรื่อง Psycho (1960) ฮิตช์ค็อกได้นำผลงานของฮอปเปอร์มาปรับใช้เพื่อสร้างพื้นที่ทางอารมณ์อันลึกลับซับซ้อน ตัวละครที่ฮิตช์ค็อกสร้างขึ้น เก็บงำความรู้สึกไว้อย่างท่วมท้น พวกเขาไม่สามารถปลดปล่อยความรู้สึกออกมาได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น บรรยากาศในเรื่องจึงเต็มไปด้วยความเย็นชา ขาดการเชื่อมต่อซึ่งกันและกัน ซึ่งตัวการของเรื่องนี้ไม่ใช่ใครอื่นใด แต่คือภาวะจิตใจของตัวละครนั่นเอง
แสงเงาในยามกลางวันและกลางคืน
ฉากภายในบ้านอันสวยงามที่ตัดแบ่งกับแสงเงา และเส้นขอบฟ้าอย่างพอดิบพอดีบนภาพวาดของฮอปเปอร์ แม้จะมีรายละเอียดชัดเจนจนมองออกว่าสิ่งต่าง ๆ คืออะไร แต่เงาที่ทอดยาวเป็นรูปทรงเรขาคณิต หรือแสงบนวัตถุที่ดูไม่ตรงตามความจริงซะทีเดียว ก็ได้สร้างฉากนามธรรมขึ้นอย่างน่าทึ่ง
อิทธิพลในการจัดแสงและการออกแบบฉากอันเหนือชั้นลงบนผืนผ้าใบของเขา ส่งต่อถึงผู้สร้างภาพยนตร์อีกจำนวนมากไม่ว่าจะเป็น เดวิด ลินช์ (David Lynch), ทอดด์ เฮย์เนส (Todd Haynes) หรือ รอย แอนเดอร์สสัน (Roy Andersson) ซึ่งก็แสดงให้เห็นชัดเจนว่า ภาพวาดของฮอปเปอร์ มีกลิ่นอายของภาพยนตร์ทั้งทางด้านภาพ รวมถึงแนวคิดในการสร้างงานแบบเต็ม ๆ จนส่งผลไปมาอยู่เสมอในวงการภาพยนตร์ตั้งแต่อดีตถึงทุกวันนี้
อ้างอิง : On the Relationship Between Edward Hopper's Paintings and Cinema, How Edward Hopper Inspired Wim Wenders, David Lynch and More