106504891_158161652493884_5010224460698242532_n.jpg

โลกของฟรีด้า ไอคอนแห่งศิลปะลาตินอเมริกัน

Post on 27 May

นอกจากคิ้วและชุดหลากสีของเธอ 'ฟรีด้า คาห์โล' คนนี้ยังเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินนักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ต่อความทุกช์ทรมานที่ถาโถมมาอย่างไม่หยุดย่อน ตลอดชีวิตที่เต็มไปด้วยความขมขื่น และหยิบใช้เรื่องราวเหล่านั้นให้กลายมาเป็นศิลปะระบายความเจ็บปวดของเธอ ขึ้นหิ้งเป็นผลงานศิลปะลาตินอเมริกันดังไปทั่วโลก

เตรียมพร้อมก่อนบินลัดฟ้าผ่านอินเตอร์เน็ตไปหาเธอที่เม็กซิโก
เรามีเกร็ดเล็กๆ ที่อยากให้คุณได้รู้จักฟรีด้ามากยิ่งขึ้น ก่อนไปทัวร์กันถึงบ้านเธอ

อุบัติเหตุครั้งใหญ่ นำมาซึ่งการค้นพบตัวเอง

ฟรีด้าไม่ได้มีความสนใจด้านศิลปะตั้งแต่แรกเริ่ม แต่มีความใฝฝันอยากเป็นหมอซะมากกว่า เริ่มมาจากด้วยตัวเธอเองนั้นป่วยเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่ตอนหกขวบ จึงมีความสนใจทางด้านการแพทย์และชีววิทยาเป็นพิเศษ

จริงๆ ฟรีด้าก็อาจจะได้เป็นหมอตามฝัน หากไม่เกิดอุบัติเหตุครั้งสำคัญขณะนั่งรถบัสกลับบ้านจากโรงเรียน ชนเข้าให้อย่างจังกับรถรางที่พุ่งมาชนรุนแรงจนมีคนเสียชีวิต ส่วนฟรีด้ารอดมาได้อย่างหวุดหวิด แต่ด้วยแรงกระแทกอย่างหนักส่งผลให้กระดูกสันหลัง ซี่โครง และขาของเธอหักอย่างสาหัส ผ่าตัดกว่า 30 ครั้ง ต้องใส่เหล็กดามตัวระหว่างการรักษาไปอีก 3 เดือน และรักษาตัวไปอีกร่วมปี ที่ทำให้ร่างกายของเธอไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้อีก ปิดฉากฝันในวงการแพทย์ฟรีด้าอย่างถาวร

อย่างไรก็ตาม ระหว่างการรักษาตัวบนเตียงที่บ้าน คุณพ่อของเธอมอบอุปกรณ์วาดรูปเพื่อให้เธอได้ลองวาดภาพไปพลางๆ และนั่นจึงเป็นครั้งแรกที่ฟรีด้าได้หลงรักงานศิลปะเข้าอย่างจัง เพราะมันช่วยให้เธอผ่านพ้นความเจ็บปวดระหว่างการรักษาตัวไปได้นั่นเอง

สายสัมพันธ์ตัดไม่ขาด รักร้าวรานแสนซับซ้อน

ความรักหวานขมจนเป็นตำนานของฟรีด้า เริ่มขึ้นในวัย 20 เมื่อปี 1927 ฟรีด้าได้เจอกับดิเอโก ริเวรา จิตรกรฝาผนังชื่อดังแห่งยุคที่อายุมากกว่าเธอถึง 20 ปี อย่างเป็นทางการในงานปาร์ตี้ ทั้งคู่เริ่มสานสัมพันธ์ผ่านงานศิลปะ และเริ่มคบหากัน ไม่หวั่นแม้ดิเอโกจะมีเมียอยู่แล้วก็ตาม

ถึงแม้จะได้แต่งงานกัน ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยของหลายๆ คน แต่ความรักระหว่างสองศิลปินนั่นช่างซับซ้อน เดี๋ยวรัก เดี๋ยวเลิก เดี๋ยวก็ผลัดกันมีชู้ ห่างกันไม่ได้นานก็ต้องกลับรักกัน ทะเลาะกันอลหม่านระหว่างทาง เคล้าความเจ็บปวดที่ตัดยังไงก็ไม่สามารถให้ขาดจากกันได้เสียที 

ตีกันสองคนว่าเหนื่อยแล้ว ประวัติชู้ของทั้งคู่ก็รุนแรงไม่ใช่น้อย โดยฝั่งฟรีด้าเองก็ประกาศตัวเองเป็นไบเซ็กชวลอย่างเปิดเผย มีข่าวการคบชู้กับนักแสดงสาว ‘Josephine Baker’ ส่วนฝั่งดิเอโกก็ทำแสบ ไปแอบมีชู้กับน้องสาวของฟรีด้าเลยทีเดียว 

ทั้งคู่หย่าขาดกันในปี 1939 แต่ห่างได้ปีเดียวก็กลับมาแต่งกันใหม่ในปีถัดไป เพราะท้ายที่สุด ต่างคนต่างเป็นแรงบันดาลใจให้กันและกัน จนทำให้ทั้งคู่ต้องวนลูปมุปอรเป็นวงกลมกับรักซับซ้อนจนถึงวันสุดท้ายของชีวิตฟรีด้า คาห์โล

ตั้งวันเกิดใหม่ให้ตัวเอง แสดงจุดยืนทางการเมือง

ฟรีด้าเป็นนักเคลื่อนไหวในความเชื่อแบบคอมมิวนิสต์ และมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างสม่ำเสมอ ถึงขั้นกันเปลี่ยนวันเกิดของตัวเองจากวันจริง 6 กรกฎาคม 1907 กลายเป็น 1910 แทนเพื่อให้ตรงกับวันปฏิวัติเม็กซิโก สงครามกลางเมืองที่สู้กันยาวนานกว่า 10 ปี เปรียบเหมือนว่าวันเกิดเธอ ก็คือการเริ่มต้นเข้าสู่เม็กซิโกสมัยใหม่ 

และด้วยผลพวงจากการปฏิวัติเม็กซิโกครั้งนี้ ทำให้เกิดกระแสการอนุรักษ์ประเพณีเม็กซิกันชาตินิยมอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ฟรีด้านำแนวคิดมาปรับใช้กับตัวเองดั่งทีแสดงออกมาในผลงาน และการแต่งตัวของเธอ ที่มักจะใส่ “ชุดเทฮัวนา” หรือชุดของชนเผ่าพื้นเมือง ซาโปเท็ก ที่บ่งบอกความภาคภูมิใจในบ้านเกิดของเธอ

ฟรีด้าเข้าร่วมพรรคคอมมิวนิสต์เม็กซิกันในวัยยี่สิบกว่าๆ และในช่วงนี้เองที่นำพาให้ฟรีด้าได้มาพบกับดิเอโก ริเบอรา คู่กรรมของเธอ อันกลายเป็นเรื่องราวความเจ็บปวดในภาพวาดจำนวนมากของเธอ

ไอคอนแห่งเฟมินิสต์ และ LGBTQI

ด้วยอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่รุมเร้าเธอมาตลอดชีวิต ทำให้ฟรีด้าเสียชีวิตในวัยเพียง 47 ปี ซึ่งอาจจะเกิดจากอาการป่วย หรือการฆ่าตัวตายก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงทุกวันนี้ 

ตลอดชีวิตของฟรีด้า ถึงแม้จะมีผลงานของตัวเอง แต่ก็มักจะถูกกลืนให้เป็นที่รู้จักในฐานะภรรยาของดิเอโกซะมากกว่า จนกระทั่งยุค 70s ที่มีการเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศและเชื้อชาติ ชื่อของฟรีด้าจึงเริ่มปรากฏอย่างชัดเจนขึ้นในวงการศิลปะ 

ฟรีด้าได้ถูกยกย่องว่าเป็นตัวแทนแห่งเฟมินิสต์ และ LGBTQI จากภาพวาดของเธอที่แสดงตัวตนและประสบการณ์ความเป็นผู้หญิงได้อย่างลึกซึ้ง ความกล้าภาคภูมิในที่จะแสดงออกในตัวตนที่แท้จริงของเธอ ความไบเซ็กช่วล ความเปิดกว้างในเรื่องเพศสัมพันธ์ ทำให้ตัวตนของฟรีด้ายังเป็นที่พูดถึงมาจนถึงทุกวันนี้

ความจริง ในความเหนือจริง 

หลายๆ คนมักนิยามว่าภาพของฟรีด้านั้นเป็นงานแนว Surrealism ที่เต็มไปด้วยสัญลักษณ์ แลดูเหนือจริงให้เกิดการตีความต่างๆ นาๆ แต่ตัวเธอเองกลับปฏิเสธในสถานะความเป็น Surrealism เพราะการวาดภาพของเธอนั้น ไม่ได้มาจากความฝันหรือจิตใต้สำนึก แต่มาจากความจริงในมุมมองของเธอต่างหาก

และความจริงที่ใกล้ตัวเธอมากที่สุด ก็คือความเจ็บปวดในตัวของฟรีด้าเอง ที่ต้องทั้งทุกข์ทรมานจากร่างกายอันบอบช้ำ และรักร้าวที่หนีไม่เคยพ้นเสียที ผลงานภาพวาด “ความจริง” ของเธอ จึงเป็นภาพ self-portrait ซะถึง 1 ใน 3 ของงานภาพวาดทั้งหมดของเธอ โดยใช้สัญลักษณ์รอบๆ ตัวเธอเป็นการเล่าเรื่องระบายความในใจ

 

เกิดและตายในบ้านเดียวกัน "La Casa Azul"

ฟรีด้าเกิดและโตมาใน La Casa Azul หรือบ้านสีน้ำเงิน ซึ่งก็เป็นสีน้ำเงินเด่นชัดตามชื่อ ในย่านเก่าแก่เมือง Mexico City ในช่วงระหว่างชีวิตของฟรีด้าเองมีการย้ายถิ่นฐานหลายครั้ง เพื่อการงานและสามี 

แต่บ้านสีน้ำเงินหลังนี้ก็ยังเป็นพื้นที่ที่เธอรักมากที่สุด จนสุดท้ายก็ต้องย้ายกลับมาอยู่บ้านนี้กับดิเอโกในช่วงปีท้ายๆ ของชีวิตเธอ และใช้ชีวิตอยู่ที่นี่จนถึงวันตาย 

ปัจจุบันบ้านหลังสีน้ำเงินแห่งนี้ ได้กลายมาเป็นพิพิธภัณฑ์ของฟรีด้า 'Museo Frida Kahlo' รวบรวมของส่วนตัวของเธอไว้ที่นี่ มีท้งผลงานชิ้นสำคัญ และอุปกรณ์การใช้ชีวิตต่างๆ ในบรรยากาศที่สะท้อนความเป็นฟรีด้าได้ดีที่สุด

อ่อ.. และโกศอัฐิของฟรีด้าก็ถูกจัดแสดงที่นี่ด้วยเช่นกันนะ ดังนั้นการได้ไปเที่ยวที่นี่ก็คงเหมือนได้ไปหาฟรีด้าจริงๆ อยู่เหมือนกัน

หรือจะรับชมไลฟ์ย้อนหลัง Self-quarantour กันได้ที่