ความหมายเบื้องหลังสีสันในตัวละครสะท้อนอารมณ์ของ Inside Out

Post on 19 June

หากจะพูดถึงทฤษฎีที่จับคู่อารมณ์กับสีสันเข้าด้วยกันจนกลายเป็นภาพจำของคนทั้งโลกมากที่สุด ก็ต้องนึกถึงทฤษฎี ‘วงล้อแห่งอารมณ์’ หรือ ‘The Wheel of Emotions’ ของ ศ.ดร.โรเบิร์ต พลัทชิค ที่เผยแพร่ออกมาในปี 1980 โดยทฤษฎีนี้นี่แหละที่เป็นเบื้องหลังแรกของการออกแบบคาแรกเตอร์อารมณ์ต่าง ๆ ในภาพยนตร์เด็กดูได้ผู้ใหญ่ดูแล้วฮีลใจแบบ Inside Out

วงล้อแห่งอารมณ์ คือทฤษฎีที่ว่าด้วยอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ที่พลัทชิคได้แบ่งออกเป็นสี่คู่ตรงข้าม ประกอบไปด้วย ความรื่นเริงและความเศร้า, ความโกรธและความกลัว, ความวางใจและความรังเกียจ, ความประหลาดใจและความคาดหวัง และเมื่ออารมณ์เหล่านั้นมาผสมกันสลับไปสลับมา ก็จะแตกแขนงออกเป็นความรู้สึกอีกหลากหลายนับไม่ถ้วน ซึ่งพลัทชิคได้อธิบายทฤษฎีทั้งหมดนี้ให้เข้าใจง่ายด้วยการสร้างจานสีแห่งอารมณ์ อันเป็นที่มาของภาพจำที่เวลาเรานึกถึงความสุขก็จะนึกถึงสีเหลือง สีแดงความโกรธ และสีฟ้าความเศร้า เป็นต้น

พลัทชิคเรียกแนวคิดนี้อีกอย่างหนึ่งว่า ‘psycho-evolutionary synthesis’ หรือ 'การสังเคราะห์ทางจิตวิทยาและวิวัฒนาการ' เพราะอ้างอิงมาจากทฤษฎีของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่ว่าด้วยเรื่องการแสดงออกของสัตว์สามารถสะท้อนถึงอารมณ์ที่ช่วยให้พวกมันรอดชีวิตได้ เหมือนกับที่ภาพยนตร์เรื่อง Inside Out ได้กล่าวไว้ตอนเริ่มเรื่องว่า ความกลัวนั้นช่วยป้องกันไม่ให้คุณเสี่ยงอันตราย ในขณะที่ความรังเกียจช่วยป้องกันไม่ให้คุณกินอะไรมั่ว ๆ จนได้รับพิษ

ซึ่งทีมผู้สร้าง Inside Out ก็นำเอาทฤษฎีนี้มาใช้ในการออกแบบห้าคาแรกเตอร์ตัวป่วนที่เป็นตัวแทนอารมณ์สำคัญของเรย์ลี่อย่าง Joy, Sadness, Anger, Disgust, Fear และน้องใหม่ล่าสุดจาก Inside Out 2 อย่าง Anxiety ที่ครองใจคนดูหลาย ๆ คนให้รู้สึกเอ็นดู เศร้าใจ และมีความสุขไปกับเรื่องราวทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีของพลัทชิคไม่ใช่แรงบันดาลใจเดียวที่ทีมผู้สร้าง Inside Out เขาหยิบมาใช้ โดย Albert Lozano อาร์ตไดเรกเตอร์ผู้ดูแลเรื่องการออกแบบคาแรกเตอร์ ได้อธิบายถึงที่มาของตัวละครต่าง ๆ ว่า พวกเขายังมีการนำคาแรกเตอร์ของคนจริง ๆ มาดัดแปลงร่วมด้วยเพื่อแสดงตัวตนของแต่ละคาแรกเตอร์ออกมาให้ชัดเจนที่สุด ส่วนแต่ละตัวละครจะมาจากใครและสื่อถึงอะไรบ้าง ตาม GroundControl มาได้เลย

สีเหลืองแห่งความสุขของ ‘Joy’

‘Joy’ คือตัวแทนของความสุข ทางทีมผู้สร้างมองว่าคาแรกเตอร์นี้ต้องมีความเรียบง่าย สนุกสนาน ไร้อายุ และเต็มไปด้วยความกระปรี้กระเปร่า แต่ในขณะเดียวกันก็มีเสน่ห์และความน่ารักไปพร้อม ๆ กัน พวกเขาเลยนำเอาคาแรกเตอร์ของ Audrey Hepburn มาเป็นแบบอย่าง แล้วผนวกเข้ากับท่วงท่าและลักษณะของนักยิมนาสติก

ตามจานสีของพลัทชิค สีที่เหมาะกับคาแรกเตอร์ของ Joy มากที่สุดก็คือสีเหลือง เพราะเป็นสีแห่งความสุข ความร่าเริง ความหวังดี ความอบอุ่น และยังเป็นสีที่สดใสและโดดเด่นที่สุดในการจัดองค์ประกอบสี จึงมักถูกนำไปใช้ในป้ายจราจรเนื่องจากสามารถดึงดูดสายตาของผู้คนได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

ในฝั่งโลกศิลปะเอง ศิลปินที่มักใช้สีเหลืองกับผลงานของตัวเองบ่อย ๆ ก็คือ วินเซนต์ แวนโกะห์ เช่น ภาพ Sunflowers (1888), The Bedroom (1888), The Yellow House (1888) และ Wheatfield with a Reaper (1889) เป็นต้น สำหรับเหตุผลที่คนวิเคราะห์กันว่าทำไมแวนโกะห์ถึงชอบใช้สีเหลืองขนาดนี้ ก็มีวิเคราะห์กันมากมาย ตั้งแต่เรื่องโรคทางตา Xanthopsia และกระบวนการรักษาที่ทำให้เขามองเห็นสีเหลืองมากกว่าปกติจนติดมาเขียนเป็นภาพ บ้างก็บอกว่าเขาได้อิทธิพลมาจากศิลปิน Impressionist ที่นิยมใช้สีเหลืองและสัสีนสดใส

แต่บางคนก็บอกว่าบางทีแวนโกะห์อาจจะชอบสีเหลืองเฉย ๆ เพราะมันคือสีแห่งความสุข ความหวัง และการมองโลกในแง่ดี ซึ่งเป็นสิ่งที่แวนโกะห์ต้องการมากที่สุดในเวลานั้น และครั้งหนึ่งเขายังเคยเขียนจดหมายถึงน้องชายเกี่ยวกับเรื่องสีเหลืองด้วยว่า “สีเหลืองนั้นน่าอัศจรรย์จริง ๆ มันเป็นสัญลักษณ์ของดวงอาทิตย์” อันแสดงให้เห็นว่าเขาชอบสีเหลืองมากจริง ๆ

สีน้ำเงินของ ‘Sadness’ ตัวแทนของความเศร้า

‘Sadness’ ตัวแทนของความเศร้าโศก พวกเขาเลยเริ่มต้นความคิดแรกมาจากเรื่อง ‘หยดน้ำตา’ แล้วนำมารวมเข้ากับตัวละครสุดยูนีคอย่าง Debbi Downer จาก Saturday Night Live‘s และ Wednesday จาก The Addams Family’s รวมถึงมีการออกแบบให้เป็นสีน้ำเงินตามทฤษฎีจานสีแห่งอารมณ์ของพลัทชิค

อย่างไรก็ตามสีน้ำเงินยังสามารถสื่อถึงความรู้สึกอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ความไว้วางใจ ความจริง ความสงบ ปัญญา ความโดดเดี่ยว ความเฉื่อยชา ความฝัน ความสงบ และการทบทวนตนเอง เป็นต้น

ตัวอย่างของการใช้สีน้ำเงินเพื่อนำเสนอความเศร้าที่เห็นได้ชัด ๆ ก็คืองานของศิลปินชาวนอร์​เวย์เจียนคนดังอย่าง เอ็ดวัด มุงก์ ที่นำเสนอภาพ The Kiss by the Window (1892) ที่แสดงภาพชายหญิงคู่หนึ่งกำลังจุมพิศกันในยามค่ำคืน ซึ่งเป็นหนึ่งในซีรีส์ Frieze of Life ที่ว่าด้วยเรื่องวงจรชีวิตของมนุษย์ที่ผูกพันอยู่กับความตายและความรัก

อย่างไรก็ตาม แม้ภาพนี้จะถ่ายทอดถึงคู่รักแต่มุงก์กลับเลือกใช้สีน้ำเงินในการถ่ายทอดเป็นสีหลักของภาพทำให้มีนักวิเคราะห์มองว่าภาพนี้ไม่ได้มีมิติแค่เรื่องความรักอย่างเดียว แต่สื่อถึงแรงดึงดูด, การเกี้ยวพาราสี, การตระหนักรู้, ความผิดหวัง และความตายด้วย ซึ่งสอดคล้องกับชีวิตจริงของมุงก์ที่ไม่เคยแต่งงานและไม่สมหวังในความรัก โดยอีกหนึ่งเหตุผลที่นักวิเคราะห์มองว่าภาพนี้มีส่วนผสมมาจากประสบการณ์ของมุงก์เองมาจากห้องในภาพมีลักษณะคล้ายกับห้องของมุงก์ที่เคยวาดไว้ในภาพ Night in Saint-Cloud (1890) นั่นเอง

โดยภาพรวมแล้ว ภาพ The Kiss by the Window (1892) ของมุงก์จึงไม่ได้ถ่ายทอดแค่ความโรแมนติก แต่ยังแสดงให้เห็นมิติอื่น ๆ ของความรักที่ไม่ได้มีแต่ด้านสวยงามผ่านบรรยากาศมืดมิดและสีน้ำเงินด้วย

‘Anger’ กับสีแดงสุดร้อนแรง ภาพแทนของความโกรธ

‘Anger’ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่ทางทีมผู้สร้างออกแบบมาได้แบบเห็นภาพมาก ด้วยการใช้รูปทรงเรขาคณิตอย่างสี่เหลี่ยม กับหัวไฟลุกพรึบพรั่บตลอดเวลา หรือเรียกง่าย ๆ ว่า หัวร้อนนั่นเอง และจุดเด่นที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘สีแดง’ ที่อิงมาจากจานสีแห่งอารมณ์ของพลัทชิคเช่นกัน โดยสะท้อนถึงความโกรธ ความรุนแรง ความเจ็บปวด ความเข้มแข็ง และความก้าวร้าว

สีแดงยังเป็นอีกหนึ่งแม่สีหลักที่ศิลปินชอบหยิบมาใช้ในการสร้างสรรค์งาน ยกตัวอย่างเช่น ลูอีซ เบอร์ชัว (Louise Bourgeois) ศิลปินร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส-อเมริกัน ที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ลงลอยกัน เนื่องจากพ่อนอกใจแม่ ส่งผลให้เธอมีชีวิตวัยเด็กที่ยากลำบาก เธอจึงนำประสบการณ์เหล่านี้มาสะท้อนผ่านผลงานศิลปะ โดยใช้สีแดงซึ่งเป็นสีที่แสดงออกถึงความรุนแรง เพศสัมพันธ์ การนอกใจ ความกลัว และความทุกข์ทรมานทางร่างกาย

‘Disgust’ กับสีเขียวชวนอ้วก ที่มาของความขยะแขยง

ในส่วนของ ‘Disgust’ นั้น ทางทีมผู้สร้างได้นำคาแรกเตอร์มาจาก April Ludgate จากซิทคอม Parks and Recreation และ Veruca Salt จากภาพยนตร์ Willy Wonka and the Chocolate Factory แต่เรื่องสีถือว่าพลิกจากทฤษฎีของพลัทชิคอยู่ กล่าวคือถ้าตามทฤษฎีของพลัทชิค สีเขียวจะสื่อถึงความกลัว

อย่างไรก็ตามหากเรามองในโลกความเป็นจริง สีเขียวมักถูกเชื่อมกับสิ่งที่ชวน Disgust หลายอย่าง เช่น ผัก เสมหะ น้ำมูก อ้วก หนองบึงสกปรก ๆ สารเคมีต่าง ๆ และอีกหลายอย่าง ซึ่งแม้ว่าในจานสีของพลัทชิคจะไม่ได้ใช้สีนี้แทนความขยะแขยง แต่ในระดับสากลทุกคนก็เห็นตรงกันว่าสีเขียวนั้นชวนแหวะจริง ๆ

Symbiotic seeing (2020) ของ โอลาเฟอร์ เอเลียนสซัน คือผลงานที่เลือกใช้สีเขียวเป็นองค์ประกอบหลักในการถ่ายทอดวัตถุสามสถานะอย่างของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ขณะกำลังหลอมรวมกันในพื้นที่เดียว เพื่อสร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่แปลกใหม่ที่อยู่ระหว่างรูปธรรมและนามธรรมให้ทุกคนได้ลองตีความกันเองว่ารู้สึกอย่างไร ซึ่งสำหรับเราแล้ว การได้นั่งมองผลงานชิ้นนี้ก็ชวนให้นึกถึงการเป็นปลาที่กำลังเงยหน้ามองพวกคราบน้ำมันและของเสียต่าง ๆ บนผิวน้ำ เมื่อประกอบกับละอองหมอกที่คล้ายฝุ่นควัน ในสภาพแวดล้อมสีเขียว ๆ แบบนี้ก็เลยชวนให้นึกถึงควันพิษไปด้วย

สีม่วงสุดลึบลักและคาดเดายากกับความรู้สึก ‘Fear’

‘Fear’ มาในสีม่วง และเพื่อแสดงออกให้เห็นถึงคาแรกเตอร์ที่ดูกลัวจริง ๆ Fear ก็เลยมีท่าทางและนิสัย มาจากนักแสดงตลกอย่าง Don Knotts และ Mr. Bean พร้อมกับดวงตาปูดโปนราวกับจะถลนออกมา

และเช่นเดียวกับ Disgust ตามทฤษฎีของพลัทชิคก็ไม่ได้กำหนดให้สีม่วงเป็นสีแห่งความกลัวเช่นกัน แต่ถูกแทนให้เป็นสีแห่งความขยะแขยง เรียกว่าสองสีนี้สลับอารมณ์กันเลยก็ได้ หากยึดตามแนวคิดของพลัทชิค อย่างไรก็ตาม มีหลายเหตุผลที่สีม่วงถูกมองว่าเป็นสีที่สื่อถึงความกลัวได้ นั่นก็คือ สีม่วงคือสีที่ผสมระหว่างความสงบของสีน้ำเงินกับความรุนแรงของสีแดง ความก้ำกึ่งระหว่างสองความรู้สึกและคาดเดาไม่ได้ง่าย ๆ ทำให้สีม่วงดูน่ากลัว ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดกลัวและไม่สบายใจได้ นอกจากนี้บางคนยังกลัวสีม่วงมาก ๆ จนเกิดอาการแพนิกได้เลย ซึ่งเราเรียกคนที่มีอาการกลัวสีม่วงถึงขั้นนี้ว่าเป็นโรค porphyrophobia

สำหรับศิลปินที่ทำให้เรานึกถึงสีม่วงขึ้นมาทันทีก็คือ โกลด โมเนต์ เพราะในช่วงบั้นปลายชีวิตของเขา โมเนต์ได้ป่วยเป็นโรคต้อกระจกทำให้การมองเห็นแย่ลง และหลังจากการผ่าตัดเขาก็กลับมามองเห็นอีกครั้ง แต่สามารถรับรู้สีม่วงได้มากกว่าปกติ โลกของโมเนต์จึงเป็นสีม่วง

อย่างไรก็ตามนั่นไม่ได้ทำให้เขาท้อถอยแต่อย่างใด มิหนำซ้ำเขายังค้นพบด้วยว่าจริง ๆ แล้วสีม่วงเป็นสีที่เหมาะสมกับการนำมาวาด ‘เงา’ มากกว่าสีดำ เพราะให้ความรู้สึกลึกลับ น่าค้นหา และมีมิติมากกว่านั่นเอง นับแต่นั้นเขาเลยเริ่มใช้สีม่วงแทนสีดำในการวาดเงา ส่งผลให้งานในช่วงบั้นปลายของโมเนต์มีโทนม่วงน้ำเงินเป็นหลัก และการใช้สีม่วงแทนสีดำในการวาดเงาก็กลายเป็นกระแสนิยมในกลุ่มจิตรกรแนว Impressionist อย่างรวดเร็ว จนได้รับการขนานนามว่า ‘violettomania’

สีส้มที่สดใสแต่ก็ร้อนแรง จนใคร ๆ ก็รู้สึก ‘Anxiety’

‘Anxiety’ ตัวละครน้องใหม่แกะกล่องจาก Inside Out ภาค 2 ที่ได้รับบทบาทมาเป็นตัวป่วนประจำภาคให้ Joy คอยรับมือ เพราะอะไรจะน่ากังวลไปกว่าความวิตกกังวลของตัวเราเอง และเพื่อแสดงภาพนั้นออกมาให้ชัดเจนที่สุดทางทีมผู้สร้างก็ออกแบบให้เจ้า Anxiety มีปากขนาดใหญ่ที่ดูเหมือนกำลังคิดและพูดคุยอยู่ตลอดเวลา กับผมที่ฟูฟ่อง (คิดจนหัวฟู) สะท้อนถึงลักษณะของความวิตกกังวลที่มักจะคิดไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุดนิ่ง

ทางทีมผู้สร้างยังเลือกใช้สีส้มในการออกแบบตัวละคร ‘Anxiety’ โดยสีส้มเป็นสีที่ผสมขึ้นมาจากสีเหลืองและสีแดง จึงให้มองแล้วรู้สึกอบอุ่น ตื่นเต้น และยังส่งเสริมพลังงาน ความกระตือรือร้น และความคิดสร้างสรรค์มาก ๆ ซึ่งในวัฒนธรรมตะวันตก สีส้มยังชวนให้นึกถึงฤดูใบไม้ร่วง ฤดูเก็บเกี่ยว และงานฮาโลวีนด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สีส้มเป็นสีสันที่สดใส แต่ในขณะเดียวกันก็มีความร้อนแรงในตัว เมื่อจ้องมองมันนานเกินไปก็ยังชวนให้รู้สึกวิตกกังวล กระสับกระส่าย นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับความก้าวร้าว ความหุนหันพลันแล่นได้ด้วย.

สำหรับศิลปินที่เรานึกถึงเมื่อนึกถึงสีส้ม ก็คือ Francis Bacon ผู้ฉาบโลกศิลปะของตัวเองด้วยสีส้ม เช่น ภาพ Seated Figure, 1961, Double Portrait of Lucian Freud and Frank Auerbach, 1964 และ Study After Velasquez, 1950 โดยเขามองว่าสีส้มคือสีที่ช่วยเพิ่มความเข้มข้นทางอารมณ์ สร้างความสั่นคลอนทางความรู้สึกให้กับผู้ชม และต่อสู้กับแง่มุมที่มืดมนภายในจิตใจของมนุษย์

อ้างอิง
.
How 'Inside Out' Explains The Science Of Memory

Pixar Team Reveals ‘Inside Out’ Character Inspirations at Siggraph

What Colors Mean, With the Characters From the Film Inside Out

การผสมผสาน จานสีแห่งอารมณ์ : THE WHEEL OF EMOTIONS

The Kiss

Color Psychology of Orange

Colors of Disgust

5 Colors That Represent Fear

Three Masters of Red Colors in Contemporary Art

FS Colour Series: TERRA Inspired by Francis Bacon’s Deep Umber

Pantone Ultra Violet color of the Year, Monet protagonist of the moodboard 2018