สรุปดราม่า ‘คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ และ AI’ กับคำถามเรื่องลิขสิทธิ์ ลายเส้นญี่ปุ่น และคนทำงานสายผลิต

Post on 8 September

ดราม่าแห่งแวดวงศิลปะที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างร้อนแรงไฟลุกอยู่ ณ ขณะนี้ ย่อมหนีไม่พ้นดราม่าจากเพจ Faculty of Painting Sculpture And Graphic Arts, Silpakorn University หรือเพจทางการของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ แห่งมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ได้แชร์คอนเทนต์ภาพบรรยากาศรอบคณะจิตรกรรมฯ ที่ตั้งอยู่ในวิทยาเขตวังท่าพระ ในเวอร์ชันลายเส้นแบบมังงะที่เป็นผลลัพธ์จากการดัดแปลงด้วยแอปพลิเคชัน Loopsie ที่กำลังอยู่ในกระแสตอนนี้

แต่กลายเป็นว่า คอนเทนต์เรียลไทม์ตามกระแสที่ดูน่าจะเป็นการเชิญชวนให้ศิษย์เก่ามารำลึกความหลังถึงบรรยากาศในคณะ กลับกลายเป็นคอนเทนต์ทัวร์ลงที่มีทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ที่กำลังเรียนอยู่ ไปจนถึงคนทั่วไป มารวมตัวกันเพื่อวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการทำคอนเทนต์ของเพจซึ่งเป็นตัวแทนของคณะ พร้อมทั้งจุดประเด็นคำถามทางศิลปะที่น่าสนใจมากมาย

มีประเด็นใดเป็นที่พูดถึงบ้าง? เรารวบรวมและสรุปไว้ให้แล้ว

📌 ข้อกังขาเกี่ยวกับ AI และประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์นักวาด

Loopsie (ลูปซี่) คือแอปพลิเคชันตกแต่งรูปที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2018 โดยผู้ก่อตั้งชาวอิตาเลียน มีจุดเด่นเป็นการใช้เทคโนโลยี AI ในการดัดแปลงทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวธรรมดา ๆ ให้มีลูกเล่นน่าสนใจมากขึ้น โดยปัจจุบันตัวแอปพลิเคชันถูกดาวน์โหลดไปแล้วมากกว่าห้าล้านครั้ง

ตั้งแต่มีการสร้าง AI ที่สามารถสร้างภาพต่าง ๆ ได้ขึ้นมา ทั้งภาพวาดทั่วไป ภาพวาดลายเส้นมังงะ ไปจนถึงภาพถ่าย สิ่งที่เป็นข้อกังขามาโดยตลอดในแวดวงของศิลปะ ก็คือ AI เหล่านี้สร้างรูปเหล่านั้นขึ้นมาได้อย่างไร? เนื่องจากพื้นฐานการทำงานของ AI นั้นต้องอาศัยเกิดจากการประมวลผล ‘ข้อมูล’ ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย หรือสื่อใด ๆ ก็ตามในปริมาณที่มากพอ เพื่อที่เหล่า AI จะได้เรียนรู้คอนเซปต์ สไตล์ และลายเส้นให้เก่งมากขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถรับรู้และประเมินได้ว่า เมื่อมีคนป้อนคำสั่ง (Promt) ตัวนี้เข้ามา มันจะต้องสร้างภาพแบบใดถึงจะถูกต้องกับคำสั่ง

ซึ่งขั้นตอนการป้อนข้อมูลให้ AI เรียนรู้นี่เองที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า พวกเขาไปเอาภาพจากไหนมาป้อน ถ้าไม่ใช่ภาพที่ศิลปินคนจริง ๆ เขาวาดกันเอาไว้ และประเด็นสำคัญก็คือ ศิลปินเหล่านั้นเขารู้ตัวหรือไม่ว่าตัวเองโดนดูดภาพ เอกลักษณ์ และอัตลักษณ์ในลายเส้นของตนไปใช้ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีข่าวนักวาดที่ออกมาร้องเรียนว่า ผลงานศิลปะ AI ของศิลปินบางคนมีเค้าโครงมาจากผลงานของตนเอง

โดยสรุปแล้ว ประเด็นเรื่องผลงานศิลปะ AI และก็เป็นสิ่งที่ยังถูกยกขึ้นมาถกเถียงกันไม่จบสิ้น ยังไม่นับว่าความหมายของสิ่งที่เรียกว่า ‘ทรัพย์สินทางปัญญา’ เอง ก็กำลังถูกนำมาครุ่นคิดเพื่อหาข้อสรุปของความหมายใหม่ในมิติของ ‘แรงงาน’ ‘ความเป็นเจ้าของ’ ‘การทำให้ศิลปะเป็นประชาธิปไตย’ ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ จึงมีคนในแวดวงศิลปะและงานสร้างสรรค์มากมายที่มองว่า คอนเทนต์ภาพ AI นี้ดูจะ ‘คิดน้อยเกินไป’ สำหรับเพจหลักของคณะที่หลายคนมองว่าเป็น ‘ที่ 1’ ด้านศิลปะและความสร้างสรรค์

📌 เป็นคณะศิลปะ แต่ไม่สนับสนุนคนทำงานศิลปะด้วยกัน?

จากข้อกังขาของ AI และประเด็นเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์นักวาดกับศิลปิน ก็นำมาสู่ข้อคิดเห็นของผู้คนที่ตีสะท้อนกลับไปหาคณะจิตรกรรมว่า ในฐานะการเป็นคณะศิลปะแห่งแรกของไทย ที่สร้างศิลปินมาหลายรุ่น เหตุใดจึงไม่มีความตระหนักรู้เรื่องภัยของ AI ที่อาจเป็นบ่อนทำลายอาชีพคนทำงานสร้างสรรค์ หรือลดทอนคุณค่าของงานสร้างสรรค์ เช่น

“AI มันวาดรูปแบบ original ไม่ได้ สิ่งที่เกิดคือ AI จะเรียนรู้จากภาพที่มีคนเคยวาดไว้แล้วเอามาจดจำและปรับแต่ง สุดท้ายแล้วพอเราใช้งาน AI มันก็คือการเอางานของศิลปินคนอื่นมาแก้แล้วเอามาใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นแหละ (เลิกทำตามเทรนด์แล้วเอา AI มาใช้แบบนี้เถอะ)”

“มหาลัยผลิตนักออกแบบที่เป็นมนุษย์ค่ะ การที่ให้แสงให้บทบาท AI ก็ไม่ต่างอะไรกับทำลายอาชีพออกแบบนั่นแหละค่ะ แถมในภาพที่โพสต์ลงไม่ได้สวยเลย รายละเอียดพิการสุด ๆ”

“สายอาร์ตด่ากันแทบตาย คณะที่ผลิตคนดันมาละเมิดลิขสิทธิ์ซะเอง คนไทยละเมิดลิขสิทธิ์กันจนกลายเป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำกันทุกเรื่องไม่ได้เด้อ เมื่อรับรู้ก็ตระหนักตื่นรู้ใส่ใจ เอาใจเค้ามาใส่ใจเราว่าถ้าเราโดนสูบผลงานที่เราทำขึ้นเองไปปู้ยี่ปู้ยำเละจะรู้สึกยังไง”

“สถาบันนำเสนอผลงานของนักศึกษา ไม่ใช่เอางาน AI มาเพื่อสื่อถึงสถาบันนะครับ ฝากไว้เป็นแนวทางครับ”

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่อง AI แย่งอาชีพคนทำงานสร้างสรรค์ก็ยังเป็นประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ โดยมีอีกหลายฝ่ายที่มองว่า AI เป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ ในการทำงานหรือเพื่อช่วยทุ่นแรงเท่านั้น แต่ก็มีบางส่วนที่มองว่า ความเฟื่องฟูของการใช้ AI เพื่อสร้างผลงานสร้างสรรค์ในยุคนี้กลับทำให้ตลาดและนายจ้างย้อนกลับมาลดทอนคุณค่าของแรงงานศิลปะ นำมาสู่การกดราคาและค่าตอบแทนในการทำงาน อีกทั้งยังเป็นการพาวงการศิลปะและการสร้างสรรค์ให้เดินถอยหลังลงคลอง เพราะผลงานที่ไม่ต้องใช้เวลาหรือความปราณีตมากนักก็ยังเป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งประเด็นนี้ก็ยังมีบางฝ่ายที่โต้แย้งว่า ต้องกลับไปวิพากษ์วิจารณ์ตลาดและนายทุนมากกว่า

📌ไหนว่าไม่ชอบลายเส้นการ์ตูน?

นอกเหนือจากดราม่าเรื่องใช้ AI แล้ว ก็ยังมีหลายคนที่ตั้งข้อสงสัยถึงทัศนคติของคณะจิตรกรรม ที่ลามไปถึงตำนานเมืองที่เลื่องลือกันมานานในหมู่คนเรียนคณะจิตรกรรม (และคนในแวดวงศิลปะ) ว่า แต่ไหนแต่ไรมา งานที่คณาจารย์ในคณะจิตรกรรมยกย่องว่าดี มักเป็นงานที่เน้นสุนทรียะแบบไทยเดิม ลายไทย งานพุทธศิลป์ หรืองานที่เน้นทักษะความละเอียดตามขนบและไม่ค่อยสนับสนุนนักเรียนที่สร้างผลงานด้วยลายเส้นแบบมังงะหรือการ์ตูน โดยมองว่างานลายเส้นแบบการ์ตูนญี่ปุ่นนั้น ‘เป็นแค่’ งานภาพประกอบ ไม่ใช่งานที่มีคุณค่าทางศิลปะอย่างแท้จริง การที่เพจคณะตามเทรนด์ด้วยการทำคอนเทนต์ภาพ AI ลายเส้นอนิเมะเช่นนี้ จึงเหมือนเป็นการปากว่าตาขยิบ ปกติก็ไม่สนับสนุนงานศิลปะลายเส้นญี่ปุ่น แต่พอเป็นกระแสเข้าหน่อย ก็ขอร่วมขบวนกับเขาด้วย

“ได้ยินมาตลอดว่าที่นี่ไม่ถูกลิขิตกับเส้นญี่ปุ่น แต่แปลกที่มอที่ขึ้นชื่อด้านศิลป์ถึงกับ…”

“ก็ไม่แปลกใจที่จะไม่สนใจ เพราะปกติบางคนที่คิดว่าตนเองประเสริฐที่สุดในโลกหล้า ก็มักจะดูถูกลายเส้นแนวการ์ตูนแบบนี้อยู่แล้วว่ามันไม่ใช่ศิลปะ ถึงเจน AI ได้โดยไม่มีสำนึกใด ๆ ทั้งสิ้น”

“เหยียดเส้นแบบอนิเมะ แต่ใช้ AI ขโมยงานทำเส้นอนิเมะโปรโมทคณะ 555”

“ในเพจมีเม้นนึงเจ็บอยู่นะ ที่เจน AI ได้แบบไม่รู้สึกอะไรเลยเพราะปกติบางคนในคณะก็ด้อยค่าลายเส้นแนวอนิเมะแบบนี้อยู่แล้ว”

“จิดกำบอกไม่เปนไรคับเพราะอนิเมะไม่นับเป็นศิลปะ”

📌ท่าทีของคณะจิตรกรรมฯ และการตอบสนองต่อดราม่าที่เกิดขึ้น

ล่าสุด ทางคณะจิตรกรรมยังไม่ได้แสดงท่าทีใดๆ ต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ และยังลงโพสต์ทั่วไปแบบปกติ รวมถึงไม่ได้มีการลบโพสต์ต้นเหตุที่เป็นชนวนดราม่าออกแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของดราม่านี้ก็เป็นหนึ่งในกรณีศึกษาที่ทำให้เราได้มาร่วมกันถกเถียงประเด็นแวดล้อมต่าง ๆ ในแวดวงศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการทำหน้าที่ของสถาบันสอนศิลปะ ไปจนถึงท่าทีของคนทำงานศิลปะที่มีต่อเทคโนโลยี AI และประเด็นเรื่องลิขสิทธิ์