‘สงคราม’ คำที่เหมือนจะไกล แต่กลับใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด เพราะต่อให้เราจะไม่ได้เผชิญผลกระทบจากความรุนแรงโดยตรง แต่ก็ต้องทุกข์ทนจากพิษเศรษฐกิจที่เกิดจากความขัดแย้งกันระหว่างหลาย ๆ ฝ่ายอยู่ดี โดยเฉพาะในยุคสมัยนี้ที่เราต่างเชื่อกันว่ามนุษย์นั้นเต็มไปด้วยความเจริญแล้ว ทว่ากลับยังมีสงครามเกิดขึ้นอยู่อีกมากมายหลายแห่ง และเซตภาพถ่ายสงครามของ เจมส์ นาคท์เวย์ (James Nachtwey) ช่างภาพสารคดีชื่อดังชาวอเมริกัน ก็คงจะเป็นหนึ่งในหลักฐานชั้นดีที่ช่วยยืนยันถึงความโหดร้ายเหล่านั้นได้อย่างไม่มีสิ้นสุด
ล่าสุด ภาพถ่ายของนาคท์เวย์ ก็กำลังจะเปิดเผยสู่สายตาชาวไทยและชาวเอเชียแปซิฟิกเป็นครั้งแรก ใน ‘Memoria Exhibition’ นิทรรศการภาพถ่ายแสนสำคัญที่รวบรวมเอาภาพถ่ายสงครามจากทั่วโลก ที่ศิลปินใช้เวลาในการเก็บภาพยาวนานถึง 42 ปีมาจัดแสดง โดยภาพถ่ายชุดนี้คือภาพถ่ายชุดเดียวกันกับที่นำไปจัดแสดง ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส, มิลาน ประเทศอิตาลี สตอกโฮล์ม ประเทศสวีเดน และ มหานครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ฯลฯ ซึ่งจะเผยให้เห็นถึงชีวิตในขณะเกิดสงคราม และชีวิตหลังสงครามที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ของผู้คนและการพยายามใช้ชีวิตหลังจากการสูญเสีย
ภายในงานทุกคนจะได้พบกับภาพถ่ายสงครามจำนวน 126 ภาพ ซึ่งหนึ่งในภาพที่ศิลปินนำมาจัดแสดง เขาได้เลือกนำภาพถ่ายเซตพิเศษเกี่ยวกับภาพประวัติศาสต์ของชีวิตในสงครามยูเครนมาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นที่แรกของโลกด้วย
นอกจากภาพถ่ายแล้ว เรายังสามารถรับชมวิดีโอสั้นที่กำกับโดย โทมัส นอร์ดานสตัด (Thomas Nordanstad) กับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง War Photographer ที่กำกับโดย Christian Frei (คริสเตียน เฟรย์) ที่ว่าด้วยเรื่องราวของการติดตามการทำงานของนาคท์เวย์เป็นเวลาสองปี ในสงครามที่ประเทศอินโดนีเซีย, โคโซโว และปาเลสไตน์ พร้อมทั้งมีการจัดกิจกรรมพูดคุยกับ James Nachtwey โดยตรง ในวันที่ 5 กันยายน 2566 เวลา 16.00 น. อีกด้วย
สำหรับความน่าสนใจของภาพถ่ายชุดนี้ คือมุมมองที่ศิลปินถ่ายทอดออกมา ในฐานะผู้เฝ้าสังเกตการณ์สงครามอย่างใกล้ชิด เพราะมันส่งผลให้แต่ละภาพที่เราได้ชมในงาน มีมุมกล้องที่ใกล้มาก ราวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ กำลังเกิดขึ้นตรงหน้าจริง ๆ เพื่อสะท้อนให้ผู้ชมได้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามกันแบบชัด ๆ และรับรู้ถึงความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงของมนุษยชาติที่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
ถ้าใครต้องการชมเซตภาพถ่ายสงครามแห่งประวัติศาสตร์ ก็สามารถมาชมนิทรรศการ ‘Memoria Exhibition’ ได้ที่ ชั้น 7 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน - 26 พฤศจิกายน 2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ เข้าชมฟรีโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.rpst.or.th/