272123539_518425609800818_2563692376358750327_n.jpeg

เปิด One for the Road ฉบับ หว่องกาไว

Post on 30 June

“ความหว่อง” ชื่อเรียกคุ้นหูที่ใครได้ยินอาจพอนึกออกว่าภาพตรงหน้าคงหนีไม่พ้นบรรยากาศแสงไฟหลากสีสลัว ๆ คละคลุ้งด้วยหมอกควันตามตรอกซอกซอย ที่ถูกบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มสีคอนทราสจัดซึ่งกำลังจับต้องกับใบหน้าเรียบนิ่งของคนเมือง พร้อมเทคนิคทางกล้องโมชั่นเบลอสลับกับภาพช้า ทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนแต่เป็นวัตถุดิบสำคัญในหนังของผู้กำกับชาวฮ่องกงที่มีสไตล์งานชัดเจนจนสามารถถ่ายทอด ‘ความเหงา’ ออกมาในภาพได้อย่างเนี้ยบกริบ และเขาคนนั้นก็คือ หว่องกาไว (Wong Kar Wai) 

ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน หว่องกาไว ก็ยังถูกยกให้เป็นผู้กำกับชั้นแนวหน้าที่อยู่เบื้องหลังความงามที่มีชีวิตชีวา ภาพชวนฝัน และกลิ่นอายสุนทรียะทางภาพยนตร์แบบเอเชีย จนไม่ว่าใครได้เห็นเป็นต้องถูกสะกด จนเผลอดื่มด่ำกับภาพความโลดโผนในยามค่ำคืน รวมถึงเรื่องราวที่ชวนสับสนและน่าดึงดูดใจในเวลาเดียวกัน ซึ่งก็ถือได้ว่าเขานั้นเป็นผู้กำกับในยุคหลังสมัยใหม่ (Post-Modern) ที่สร้างความรู้สึกนามธรรมออกมาให้เป็นภาพที่ชัดเจนราวกับว่าภาพเหล่านั้นคือ “บทกวีของการเวลา” ที่บอกเล่าถึงความแปลกแยกในสังคมเมือง การถูกปฏิเสธ ช่วงเวลาอันคลาดเคลื่อน ความทรงจำ การไล่ตามบางสิ่ง รวมไปถึงภาวะความสูญเสียในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งแต่ละอย่างที่กล่าวมาต่างเป็นเหมือนตัวแทนของความกังวลที่ผู้คนมีต่อสภาพแวดล้อม เน้นย้ำถึงความลื่นไหลทางวัฒนธรรม โลกที่เปลี่ยนไป รวมถึงบริบททางสังคมการเมือง ยิ่งเมื่อมองจากฉากหลังของฮ่องกงแล้ว ภาพในหนังของหว่องยิ่งตอกย้ำให้เห็นชัดว่าความสดใหม่ที่เราเห็น มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับโลกหลังสมัยใหม่ที่ผู้คนต่างตั้งคำถามกับความก้าวกระโดดทางวัฒนธรรม พร้อม ๆ กับใช้ชีวิตต่อไปอย่างเป็นปัจเจก เพราะแต่ละคนต่างต้องดิ้นรนในทางของตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงคิดถึงใครบางคนอยู่ตลอดเวลา ภาษาภาพและเสียงดนตรีตามจังหวะในหนัง จึงส่งผลต่อความรู้สึกของผู้ชม เพราะเมื่อสายตาเราจับจ้องกับจอภาพ เราก็มักจะแทนความรู้สึกของเราลงไปในภาพนั้นโดยไม่รู้ตัว

ตัวละครในหนังของหว่อง ไม่ว่าจะเกิดขึ้นบนฉากหลังความรักของหนุ่ม-สาว วัยกลางคน หรือรักในเพศเดียวกัน ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ต้องเจอกับความไม่สมหวัง ราวกับว่าหว่องกำลังเล่นล้อกับชะตาของตัวละครและเวลาที่มีแต่จะเดินหน้าต่อไปอย่างไม่ลดละ ด้วยความที่หนังของหว่องมีแกนกลางเป็น ‘ความรู้สึก’ ทำให้วิธีการสร้างงานของเขามีความลื่นไหลไปตามอารมณ์ จึงจะเห็นได้ว่าสไตล์งานของหว่องเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่การสร้างภาพที่สวยงามเท่านั้น แต่ยังมีความหมายทางความรู้สึกไม่น้อยเลยทีเดียว 

หว่องมักค้นหาวิธีใหม่ ๆ ในการเก็บเอาความเจ็บปวด การโหยหา และความต้องการ มาเล่าผ่านหนังอยู่เสมอ ซึ่งปฏิเสธได้ยากว่าสิ่งเหล่านี้ต่างเป็นความรู้สึกส่วนตัวที่ไม่ว่าใครก็คงจะเคยพบเจอกันมาบ้าง ดังนั้น อารมณ์ค้างหลังจากได้ชมหนังของหว่องจึงเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติที่สุด หากจะมีประเด็นอื่น ๆ นอกจากเรื่องราวความรักที่ล้มเหลว สิ่งนั้นก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่องราวของ เวลา และ การเปลี่ยนแปลง เพราะในหนังของหว่อง เขามักจะใช้เวลาเป็นตัวเชื่อมปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับตัวละคร รวมถึงตัวละครกับคนดูเองด้วยเช่นกัน ดังนั้น ภาพยนตร์ของเขาจึงเป็นเหมือน ‘การให้คุณค่ากับเวลา’ ผ่านฉากหลังธรรมดาที่เราพบเจอได้ในชีวิตจริง นอกจากนี้ เวลาในงานของหว่องยังถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะที่เต็มไปด้วยการก้าวกระโดดไปมา โดยมีความรักและความทรงจำของตัวละครเป็นตัวตอบรับช่วงเวลาเหล่านั้น

ผมบอกกับนักแสดงเสมอว่า ผมจะเป็นตาข่ายรองรับคุณ คุณสามารถกระโดดไปมาได้อย่างอิสระ แล้วจะคอยจับจังหวะเหล่านั้นเอง

หว่องกาไว

แม้ว่าภาพยนตร์ของหว่องจะมีความเป็นศิลปะ ตัวละครของเขามักเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง และอาจดูห่างไกลจากผู้ชมอย่างเรา แต่ส่ิงที่ทำให้ทุกคน รวมถึงคนรุ่นใหม่ เข้าถึงหนังหว่องได้ก็คือ การใช้ความรู้สึกเป็นเครื่องนำทางผู้ชม สู่เรื่องเล่าที่ไม่ปะติดปะต่อกัน คล้ายกับว่าผู้ชมได้เดินทางไปสำรวจความรู้สึกนึกคิดตามตัวละคร เพราะในชีวิตจริง ความรู้สึกของเราต่างไม่ชัดเจนและไม่ปะติดปะต่อกัน อีกทั้งในบางครั้งก็เกิดขึ้นอย่างไม่ได้ตั้งใจ ภาพในหนังของหว่องจึงเป็นเหมือนการปั้นความรู้สึกออกมาให้มีตัวตนอยู่ในโลกบนจอหนังนั่นเอง

ด้วยความที่สไตล์ภาพและความรู้สึกในหนังของหว่องมีความชัดเจนในทางของตัวเอง ภาพยนตร์ของเขาจึงได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย โดยเฉพาะอิทธิพลต่อนักทำหนังรุ่นใหม่มากมาย นำมาสู่การร่วมงานกันครั้งสำคัญของ หว่องกาไว ในฐานะโปรเดิวเซอร์ และ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับมากความสามารถ ในภาพยนตร์เรื่องล่าสุดอย่าง One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ ที่พากันไปคว้ารางวัลบนเทศกาลภาพยนตร์ Sundance มาได้สำเร็จ และเชื่อว่าผู้ชมจะได้สัมผัสกับช่วงเวลาที่อบอวลไปด้วยความรู้สึกผ่านภาพยนตร์จอยักษ์กันอย่างแน่นอน

<p>Happy Together (1997)</p>

Happy Together (1997)

เรื่องราวการเดินทางพบเจอผู้คนหน้าใหม่ และความสัมพันธ์ลึกซึ้งซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาหนึ่ง ได้กลายมาเป็นส่วนผสมหลักในงานของหว่องเรื่อยมา เราจึงจะเห็นว่านอกจากภาพตรอกซอกซอย หรือห้องหับเล็ก ๆ ในย่านคนพลุกพล่าน ส่ิงหนึ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหนังของหว่องคือ ฉากที่เต็มไปด้วยอารมณ์มากมายอบอวลอยู่ภายในรถ อย่างใน Happy Together (1997) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางมายังบัวโนสไอเรสของคู่รักเกย์พลัดถิ่นสองคนคือ ‘ไหล เยี่ยฟา’ (เหลียงเฉาเหว่ย) และ ‘โห เป่าหวัง’ (เลสลี จาง) ที่กลับกลายเป็นฉากรักหวานอมขมกลืน หว่องเองก็ได้ใส่สะท้อนอารมณ์อันหนักหน่วงลงบนภาพในแผ่นฟิล์ม จนหลายครั้ง ผู้ชมอย่างเราถึงกลับกระอักกระอ่วนใจตามไปด้วย

หรืออย่างในภาพยนตร์เรื่อง Days of Being Wild (1990) ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของ หยกไจ๋ (เลสลี่ จาง) สุภาพบุรุษหนุ่มพราวเสน่ห์ ที่ไม่คิดจะลงหลักปักฐานกับหญิงเพียงคนเดียว แม้ว่าจะมีหญิงสาวสองคนที่ยืนอยู่เคียงข้างเขา เวลาเดียวกันนี้ หยกไจ๋ได้พยายามค้นหาว่าแม่ที่แท้จริงของเขาจากผู้หญิงที่เลี้ยงเขามา ด้วยความโดดเด่นด้านสไตล์งานภาพที่ให้อารมณ์เหมือนผู้ชมกำลังล่องลอยอยู่ในภวังค์อันน่าหลงไหลผ่านฮ่องกงในปี 1960 ทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวังวนความเหงาบนเงาม่านหมอกและสีสันอันจัดจ้าน ที่เชื่อมต่อโยงถึงภาพยนตร์เรื่องอื่น รวมถึงหนังดังอย่าง In the Mood for Love (2000) และ 2046 (2004) ไม่เว้นแม้แต่รูปแบบการทำงานใน One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ (2021) ภาพยนตร์โดย บาส นัฐวุฒิ ที่มีหว่องเป็นโปรดิวเซอร์

เราชอบ Art Direction ในหนังของหว่องมาก เราว่าความพิเศษของหนังหว่องอยู่ตรงภาพและเสียงที่สร้างบรรยากาศที่ส่งผลกระทบต่อตัวละคร แล้วยังส่งผลกระทบต่อคนดู เราว่าเราเชื่อมโยงบางอย่างระหว่าง ‘หยกไจ๋’ ตัวละครนกไร้ขาของ ‘เลสลี่ จาง’ กับ ‘บอส’ ใน ‘One for the Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ’ โดยไม่ได้ตั้งใจ ปมเรื่องผู้หญิงที่ตัวละครบอสมี อาจจะมาจากส่วนประกอบบางอย่างในความเป็น หว่องกาไว ที่ซ่อนอยู่ในหนังเรื่องนี้ แล้วมาผสมกับอินเนอร์ของผมในระหว่างที่เราทำงานร่วมกัน พอเคาะตัวละครเสร็จแล้วถึงได้รู้ว่าทั้งสองตัวละครแทบจะเป็นพี่น้องกันเลย

บาส นัฐวุฒิ

การเดินทางบนถนนชีวิตที่ทอดยาวของ บอส เจ้าของบาร์จากนิวยอร์ก (ต่อ-ธนภพ) และ อู๊ด (ไอซ์ซึ-ณัฐรัตน์) ซึ่งได้เริ่มต้นขึ้นอีกครั้งเมื่ออู๊ดพบว่าตัวเองอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของชีวิต สะท้อนให้เห็นว่า ในบางครั้ง โชคชะตาก็นำพาให้เราได้พบผู้คนใหม่ และทำให้เราต้องเจอกับการจากลาเช่นกัน สิ่งนี้เชื่อมโยงถึงภาพยนตร์ของหว่องอยู่เนือง ๆ ตรงที่ภาพยนตร์ของหว่องเอง มักเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างช่วงเวลาและเส้นทางชีวิตที่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผลงานของ บาส-นัฐวุฒิ ขับเคลื่อนความรู้สึกผู้ชมผ่านบรรยากาศของหนังแล้ว จึงเป็นที่น่าสนใจว่าหากเราเห็นภาพยนตร์เรื่องนี้ในโรงภาพยนตร์ กลิ่นอายแบบหว่อง ๆ จะแสดงออกมาให้เห็นในรูปแบบใดบ้าง

อ้างอิง :
easternkicks
anothermag
criterion