ว่ากันว่าศิลปะนั้นคือสิ่งที่มีความหลากหลาย อะไรก็สามารถเป็นศิลปะได้ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว เราอาจจะใช้คำคำนั้นกันได้ไม่ถนัดปากนัก เพราะถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้มีองค์กรที่ควบคุมเรื่องศิลปะอย่างเป็นรูปธรรม ทว่างานศิลปะที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นศิลปะ ก็มาจากเมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลางทั้งสิ้น
รวมไปถึงบรรดาองค์กร มูลนิธิ สถาบัน และหน่วยงานต่าง ๆ ด้านศิลปะ ทั้งทางภาครัฐและเอกชน ผู้มีหน้าที่ออกทุนให้กับศิลปิน ก็กระจุกกันอยู่แต่ภายในเมืองหลวงเช่นกัน ผลที่เกิดขึ้นก็คือ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะไม่ได้มีองค์กรใดมาควบคุมงานศิลปะ (อย่างเป็นรูปธรรม) แต่ศิลปะก็ถูกควบคุมผ่านสภาพแวดล้อมของวงการศิลปะไทย ที่เอื้อให้รูปแบบงานศิลปะที่เป็นที่ ‘ถูกใจ’ ของคนในศูนย์กลางได้รับการนำเสนอมากกว่าอยู่ดี
นั่นจึงเป็นที่มาของนิทรรศการ ‘OPEN WORD’ นิทรรศการเปิดตัวของกลุ่มภูธรคอนเนค เครือข่ายการดำเนินงานศิลปะแบบกระจายอำนาจ ของศิลปินภูธรทั่วประเทศไทย ที่ต้องการเปิดพื้นที่การแสดงออกในท้องถิ่นที่หลากหลาย และลดการกระจุกทางโอกาส เพื่อผลักดันให้ศิลปะเป็นสิ่งสามัญสำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียม และรื้อถอนความเป็นศูนย์กลางนิยมของสังคมศิลปะ
ดังนั้น ในนิทรรศการนี้เราเลยจะได้เจอกับผลงานศิลปะของศิลปิน 27 คน จากเครือข่ายศิลปินภูธรจากภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย ที่ต้องการออกมาแสดงตัวและประกาศจุดยืนถึงการมีตัวตนของกลุ่มคนนอกศูนย์กลาง ประกอบไปด้วย กอบพงษ์ ขันทพันธ์, ชินดนัย ปวนคำ, พงษธร นาใจ, วีรยุทธ นางแล, พงศ์ธร กิจพิทักษ์, อนุสรณ์ ธัญญะปาลิต, อนุรักษ์ ธัญญะปาลิต, โรจน์วิรุฬห์ วรรณแก้ว, พัชรา นันต๊ะนา, ประเชิญ จันทร์ตา, มนพร รอบรู้, พิชิต สอนก้อม, อทิตยาพร แสนโพธิ์, ญานุศักดิ์ สืบเมืองซ้าย, ไพศาล อำพิมพ์, นิติพงศ์ นิกาจิ, มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ, มูฮัมหมัดซุรียี มะซู, อิซูวัน ชาลี, อนุวัฒน์ อภิมุขมงคล, บุษราพร ทองชัย, วิลาวัณย์ เวียงทอง, อวิกา สมัครสมาน, ประภัสสร คอนเมือง, กฤตพร มหาวีระรัตน์, สุธีธิดา สีบุดดี และ อรชุน ทองรักษ์
หากใครอยากลองเสพงานศิลป์จากมุมมองของคน ‘นอกศูนย์กลาง’ บ้างว่าเป็นอย่างไร ก็สามารถตามมาชมกันได้ในนิทรรศการ ‘OPEN WORD’ ณ Kai Kaew Lamphun ไก่แก้วลำพูน จ.ลำพูน ตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน - 30 พฤศจิกายน 2566
ติดตามรายละเอียดนิทรรศการเพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/events/1332813964294235/?ti=ls