ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา คริสตจักรได้มีความพยายามปรับภาพลักษณ์ของตัวเองให้ทันสมัยมากขึ้น หนึ่งในความพยายามนั้นก็คือการปรับตัวเข้ากับวงการศิลปะ โดยเฉพาะการขยายพื้นที่ใน Vatican Museum เพื่อใช้เป็นส่วนจัดแสดงงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัย จากเดิมที่จัดแสดงเพียงผลงานศิลปะในยุคเก่า โดยผลงานศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยชุดแรก ๆ ที่เริ่มนำมาจัดแสดงในคอลเลกชันนี้ก็จะมีงานของ ฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon), มาร์ค ชากาล (Marc Chagall), รินโกะ คาวาอุจิ (Rinko Kawauchi) และ บอตติเชลลี (Botticelli) เป็นต้น
ล่าสุด เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ทางคริสตจักรก็ได้ทำการเชิญศิลปินร่วมสมัยมากมาย ให้เข้าร่วมงานเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปี ของการจัดแสดงคอลเลคชันศิลปะสมัยใหม่และร่วมสมัยแห่งวาติกันที่ ‘The Sistine Chapel’ ในกรุงวาติกัน ประเทศอิตาลี เพื่อนำเสนอคอลเลคชันงานศิลปะจำนวนมหาศาลเหล่านี้สู่สายตาของสาธารณชน อันเป็นสัญญาณของการก้าวสู่ยุคสมัยใหม่
อย่างไรก็ตาม มีรายชื่อศิลปินคนหนึ่งที่ชวนสะดุดตาและสร้างความเซอร์ไพรส์ให้กับผู้ทราบข่าวคนอื่นๆ เป็นอย่างมาก นั่นก็คือ ‘แอนเดรส เซอร์ราโน (Andres Serrano)’ ช่างภาพชาวอเมริกันผู้เคยสร้างผลงานสุดอื้อฉาวที่สะเทือนไปทั้งกรุงวาติกันอย่าง ‘Piss Christ (1987)’ ที่สร้างความขุ่นข้องหมองใจให้กับชาวคริสต์และคริสตจักรกันจนควันออกหู และพากันโจมตีว่าผลงานชิ้นนี้กำลังลบหลู่ดูหมิ่นศาสนาคริสต์ อีกทั้งยังน่ารังเกียจสุด ๆ เพราะเขาดันเอาพระเยซูพลาสติกที่ถูกตรึงบนไม้กางเขนมาแช่อยู่ในฉี่ของตัวเอง แล้วก็ถ่ายภาพออกมาขาย ซึ่งในท้ายที่สุดภาพนี้ก็สามารถขายได้จริง ๆ ด้วยราคาสูงลิบลิ่วถึง 277,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 9.7 ล้านบาท
ดังนั้นไม่ว่าทางคริสตจักรจะเชิญใครมาร่วมงานนี้ก็ตาม เชื่อว่าชื่อของเซอร์ราโน จะต้องเป็นชื่อท้าย ๆ ที่เรานึกถึงกันอย่างแน่นอน แม้กระทั่งเจ้าตัวเองก็ยังรู้สึกเซอร์ไพรส์และไม่อยากจะเชื่อเหมือนกันว่า ทางคริสตจักรจะเชิญเขามาร่วมงานจริง ๆ แถมเขายังบอกกับสำนักข่าว New York Times อีกด้วยว่า นอกจากจะไม่โดนคนในงานจวกยับซึ่ง ๆ หน้าแล้ว โป๊ปฟรานซิสยังถึงกับอวยพรให้และยกนิ้วโป้งขึ้นมาชื่นชมเขาอย่างยินดีด้วย
ทางพระสังฆราชพอล ไทเกอร์ (Bishop Paul Tighe) ผู้เป็นราชเลขาในสำนักวาติกันก็ได้กล่าวถึงจุดประสงค์ของการจัดงานครั้งนี้ว่า ในปีนี้พวกเขาต้องการเฉลิมฉลองและกระชับความสัมพันธ์กับวงการศิลปะให้แน่นแฟ้นมากขึ้น ผ่านการทำความรู้จักกับนักเขียน นักดนตรี และศิลปินหลาย ๆ คน เพื่อขยายโอกาสที่คริสตจักรกับศิลปินเหล่านั้นจะได้ทำงานร่วมกัน แต่ถึงอย่างนั้นพวกเขาก็ไม่ได้มีแผนแม่บทที่ชัดเจนว่าจะทำอะไรหรือเลือกใครเป็นพิเศษ และมีเพียงศิลปินคนโปรดในใจที่อยากให้มาร่วมงานเท่านั้นเอง (ซึ่งไทเกอร์ไม่ได้เฉลยแต่อย่างใดว่าศิลปินคนโปรดที่ศาสนจักรเล็งไว้มีใครบ้าง)
นอกเหนือจากเรื่องงานศิลปะกับศิลปินต่าง ๆ แล้ว ภายในงานเลี้ยง โป๊ปฟรานซิสยังกล่าวกับเหล่าศิลปินและคนที่มาร่วมงานให้ตระหนักถึงคนยากจน ปัญหาเรื่องความอยุติธรรมในสังคม และปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย