3 เรื่องเกี่ยวกับการอ่านที่ได้จากการอ่าน ‘ว่าด้วยการอ่าน’ งานเขียนคลาสสิก โดย มาร์แซ็ล พรุสต์

Post on 5 December

การอ่านคืออะไร? ถ้าตอบแบบกำปั้นทุบดินสักหน่อยก็คงต้องบอกว่าสิ่งที่ทุกคนกำลังทำตอนนี้นี่แหละที่เรียกว่าการอ่าน แต่ถ้าจะตอบแบบ ‘มาร์แซ็ล พรุสต์’ ในหนังสือเรื่อง ‘ว่าด้วยการอ่าน’ (Sur la lecture) การอ่านคงจะเป็นเรื่องของการอยู่ที่นั่นไปพร้อม ๆ กับอยู่ที่นี่ เพราะในขณะที่เราคิดว่าตัวเองกำลังอินอยู่ในห้วงของหนังสือ โลกความจริงก็ยังคงตั้งอยู่ตรงนี้ เรายังคงอยู่ที่นี่ และมีโอกาสหลุดออกจากพื้นที่การอ่านได้ตลอดเวลา

ว่าด้วยการอ่าน คือหนังสือของพรุสต์ นักเขียนวรรณกรรมสมัยใหม่ชาวฝรั่งเศสจากศตวรรษที่ 20 ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความเรียงในนิตยสาร ก่อนจะพัฒนามาเป็นบทนำให้กับหนังสือเรื่อง ‘เมล็ดงาและดอกลิลี’ (Sesame and Lilies) ของ จอนห์น รัสกิน นักคิด นักประวัติศาสตร์ และนักวิจาร์ณศิลปะชาวอังกฤษ จากศตวรรษที่ 19 ที่รวมเอาการบรรยายเกี่ยวกับบทบาทและความสำคัญของหนังสือตามที่สาธารณะมารวมเล่ม ซึ่งในขณะที่พรุสต์เขียนถึงเรื่องนี้ เขาก็พบว่ามีความเห็นบางอย่างที่ไม่ตรงกับรัสกิน และความคิดนั้นก็นำพาเขาสู่ขอบเขตใหม่ของการค้นหาสิ่งที่เรียกว่า ‘ความจริง’ (verité) ในการอ่าน ที่ชวนเราสำรวจถึงความรู้สึกนั้นไปพร้อมกัน

หลังจากที่อ่านหน้าสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้จบ เราก็นึกถึงคำพูดหนึ่งของพรุสต์ที่เขียนไว้ในเล่มนี้ว่า “เราสัมผัสได้เป็นอย่างดีว่าปัญญาของเราเริ่มต้น ณ จุดที่ปัญญาของผู้เขียนสิ้นสุด” และเพราะว่าการอ่านไม่ใช่การสนทนาจริงอย่างที่พรุสต์เสนอ เราเลยไม่สามารถถามตอบข้อสงสัยใด ๆ กับพรุสต์ได้โดยตรง ดังนั้น ในฐานะนักอ่านคนหนึ่ง (และตอนนี้กำลังสวมบทเป็นนักเขียน) การเขียนรีวิวพร้อมสรุปประเด็น แล้วมาชวนคนที่สนใจคุยกันต่อ ก็คงจะเป็นหนึ่งในวิถีทางคลี่คลายความสงสัย และทำให้เราเข้าใจกับงานเขียนชิ้นนี้ได้ดีขึ้นในแบบฉบับของตัวเอง

ถ้าคุณเองก็สนใจในเรื่องของการอ่าน และกำลังสนใจหนังสือเรื่อง ‘ว่าด้วยการอ่าน’ เล่มนี้เช่นกัน (หรืออ่านจบแล้ว) ก็สามารถตามมาอ่านสามประเด็นน่าสนใจที่เราคัดสรรมาจากหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมกันได้เลย

หนังสือ พื้นที่ และจังหวะเวลา องค์ประกอบแยกไม่ขาดที่ว่าด้วยที่แห่งนี้และที่แห่งนั้นที่นักอ่านดำรงอยู่

“การอ่านหนังสือคงช่วยขัดขวางมิให้ผมมองสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นอื่นไดไปได้นอกจากเรื่องน่ารำคาญ กระนั้นมันกลับจารึกอุปสรรคเหล่านี้เป็นรอยจำอันแสนหวานไว้กับเรา” - มาร์แซ็ล พรุสต์

ในขณะที่มือเราถือหนังสือและเริ่มละเลียดสายตาไปตามตัวอักษรตรงหน้าทีละบรรทัด ตัวเรายังคงรู้สึกได้ถึงสายลมที่พัดผ่าน กลิ่นกับข้าวที่ลอยออกมาจากในครัว รวมไปถึงเสียงดังโหวกเหวกจากข้างบ้าน หรือแม้แต่โลกอันห่างไกลที่ไม่ได้ปรากฏตัวอยู่ตรงหน้า ก็ยังสามารถแล่นผ่านเข้ามาในความนึกคิดของเราได้ตลอดเวลา ขณะที่ตาจดจ้องตัวหนังสือ

สิ่งเหล่านี้ปรากฏในพาร์ทแรกของหนังสือว่าด้วยการอ่าน ผ่านการที่พรุสต์ได้พาเราเข้าไปนั่งอยู่ในหัวของเขาที่เต็มไปด้วยความคิด รายละเอียดยิบย่อย ยุ่งเหยิง และดังอึกทึก ที่บรรยายทุกองค์ประกอบ ทุกความรู้สึก ที่เขามีต่อสิ่งรอบตัวในระหว่างอ่านหนังสือ จนชวนให้เราสมาธิหลุดในทุกบรรทัดตามไปด้วย ซึ่งสิ่งนี้ได้ทำให้เราเห็นว่า เมื่อเราอ่านหนังสือ เราไม่ได้มีเพียงหนังสือ แต่เรายังมีพื้นที่และจังหวะเวลาขณะอ่าน รวมถึงปัจจัยอีกมากมายที่เข้ามาขัดจังหวะเราให้หลุดลอยออกไปจากการอ่านเสมอ

การบรรยายในส่วนแรกนี้เลยพิเศษมาก เพราะพรุสต์ทำให้เราเข้าใจความรู้สึกของเขาได้เป็นอย่างดี ผ่านการพรรณนามากมายเหล่านั้น จนแม้แต่เราเองก็รู้สึกไปด้วยเหมือนกันว่าการมองและคิดทุกอย่างของพรุสต์ในทุกตัวอักษร ก็ได้ขัดจังหวะมาถึงตัวเราเองที่กำลังอ่านความคิดของเขาอยู่ ณ ขณะนั้น อีกทอดหนึ่ง จนสติแทบจะไม่อยู่กับเนื้อกับตัวเหมือนกัน

ว่าด้วยการอ่านของพรุสต์เลยเป็นหนังสือที่เริ่มต้นด้วยความยุ่งเหยิงชวนท้อใจ ไม่เข้าใจ แต่เมื่อเราผ่านพ้นจุดนั้นจนเข้าสู่เนื้อเรื่องหลัก ทุกอย่างกลับอ่านง่ายฉลุย และเมื่อเข้าสู่จุดสุดท้าย เราก็ค่อย ๆ รู้สึกเข้าใจในสิ่งที่เขาต้องการจะบอก การอ่านเลยเป็นสภาวะที่ทำให้เรามีตัวตนอยู่ในหลายพื้นที่ หลายเวลา แม้จะชวนคันยุบยิบในใจ แต่มันก็เป็นเสน่ห์อันแสนรื่นใจที่หาได้จากการอ่านหนังสือเท่านั้น

การอ่านต่างจากการสนทนา

“การอ่านคือการรับสารจากอีกฝ่ายหนึ่งขณะที่เราอยู่เพียงลำพังซึ่งตรงข้ามกับการสนทนา อีกนัยหนึ่ง การอ่านคือการได้เพลิดเพลินกับพลังแห่งปัญญาอย่างสันโดษโดยไม่ถูกรบกวน” - มาร์แซ็ล พรุสต์

การอ่านต่างจากการสนทนา ถือว่าเป็นประเด็นแรก ๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของงานเขียนชิ้นนี้ของพรุสต์ เพราะในขณะที่เขาเขียนบทนำให้กับหนังสือเรื่อง ‘เมล็ดงาและดอกลิลี’ ของรัสกิน เขาก็รู้สึกไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอหนึ่งเกี่ยวกับการอ่านและหนังสือของรัสกิน ผู้มองว่าหนังสือเป็นเหมือนพื้นที่สนทนาของนักอ่านกับสัตบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ หรือคนที่เก่งกาจและมีปัญญาสูงส่งกว่าตัวเองมาก

สำหรับพรุสต์การอ่านไม่เท่ากับการสนทนา เพราะเป็นการสื่อสารทางเดียวที่นักอ่านไม่สามารถตอบกลับไปยังนักเขียนได้ แต่มันก็เป็นความพิเศษที่เราจะได้ซึมซับและทำความเข้าใจกับขุมทรัพย์แห่งปัญญาตรงหน้าอย่างเงียบเชียบคนเดียวได้อย่างสงบสุข แล้วตกตะกอนความคิดที่ได้ในระหว่างความสันโดษนั้นให้กลายเป็นแก่นความรู้ ดังนั้น หนังสือจึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้อ่านร่วมด้วยถึงจะสัมฤทธิผล

จุดเริ่มต้นของนักอ่าน คือจุดสิ้นสุดของนักเขียน

“เราสัมผัสได้เป็นอย่างดีว่าปัญญาของเราเริ่มต้น ณ จุดที่ปัญญาของผู้เขียนสิ้นสุด” - มาร์แซ็ล พรุสต์

หนึ่งในข้อเสนอที่พรุสต์พูดไว้ในหนังสือเล่มนี้ที่เรารู้สึกว่าน่าสนใจมาก ๆ ก็คือจังหวะเวลาระหว่างนักเขียนและนักอ่าน เพราะในขณะที่ผู้เขียนถ่ายทอดสติปัญญา ความรู้สึก และทุกสิ่งทุกอย่างที่เขารู้แบบทุกหยาดหยด และจบหนังสือที่ตัวเองเขียนลงอย่างโล่งใจ ในมุมมองของพรุสต์ จังหวะเวลานั้นเพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นทางสติปัญญาของนักอ่านเท่านั้น เพราะเรายังคงคิดถึงชะตากรรมของเหล่าตัวละครผู้น่าสงสาร ไปจนถึงการตีความความรู้มากมายที่ได้รับมาเมื่อครู่

หากตีความตามนั้น เราเลยคิดว่า ในมุมมองของพรุสต์ หนังสือคือเครื่องมือ คือแรงกระตุ้น และสิ่งยั่วเย้า ที่ยั่วยวนเราให้เข้าถึงขุมพลังแห่งปัญญา ส่วนนักเขียนเปรียบเหมือนผู้ที่ชี้ชวนให้เรามองเห็นสิ่งที่น่าสนใจ ในขณะที่การอ่านคือวิธีการที่จะพาเราตามไปทำความเข้าใจสิ่งเหล่านั้น และในท้ายที่สุด เมื่อเรามีส่วนร่วมกับหน้าสุดท้ายของหนังสือ ที่ซึ่งปัญญาของนักเขียนจบลงแล้ว เมื่อนั้นเราถึงจะสามารถเข้าถึงการอ่านอย่างแท้จริง ไม่ใช่การเชื่ออย่างสนิทใจเพียงอย่างเดียว

สำหรับใครที่อ่านทุกประเด็นจบ แล้วอยากสัมผัสอรรถรสในการอ่านและก้าวเข้าสู่โลกแห่งภวังค์ความเงียบที่เต็มไปด้วยเสียงอันเป็นเอกลักษณ์ของพรุสต์ด้วยตัวเอง ก็สามารถติดตามรายละเอียดการสั่งซื้อหนังสือ ‘ว่าด้วยการอ่าน’ ได้ทางเพจสำนักพิมพ์ readtherunes

หรือทดลองอ่านตัวอย่างหนังสือ ว่าด้วยการอ่าน (Sur la lecture) ได้ เพียงคลิกลิงก์นี้เลย