4 เหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์โลก ที่กลายเป็นแรงบันดาลใจ ‘The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes’

Post on 21 November

บทความนี้มีการเปิดเผยเหตุการณ์สำคัญบางส่วนภายในเรื่อง

‘The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes’ คือภาพยนตร์เรื่องที่ห้าของแฟรนไชส์เกมล่าชีวิต ที่พาเราย้อนกลับไปเฝ้ามองภาคต้นปฐมบทของ ‘คอริโอเลนัส สโนว์’ ประธานาธิปดีจอมเผด็จการ ศัตรูตัวฉกาจที่ แคตนิส เอฟเวอร์ดีน และพวกพ้อง ต้องต่อสู้ด้วยอย่างยากลำบากในภาคก่อนหน้า โดยมีฉากหลังเป็นยุคสมัยที่รัฐพาเน็มเพิ่งผ่านสงครามกลางเมืองมาหมาด ๆ และเกมล่าชีวิตก็เพิ่งเริ่มจัดได้เพียง 10 ครั้งเท่านั้น

ด้วยความที่ทุกอย่างภายในภาคนี้เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมด สิ่งที่เราจะได้รับชมกันจึงเป็นภาพของรัฐพาเน็มที่ยังไม่ได้เจริญรุ่งเรืองเท่ากับภาคหลัก ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี รูปแบบการปกครองและเกมล่าชีวิต ที่ถือว่ายังมีช่องโหว่อยู่มาก เนื้อหาภายในภาคนี้จึงเน้นหนักไปในเกมการเมืองอันเข้มข้น พร้อมพาเราไปสำรวจเบื้องหลังของเกมนี้ผ่านตัวละครใหม่อย่าง ‘ดร.โวลัมเนีย กอล’ ผู้ออกแบบเกมล่าชีวิต และ ‘คาสกา ไฮบอตทอม’ บิดาผู้คิดค้นเกมล่าชีวิตขึ้นมาเป็นคนแรก ที่ยิ่งดูก็ยิ่งชวนให้ผู้ชมนึกตั้งคำถามตามไปด้วยตลอดว่า “เกมล่าชีวิตมีอยู่เพื่ออะไรกันแน่?”

และอีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่น่าพูดถึงใน ‘The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes’ ก็คือฉากที่ชวนให้นึกถึงเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์โลก และเกิดขึ้นอีกครั้งในภาพยนตร์เรื่องนี้ ซึ่ง GroundControl ก็ได้รวบรวมมาเล่าให้ทุกคนฟังด้วยกันถึงสี่ฉากสี่เหตุการณ์ ที่เมื่อรู้แล้วจะช่วยเพิ่มความสนุกในการดูและมองเห็นรายละเอียดเบื้องลึกได้มากขึ้นแน่นอน

จากโคลอสเซียมและกลาดิเอเตอร์ สู่เกมล่าชีวิตแบบติดขอบจอ

หากเราจะวิเคราะห์กันว่ารูปแบบของเกมล่าชีวิตมีความเหมือนกับเหตุการณ์ใดในประวัติศาสตร์โลกมากที่สุด เชื่อว่าทุกคนจะต้องนึกถึง ‘โคลอสเซียม’ ขึ้นมาเป็นอย่างแรกแน่นอน เพราะสถานที่แห่งนี้คือลานประลองขนาดใหญ่แห่งแรกที่นำการต่อสู้อันดุเดือดระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับสัตว์ดุร้าย มาทำเป็นมหรสพสร้างความบันเทิง โดยเริ่มสร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิเวสเปเซียนแห่งจักรวรรดิโรมัน ซึ่งคนที่เข้ามาต่อสู้ในลานประลองที่ว่านี้ก็จะถูกเรียกขานว่า ‘กลาดิเอเตอร์’

แม้ความหมายของคำว่า ‘กลาดิเอเตอร์’ จะแปลว่า ‘นักรบดาบ’ ที่ฟังดูสวยหรูและชวนให้นึกถึงความองอาจกล้าหาญ ทว่าแท้จริงแล้วพวกเขาส่วนใหญ่ล้วนมีสถานะเป็น ‘ทาส’ (สามารถเป็นได้ทั้งชายและหญิง) กลุ่มคนที่ขายตัวให้กับโรงฝึก หรือคนที่ติดหนี้มหาศาลจนไม่สามารถมีอิสระในการเลือกชีวิตของตัวเองได้ หรือถ้าไม่ใช่ทาส ก็จะมีสถานะเป็น ‘เชลยศึก’, ‘นักโทษ’ หรือ ‘คนเถื่อน’ ที่ถูกกวาดต้อนจับตัวมา และถึงแม้ว่าต้องต่อสู้กับความเป็นความตายตลอดเวลา แต่พวกเขาก็ไม่ได้รับการดูแลที่ดีนัก เพราะใคร ๆ ก็ไม่อยากลงทุนกับคนที่สามารถตายได้ตลอดเวลา ส่งผลให้เรื่องที่อยู่และอาหารการกินของกลาดิเอเตอร์นั้น ไม่ได้ต่างจากทาสทั่วไปสักเท่าไร อย่างไรก็ตามการเป็นกลาดิเอเตอร์ก็สามารถกลายเป็นบันไดขั้นสำคัญที่ทำให้คนคนนั้นกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงและมีเงินทองได้ หากแสดงการต่อสู้อย่างสมศักดิ์ศรี และเป็นที่รักของคนดู

รูปแบบของเกมล่าชีวิตเองก็มีความเหมือนกับโคลอสเซียมเช่นกัน เพียงเปลี่ยนจากการเชิญชวนให้ผู้คนมานั่งดูในอัฒจันทร์ขนาด 50,000 ที่นั่ง เป็นการชมถ่ายทอดสดผ่านทางโทรทัศน์แทน ซึ่งจุดมุ่งหมายของการชมในครั้งนี้ ก็เพื่อเสพความบันเทิงเลือดสาด แบบถึงตาย และความหมายแฝงที่เป็นการย้ำเตือนใจให้คนภายในแคปิตอลพึงระลึกไว้เสมอว่า คนจากทั้ง 12 เขตนั้นหาได้มีคุณค่าความเป็นมนุษย์เท่ากับเหล่าประชาชนชาวแคปิตอล นอกจากเป็นแรงงานในการหล่อเลี้ยงพาเน็ม หรือเป็นสัตว์ที่ใช้ให้ความบันเทิงชาวแคปิตอลเท่านั้น

นอกจากรูปแบบการจัดเกมแล้วสถานะของ ‘เครื่องบรรณาการ’ จากทั้ง 12 เขต กับ ‘กลาดิเอเตอร์’ ก็ยังเหมือนกันด้วย กล่าวคือพวกเขาคือคนที่มีสถานะต่ำต้อย ไร้ทรัพย์สิน และอิสระภาพในชีวิตของตัวเอง (ยิ่งใช้เงินหรือขอรับของจากทางการมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีรายชื่อเพิ่มมากขึ้นและมีโอกาสถูกจับรายชื่อมากขึ้นเท่านั้น) และพวกเขายังต้องเข้ามาต่อสู้กันเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชมด้วย อีกทั้งเมื่อกลายเป็นผู้ชนะ ก็จะได้รับชื่อเสียงและเกียรติยศติดตัวกลับไป ดังนั้นภาพโคลอสเซียมและกลาดิเอเตอร์ จึงเป็นเหตุการณ์จริงในประวัติศาสตร์โลกที่สะท้อนอยู่ในเรื่องราวของเกมล่าชีวิต

**เครดิตภาพประกอบ: [People](https://people.com/the-ballad-of-songbirds-and-snakes-book-to-movie-differences-8403731)**

เครดิตภาพประกอบ: People

Human Zoo สวนสัตว์มนุษย์

ในฉากหนึ่งของ ‘The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes’ ที่เกิดขึ้นหลังจากเหล่าเครื่องบรรณาการจากทั้ง 12 เขตเดินทางมาถึงแคปิตอล เราจะเห็นว่าพวกเขาได้ถูกบังคับให้ขึ้นไปในรถ ก่อนจะถูกนำมาเทกระจาดยังสถานที่หนึ่ง มีลักษณะเป็นกรงขังแบบเปิด ที่มีผู้คนยืนรอถ่ายภาพและรอชมพวกเขาอย่างเนืองแน่น ไม่ต่างอะไรจากการมาดูสัตว์ในสวนสัตว์ในยุคปัจจุบันเลย ซึ่งฉากนี้ก็ทำให้เรานึกถึง ‘Human zoo’ หรือ ‘สวนสัตว์มนุษย์’ ที่เคยเกิดขึ้นจริงในช่วงศตวรรษที่ 19

อย่างที่เราทราบกันว่า ในช่วงศตวรรษที่ 19 นั้น เป็นช่วงเวลาที่บรรดาชาติตะวันตกนำโดย อังกฤษ สเปน และโปรตุเกสต่างกำลังออกล่าอาณานิคม และนิยมชมชอบในลัทธิจักรววรดินิยมกันอย่างเข้มข้น ส่งผลให้พวกเขาออกเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อขยายอำนาจให้กับอาณาจักรของตัวเอง ผ่านการยึดครองทรัพยากรในพื้นที่ของประเทศอื่น ๆ โดยพวกเขามองว่าตนเองเป็นชนชาติที่มีความเจริญกว่า การที่เข้าไปยึดครองชาติอื่นเท่ากับกำลังทำตามความประสงค์ของพระเจ้า ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือ ‘คนเถื่อน’ ให้หลุดพ้นจากความไร้อารยะ และก้าวเข้าสู่ความศิวิไลซ์ดังที่ชนชาติตะวันตกเป็น

เราสามารถเห็นชุดความคิดนี้ได้อย่างชัดเจนผ่านการนำหมู่บ้านมนุษย์ไปจัดแสดงตามงานเทศกาลระดับโลกต่าง ๆ ในยุคนั้น เช่น ในงาน ‘World’s Fairs’ หนึ่งในงานสำคัญที่สะท้อนภาพการจัดระเบียบโลกในช่วงศตวรรษที่ 19 อันมีชาติตะวันตกเป็นศูนย์กลางได้เป็นอย่างดี ซึ่งงานนี้เป็นงานที่จัดขึ้นในหลายประเทศมหาอำนาจทั่วโลกและมีขึ้นหลายครั้ง ซึ่งรูปแบบโดยรวมของงานนี้ก็คือการรวมของดีและของเด็ดประจำชาติไปโชว์ศักยภาพให้ทุกคนได้เห็น

งานนี้จะมีการแบ่งออกเป็นสองโซนใหญ่ ๆ ได้แก่ ‘White City’ พื้นที่จัดแสดงงานของชาติตะวันตก และ ‘Colonial section’ สำหรับประเทศใต้อาณานิคม ซึ่งพื้นที่ของชาติเจ้าอาณานิคมก็จะเน้นไปที่การจัดแสดงเทคโนโลยี และความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรมเป็นหลัก เพื่อโชว์แสนยานุภาพความศิวิไลซ์ ส่วนประเทศใต้อาณานิคมก็จะนำสินค้า งานฝีมือ และของแปลกตาที่หาไม่ได้ในชาติตะวันตก เพื่อแสดงความ Exotic ของชนชาติตัวเองออกมาให้คนขาวได้จ้องมองเพื่อความบันเทิง และหนึ่งในความ Exotic ที่ว่านั้น ก็คือการสร้างหมู่บ้านจำลองไว้ในคอก แล้วนำคนพื้นถิ่นจากแอฟริกา อินเดียนแดง และคนจากชนเผ่าต่าง ๆ อีกหลากหลาย มาใช้ชีวิตให้คนตะวันตกได้เดินดูกันอย่างสนุกสนาน บ้างก็มีการนำอาหารมาให้ ไม่ต่างจากสวนสัตว์ในปัจจุบัน

การกระทำเช่นนี้ได้แสดงให้เห็นถึงมุมมองของประเทศเจ้าอาณานิคม ที่มองมนุษย์ชาติพันธุ์อื่น (นอกเหนือจากคนขาว) ไม่ต่างจากสิ่งมีชีวิต ‘Exotic’ หรือเป็นชาติพันธุ์ที่ต่ำต้อยกว่าตน สังเกตเพิ่มเติมได้จากในยุคเดียวกันนี้ ยังมีการจัดทำบันทึกชาติพันธุ์วรรณาระหว่างเดินทางไปตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อศึกษาและอธิบายวัฒนธรรม รวมถึงพฤติกรรมแบบต่าง ๆ ของกลุ่มคนท้องถิ่น ไม่ต่างจากการศึกษาสัตว์อื่น ๆ ด้วย

นอกจากนี้การนำผู้คนในตำรามาจัดแสดงให้ผู้ชม (คนขาว) ได้เฝ้ามองโดยตรงตามงานต่าง ๆ ยังสะท้อนให้เห็นถึงการแสดงความ ‘เหนือกว่า’ ของเจ้าอาณานิคม ผู้เป็นคนขีดเส้นคำนิยามให้กับคำว่า ‘ความเจริญ’, ‘ความมีอารยะ’ และความ ‘ศิวิไลซ์’ ขึ้นมาให้ชนชาติใต้อาณานิคมอยากดำเนินรอยตาม และยังเป็นการเปรียบเทียบให้คนในชาติของตนมองเห็นความแตกต่าง และทราบซึ้งกับความสุขสบายที่รัฐพาเน็มหามามอบให้อีกด้วย

และที่น่าตกใจไปกว่านั้นก็คือ สิ่งที่เรียกว่า ‘สวนสัตว์มนุษย์’ นี้ เพิ่งหายไปจากโลกของเราได้ไม่ถึงร้อยปีเท่านั้น หรือแท้จริงแล้วมันอาจจะยังไม่เคยจางหายไปอย่างสมบูรณ์เลยก็เป็นได้ แถมยังขยายขอบเขตไปยังชนชาติอื่นที่ไม่ใช่แค่คนขาวเท่านั้นอีกด้วย เช่น ในประเทศไทยของเราเอง ก็มีการรับเอาแนวคิดการทำสิ่งที่คล้ายบันทึกชาติพันธุ์วรรณา เพื่อแบ่งหมวดหมู่ผู้คนขึ้นมาเช่นกัน อย่างงานเขียนเกี่ยวกับเรื่องเงาะป่าในประเทศไทย หรือการท่องเที่ยวเพื่อเสพชีวิตพื้นถิ่นของชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในยุคปัจจุบัน ด้วยสายตาของคนเมือง ก็สามารถมองว่าเป็นสวนสัตว์มนุษย์ในอีกรูปแบบหนึ่งได้เช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ การที่ฉากเดียวกันนี้ปรากฏขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง ‘The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes’ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรามองเห็นรูปแบบความคิดของคนในแคปิตอล เมืองหลวงของรัฐพาเน็ม ที่ตั้งตนเป็นศูนย์กลางจักรวาล เป็นเจ้าอาณานิคมผู้ทรงอำนาจ และมีอีก 12 เขตสุดล้าหลังอยู่ใต้การปกครอง การนำเอาเครื่องบรรณาการมาโชว์ตัวแบบนั้นก็เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าในทุกด้าน เหมือนกับที่เจ้าอาณานิคมในประวัติศาสตร์โลกเคยทำเอาไว้เมื่อ 200 กว่าปีก่อน

ยุวชนจีน (Red Guard) และกลุ่มผ้าพันคอแดง (Young Pioneers) กับบทบาทของ ‘เมนเทอร์’

‘เมนเทอร์’ คืออีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่เข้ามามีส่วนร่วมใน ‘The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes’ ครั้งนี้ โดย ‘คอริโอเลนัส สโนว์’ ตัวเอกของภาคนี้ก็รับหน้าที่นี้อยู่เช่นกัน เหตุผลที่ตำแหน่งนี้มีความสำคัญต่อเนื้อเรื่อง ก็เพราะไม่เพียงเครื่องบรรณาการเท่านั้นที่จะต้องแข่งขันกัน แต่ตัวเมนเทอร์เองก็ต้องแข่งขันกันเองด้วย ซึ่งผู้ชนะจะได้รับรางวัลใหญ่ที่หมายถึงความรุ่งโรจน์ทั้งการเงินและฐานะการงานในอนาคต

สำหรับคนที่จะเป็นเมนเทอร์ได้ในภาคนี้ ก็คือเหล่านักเรียนดีเด่นแห่งอะคาเดมีของแคปิตอล ที่ผ่านการสอนสั่งมาอย่างดีจากเหล่าอาจารย์ ให้เข้าใจถึงสภาพสังคม การเมือง และความจำเป็นที่ต้องมีเกมล่าชีวิตเหล่านี้ขึ้นมา เพราะเด็กเหล่านี้คืออนาคตของแคปิตอล และเป็นคนที่จะเข้ามาเป็นผู้นำและกระจายเข้าไปยังส่วนต่าง ๆ ของภาครัฐในอนาคต ดังนั้นการทำให้เด็กทุกคนมีความคิดตรงกันกับความต้องการของรัฐจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรัฐอย่างพาเน็ม

ในประวัติศาสตร์โลกของเราก็มีสิ่งที่คล้าย ๆ แบบนี้เกิดขึ้นจริงอยู่เช่นกัน โดยย้อนกลับไปในช่วงสมัยสงครามเย็นที่โลกของเราเกิดการต่อสู้กันระหว่าง ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ กับ ‘ฝ่ายคอมมิวนิสต์’ ประเทศฝั่งคอมมิวนิสต์อย่างจีน ก็ได้สร้างกลุ่ม ‘ยุวชนแดง’ ขึ้นมา โดยคนกลุ่มนี้จะเป็นคนหนุ่มสาวที่มีหน้าที่รักษาอุดมการณ์ทางการเมืองของผู้นำจีนในยุคนั้น ซึ่งก็คือ ‘เหมา เจ๋อตง’ นั่นเอง ซึ่งผลของการปลูกฝังอุดมการณ์ตามประธานเหมา ก็ทำให้คนกลุ่มนี้ทำทุกอย่างตามแนวคิดของเขาแบบไม่ตั้งคำถามใด ๆ และเดินหน้ากำจัดคนที่คิดต่างจากอุดมการณ์เหล่านั้น เพื่อสร้างเมืองจีนที่มีแต่ชนชั้นกรรมาชีพตามแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์อย่างแท้จริงขึ้นมา จนนำไปสู่การนองเลือดในหลาย ๆ ครั้ง

นอกเหนือจากกลุ่มยุวชนแดงที่มุ่งหมายไปยังคนหนุ่มสาว ก็ยังมีกลุ่มผ้าพันคอแดงที่ปลูกฝังในระดับประถม ซึ่งทุกคนต้องสวมผ้าพันคอแดงเมื่อเข้าเรียน เพื่อสื่อว่าตัวเองได้เข้าร่วมกลุ่มคอมมิวนิสต์แล้ว เรียกว่ากลุ่ม ‘Young Pioneers’ โดยกลุ่มนี้จะไม่ได้มีแค่ที่จีนเท่านั้น แต่รวมไปถึงกลุ่มประเทศคอมมิวนิสต์อื่น ๆ ด้วยอย่างเวียดนาม, เกาหลีเหนือ, รัสเซีย และคิวบา

จะเห็นว่าบทบาทของเมนเทอร์ในเรื่อง ‘The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes’ ที่กำลังอยู่ในวัยหนุ่มสาว สวมเสื้อคลุมแดง ผ่านการฝึกฝนในอะคาเดมีให้มีแนวคิดแบบเดียวกัน และถูกปลูกฝังให้รับใช้อุดมการณ์ของรัฐพาเน็ม เพื่อควบคุมและทำให้ทุกพื้นที่ทั้ง 12 เขตยินยอมอยู่ภายใต้การปกครองนี้ผ่านเกมล่าชีวิตต่อไป ก็ทำให้เรานึกถึงความเป็นยุวชนแดงและกลุ่มผ้าพันคอแดงในประวัติศาสตร์โลกอยู่มากทีเดียว

ยิปซีและวัฟวี่ ชนเผ่าเร่ร่อนผู้รักอิสระและเสียงเพลง

อีกหนึ่งตัวละครที่น่าพูดถึงเป็นอย่างยิ่ง ก็คือ ‘ลูซี เกรย์ แบร์ด’ ตัวแทนเครื่องบรรณาการจากเขต 12 ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตของ ‘คอริโอเลนัส สโนว์’ ไปตลอดกาล เธอเปิดตัวขึ้นมาด้วยเสียงร้องเพลงอันใสกังวาล ที่มาพร้อมกับเนื้อเพลงสุดเชือดเฉือนบาดใจ ที่ในภายหลัง บทเพลงเหล่านี้ก็ได้กลายมาเป็นหนึ่งในเพลงปลุกใจของเหล่ากบฏที่ออกมาต่อสู้กับประธานาธิปดีสโนว์ อดีตคนรักของเธอในอนาคตด้วย

สำหรับบทบาทของตัวละครนี้ ถือว่าแตกต่างจากแคตนิส เอฟเวอร์ดีน อย่างเห็นได้ชัด เพราะเธอไม่ใช่สาวนักสู้ ไม่ใช่คนแข็งแรง ไม่ได้เก่งรอบด้าน และยังขี้สงสารอีกด้วย สิ่งเดียวที่ทำให้เธอโดดเด่นกว่าใคร ๆ ก็คือความใจดี เสียงร้องเพลงอันเข้มแข็ง และชุดสีสันสดใสที่แปลกตาที่สุดในหมู่ผู้คน นอกจากนี้เธอยังรักการอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งตัวตนทั้งหมดที่กล่าวมาลูซี่ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเธอมาจากชนเผ่าวัฟวี่ ชนเผ่าที่ไม่ขึ้นตรงกับเมืองใด และเธอไม่ใช่คนจากเขตไหน แต่เธอคือวัฟวี่

แน่นอนว่าในโลกของเราคงไม่คุ้นเคยกับคำว่า ‘ชนเผ่าวัฟวี่’ เท่าไร ว่าคืออะไรกันแน่ แต่ถ้าเราพูดถึง ‘ชนเผ่ายิปซี’ เชื่อว่าทุกคนจะนึกภาพออกทันทีว่าตัวละครลูซี่กำลังเป็นภาพแทนของใคร ทั้งเรื่องการเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ไม่มีที่อยู่ขึ้นตรงกับใคร รักอิสระ รักธรรมชาติ และที่สำคัญคือการรักเสียงดนตรี ซึ่งทั้งหมดนี้ได้มุ่งตรงไปยังภาพลักษณ์ของชนเผ่ายิปซีทั้งหมด

‘ชนเผ่ายิปซี’ หรืออีกชื่อหนึ่งคือ ‘ชนเผ่าโรมานี’ คือชนเผ่าที่เร่ร่อนไปทั่วตะวันออกกลางไปจนถึงยุโรป โดยมีต้นกำเนิดดั้งเดิมมาจากทางลุ่มแม่น้ำสินธุ ก่อนจะถูกเนรเทศออกมา แต่เมื่อพวกเขาออกเดินทางมาเรื่อย ๆ ผู้คนที่พบเจอก็เข้าใจผิดว่าพวกเขามาจากอียิปต์ เลยเรียกชื่อว่า ‘ยิปซี’

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าพวกเขาจะไม่ค่อยได้รับการต้อนรับจากผู้คนท้องถิ่นสักเท่าไรนัก (เนื่องจากถูกมองว่าเป็นกลุ่มหัวขโมยที่ไม่น่าเชื่อถือ) แต่พวกเขาก็ยังคงเดินหน้าย้ายถิ่นฐานต่อไปเรื่อย ๆ เหตุผลส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ไม่มีแผ่นดินเป็นของตัวเอง และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากวัฒนธรรมการใช้ชีวิตของชาวยิปซีที่รักอิสระ รักการเดินทาง และไม่ชอบลงหลักปักฐานในที่ใดที่หนึ่งเป็นพิเศษร่วมด้วย

และเนื่องจากชนเผ่ายิปซีเป็นชนเผ่าเร่ร่อน ที่โฟกัสไปที่การเดินทางและการดำรงชีวิตมากกว่า พวกเขาจึงไม่นิยมจดบันทึกประวัติศาสตร์ของตัวเองเอาไว้แบบชนชาติอื่น ๆ เราจึงไม่ได้เห็นข้อมูลหรือเรื่องราวจากฝั่งของพวกเขานัก ทว่ามีสิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานการดำรงอยู่ชั้นดีของชาวยิปซีที่ใคร ๆ ต่างก็ให้การยอมรับ สิ่งนั้นก็คือ ‘ดนตรี’

ดนตรีของชาวยิปซีขึ้นชื่อเรื่องความแปลกใหม่และไพเราะ อันเป็นผลพวงมาจากการเดินทางไปในหลากหลายแห่ง และซึมซับเอาวัฒนธรรมเหล่านั้นมาหลอมรวมจนเป็นเพลงใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคงรากเหง้าของตัวเองเอาไว้ สู่การนำอิทธิพลอื่น ๆ อย่าง อิทธิพลกรีก เปอร์เซีย ตุรกี โรมาเนีย เช็ก และสลาฟ รวมถึงจากฝั่งยุโรปเองก็มี เยอรมัน ฝรั่งเศส และสเปน มาผสมด้วย ทำให้ดนตรีของพวกเขาโดดเด่นมาก ยกตัวอย่างนักดนตรีชาวยิปซีที่ได้รับการยอมรับในวงกว้าง ก็คือจังโก ไรน์ฮาร์ดท์ (Django Reinhardt) ผู้ใช้เสียงดนตรีเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีพและจิตวิญญาณ

บทบาทของลูซี่ก็เป็นเช่นเดียวกันกับไรน์ฮาร์ดท์ เธอทำอาชีพเป็นนักดนตรี และเธอมีบทเพลงเป็นเครื่องนำทาง เราเลยมักจะเห็นฉากที่ชวนให้นึกถึงเจ้าหญิงดิสนีย์อยู่บ่อย ๆ ในภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะถ้าอาวุธของแคตนิสคือความกล้าหาญและธนู อาวุธของลูซี่ก็คงจะเป็นเสียงเพลงที่ซึมเข้าไปในจิตวิญญาณผู้ฟัง และทำให้เธอมีชีวิตอยู่ต่อไป ตามวิถีทางของชาววัฟวี่ หรือจะเทียบกับชาวยิปซีก็คงได้เช่นกัน

The Hunger Games: The Ballad of Songbirds and Snakes เข้าฉายแล้ววันนี้

อ้างอิง

prachatai
museumsiam
thepeople