ส่อง 3 คอนเซ็ปต์การดีไซน์ ‘Urban Joy’ สนามฟุตซอลสาธารณะจาก Ananda ที่สะท้อนความรู้สึกและชีวิตเมืองผ่านการออกแบบที่ยั่งยืน

Post on 2 September

ช่วงนี้ถ้าใครได้แวะเวียนไปพักผ่อนแถว ๆ สวนรถไฟ ก็น่าจะได้เห็นสนามฟุตซอลโฉมใหม่ที่มาในลุคสดใสชวนแปลกตา ซึ่งเบื้องหลังความเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ก็คือ ‘Ananda’ แบรนด์อสังหาฯที่เป็นผู้นำคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า ที่ขึ้นชื่อเรื่องการดีไซน์สถาปัตยกรรมใหม่ ๆ นอกกรอบเดิม ๆ มาอย่างยาวนาน และมีจุดยืนในเรื่องการเป็น Urban Living Solutions ให้กับคนเมือง และครั้งนี้พวกเขาก็ออกมาแสดงฝีมือนอกโครงการร่วมกับพันธมิตร ด้วยการดีไซน์ ‘Urban Joy’ PlayGround สนามฟุตซอลสาธารณะใจกลางเมือง เพื่อเปลี่ยนพื้นที่สนามฟุตซอลเดิมภายในสวนรถไฟให้กลายเป็นศูนย์รวมคอมมูนิตี้ในชุมชนอย่างยั่งยืน

ตามประสาคนชอบงานดีไซน์ พอเราเห็นสนามฟุตซอลแบบใหม่ที่แปลกตาและไม่เหมือนใครแบบนี้ ก็เริ่มคันไม้คันมืออยากจะค้นลึกลงไปให้ถึงเบื้องหลังและที่มาของการออกแบบสำคัญ ๆ ที่น่ารู้ เพราะเราเชื่อว่ากว่าจะเลือกสีและลวดลายเหล่านี้มาเป็นภาพแทนของพื้นที่สาธารณะได้ จะต้องผ่านการคิดสร้างสรรค์มาหลายขั้นตอน ซึ่งถ้าใครกำลังสนใจเรื่องนี้เหมือนกัน ก็ตามมาถอดรหัสคอนเซ็ปต์การดีไซน์สำคัญ ๆ ของสนาม ‘Urban Joy’ ไปพร้อมกับเราได้เลย!

‘การสร้างคอมมูนิตี้’ คือหัวใจสำคัญของการออกแบบ ‘Urban Joy Playground’

ขอปักหมุดแรกกันที่จุดเริ่มต้นการออกแบบสนามฟุตซอล Urban Joy ครั้งนี้กันก่อน โดยสิ่งแรกที่เรามองเห็นได้จากการออกแบบครั้งนี้ ก็คือการตั้งเรื่องของ ‘คอมมูนิตี้’ ไว้เป็นประเด็นหลัก เพราะสนามฟุตซอลแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ของ ‘สวนรถไฟ’ หรือ ‘สวนวชิรเบญจทัศ’ สวนสาธารณะชื่อดังประจำย่านจตุจักรที่เป็นแหล่งรวมกิจกรรมสำคัญ ๆ ให้สาธารณชนเข้ามาใช้งานร่วมกันได้อย่างอิสระมาอย่างช้านาน และในเมื่อพื้นที่นี้คือจุดรวมตัวของผู้คนจากทั่วย่าน ‘การสร้างคอมมูนิตี้’ จึงเป็นโจทย์หลักที่ทาง Ananda ให้ความสำคัญ

หากสังเกต เราจะเห็นได้เลยว่า ทุกส่วนของสนามฟุตซอล Urban Joy ทั้งสีสัน รูปทรง และลวดลายที่ปรากฏอยู่ภายในสนาม ล้วนตั้งใจออกแบบมาให้เหมาะกับวิถีชีวิตคนเมืองมากขึ้น ดึงดูดคนเมืองให้สนุกกับการใช้งานมากขึ้น เพื่อเชิญชวนให้พวกเขาออกมาใช้ชีวิตและทำกิจกรรมตามแพสชันได้อย่างสบายใจ และเมื่อทุกคนได้มาใช้เวลาร่วมกันบนพื้นที่นี้เป็นประจำ ทุกอย่างก็จะค่อย ๆ พัฒนากลายเป็นคอมมูนิตี้ที่ส่งเสริมให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน และกลายเป็นชุมชนที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืนในที่สุด

ส่วนสีสัน รูปทรง และลวดลายเหล่านั้นจะถูกออกแบบมาให้ดึงดูดผู้คนมาสร้างคอมมูนิตี้ยังไง เราจะมาอธิบายกันต่อในหน้าถัดไปกันเลย

‘สี’ กับความหมายเบื้องหลังที่เป็นมากกว่าความสวยงาม

ในการศึกษาทางจิตวิทยา สีสามารถส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ได้ ด้วยเหตุนี้จึงมีการคิดค้นทฤษฎีสีมากมายเพื่อนำมาใช้กับการสร้างงานศิลปะและการออกแบบ ซึ่งทาง Ananda เองก็ให้ความสนใจในเรื่องนี้เช่นกัน พวกเขาจึงตั้งใจคัดเลือกสีสันมาเจ็ดสีเพื่อใช้ในการออกแบบสนามฟุตซอล Urban Joy เพื่อสะท้อนถึงอารมณ์และความรู้สึกที่หลากหลายของคนเมือง พร้อมกับส่งต่อพลังในการใช้ชีวิตและพลังแห่งการสร้างสรรค์ให้กับทุกคน

เจ็ดสีหลักที่ถูกเลือกมาใช้งานในการออกแบบครั้งนี้ ประกอบไปด้วย สีน้ำเงินเข้ม สัญลักษณ์ของการเสริมสร้างพลัง (Empower) สีแห่งความสงบแต่ก็สามารถแสดงถึงพลังและความเข้มแข็งที่ช่วยกระตุ้นความรู้สึกมั่นใจและความสามารถในการเผชิญกับความท้าทายในชีวิตประจำวันได้ ต่อด้วยสีเขียวน้ำทะเล สัญลักษณ์แทนถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (ECO & Sustainable) ที่ช่วยสร้างบรรยากาศสงบและเชื่อมโยงกับธรรมชาติ

สีแดงและส้มอิฐ คือสีที่เสริมเข้ามาเพื่อแสดงถึงพลังและความกระฉับกระเฉง (Power & Energetic) ทำให้สนามมีชีวิตชีวาและดึงดูดความสนใจได้มากขึ้น ส่วนสีเหลืองที่สื่อถึงความสุขและความสนุกสนาน (Happiness & Joyfulness) ก็เข้ามาเพิ่มความสดใสให้สนามแห่งนี้ดูสดชื่นมากขึ้น ยังมีสีฟ้าที่เข้ามาช่วยสร้างแรงบันดาลใจและชวนให้นึกถึงชีวิตในเมือง (Inspire & Urban) ช่วยให้รู้สึกถึงความสดชื่น ปลอดโปร่ง สบาย ๆ และสีสุดท้ายคือสีครีมที่สื่อถึงบรรยากาศเชิงบวก (Positive Vibe) ที่ช่วยสร้างความรู้สึกอบอุ่นและเป็นมิตรให้มากขึ้น

พอเห็นความหมายเบื้องหลังของแต่ละสีที่ทาง Ananda คัดสรรมาแล้วแบบนี้ ก็จะเห็นได้เลยว่า สีสันทั้งหมดบนสนามฟุตซอล Urban Joy ไม่ได้สร้างเพียงความสวยงามเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงอารมณ์และความรู้สึกที่หลากหลายของคนเมืองอย่างลึกซึ้ง พร้อมช่วยกระตุ้นให้คนที่มาใช้งานได้รู้สึกและสัมผัสได้ถึงบรรยากาศที่เต็มไปด้วยพลังงาน ความคิดสร้างสรรค์ และความสดใส แถมยังสร้างความมั่นใจ เพิ่มความรู้สึกที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติ และสร้างความรู้สึกเชิงบวกให้กับคนที่มาใช้งานและออกกำลังกายที่นี่ไปพร้อม ๆ กัน

รูปทรงเรขาคณิต ตัวแทนของความทันสมัยและสังคมเมือง

นอกจากสีสัน อีกหนึ่งองค์ประกอบหลักที่โดดเด่นมาก ๆ บนสนามฟุตซอล Urban Joy ก็คือเรื่องของลวดลาย ซึ่งลวดลายทั้งหมดที่ทาง Ananda เขาหยิบมาใช้ในการออกแบบ จะเน้นไปที่รูปทรงเรขาคณิตเป็นหลัก ได้แก่ วงกลม สี่เหลี่ยม และสามเหลี่ยม โดยในศาสตร์การดีไซน์ รูปทรงเรขาคณิตมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของโครงสร้าง การจัดกลุ่ม ความมีระเบียบ ซึ่งในที่นี้ก็สามารถสื่อได้ถึงความเป็นกลุ่มก้อน กลุ่มชุมชน ซึ่งตรงกับคอนเซ็ปต์หลักเรื่อง ‘การสร้างคอมมูนิตี้’ ที่ทาง Ananda ตั้งใจจะทำให้สนามฟุตซอลแห่งนี้เป็นพื้นที่ของการรวมตัวกันของผู้คน

รูปทรงเรขาคณิตยังสะท้อนถึงความทันสมัยและความเป็นเมืองได้ด้วย เพราะรูปทรงนี้ถูกใช้ทั้งในด้านการออกแบบอาคาร การวางผังเมือง และพื้นที่สาธารณะในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก โดยวงกลมสามารถแทนถึงภาพการสร้างพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับกิจกรรมร่วมกัน สี่เหลี่ยมถูกใช้เพื่อจัดแบ่งโซนที่ชัดเจนและเป็นระเบียบในการใช้งาน ส่วนสามเหลี่ยมเพิ่มความทันสมัยและมุมมองใหม่ ๆ ที่แตกต่าง ดังนั้น การผสมผสานรูปทรงเหล่านี้รวมกันจึงช่วยให้สนาม Urban Joy ไม่เพียงเป็นสถานที่ที่ดึงดูดสายตา แต่ยังตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลายของคนเมือง ทั้งการออกกำลังกาย การพักผ่อน และการสร้างสัมพันธ์ในคอมมูนิตี้ในปัจจุบันด้วย

แรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมของ Ananda อีกหนึ่งกิมมิคเล็ก ๆ ที่ซ่อนอยู่ในลวดลายของ สนาม Urban Joy

เมื่อพูดถึงชีวิตคนเมืองสุดทันสมัยจะไม่นึกถึงสถาปัตยกรรมต่าง ๆ ของ Ananda คงไม่ได้ ซึ่งในการออกแบบสนามฟุตซอล Urban Joy ครั้งนี้ พวกเขาก็ได้นำเอารูปทรงที่คดโค้งสวยงามของตึก Ashton Asoke - Rama 9 คอนโดมิเนียมดีไซน์เก๋ใจกลางกรุง ที่มาพร้อมกับรูปแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัยไม่เหมือนใคร มาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายบนสนามด้วย

สำหรับความหมายเบื้องหลังของการนำรูปแบบสถาปัตยกรรมของตึก Ashton Asoke - Rama 9 มาใช้เป็นแรงบันดาลใจร่วมกับการออกแบบครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสะท้อนตัวตนของคนออกแบบแล้ว ก็ยังเป็นการใส่กลิ่นอายความเป็นเมืองลงไปให้เข้มข้นมากขึ้น เพราะลายเส้นคดโค้งที่เข้ามาเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ บนสนาม สามารถสื่อถึงการเคลื่อนไหวและการเดินทางในเมือง อย่างการเดินทางของรถไฟฟ้าและรถยนต์ได้ด้วยนั่นเอง

ส่วนใครที่อ่านมาถึงตรงนี้แล้วอยากไปถอดรหัสงานดีไซน์เพื่อชีวิตที่ดีของคนเมืองที่ซ่อนอยู่ในสนามฟุตซอล Urban Joy แห่งนี้ หรือใครที่อยากไปโพสท่าถ่ายรูปสวย ๆ คู่กับงานออกแบบกลางเมืองแห่งนี้ ก็สามารถไปตามรอยสำรวจกันได้ เพราะเขาเปิดให้ใช้งานแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป แล้วเจอกัน!