ชวนรู้จักประติมากรรม ‘เจ้าจุด’ ของ WASINBUREE ที่ไปเยือนมาแล้วทั่วโลก และ ‘เจ้าจุดเบอร์ 12’ ที่กระโดดจากประติมากรรมจริง มาอยู่บนจอในรูปแบบ 3D

Post on 15 March

ทุกวันนี้เมื่อเราเลื่อนหน้าฟีดโซเชียลมีเดีย เชื่อว่าสิ่งที่น่าจะสะดุดตาใครหลายคนจนต้องหยุดกดดู ก็คือบรรดาคลิป 3D Animation จากเหล่าแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์ต่าง ๆ ที่แข่งกันเติมชีวิตให้ไอเทมในคอลเลกชันของตัวเอง ด้วยการพาไอเทมเหล่านั้นมาพบผู้คนในรูปแบบ 3D แล้วพาไปอยู่ในสถานที่หรือปรากฏตัวในรูปแบบต่าง ๆ บางทีก็ได้เห็นกระเป๋าแบรนด์หรูวิ่งไปบนท้องถนนของกรุงปารีส หรือไอเทมเสื้อผ้าจากคอลเลกชันล่าสุดที่ถูกนำไปแขวนไว้บนสะพานแมนแฮตตัน!

ในฝั่งบ้านเราเอง ก็แอบเห็นว่ามีแบรนด์ที่นำ 3D Animation มาใช้ในการขยายจินตนาการของผู้ชมแล้วเหมือนกัน ซึ่งแคมเปญ 3D Animation สัญชาติไทยที่เราไปสะดุดตาจนอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกันในวันนี้ ก็คือการพา ‘เจ้าจุด’ ประติมากรรม ‘หมาจุด’ ที่เป็นผลงานการออกแบบของ WASINBUREE ศิลปินเซรามิกชื่อดัง เจ้าของรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 มาแจกจ่ายความน่ารักแบบไอ้ต้าวโฮ่งผ่านหน้าจอของทุกคน

จุดเริ่มต้น 3D Animation เอาใจทาสโฮ่งนี้ก็มาจากไอเดียการเติมชีวิตให้ประติมากรรมเจ้าจุดที่ตั้งตระหง่านคอยทักทายทุกคนอยู่หน้าโครงการ ‘บูก้าน กรุงเทพกรีฑา’ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบประติมากรรมเจ้าจุดตัวที่ 12 ของศิลปินชาวราชบุรีคนนี้ จากทั้งหมด 13 ตัว ซึ่งต่างก็เคยไปปักหมุดแจกความสดใสให้ผู้ชมมาแล้วทั่วโลก รวมถึงหอศิลปกรุงเทพฯ และล่าสุดกับการถูกเลือกให้ไปประจำการที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติราชบุรี ในฐานะประติมากรรมถาวรอีกด้วย

ถ้าใครยังไม่เคยโดนตกด้วยความน่ารักของเจ้าจุด 3D แบบที่เราโดน ลองกดเข้าไปแอบดูความน่ารักของน้องกันก่อนได้ที่ http://siri.ly/tqd26h3 และถ้าอยากรู้เพิ่มเติมว่าเจ้าจุดมีที่มาจากไหน? เบื้องหลังความน่ารักของหมาจุดนี้มีแนวคิดอะไรซ่อนอยู่? แล้วทำไมแบรนด์ดัง ๆ ในยุคนี้ถึงเลือกหยิบสุนทรียะศิลปะแบบ 3D Animation มาใช้ในการขยายจินตนาการ? โพสต์นี้เราจะชวนทุกคนไปสำรวจร่วมกัน

3D Animation

เมื่อ ‘ศิลปะ’ ผสานกับ ‘เทคโนโลยี’

ถ้าเราลองหันมองภาพรวมในวงการโฆษณาช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่ามีการใช้ ‘ภาพ 3 มิติ’ ในรูปแบบที่น่าสนใจกว่าแต่ก่อนมาก เพราะย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น แบรนด์เก่าแก่ที่วางตัวเป็น ‘Luxury Brands’ มักจะปฏิเสธหรือมีข้อกังขากับการใช้ 3D Animation หรือ CGI ในการสื่อสารเรื่องราวของแบรนด์ เพราะก็ต้องยอมรับกันจริง ๆ ว่าเทคโนโลยีในสมัยก่อนนั้นทำให้ผลลัพธ์ของงานที่ได้ดูห่างจากความเป็นจริง จนดูปลอมเกินไป อีกทั้งคนในแวดวงศิลปะส่วนมากก็ยังไม่ยอมเปิดใจให้ผลงานศิลปะดิจิทัลที่มีคอมพิวเตอร์และโปรแกรมเป็นเครื่องมือ

แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ที่งานภาพเชิงดิจิทัลได้รับการพัฒนาขึ้น อีกทั้งยังได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในสื่อทางศิลปะชนิดหนึ่ง เราจึงได้เห็นศิลปินหันมาจับงานดิจิทัลอาร์ตกันมากขึ้น และก็ได้เห็นสุนทรียะของศิลปะดิจิทัลอาร์ตไปอยู่ในบรรดาแคมเปญแฟชั่นและงานออกแบบต่าง ๆ

และคุณูปการสำคัญที่ทำให้ศิลปะดิจิทัลอาร์ตกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของศิลปินหลาย ๆ คน ก็คือ ‘อิสระ’ ที่ทำให้ศิลปินสามารถเนรมิตทุกจินตนาการให้ออกมาเป็นภาพอยู่บนหน้าจอได้ ไม่ว่าจินตนาการนั้นจะเกินจริงแค่ไหนก็ตาม ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นศิลปินจับมือกับแบรนด์มากมาย ที่มาจับมือกัน และช่วยกันขยายขอบเขตของความสร้างสรรค์ให้กว้างไกลออกไป

และนั่นจึงนำมาสู่การที่เราได้เห็นเจ้าจุดออกมาวิ่งเล่นและไล่งับลูกบอลอยู่บนหน้าจอของเรา

‘เจ้าจุด 3D’ เมื่อเทคโนโลยีมาและความสร้างสรรค์ช่วยเติมความน่ารักให้เจ้าโฮ่ง

WASINBUREE หรือ ‘วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์’ คือศิลปินเซรามิกผู้โด่งดัง เจ้าของรางวัลศิลปินศิลปาธร สาขาการออกแบบ ประจำปี 2553 และยังเป็นเจ้าของผลงาน ‘เจ้าจุด’ หมามีรูผู้โด่งดัง

โดยจุดเริ่มต้นของเจ้าจุดเกิดจากบทสนทนาระหว่าง WASINBUREE กับเพื่อนชาวเยอรมัน ว่าด้วยประเด็นสิ่งที่ชอบในเมืองไทย ซึ่งกลายเป็นว่าคำตอบของเพื่อนคือ ‘หมาจรจัด’ เนื่องจากที่เยอรมันไม่มี สุนัขต้องถูกเลี้ยงโดยเจ้าของที่ชัดเจนเท่านั้น ดังนั้นในมุมมองของเพื่อชาวเยอรมัน นี่จึงเป็นหนึ่งในภาพจำที่ถูกตีความว่าเป็น ‘วัฒนธรรมไทย’ ในที่สุด

จากถ้อยคำตรงนั้น ที่ทำให้ WASINBUREE ได้ทบทวนคิดว่าเอาเข้าจริงสิ่งที่เรามองว่าเป็นวัฒนธรรมของชาตินั้น ๆ แท้จริงอาจเป็นเพียง ‘วัฒนธรรมผิวเผิน’ ก็ได้ เป็นเรื่องที่ต่างคนต่างมอง แต่ความผิวเผินตรงนี้เองที่ WASINBUREE หยิบมาเป็นแรงบันดาลใจ ก่อนตีความเกิดเป็นประติมากรรม ‘เจ้าจุด’ หมามีรูตัวแทนความเป็นไทยที่เดินทางไปจัดแสดงจนโฮ่งมาแล้วทั่วโลก

โดยจุดตั้งต้นของการเนรมิตชีวิตให้ ‘เจ้าจุด’ ผ่าน 3D Animation ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากประติมากรรมเจ้าจุดสีขาวสะอาดขนาดสูงสามเมตรที่ตั้งอยู่หน้าโครงการ บูก้าน กรุงเทพกรีฑา นั่นเอง ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอย่างท่ายืนตระหง่านชวนให้แหงนหน้ามอง และความน่ารักดูเป็นมิตร รวมถึงสุนทรียะเรียบง่ายสะอาดตาที่มองนาน ๆ ได้ไม่มีเบื่อ เจ้าจุดจึงกลายเป็นเหมือนพนักงานต้อนรับคนแรกของบูก้าน กรุงเทพกรีฑา และยังเป็นภาพจำของโครงการที่ทำให้ผู้พบเห็นต่างรู้สึกดีไปด้วย

ด้วยการเป็นภาพจำและการทำงานต่อความรู้สึกของผู้พบเห็นนี้เอง งานประติมากรรมอายุเกือบ 20 ปีชิ้นนี้จึงได้ถูกเนรมิตให้มีชีวิตผ่าน VDO 3D Animation ทำให้จากที่เคยนั่งโชว์ตัวเฉย ๆ แต่ตอนนี้เจ้าจุดสามารถออกมาร่าเริงและเป็นตัวแทนในการสื่อสารถึง ‘ความสุข’ ซึ่งเป็นแมสเสจที่ส่งต่อให้ทั้งลูกบ้านและผู้ชมที่รับชมความน่ารักผ่านหน้าจอ

เสพความน่ารักผ่านจอกันไปแล้ว ถึงเวลาไปทักทายเจ้าจุดตัวจริงที่ BuGaan Krungthep Kreetha

ถ้ายึดตามคำอธิบายของเจ้าจุดที่ WASINBUREE เคยเล่าไว้ เขากล่าวว่าเจ้าจุดนั้นสามารถ ‘เป็น’ ได้หลายอย่าง หมามีรูตัวนี้อาจเป็นผลงานที่ยืนมองผู้คนก็ได้ หรือเป็นหมาที่กำลังปัสสาวะตามมุมกำแพงก็ได้ กล่าวคือด้วยการออกแบบที่มีพื้นที่ให้ตีความ เจ้าจุดจะเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่อิสระในการจินตนาการของผู้ที่ได้รับชมเลยล่ะ

ดังนั้นกับการปรากฏตัวของเจ้าจุด ไม่ว่าจะในรูปของประติมากรรมหน้าโครงการหมู่บ้าน หรือในรูปของ 3D Animation ที่ไปวิ่งเล่นเพ่นพ่านบนหน้าจอของทุกคน จึงเป็นการจุดประกายและเชื้อเชิญให้คนที่ได้เห็นหมามีรูตัวนี้ มาร่วมสร้างความหมายกับงานศิลปะ โดยที่ศิลปินเขาเปิดให้ตีความกันได้อย่างอิสระ เจ้าจุดของเราอาจจะเป็นหมาร่าเริงที่ชอบไล่งับลูกบอล หมาขี้อายที่ชอบแอบไปหลับใต้ร่มไม้ หรือเป็นเพื่อนรู้ใจสี่ขาที่คอยวิ่งมาหาตอนเรากลับถึงบ้านก็ได้

ถ้าดูผ่านหน้าจอแล้วอยากไปยืนแหงนหน้ามองเจ้าจุดตัวจริง ก็สามารถแวะไปทักทายกันได้ที่โครงการบูก้าน กรุงเทพกรีฑาด้วยตาตัวเองสักครั้งนะ สามารถนัดหมายเข้าชมโครงการได้ที่นี่เลย: https://siri.ly/oPef1A3

แล้วเจ้าจุดของคุณเป็นแบบไหน? อย่าลืมแวะมาแชร์กับเราบ้างนะ

RELATED POSTS