Natthaphorn ศิลปินผู้รังสรรค์ความวิจิตรแบบไทยให้ละม้ายคล้ายนิตยสารแฟชั่นชุดโบราณ
เวลาทุกคนมองภาพจิตรกรรมฝาผนังทุกคนนึกถึงอะไรกันบ้าง? นิทานชาดก? รามเกียรติ์ หรือเรื่องราวของนรก-สวรรค์? แต่สำหรับศิลปินนักวาดภาพประกอบอย่างเต็นท์ - ณัฐพร ขำดำรงเกียรติแล้ว สิ่งที่เขามองเห็นจากภาพจิตรกรรมไทยเหล่านั้นคือ ‘ค่านิยมความงาม’ ของคนสมัยโบราณ โดยนอกจากเขาจะดึงเอาความงามแบบดั้งเดิมของจิตรกรรมฝาผนังมาใช้ในภาพของตัวเองแล้ว ยังมีการเพิ่มความพิเศษใส่ไข่เข้าไป ด้วยการประยุกต์เอาแฟชั่นเครื่องแต่งกายแบบท้องถิ่นโบราณ จากหลาย ๆ วัฒนธรรม มาผสมผสานให้เราเห็นในผลงานของเขาอีกด้วย
ศิลปินได้แชร์เรื่องราวเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการวาดภาพสไตล์ ‘จิตรกรรมไทย’ ให้คล้ายนิตยสารแฟชั่นเสื้อผ้าโบราณสุดตระการตานี้ว่า “ส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบงานศิลปะที่มีความวิจิตร ละเอียดลอออยู่แล้ว และในช่วงวัยเรียนผมมีความคุ้นเคยกับศิลปะไทยในสาขานาฏศิลป์และดนตรีมาก่อน ดังนั้นเราจึงได้ซึมซับอะไรที่เป็นศิลปะแบบประเพณีของไทยมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย ภาพส่วนใหญ่ที่วาดเลยมักจะเป็นงานที่มีความประณีตอยู่เสมอ”
“นอกจากนี้ ในช่วงที่เรียนเขียนจิตรกรรมไทย ผมได้รู้จักกับเพื่อน ๆ และผู้คนที่สนใจเรื่องการสะสม และทำอาชีพเกี่ยวกับผ้าและเครื่องแต่งกายแบบไทยโบราณ ทำให้มีโอกาสสัมผัสและได้ความรู้เกี่ยวกับผ้าและเครื่องแต่งกายแบบต่าง ๆ ในแต่ละยุค แต่ละภูมิภาค ที่ผู้คนในอดีตใช้สวมใส่กัน ทั้งของไทยและประเทศอื่น ๆ ในแถบนี้ด้วย เลยมีการนำความรู้เหล่านี้มาใช้ในการสร้างงานศิลปะของตัวเองครับ” ศิลปินเสริม
แน่นอนว่าพอเห็นคนยุคปัจจุบันหันมาจับงานวาดภาพสไตล์โบราณ ย่อมต้องมีบางอย่างที่ดัดแปลงไปบ้างเป็นแน่ ซึ่งศิลปินก็ได้บอกกับเราเกี่ยวกับกระบวนการทำงานร่วมกับความเป็นอดีตว่า “ความจริงแล้ว งานของผมแทบไม่ต่างจากงานไทยประเพณีที่ปรากฏบนจิตรกรรมฝาผนังเลยครับ เพราะกระบวนการเขียนตั้งแต่การร่างภาพไปจนลงสี และการคำนึงถึงเส้นสายต่าง ๆ ภายในภาพ ล้วนใช้หลักการและสุนทรียภาพของงานจิตรกรรมไทยทุกประการ”
“แต่ถ้าจะพูดถึงสิ่งที่แตกต่างออกไป คงจะเป็นมุมมองและองค์ความรู้ที่เป็นเบื้องหลังของตัวผมเองที่เป็นผู้วาด ซึ่งแน่นอนว่าต้องไม่เหมือนกันกับคนโบราณ เพราะเราคือคนในยุคปัจจุบันที่มีโอกาสได้เห็นงานศิลปะรูปแบบต่าง ๆ จากทั่วทุกมุมโลกผ่านอินเทอร์เน็ต ค่านิยมเรื่องของความงามนั้นก็แตกต่างจากคนสมัยก่อน รวมไปถึงอิทธิพลขององค์ประกอบแบบภาพถ่ายที่คนปัจจุบันนี้คุ้นชินกันเป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้หลอมรวมให้งานของผมมีส่วนผสมของมุมมองและรสนิยมในแบบที่ร่วมสมัยกันของคนในปัจจุบัน แม้ว่ารูปแบบหรือหลักการที่วาดภาพนั้นจะเป็นแบบประเพณีก็ตาม”
หลังจากฟังศิลปินพูดถึงเรื่องแรงบันดาลใจและความเป็นมาของสไตล์การทำงานไปแล้ว ก็อยากชวนคุยต่อถึงเรื่องเทคนิคการวาดภาพบ้างว่าใช้เทคนิคแบบไหน แล้วทำไมถึงเลือกใช้เทคนิคนี้กับงานของตัวเอง ศิลปินจึงเล่าให้ฟังว่า “จากการที่เรียนศิลปะมาโดยตรง ทำให้ผ่านการใช้เทคนิคพื้นฐานของงานวาดต่างๆ ทั้งงานวาดเส้น สีน้ำ สีฝุ่น สีน้ำมัน สีอะครีลิค ดังนั้น เทคนิคแต่ละอย่างที่ใช้ก็จะเลือกให้เหมาะสมกับแต่ละภาพ และความสะดวกของคนวาดในแต่ละช่วง เช่น ในช่วงแรก ๆ จะชอบเขียนงานที่ใช้น้ำเป็นสื่อกลางในการผสมสี ทั้งสีน้ำ สีกวอช และสีอะครีลิค เขียนบนกระดาษสำหรับวาดสีน้ำ หากภาพนั้นมีสีทองก็จะใช้แผ่นทองคำเปลวปิดลงไปเพราะสวยและเงางามกว่าสีทองสำหรับระบาย”
“ถัดมาก็ได้ลองวาดภาพด้วยสีจากปากกามาร์กเกอร์ ด้วยความที่ยังไม่เคยเห็นคนวาดภาพไทยด้วยปากกาแบบนี้มาก่อน เลยอยากลองว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นยังไง จะใกล้เคียงหรือเหมือนกับภาพที่วาดด้วยสีน้ำหรือสีฝุ่นไหม ในช่วงแรกก็วาดเป็นภาพขาวดำเพื่อทดลองก่อนและจึงมีภาพสีในภายหลัง ส่วนปัจจุบันจะวาดภาพดิจิทัลในไอแพดเป็นหลัก เพราะมีความสะดวกในการทำงาน แต่ลักษณะงานก็จะเป็นการพยายามทำให้ดูคล้ายกับงานที่เขียนบนกระดาษให้มากที่สุด เพื่อรักษาเสน่ห์ของงานวาดมือเอาไว้”
นอกจากเรื่องเทคนิคกับสไตล์การวาดแล้ว ก็นึกขึ้นได้ว่า ไหน ๆ ก็ได้คุยกับศิลปินที่จับงานเกี่ยวกับความเป็นอดีต เราก็เลยอยากจะล้วงลึกไปถึงอนาคตการทำงานของศิลปินบ้างว่า ในฐานะคนที่เอาความวิจิตรแบบดั้งเดิมมาประกอบเข้ากับองค์ความรู้แบบสมัยใหม่ เขาจะครีเอทงานในอนาคตต่อไปอย่างไร ซึ่งศิลปินก็ได้สปอยให้เราฟังว่า
“ในอนาคตผมอยากวาดภาพที่เป็นคอลเลคชันเดียวกัน แบบในหนึ่งคอลเลคชันจะมีธีมหรือเรื่องราวร่วมกันหลาย ๆ ภาพ เพราะปัจจุบันงานวาดส่วนใหญ่จะเป็นงานที่วาดจบไปเป็นภาพ ๆ ไม่ได้มีเรื่องราวที่สอดคล้องหรือเชื่อมโยงกันมากนัก และผมอยากทดลองการจัดวางองค์ประกอบใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากที่ทำอยู่ในตอนนี้ เพื่อให้งานมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นครับ”
ศิลปินยังแอบกระซิบถึงแนวทางการทำงานในอนาคตต่ออีกว่า “ผมกำลังคิดอยากจะพัฒนางานของตัวเองในเรื่องของอารมณ์ภายในภาพมากขึ้น เพราะก่อนที่จะอินกับเรื่องของผ้าและเครื่องแต่งกาย ผมจะชอบงานที่มีการสื่ออารมณ์ของภาพผ่านองค์ประกอบและบรรยากาศของโทนสี พอมานั่งดูผลงานในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมก็พบว่างานที่ทำอยู่จะเน้นไปที่ความละเอียดของลวดลายและสีสันที่สดใสเป็นหลัก แต่เรื่องของการสื่ออารมณ์ของภาพที่เคยชอบนั้นขาดหายไป จึงคิดว่าจะพัฒนาต่อยอดในส่วนนี้เพิ่มเข้าไปครับ”
“ภาพนี้เป็นภาพที่เขียนเกี่ยวกับชาวเปอรานากัน ซึ่งเป็นกลุ่มวัฒนธรรมชาวจีนผสมมลายู ทางภาคใต้ของไทย รวมไปถึงประเทศในแถบคาบสมุทรมลายู ผมประทับใจการแต่งกายของชาวเปอรานากันที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งโทนสีที่อ่อนหวาน ลายตกแต่งแบบจีนที่ดัดแปลงมาอยู่บนโครงสร้างของเสื้อผ้าแบบมาเลย์ และยังมีอิทธิพลของศิลปะแบบตะวันตกเข้ามาผสมผสานด้วย”
“แต่ละภาพในเซ็ทนี้จะมีต้นแบบมาจากภาพถ่ายเก่า และเสื้อผ้าในคอลเลคชันของพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเปอรานากัน เพื่อศึกษาก่อนจะเริ่มร่างภาพ ส่วนรูปแบบการวาดก็จะวาดตามวิธีการเขียนแบบภาพจิตรกรรมไทยตามที่ผมถนัด”
“ภาพนี้ถือเป็นหนึ่งในภาพแรก ๆ ที่ทดลองลงสีภาพไทยประเพณีด้วยปากกามาคเกอร์ เป็นภาพเขียนเกี่ยวกับหญิงสาวล้านนาสองคน ที่แต่งกายแบบเมืองน่าน โดยทั้งสองคนจะสวมเสื้อป้ายที่มีการตกแต่งตรงแถบคอเสื้อด้วยการปักไหมทอง ตรงส่วนนี้จะวาดด้วยการลงหมึกสีทอง เขียนเป็นลวดลายปัก ส่วนท่อนล่างจะนุ่งผ้าซิ่นที่ต่างกัน แต่เป็นผ้าซิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองน่านเหมือนกัน คนทางซ้ายจะนุ่งซิ่นป้องที่มีการต่อตีนจก ส่วนทางขวาจะนุ่งซิ่นที่เรียกว่าซิ่นม่าน ผมเลือกใช้คู่สีแดง-เขียวในภาพ เพื่อแบ่งให้ภาพคนทั้งสองโดนเด่นเท่า ๆ กัน และเพิ่มรายละเอียดของลายผ้าให้มีลูกเล่นน่าค้นหาตามส่วนต่าง ๆ”
“ภาพนี้เป็นภาพหญิงสาวชาวสยามสองคนกำลังถือพานครอบทับด้วยฝาทรงกรวยปักลาย โดยได้แบบอย่างการแต่งกายจากภาพถ่ายในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4 ที่แฟชั่นของผู้หญิงมีการไว้ผมปีก และปล่อยจอนผมเป็นเส้นยาว สวมเสื้อแขนกระบอกและห่มทับด้วยสไบอัดจีบ นุ่งผ้าลายเป็นดอกดวงเล็ก ๆ จะมีผู้หญิงคนทางขวาที่ถือพานในลักษณะที่ชูขึ้นและเบี่ยงไปข้างลำตัว ซึ่งลักษณะของท่าทางนี้นำมาจากภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เรียกกันว่า ‘นาฏลักษณ์’ คือท่าทางที่มีแบบอย่างมากจากท่าร่ายรำของนาฏศิลป์ไทย”
“ภาพนี้เป็นภาพชุดบุรุษสยามกับวิจิตรภูษา ผมวาดขึ้นในแอปพลิเคชัน Procreate บนไอแพด เซ็ทนี้จะมีทั้งหมด 10 ภาพ เดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะวาดเป็นภาพชุด แต่เมื่อวาดขึ้นมาแล้วภาพหนึ่ง ก็เกิดไอเดียภาพต่อ ๆมาเรื่อย ๆ ครับ โดยภาพพื้นหลังสีฟ้านี้เป็นภาพแรกในชุดนี้ที่วาดขึ้น”
“จุดเริ่มต้นมาจากการที่วาดผู้หญิงแต่งกายในชุดสวยหรูมาหลายภาพแล้ว ก็มานึกคิดว่าจริง ๆ แล้วชุดผู้ชายแบบโบราณเองก็มีความวิจิตรไม่แพ้กัน แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นชุดที่มีความเป็นทางการ เช่น ชุดเครื่องแบบต่าง ๆ คราวนี้ลองวาดโดยเน้นเป็นภาพพอร์ตเทรต ภายในกรอบสีทอง บนพื้นหลังลายธรรมชาติ ดอกไม้ นกยูง ผีเสื้อ ให้ดูราวกับภาพวาดสีน้ำมันที่แขวนประดับอยู่บนฝาผนังติดวอลล์เปเปอร์ครับ”
หากใครสนใจภาพวาดสไตล์จิตรกรรมไทย กับแฟชั่นเครื่องแต่งกายแบบท้องถิ่น สามารถติดตาม Natthaphorn ได้ที่: https://www.instagram.com/natthaphorn/