Uncountable Time เมื่อเวลานับไม่ได้ แต่กลับติดตรึงอยู่ใต้จิตสำนึกไม่เคยจาง
ว่ากันว่าบางครั้งสมองของคนเราก็จดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ไม่ดีเท่ากับหัวใจ และอาจจะบันทึกข้อมูลได้ไม่เที่ยงตรงเท่ากับจิตใต้สำนึก เพราะท่ามกลางความสูญเสียอันแสนโศกกับความเจ็บปวดอันแสนเศร้า มี ‘ความทรงจำ’ ที่ฝังลึกลงไปถึงจิตใต้สำนึก คอยผูกตรึงทุกคนเอาไว้ไม่ให้เดินหน้าต่อ ซึ่งนิทรรศการ ‘Uncountable Time’ ก็ได้นำเอาประสบการณ์ของคนที่ติดอยู่ในบ่วงของ ‘เวลาที่นับไม่ได้’ มาถ่ายทอดให้เราได้ลองเข้าไปสัมผัส และทำให้เราได้เห็นว่า แม้เวลาจะผ่านมานานหลายปีแล้ว แต่ยังคงมีใครอีกหลายคนติดค้างอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์สงครามเย็นอยู่
‘สงครามเย็น’ คือหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี 1945 และเพิ่งจบไปหมาด ๆ เมื่อตอนปี 1989 นี้ (เป็นระยะเวลาที่สากลลงความเห็นร่วมกัน) โดยเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับผลพวงมาจากความบอบช้ำหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อประเทศฝั่งยุโรปสูญสิ้นทรัพยากรและความแข็งแกร่งไปมาก ส่งผลให้ตำแหน่งผู้นำโลกตกเป็นของประเทศสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจฝั่งเสรีนิยม และสหภาพโซเวียต มหาอำนาจฝั่งคอมมิวนิสต์ ทั้งสองประเทศพยายามแย่งชิงตำแหน่งผู้นำโลกผ่านการขยายขอบเขตอำนาจในทุกวิถีทาง ยกเว้นการทำสงครามอย่างโจ่งแจ้ง แต่ถึงกระนั้นก็ยังเป็นชนวนให้เกิดเหตุการณ์ขัดแย้งมากมายตามมา เช่น การปิดล้อมเบอร์ลิน สงครามเกาหลี วิกฤติการณ์คิวบา 1962 และสงครามเวียดนาม ที่ทิ้งรอยแผลมากมายไว้ให้กับใครหลาย ๆ คน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เรารับรู้จากหน้าประวัติศาสตร์และตำราเรียนที่ได้รับการสอนต่อกันมา แต่ด้วยระยะเวลาของสงครามที่เพิ่งจบไปเมื่อ 30 กว่าปีก่อน จึงไม่ยากเลยที่จะยังเหลือร่องรอย หรือผู้คนที่เคยเผชิญกับผลกระทบในช่วงเวลานั้นมาก่อนอยู่ ทว่าถ้าเราลองศึกษาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สงครามเย็น เรามักจะไม่ค่อยได้เห็นกลุ่มข้อมูลที่มาจากมุมมองของคนตัวเล็กตัวน้อยเท่าไรนัก เพราะไม่ใช่เรื่องราวที่กระทบผู้คนวงกว้างนั่นเอง ด้วยเหตุนี้เมื่อได้ยินคอนเซปต์ของนิทรรศการ ‘Uncountable Time’ ที่อ้างอิงถึงแนวคิด “Duration” หรือ เวลาที่ไม่สามารถนับได้ เพื่อแสดงประวัติศาสตร์ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การจดบันทึก เราจึงคาดหวังที่จะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์สงครามเย็นในอีกระนาบหนึ่ง ที่กลั่นกรองมาจากจิตใต้สำนึกของผู้คน ผ่านผลงานของ นนทวัฒน์ นําเบญจพล และ กฤตภัทธ์ ฐานสันโดษ, รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์, และ วิริยะ โชติปัญญาวิสุทธิ์ ที่คิวเรตโดยอริญชย์ รุ่งแจ้ง , Grace Samboh , Kathleen Ditzig, และ Lyno Vuth ว่าเจ้าสิ่งที่เรียกว่า ‘เวลาที่นับไม่ได้’ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
เมื่อเราเดินเข้าไปในนิทรรศการ เราจะได้เห็นการจัดวางผลงานศิลปะที่แสดงเรื่องราวที่เชื่อมโยงให้ผู้ชมอย่างเรา ๆ มองเห็นภาพความแตกต่างระหว่างช่วงก่อนเกิดสงครามเย็นกับหลังเกิดสงครามเย็น ว่าเป็นอย่างไร โดยไล่เรียงมาตั้งแต่เหตุการณ์การล่าอาณานิคมจากตะวันตก การปฏิวัติเกษตรกรรม และมาสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งการจัดเรียงแบบนี้ ทำให้เราได้ทวนความจำของตัวเอง และมองเห็นภาพบางอย่างว่า เหตุการณ์ทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ส่งผลเชื่อมถึงกันหมด อย่างการล่าอาณานิคม ก็ไม่เพียงส่งผลถึงเขตแดน แต่รวมไปถึงการแย่งชิงแรงงาน การกดขี่คนให้เป็นทาส เพื่อป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตต่าง ๆ และเมื่อแรงงานไม่สามารถผลิตสิ่งต่าง ๆ ได้เพียงพอ ก็เปลี่ยนเป็นป้อนคนเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรม และทำให้คนพึ่งพาเครื่องมือมากขึ้นแทน จนกลายมาเป็นยุคดิจิทัลแบบที่เราอาศัยอยู่กันตอนนี้ แม้ทุกอย่างจะเปลี่ยนผันไปเรื่อย ๆ ตามกาลเวลา และถูกระบุว่าจบลงไปแล้ว แต่ผลกระทบทุกอย่างยังคงสืบต่อเนื่องมาเรื่อย ๆ ไม่ได้จบไปพร้อมกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่ปักหมุดเอาไว้ดังที่เราคิด
ผลงานศิลปะจัดวางของ รุ่งเรือง สิทธิฤกษ์ น่าจะเป็นการเล่าเรื่องที่ทำให้เราเข้าใจคำ ‘เวลาที่นับไม่ได้’ มากขึ้น ในแง่ของการมองเห็นสิ่งที่เรียกว่ามรดกตกค้าง หรือผลกระทบจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวเนื่องมาถึงปัจจุบันได้อย่างแนบเนียน เพราะเขาได้แสดงภาพความทรงจำของน้า ผู้ทำงานเป็นคนขับรถส่งผลไม้จากเหนือมากรุงเทพฯ ชีวิตที่อยู่บนโครงสร้างและทิศทางอย่างถนน กลายมาเป็นความทรงจำหรืออดีตที่เป็นตัวกำหนดเจตจำนงของชีวิต ซึ่งเรามักคิดกันมาตลอดว่า ชีวิตของแต่ละคนล้วนมาจากโชคชะตาเป็นคนกำหนด จนลืมนึกไปว่าบางทีสิ่งเหล่านี้ หรือชีวิตที่เรากำลังดำเนินอยู่ ณ ตอนนี้ อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ หากไม่มีสงครามเย็น หรือการปฏิวัติต่าง ๆ เกิดขึ้น หรือบางทีเราอาจจะตัดสินใจต่างไปจากนี้ก็ได้ หากไม่มีเหตุการณ์เหล่านั้นมาควบคุมปัจจัยการใช้ชีวิต หรือกรอบความคิดของเราเอง
ดังนั้นร่องรอยจากความทรงจำของน้าในผลงานของรุ่งเรือง เลยคล้ายกับกำลังแสดงให้เราเห็นว่า สำหรับบางคนที่ไม่สามารถสลัดความรู้สึกต่าง ๆ ที่ติดค้างอยู่ในจิตใต้สำนึกออกไปได้ อาจจะเป็นเพราะมันได้กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว และมันจะยังเติบโตไปพร้อมกับตัวเรา เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะอยากลืมมันไปสักกี่ครั้ง มันก็สามารถผุดกลับขึ้นมาใหม่ได้ง่าย ๆ เป็น ‘เวลาที่นับไม่ได้’ ที่ผูกติดเราตลอดไป แม้จะก้าวผ่านมันไปสักแค่ไหนก็ตาม
นอกจากผลงานของรุ่งเรืองแล้ว ยังมีผลงานของนนทวัฒน์ และ กฤตภัทธ์ ที่เล่าเรื่องราวที่ถูกกดไว้ด้วยการกระทำของผู้มีอำนาจผ่านผลงานวิดีโอ, วิริยะ แสดงภาพถ่ายอันคลุมเครือของสิ่งที่ปรากฏอยู่รายรอบเราในชีวิตประจำวัน ต่างจากการมีอยู่ของภาพถ่ายที่มักจะแสดงความจริงอย่างชัดเจนด้วย เมื่อเรามองภาพรวมของผลงานทั้ง 3 ชุด ที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้แล้ว เราก็จะเห็นการนำเสนอแนวคิดที่คาบเกี่ยวระหว่างเวลากับเรื่องราวจากจิตใต้สำนึก จากผู้คนหลากหลายคน ที่แม้จะมีประสบการณ์ร่วมและเจ็บปวดจากช่วงสงครามเย็นเหมือนกัน ทว่าเวลาของแต่ละคนนั้นไม่ได้หยุดชะงักพร้อม ๆ กัน
ด้วยเหตุนี้เมื่อศิลปินทั้ง 4 คนนำเรื่องราวทั้งหมดมาเล่าในพื้นที่เดียวกัน ผู้ชมอย่างเราจึงได้เห็นภาพของเวลาของจิตสำนึก เวลาของเรื่องเล่าที่อยู่ในอดีต และเวลาที่เจตจำนงถูกบิดเบือน ซึ่งเป็น ‘เวลาที่นับไม่ได้’ ที่กลั่นกรองออกมาจากความทรงจำ และถึงแม้ว่าผลงานศิลปะที่ออกมาจะไร้ตัวอักษรกำกับ แต่เรากลับรับรู้ได้ถึงผลตกค้างของสงครามเย็นที่ผู้คนในเรื่องเล่ากำลังเผชิญอยู่ ราวกับได้เข้าไปนั่งอ่านความทรงจำของทุกคนจากข้างใน
หากใครอยากรู้จักประวัติศาสตร์สงครามเย็นผ่านความทรงจำของใครสักคน สามารถออกไปสำรวจห้วงเวลาที่นับไม่ได้เหล่านี้ไปพร้อม ๆ กันได้ที่ นิทรรศการ Uncountable Time เวลานับไม่ได้ ที่ The Jim Thompson Art Center ซ. เกษมสันต์ 2 BTS สนามกีฬาแห่งชาติ ตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม - 30 มิถุนายน 2566 นี้