เด็กหญิง และ Malamaii ภาพสะท้อนแห่งเยาว์วัยเพื่อปลอบประโลมใจผู้ใหญ่ที่ไม่อยากโต
ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ใครที่เคยได้อ่านเรื่องราวของ ‘ปีเตอร์แพน’ เด็กชายผู้ไม่อยากโตไปตลอดกาล อาจจะไม่ค่อยเข้าใจเขาสักเท่าไรนัก (เพราะตอนเป็นเด็ก ใครก็อยากโต เบื่อนอนกลางวันแล้วอะ) จนกระทั่งวันที่เราได้มาลิ้มรสชาติของการเป็นผู้ใหญ่เสียเองถึงได้รู้ว่า บางที การตามปีเตอร์แพนไปเนเวอร์แลนด์ ก็คงจะเป็นทางเลือกที่ดีและน่าสนุกไม่น้อยเลยทีเดียว
แม้ว่าตอนนี้เราจะก้าวพ้นวัยที่ปีเตอร์แพนจะมาชวนไปแนเวอร์แลนด์ด้วยกันแล้ว แต่ นิว - ไอยวริญ นิธิศอานนท์ ศิลปินผู้มีนามปากกาว่า ‘Malamaii’ (อ่านว่า มาละไม) และมีงานประจำเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ให้กับบริษัทเอเจนซีโฆษณาแห่งหนึ่ง ก็ได้หาวิธีกักเก็บตัวตนในวัยเด็กของตัวเองเอาไว้ให้อยู่ในรูปร่างของเด็กผู้หญิงที่ชื่อว่า ‘มุย’ เด็กสาวหน้านิ่ง บางทีก็เปื้อนน้ำตา ผู้เป็นภาพสะท้อนตัวตนในวัยเด็ก และเป็นเพื่อนในจินตนาการในวัยผู้ใหญ่ ที่คอยรับฟังทุกปัญหาในจิตใจของเธอ
“เราเริ่มวาดเด็กผู้หญิงมาตั้งแต่ช่วงที่เริ่มเข้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเลยค่ะ ตอนนั้นเราอยากหาวิธีการวาดที่ตัวเองรู้สึกชอบ สนุก และรู้สึกสบายใจที่จะวาด จะได้วาดออกมาได้เรื่อย ๆ โดยไม่ต้องเกร็งกับความถูกต้องหรือบริบทที่ต้องใส่ในงานอะไรมากมายนัก ประกอบกับช่วงนั้นเราหมดไฟมาก ๆ และไม่สามารถบอกเล่าความรู้สึกภายในใจกับใครได้เลย เพราะรู้สึกเหมือนไม่มีใครอยากจะฟังที่เราพูดหรอก เลยกดความรู้สึกของตัวเองเอาไว้ พอนานเข้าก็ทนไม่ไหว เลยกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทนไปทำไม แค่เราเศร้าหรือผิดหวังมันไม่ใช่เรื่องผิดสักหน่อย เราควรจะซื่อตรงกับความรู้สึกตัวเองไปแบบนั้น ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นวาดตัวละครเด็กผู้หญิงให้เป็นรูปแบบที่ตัวเองชอบออกมา เพื่อบอกเล่าสิ่งที่เรารู้สึกหรือเหตุการณ์ที่พบเจอ ณ ขณะนั้น ทั้งรัก เหงา เศร้า มีความสุข ตัวละครเด็กผู้หญิงในภาพเลยกลายมาเป็นเหมือนเพื่อนสนิทคนหนึ่งที่อยู่ด้วยกันมานาน เป็นเพื่อนในจินตนาการของเราที่มาช่วยให้เราดีขึ้นมาก ๆ และทำให้เราผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ค่ะ”
“สำหรับชื่อของตัวละครนี้ คือ ‘มุย’ ค่ะ ดัดแปลงมาจากชื่อเล่นในคณะของเราที่เพื่อน ๆ ชอบเรียก เหตุผลที่ต้องเป็นเด็กผู้หญิง เพราะมีต้นแบบมาจากรูปถ่ายของเราตอนเด็ก และด้วยความที่ภาพลักษณ์ของเราเป็นคนตัวเล็ก ๆ ไม่สูง บ่อยครั้งคนเลยมักจะมองว่าเรายังเหมือนเป็นเด็กอยู่ เลยเอาตัวเองนี่แหละมาเป็นต้นแบบในการวาดตัวละครตัวนี้ขึ้นมา เพราะเราก็อยากจะเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านภาพวาดอยู่แล้ว และที่สำคัญคือเราอยากให้งานมีความเป็นเด็กผู้หญิงมาก ๆ ทั้งความน่าทะนุถนอมกับอารมณ์อ่อนไหวของเด็กผู้หญิงที่สื่อความรู้สึกออกไปได้ตรง ๆ อย่างไม่ต้องซับซ้อนมากมายนัก”
Malamaii ยังเล่าให้เราฟังถึงเอกลักษณ์ของน้องมุยให้เราฟังเพิ่มเติมด้วยว่า “เอกลักษณ์ของน้องมุย คือแก้มกลม ๆ ตัวเล็ก ๆ กับลายเส้นของเรา จะให้ความรู้สึกล่องลอย เพ้อฝัน หรืออาจจะดำดิ่งอยู่ในห้วงอารมณ์ แต่เราไม่อยากให้มันดูหม่นหมองมากเกินไป เราชอบอะไรที่มันดูน่ารัก ๆ มีความเป็นเด็กผู้หญิงอยู่ในงานให้มากที่สุด เลยจะวาดออกมาในรูปแบบการเล่นของเด็กผู้หญิง เช่น ตุ๊กตา การแต่งตัว ชุดกระโปรง และดอกไม้ต่าง ๆ ในแบบที่ตัวเองชอบ และด้วยความที่เราชอบงานดินสออยู่แล้วด้วย เลยพยายามฝึกวาดลายเส้นให้ละเอียดมากขึ้น เพราะเรารู้สึกเหมือนมันเป็นสิ่งที่บอบบาง คล้ายกับจิตใจ และสื่อถึงความเป็นเด็กผู้หญิงที่สุดสำหรับเรา”
นอกจากภาพวาดตัวละครน้องมุยที่สื่อถึงความรู้สึกในจิตใจของศิลปินแล้ว เรายังเห็นว่าศิลปินมีการสอดแทรกสัญลักษณ์แวดล้อมเข้าไปในภาพด้วย อย่างกระจก ดอกไม้ สัตว์ต่าง ๆ หรือบางครั้งน้องมุยก็มีการถอดเปลือกตัวเองออกมาด้วย เราเลยอยากให้ศิลปินลองอธิบายถึงสัญลักษณ์บางส่วนให้เราฟังสักหน่อย
“กระจกจะเกี่ยวกับการสะท้อนความรู้สึกอีกด้านหรืออีกมุมมองนึงค่ะ” Malamaii กล่าวยิ้ม ๆ จากนั้นก็อธิบายต่อว่า “อย่างเมื่อตอนเรารู้สึกเศร้า โกรธ เสียใจ เราอยากจะเตือนตัวเองให้มองทุกเรื่องในอีกด้านอีกแง่มุมนึงเสมอ ส่วนสัตว์ต่าง ๆ เราวาดสัตว์ที่เราชอบ ก็จะสื่อถึงเพื่อนในจินตนาการที่เราสร้างให้มาเป็นเพื่อนกับเด็กผู้หญิงในภาพ เหมือนคนที่มาปลอบโยนมาอยู่เป็นเพื่อนเรา เหมือนกับมุยที่อยู่เป็นเพื่อนเราตลอดมา”
อีกหนึ่งจุดเด่นในงานของศิลปินคือเรื่องการใช้สี เพราะบางครั้งก็เป็นน้องมุยในเวอร์ชันภาพขาวดำ แต่บางครั้งก็มีสีสันละมุนตา ศิลปินเลยเฉลยถึงความหมายเหล่านั้นว่า “ภาพขาวดำกับภาพสีเป็นเหมือนมุมมองความรู้สึกในคนละด้านค่ะ” (ยิ้ม)
“เราจะอิงตามคอนเซปต์ที่เราอยากจะเล่าในแต่ละภาพเลย อย่างภาพขาวดำจะเป็นภาพที่เกี่ยวกับอารมณ์ภายในจิตใจ เป็นความคิดที่มาจากภายในใจของตัวเอง ส่วนภาพสีแนวความคิดจะเป็นสิ่งที่คนอื่นเห็นเป็นมุมมองจากภายนอก เลยอยากจะทำให้ดูนุ่มละมุนสบายตา ให้ความรู้สึกที่มองหรือเข้าถึงได้ง่ายมากกว่า” เธอกล่าว
“ผลงานชิ้นนี้เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการเป็นโรคภูมิแพ้เกสรดอกไม้ ส่วนตัวเป็นคนชอบดอกไม้มาก ๆ แต่เข้าไปอยู่หรือสัมผัสมากไม่ได้ เปรียบเทียบเหมือนความรู้สึกกล้าและกลัวของคน เรื่องราวในภาพเลยเกี่ยวกับเด็กผู้หญิง ผู้ถูกจำกัดไว้ให้ไม่สามารถสัมผัสในสิ่งที่ชอบหรือสิ่งที่อยากจะทำได้ ต้องอยู่แต่ในที่ปลอดภัยเท่านั้น เพราะถ้าไปสัมผัสกับสิ่งที่ตัวเองแพ้ ก็จะอาจจะคันและหายใจไม่ออก แต่ถ้าเราไม่ได้ลองสัมผัสมันและคอยแต่กลัวหรือระวัง เราก็ไม่มีทางรู้เลยว่ามันเป็นยังไง
“ในภาพนี้เลยทำให้ดอกไม้ที่รายล้อมรอบตัวเด็กมีหนามแหลมทะลุออกมาจากส่วนต่าง ๆ เหมือนเด็กคนนี้ได้ก้าวข้ามความกลัวของตัวเอง กล้าทำในสิ่งที่อยากจะทำ ลองในสิ่งที่อยากจะลอง และเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน เหมือนกับการยอมรับความเป็นจริง ยอมรับในความรู้สึกกลัวและกล้าของตัวเอง
“เรามีความประทับใจงานชิ้นนี้มากที่สุด ตอนแรกหลังจากเรียนจบเราได้เปลี่ยนสายงานไปค่ะ เลยทำให้ไม่ค่อยได้วาดรูปมากเท่าไหร่ บวกกับอะไรหลาย ๆ อย่างทำให้ไม่ค่อยมีความมั่นใจในงานตัวเองมากเท่าเมื่อก่อน พอดีเจองานประกวด ‘I am original’ ของ ‘Sakura Pigma Micron’ ที่ดูน่าสนใจมาก ๆ ก็เลยตัดสินใจจะลองส่งประกวดดู ก็ได้ผ่านเข้ารอบแล้วเข้าไปเจอคนอื่น ๆ กรรมการ นักวาดหลาย ๆ คน เลยได้แรงบันดาลใจกลับมาเยอะมาก ๆ เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราอยากจะวาดและสร้างผลงานอย่างจริงจังมากขึ้น”
“หลัง ๆ พอโตขึ้น เราไม่ค่อยมีเวลาออกไปเจอเพื่อน ๆ มากเท่าไหร่ เราเลยต้องใช้ชีวิตเดียวค่อนข้างบ่อย ก็เลยคิดถึงตอนได้สนุกกับเพื่อน ๆ เลยนึกถึงตอนเด็ก ๆ เด็กผู้หญิงบางคนเวลาที่ไม่มีเพื่อนเล่นด้วยก็จะจัดห้องจัดโต๊ะน้ำชาเล่นกับตุ๊กตาเป็นเรื่องเป็นราว แต่มันก็ไม่สนุกเท่าเล่นกับเพื่อนหรอก เลยเปรียบเทียบช่วงเวลาตอนเด็กกับปัจจุบัน เป็นเด็กกำลังเล่นจิบน้ำชากับตุ๊กตาหมีที่ไม่มีชีวิตเล่นหรือพูดกับเราไม่ได้แต่ก็ช่วยให้ไม่เหงาได้บ้าง”
“ภาพนี้เป็นช่วงอารมณ์ที่เรารู้สึกเหงา แต่ก็อยากอยู่ในบรรยากาศแบบสงบ ๆ ด้วย เลยนึกภาพว่าถ้าเป็นมุย เราก็อยากให้มุยมีเพื่อนพูดคุยและเล่นด้วยกัน เลยคิดว่าถ้ามีเพื่อนเดินเข้าไปเก็บดอกไม้ที่เราชอบด้วยกันสักคน เพื่อนคนนั้นก็คงจะเป็นนกตัวน้อยที่คอยส่งเสียงเบา ๆ และคาบดอกไม้มาให้อยู่ตลอด หรือขณะนั่งอ่านหนังสือเงียบ ๆ ก็เป็นแมวน้อยที่คอยอยู่ข้าง ๆ ส่งเสียงหรือคลอเคลียบ้าง เรียกว่าถึงจะเหงาไปบ้างแต่ยังมีความสบายใจที่ยังอยู่เป็นเพื่อนกัน”
“ช่วงที่วาดภาพนี้เราวาดเกี่ยวกับตัวตนความรู้สึกทั้งสองด้านของคน ทุกคนมีด้านที่เราสร้างขึ้นมาที่อยากให้คนอื่นมองเห็น กับด้านที่ไม่อยากให้คนอื่นรับรู้ว่าเรามีตัวตนหรือเป็นคนแบบไหน เลยทำออกมาในรูปแบบของฝาแฝดในคนคนเดียวกัน ตั้งอยู่บนแท่นไขลานตุ๊กตาที่หมุนทั้งสองด้านสลับไปมาเรื่อย ๆ เหมือนมุมมองที่เราต้องการให้คนเห็นต่างกันออกไป”
“ตอนที่เริ่มวาดภาพนี้เป็นช่วงที่เราวุ่นวายจากงานและหลาย ๆ อย่าง เลยคิดว่าอยากจะพักผ่อน อยากปล่อยความคิดออกไปเรื่อย ๆ บ้าง เลยวาดรูปนี้ขึ้นมาให้มุยพักผ่อนแทนเราไปซะเลย และทำออกมาเป็นภาพสีกับวาดดอกแดนดิไลออน ที่เหมือนการปล่อยวางความคิดความรู้สึกให้สบายและเป็นอิสระ”
ถ้าใครอยากตามไปให้กำลังใจน้องมุย และชมผลงานน่ารักชวนฝัน สามารถติดตาม Malamaii ได้ที่: https://www.instagram.com/malalamaii/