ในขณะที่คุณกำลังปล่อยใจอยู่ในโลกของเกมโปรดและฟีดโซเชียล แมวตัวหนึ่งก็เดินมางับหน้าจอเข้าให้ และสร้างรอยปริ พิกเซลแตกกระจายเป็นแถบสี เหตุการณ์นี้เป็นมีมที่คนรักแมวทั่วโลกจะต้องขำปนแค้น และมันยังเป็นแรงบันดาลใจของ ‘ดาวหาง’ ที่เจาะโลกดิจิทัล ในภาพวาดของ ‘ปลื้ม – ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ’ ศิลปิน Gen Z ที่ชวนเรามานึกถึงอนาคต ที่ไกลกว่าเราจะสามารถนึกถึง ด้วยจักรวาลแห่งปรัมปราดิจิทัล ที่วิทยาศาสตร์กับความเชื่อไม่ใช่ขั้วตรงข้ามกัน

ในขณะที่คุณกำลังปล่อยใจอยู่ในโลกของเกมโปรดและฟีดโซเชียล แมวตัวหนึ่งก็เดินมางับหน้าจอเข้าให้ และสร้างรอยปริ พิกเซลแตกกระจายเป็นแถบสี เหตุการณ์นี้เป็นมีมที่คนรักแมวทั่วโลกจะต้องขำปนแค้น และมันยังเป็นแรงบันดาลใจของ ‘ดาวหาง’ ที่เจาะโลกดิจิทัล ในภาพวาดของ ‘ปลื้ม – ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ’ ศิลปิน Gen Z ที่ชวนเรามานึกถึงอนาคต ที่ไกลกว่าเราจะสามารถนึกถึง ด้วยจักรวาลแห่งปรัมปราดิจิทัล ที่วิทยาศาสตร์กับความเชื่อไม่ใช่ขั้วตรงข้ามกัน

'ปลื้ม – ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ' ปรัมปราอนาคตของคนยุคดิจิทัล ผ่านภาพวาดที่ทั้ง Mythical, Magical และ Romantic

ในขณะที่คุณกำลังปล่อยใจอยู่ในโลกของเกมโปรดและฟีดโซเชียล แมวตัวหนึ่งก็เดินมางับหน้าจอเข้าให้ และสร้างรอยปริ พิกเซลแตกกระจายเป็นแถบสี เหตุการณ์นี้เป็นมีมที่คนรักแมวทั่วโลกจะต้องขำปนแค้น และมันยังเป็นแรงบันดาลใจของ ‘ดาวหาง’ ที่เจาะโลกดิจิทัล ในภาพวาดของ ‘ปลื้ม – ศุภวิชญ์ วีสเพ็ญ’ ศิลปิน Gen Z ที่ชวนเรามานึกถึงอนาคต ที่ไกลกว่าเราจะสามารถนึกถึง ด้วยจักรวาลแห่งปรัมปราดิจิทัล ที่วิทยาศาสตร์กับความเชื่อไม่ใช่ขั้วตรงข้ามกัน

ดูภาพในจออย่างนี้อาจนึกว่าเขาทำงานดิจิทัลอาร์ตหรือภาพถ่าย แต่ที่จริงเทคนิคหลักที่เขาใช้คือสีน้ำมัน ที่ผ่านการเล่นแร่แปรธาตุด้วยกระบวนการส่วนตัวของเขา จนได้มาเป็นสีสไตล์ RGB ที่ดูเหมือนกับภาพในจอคอมหรือจอมือถือ อันเป็นสไตล์เอกลักษณ์ที่เขาใช้ถ่ายทอดมุมมองต่อสังคมแห่งจอดิจิทัล ในผลงานที่ผ่านมา ทั้งในนิทรรศการกลุ่มและนิทรรศการเดี่ยวที่เขาจัดแสดงที่ NOVA CONTEMPORARY รวมทั้งงานที่เขาขนไปสร้างชื่อมาแล้วที่อาร์ตแฟร์อย่าง S.E.A. FOCUS 2023 ประเทศสิงคโปร์ ที่เขาเดินทางไปร่วมงานเสวนาด้วย และ Liste Showtime Online ส่วนหนึ่งของงาน Liste Art Fair Basel ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

‘The Comet and The Nostalgic Souls’ นิทรรศการล่าสุดของเขาคือเสียงสะท้อน (ปนคำเตือนและเจือด้วยความหวัง) จากเด็กยุคดิจิทัล ที่ไม่ว่าคนยุคไหนก็ไม่ควรมองข้าม เพราะเบื้องหลังดวงดาวและท้องฟ้าที่ดูสงบสวยงาม คือวิทยาศาสตร์ การเมือง และความเชื่อ ที่ใครได้ฟังเขาเล่าแล้วก็คง “ยืนมองท้องฟ้าไม่เป็นเช่นเคย”

ก่อนจะพักสายตาจากหน้าจอ เราอยากขอเวลามาอ่านมุมมองของเขากันก่อน ว่าหน้าจอมันน่ากลัวอย่างไร? อดีตปัจจุบันและอนาคตสัมพันธ์กันแบบไหน? และทำไมในศิลปะของเขา วิทยาศาสตร์กับความเชื่อจึงเป็นสิ่งเดียวกัน?

เด็กยุคจอดิจิตัล กับความรู้และความกลัว

เทคโนโลยีเป็นทั้งฝันดีและฝันร้ายของมนุษย์มาเสมอ ทุก ๆ ความก้าวหน้า สิ่งที่ตามมาด้วยคือความกังวล ตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์แฟรงเกนสไตน์ที่สร้างสัตว์ประหลาดขึ้นมาจนถึง เทคโนโลยี ที่เรียงหน้ากันมาคุกคามมนุษย์ในซีรีส์ดังอย่าง Black Mirror หรือจริง ๆ ฝันร้ายของเด็กยุคดิจิทัล อาจเป็นสิ่งที่เราเจอทุกวันอยู่แล้ว ตอนที่ลืมตาตื่นขึ้นมา แล้วเห็นแสงจากจอโทรศัพท์ก่อนแสงแดด

“พอเรามีโทรศัพท์ มีคอมพิวเตอร์ เราก็ถือข้อมูลองค์ความรู้มาก ๆ ไว้ในมือ เหมือนเราไม่จำเป็นต้องจำข้อมูลด้วยสมองเหมือนคนสมัยก่อนที่ต้องจำต้องท่องสิ่งต่าง ๆ แต่เข้าถึงได้ด้วยการเสิร์ชแทน แต่จริง ๆ คิดว่า การที่ภาพลักษณ์ของดิจิทัลดูเป็นแง่ลบ ไม่ใช่เพราะตัวดิจิทัลขนาดนั้น แต่เป็นเพราะแหล่งทุน นายทุน ระบบโครงสร้างใหญ่ ๆ ที่ไม่ได้เอาระบบดิจิทัลไปใช้แก้ปัญหาเพื่อมนุษย์ส่วนใหญ่สักเท่าไหร่” ปลื้มอธิบาย

งานที่ชุดก่อนของเขาคือความรู้สึกร่วมสมัยที่แทนใจเพื่อนร่วมเจเนอเรชันเดียวกัน เรื่องอำนาจของ “หน้าจอ” ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ สไตล์การวาดที่เหมือนภาพถ่ายแต่ก็เหมือนภาพเกมในจอเหมือนกัน บวกกับมุมมองที่สดใหม่ของเขา ทำให้เขาเป็นที่จับตาเมื่อนำงานไปแสดงที่ต่างประเทศ จนเขาพัฒนามาสู่งานชุดถัดไป ที่จินตนาการต่อ ถึงอนาคตหลังหน้าจอควบคุมโลก

“การมีแอคเคาท์โปรไฟล์ก็เหมือนเรามีอีกร่างกายหนึ่งที่อินพุทข้อมูลความจริงจากโลกกายภาพนี้เข้าไป มันชวนให้เราลองจินตนาการขึ้นมาในหัวว่า ถ้าความจริงมันถูกอัปโหลดไปเรื่อย ๆ แล้วถ้าโลกกายภาพมันไม่ได้ตอบโจทย์ ไม่ได้มีอิสรภาพสำหรับคนรุ่นหลังไปเรื่อย ๆ แล้วคนรุ่นหลังเอาความจริงของตัวเองเข้าไปในโลกดิจิทัล ก็อาจถูกระบบหรือองค์กรอะไรดูดความจริงไปก็ได้ มันก็น่าคิดต่อว่าจะเป็นยังไง”

“มันมีความกลัวเพราะมันเป็นสภาพแวดล้อมที่มีอิทธิพลมาก ๆ ราวกับเป็นเทพองค์ใหม่ที่มีเป้าประสงค์จากองค์กรหรือกลุ่มทุน และเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนหลายคนบนโลก เราต่อต้านเรียกร้องมันก็ยาก เพราะมันมักซ้อนตนเองด้วยรูปร่างและชื่อที่นามธรรม ไม่ได้อยู่ในรูปแบบรัฐบาลอะไรที่จับต้องได้ง่าย”

หลังดิจิทัลครองโลก ก่อนช่วงเวลาแห่งการล่มสลาย

‘The Comet and The Nostalgic Souls’ คือปรัมปราที่ประกอบไปด้วยภาพวาดที่ใช้สี RGB แบบหน้าจอโทรศัพท์ ภาพลายเส้น รวมทั้ง “รูรั่ว” ในห้อง และหนังสือศิลปินที่มีทั้งบทกวีและไดอะแกรม หากนักประวัติศาสตร์อ่านปรัมปราโบราณเกี่ยวกับการกำเนิดโลกแล้วเห็นความคิดความเชื่อของคนในแต่ละสมัย ปรัมปราของเขาก็เป็นเรื่องราวของอนาคตเมื่อโลกถูกถ่ายโอนไปอยู่ในระบบดิจิทัลหมดแล้ว ซึ่งเต็มไปด้วยจินตนาการแห่งชีวิตและสังคมของยุคสมัยนี้

โลกดิจิทัลของเขาไม่ใช่จุดพิกเซล หรือองค์ประกอบใด ๆ ที่เราคุ้นเคย แต่คือการเปรียบให้นึกถึงด้วยลักษณะระดับที่เรียกได้ว่านามธรรม แต่สัมผัสได้ไม่ยาก “มันเป็นการจินตนาการถึงอนาคตเลยไปอีก เหมือนในช่วงเวลาที่โลกดิจิทัลมันจะล่มสลายแล้ว แล้วเราก็นึก อิงกับโลกความจริง นึกเทียบกับฟอร์มของมัน แอคติ้งของมัน อุปมามาจากบริบทต่าง ๆ แล้วเก็บเอาลักษณะมาเล่าต่อ”

“เราก็มีอุดมการณ์บางอย่างในตัว ในเรื่องดิจิทัล เราใช้ประสบการณ์ส่วนตัวมาสำรวจ คิดถึงตัวเองตอนที่ติดโซเชียลมีเดียนัก ๆ แล้วก็จินตนาการต่อไปอีก พวกแนวคิดอุดมการณ์ก็คงผสมๆมาแบบที่เราไม่ได้ตั้งใจขนาดนั้น”

“โลกดิจิทัล เกม เมตาเวิร์สทั้งหลาย มันจัดระเบียบของมันเองได้อยู่แล้ว ภาพมันเลยไม่ใช่เมืองที่พัง แต่ดูเหมือนภาพแบบยูโทเปีย แต่อาจเป็นดิสโทเปียสำหรับสิ่งที่อยู่ในนั้นก็ได้”

“เราอิงกับทั้งวิทยาศาสตร์และความเชื่อด้วย เรื่องวิญญาณ เวียนว่ายตายเกิด การย้ายร่าง ที่ซึมซับมาตั้งแต่เด็ก กับเรื่องวัฏจักรดาวฤกษ์ ตอนแรกอยากเล่าคำว่า Consciousness (จิตรู้สึกสำนึก) ที่พอมันอัปโหลดไปก็ไม่รู้แล้วว่าจะเป็นร่างกายยังไง แต่ยังมี Consciousness นี้อยู่ ก็ตีความมันเหมือนเป็นวิญญาณ ซึ่งโรแมนติกกว่าด้วยในเชิง Spiritual เหมือนที่หลายวัฒนธรรมก็มีวิญญาณเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสิ่งมีชีวิต เลยเอามาใช้ในงาน”

“ในงานที่สร้างขึ้นมาตอนแรกไม่ได้นึกถึงเรื่องวิทยาศาสตร์หรือความเชื่อว่ามันเป็นสิ่งตรงข้ามหรือเป็นคนละสิ่งเลย เราแค่เอาเรื่องที่สนใจมาใช้อย่างอิสระ เพราะในสังคมปัจจุบัน สิ่งต่างๆก็ขัดแย้งและพัวพันกันอย่างแยกแบ่งไม่ออก แต่ใครจะไปรู้เรื่องการเกิดดาวหรือจักรวาลมันอาจจะเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ (Spiritual) มากกว่าวิทยาศาสตร์ บางทีโลกหรือจักรวาลหนึ่งมันเกิดได้เพราะวิญญาณมันมีข้อมูล มีความเชื่อ หรือปฏิกิริยาบางอย่างทางจิตวิญญาณ Consciousness ที่เราไม่สามารถเข้าใจได้ก็ได้”

“ตั้งใจให้ภาพมีความลึกลับด้วย เหมือนเป็นแรงกระเพื่อมของวิญญาณที่ถูกดาวหางสะกิด ในฐานะที่วิญญาณเป็นร่างกายของโลกหรือพื้นผิวอีกชั้นของโลกอะไรงี้ โลกในแง่นี้จะคล้าย ๆ คอนเซ็ปต์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ได้ก็เพราะมีคนเชื่อ เช่น พวกความปกติ ความเป็นเจ้าของ เงิน โลกสวรรค์-นรก โลกโซเชียลมีเดีย”

อดีตที่ไม่เคยเจอ

anemoia - n. nostalgia for a time you’ve never known

ถึงจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับอนาคตไกล ๆ แต่เวลาดูเหมือนจะอยู่พร้อมหน้ากันหมดในนิทรรศการของเขา ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต โดยคนดูจากปัจจุบัน จะถูกกระตุ้นจาก “รูรั่ว” ที่ทำให้ระลึกถึงอดีต ในภาพของอนาคต ที่ความจริงดำรงอยู่ในข้อมูลดิจิทัล

“Inspired จากที่ทุกวันนี้เรามีส่วนร่วมกับโลกอีกแห่งโดยการก้ม(มองจอ)”

“เราจินตนาการถึงยุคดิจิทัลที่ไม่มีการมองขึ้นไปบนท้องฟ้าอีกต่อไป ท้องฟ้าจึงไม่มีดาว ไม่มีดวงอาทิตย์หรือวัตถุบนท้องฟ้า ไม่มีกลางวัน/กลางคืน ทุกอย่างทำงาน (run) อยู่ตลอดเวลา จนเกิดดาวหางมาขัด มาสร้างความรู้สึกที่เรียกว่า ‘Anemoia”

“มันเป็นการโหยหาแบบที่มนุษย์เราชอบมองขึ้นไปบนท้องฟ้า มองดาว แล้วสงสัย มองทำไมเราก็ไม่รู้หรอก ในใจมีอะไรซ่อนอยู่ สิ่งที่หลงเหลือจากการเดินทางของวิญญาณมาจนถึงปัจจุบัน จากอะไรห่างไกลในห้วงลึกของอดีต มันเป็นการโหยหาที่ลึกลับ จากการตีความของเรา เรานำเสนอมันเป็นการ Nostalgia ถึงช่วงเวลา สถานที่ หรือสิ่งที่เราไม่รู้จัก ที่เรียกว่าความรู้สึกโหยหาแบบ anemoia”

“เราคิดว่ามันมีทั้งความ Mythical, magical และ Romantic ด้วย”

“เราสนใจสิ่งที่มันหลงเหลือจากอดีต หลังการเกิดใหม่ มันเหมือนความทรงจำถูกรีเซ็ต แต่ยังหลงเหลือบางอย่างให้ระลึกชาติได้ ทีนี้พอมันอยู่ในโลกดิจิทัล สิ่งที่หลงเหลือมาแล้วทำให้นึกถึงเวลาอื่นนอกระบบในโลกนั้นมันจะเป็นยังไง”

ปลื้มไม่ได้แค่ชวนเราคิดถึงฝันร้ายในอนาคตที่ข้อมูลดิจิทัลเป็นความจริงของโลกเท่านั้น เขายังใส่ “bug” หรือสิ่งแปลกปลอม ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เราลองนึกถึงความเป็นไปได้อื่น นอกความจริงดิจิทัลในโลกนั้นด้วย

“ดาวหางมันโคจรนานเกินช่วงชีวิตของสิ่งต่าง ๆ บนโลก เลยอาจทำให้ถูกลืมทั้งที่เคยเจอกันมาแล้ว พอเจออีกรอบเลยทำให้วิญญาณในโลกรู้สึกถึงอะไรบางอย่างที่อยู่นอกระบบ นอกความจำ เหมือนเกิดรู เกิดแผลของระบบให้เหมือนเข้าถึงบางอย่างนอกระบบได้แบบเชิงจิตวิญญาณ”

“อาจจะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติด้วย หรืออาจจะเกิดจากข้างในเองก็ได้ ดาวหางที่ใช้ในงานนี้มันก็เหมือน bug ของอัลกอริทึม ที่มันมาจากไหนไม่รู้ อาจมาจาก code ของระบบหรือสิ่งที่อาศัยอยู่ในระบบ”

“เราก็ไม่รู้ทำไมเราชอบมองฟ้า มองดาว มันก็มีทฤษฎีกันว่าเรามาจากท้องฟ้าหรือเปล่า ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์มันก็มีเรื่องโลกที่มาจากการระเบิด ซึ่งตีความได้ว่ามาจากท้องฟ้าเหมือนกัน”

“มันเหมือนการเหม่อมองหาอะไรสักอย่างที่เราก็ไม่รู้ว่าหาอะไร หรือเราก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราหาอยู่ บางอย่างมันอยู่นอกความรู้และการรับรู้ของเรา แต่ฝังลึกในระดับวิญญาณที่อาจส่งผลกับพฤติกรรมและความรู้สึกเรา”

“ดาวหางในแง่หนึ่งมันเป็นสิ่งแปลกปลอมของระบบ มันเหมือนเป็นเขี้ยวแมว หรือเขี้ยวงู เจาะจักรวาลหรือท้องฟ้า เจาะโลก Simulation นี้ จนเกิดแผลหรือรูในระบบ ในแง่หนึ่งที่จักรวาลดำรงอยู่หลังจอสกรีน พวกคลิปที่แมวเดินมากัดจอแมคบุ็ค กัดก็เหมือนดาวหางทะลุฟ้าเข้ามา แล้วกระตุ้นสิ่งข้างในให้โหยหาบางอย่างผ่านรอยรั่วนั้น หรืออาจตีความว่ามันคือสิ่งผิดปกติก็ได้”

สำหรับเขา ศิลปะแสดงให้เห็นอนาคตในจินตนาการนี้ อาจสะท้อนภาวะของคนยุคปัจจุบัน แต่อีกหน้าที่หนึ่งของศิลปะ คือการกระตุ้นให้คิดถึงความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่แตกต่าง

“อยากชวนจินตนาการถึงความสัมพันธ์ของเรากับอดีตในห้วงลึกและอนาคตอันไกลโพ้น ทั้งทางจิตวิญญาณ ทางกายภาพ หรือทางดิจิทัล อยากชวนมารู้สึกโหยหาช่วงเวลาหรือสถานที่อื่นนอกระบบของโลกหรือความเป็นจริง ที่อาจนำพาไปสู่จุดเริ่มต้นของการล่มสลายของระบบได้”