หนึ่งในศิลปินที่คุ้นเคยกับการทำงานศิลปะในหลายพื้นที่เป็นอย่างดี ก็คือ  ‘Suph.one’ หรือ ศุภวิชญ์  อินทร์งาม ศิลปิน ช่างสัก Tattoo และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Suph Art Space ที่เขามักผสมผสานการทำงานกราฟฟิตี้ (Graffiti) เข้ากับงานแบบพิกเซลอาร์ต (Pixel Art) และนำงานเหล่านั้นไปติดตั้งภายในอาคาร ภายนอกอาคาร รวมถึงบนโลกออนไลน์อีกด้วย

หนึ่งในศิลปินที่คุ้นเคยกับการทำงานศิลปะในหลายพื้นที่เป็นอย่างดี ก็คือ ‘Suph.one’ หรือ ศุภวิชญ์ อินทร์งาม ศิลปิน ช่างสัก Tattoo และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Suph Art Space ที่เขามักผสมผสานการทำงานกราฟฟิตี้ (Graffiti) เข้ากับงานแบบพิกเซลอาร์ต (Pixel Art) และนำงานเหล่านั้นไปติดตั้งภายในอาคาร ภายนอกอาคาร รวมถึงบนโลกออนไลน์อีกด้วย

สำรวจพิกเซลนอกจอคอมของ Suph.one

‘พื้นที่ติดตั้ง’ คือส่วนสำคัญต่อการเล่าเรื่องราวในงานศิลปะ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่ใช่แกลเลอรี่และมีเรื่องราวเป็นของตัวเอง เช่น ตึกร้าง อาคารเก่า และร้านค้าต่าง ๆ เพราะถ้าเราเล่าผิดบริบทจนไม่สอดคล้องกัน ย่อมไม่สามารถทำให้ผู้ชมเข้าใจความหมายที่แท้จริงของงานศิลปะได้

โดยหนึ่งในศิลปินที่คุ้นเคยกับการทำงานศิลปะในหลายพื้นที่เป็นอย่างดี ก็คือ ‘Suph.one’ หรือ ศุภวิชญ์ อินทร์งาม ศิลปิน ช่างสัก Tattoo และยังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Suph Art Space ที่เขามักผสมผสานการทำงานกราฟฟิตี้ (Graffiti) เข้ากับงานแบบพิกเซลอาร์ต (Pixel Art) และนำงานเหล่านั้นไปติดตั้งภายในอาคาร ภายนอกอาคาร รวมถึงบนโลกออนไลน์อีกด้วย

พอได้จังหวะที่ศิลปินว่างจากการทำงาน เราเลยพุ่งเข้าชาร์จขอพาตัวเข้ามานั่งจับเข่าคุยถึงจุดเริ่มต้นการทำงานศิลปะสักหน่อย ว่าอะไรทำให้เขาเลือกทำงานสไตล์นี้ และในฐานะศิลปินที่ทำงานศิลปะแบบไม่จำกัดพื้น เขามีประสบการณ์สุดท้าทายแบบไหนจะมาแชร์ให้เราชาว GroundControl ได้ฟังกันบ้าง

“คงต้องเริ่มตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ตอนนั้นผมชอบวาดรูปในสมุดวาดเขียนแทนการเล่นของเล่นทั่วไป โดยจะจำลองเหตุการณ์ หรือพวกฉากต่อสู้ของตัวละครต่าง ๆ ที่ชื่นชอบขึ้นมาครับ” Suph.one เริ่มเล่าให้เราฟังจากความทรงจำที่อยู่ลึกที่สุด

เขายิ้มแย้มแล้วขุดคุ้ยความทรงจำของตัวเองให้เราฟังต่อว่า “พอโตขึ้นมาหน่อยผมก็เริ่มใช้คอมพิวเตอร์เป็น แต่มันมีโปรแกรมและเกมไม่มากนัก ผมเลยใช้เวลาหลัก ๆ อยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อวาดรูปในโปรแกรม Paint มากกว่าการเล่นเกม ปัจจุบันนี้ผมก็ยังวาดเล่นอยู่บ่อย ๆ นะ”

“แต่จุดสำคัญจริง ๆ จะเป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในขณะที่ผมกำลังวาดรูปเล่นในโปรแกรม Paint เหมือนปกติ ผมก็ลองซูมเข้า-ซูมออก จนเห็นรายละเอียดของรูปภาพที่มีลักษณะเป็นช่องสี่เหลี่ยมต่อกันเป็นจุด ๆ เลยเกิดเป็นแรงบันดาลใจแรกให้เริ่มวาดภาพพิกเซลอาร์ตขึ้นมา ก่อนจะขยับมาวาดด้วยสีอะคริลิค ต่อด้วยสีสเปรย์บนผ้าใบ โดยขยายมาจากภาพพิกเซลที่ทำการสเก็ตช์ภาพเอาไว้ในคอมพิวเตอร์”

Suph.one ยังเล่าถึงที่มาของการเริ่มทำงานกราฟฟิตี้ด้วยว่า “ส่วนภาพกราฟฟิตี้นี่ โดยเริ่มจากความชอบส่วนตัวในวัยเด็กก่อนเลย ตอนนั้นผมจะดูพวกภาพกราฟฟิตี้และงานสตรีทอาร์ตต่าง ๆ จากนิตยสารของต่างประเทศ เช่น Juxtapoz และ Thrasher magazine ดูแบบยังไม่รู้อะไรเลยว่ามันมีประเภทหรือรูปแบบอะไรบ้าง”

“จนกระทั่งมีนิตยสารภาษาไทยชื่อ MTV magazine ที่เขียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมฮิปฮอปและมีคอลัมน์เกี่ยวกับกราฟฟิตี้ที่อธิบายถึงประเภทและรูปแบบไว้ เลยทำให้ผมเริ่มเซ็นชื่อตัวเอง (แท็ก) และเริ่มพ่นสีสเปรย์เป็นชื่อของตัวเองในที่สาธารณะ ซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้ใช้ชื่อ Suph.one”

ศิลปินพูดเสริมยิ้ม ๆ ว่า “ตั้งแต่หลังช่วงโควิดปี 2022 นั้น ผมเลยนำความชอบทั้งสองอย่างมารวมกัน และเล่าเรื่องผ่านการ์ตูนช่อง เพราะเห็นว่าสามารถสื่อสารเข้าถึงผู้ชมได้ง่าย

เรียกว่าต้องใช้เวลาเก็บเกี่ยวตัวตนของตัวเองนานพอสมควร กว่าจะค้นหาสไตล์ที่ถูกใจตัวเองได้แบบนี้ แต่นอกเหนือจากสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ Suph.one ท้าทายตัวเองอยู่ตลอดเวลาก็คือการทำงานศิลปะในหลากหลายพื้นที่ ซึ่งเขาก็ได้เล่าให้เราฟังถึงอุปสรรคในการทำงานอย่างจริงจังว่า

“บอกเลยว่าการลงมือทำงานในพื้นที่จริงนั้น ถ้าเป็นผลงานที่ไม่ได้สร้างสรรค์ในสตูดิโอ อย่างงานกราฟฟิตี้ก็จะมีตัวแปรที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เช่น สภาพอากาศ แดดร้อน ฝนตก อีกปัจจัยที่ต้องคำนึงถึงก็เป็นเรื่องของพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน หากเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของก็จะต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่เพื่อให้ใช้พื้นที่ได้อย่างถูกต้อง และอีกอย่างจะเป็นเรื่องระยะการมองเห็นผลงานของผู้ชม”

Suph.one ยังยกตัวอย่างผลงาน ‘Was Killed for the Supper’ ขึ้นมากลางบทสนทนา เพื่อช่วยให้เรามองเห็นภาพการทำงานศิลปะร่วมกับพื้นที่ที่มีเรื่องราวอยู่แล้วด้วย เขาเล่าว่า “ตอนผมสร้างงานชิ้นนี้ ผมได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์เสือดำถูกฆ่าเพื่อนำมากินเป็นอาหาร เหมือนมันเป็นเนื้อในมื้ออาหารทั่วไป ในตอนนั้นเจ้าของพื้นที่ขายอาหารมังสวิรัติต้องการหาคนมาวาดภาพพอดี เราจึงอาสาขอเข้าไปวาดให้ จะเห็นว่ารูปภาพของผมกับตัวตนของสถานที่นั้นมีเนื้อหาสอดคล้องกัน เป็นไปในทางเดียวกัน พออยู่ด้วยกันแล้วความหมายมันชัดเจนมาก ผมเลยประทับใจมากครับ”

ช่วงท้ายของบทสนทนา ศิลปินยังสรุปให้เราฟังถึงเอกลักษณ์ในการทำงานของเขาอีกครั้งว่า “ผมคิดว่าเอกลักษณ์สำคัญในงานของผม คือการนำเสนอแนวคิดโดยใช้ศิลปะหรือกระบวนการทางศิลปะมาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารผ่านรูปแบบต่าง ๆ เช่น กิจกรรมที่จัดขึ้นร่วมกับชุมชนผ่านกระบวนการของศิลปะ (Community based Street Art), Digital Paint, Graffiti สีอะคริลิคบนผ้าใบ และเทคนิคอื่น ๆ”

“ผมได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์เลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ที่ประทับใจเพราะเป็นผลงานในปัจจุบันที่ได้สร้างสรรค์จากการรวมความชื่นชอบของตนเองเข้าด้วยกันขึ้น ได้รับการคัดเลือกให้จัดแสดง และได้ช่วยเชิญชวนให้ผู้ชมผลงานได้ไปกำหนดทิศทางผ่านการเลือกตั้งเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศไทยในอนาคต”

“ผมได้รับแรงบันดาลใจจากตัวอักษร กราฟฟิตี้ที่ได้วาดในผลงานดิจิตอลเพ้นท์เป็นชื่อของตนเอง จึงนำมาวาดในสถานที่จริง ที่ประทับใจเพราะเหมือนได้กลับไปทำสิ่งที่ชอบอีกครั้ง”

“ผมได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ไฟป่าในเวลานั้น เป็นผลงานที่ขยายจากภาพวาดลายเส้นของเด็ก ๆ ในพื้นที่บริเวณตัวผลงานแสดง เพื่อต้องการให้เจ้าของภาพลายเส้นนั้นได้เห็นผลงานหลังจากที่ได้รับการวาดขยายแล้ว ส่วนของความประทับใจ คือ ขณะที่วาดภาพอยู่ก็ได้มีผู้คนทั่วไปเข้ามาทักทาย พูดคุยให้ความสนใจเกี่ยวกับตัวผลงาน แล้วก็มายืนกลางร่มให้เราวาดจนเสร็จ”

“ผมได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์ในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ที่ได้พบเจอ ประทับใจเพราะว่ารู้สึกสนุกที่ได้วาด ได้เล่าเรื่องผ่านมุมมองของตนเอง”

สามารถตามไปดูศิลปะบนพื้นที่ไร้ขีดจำกัดของ Suph.one และติดตามศิลปินกันได้ที่:

Facebook: https://www.facebook.com/people/Suphone/100067881231818/

Instagram: https://www.instagram.com/suph.one

Twitter: https://twitter.com/Suph1bkk1

Website: https://www.suph.one