เยล-อัญญา เมืองโคตร “Regen Districts” โปรเจกต์สร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืนที่จะทำให้ทุกคนเห็นว่า Biomaterial ไม่ใช่เรื่องไกลตัว
Biomaterial หรือวัสดุชีวภาพ... แค่ได้ยินคำนี้หลาย ๆ คนก็อาจจะรู้สึกว่ามันช่างซับซ้อนและเข้าใจยากไปโดยอัตโนมัติแล้ว แต่ถ้าเราบอกว่า ใคร ๆ ก็สามารถทำวัสดุทางเลือกชนิดนี้ด้วยตัวเองจากขยะเศษอาหารที่บ้านได้ล่ะ จะเชื่อไหม?
นอกจาก Spirulina Society โปรเจกต์สาหร่ายสปิรูลิน่า อาหารแห่งโลกอนาคตที่เราเคยนำเสนอไปแล้วในคอลัมน์ Selected เยล-อัญญา เมืองโคตร นักออกแบบที่สนใจในความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมยังมีอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ Regen Districts โปรเจกต์ที่ชวนศิลปินและนักออกแบบหลายสิบชีวิต ไม่ว่าจะเป็น Nutdao, Juli Baker and Summer, TUNA Dunn, Lili Tae, Lamunlamai Craft Studio และอีกมากมาย มาร่วมกันทำงานสร้างสรรค์ในรูปแบบงานศิลปะ และงานออกแบบจากวัสดุชีวภาพจากขยะเศษอาหารในครัวเรือน คาเฟ่ และร้านอาหาร ที่สามารถย่อยสลายได้ 100% โดยมีการพาร์ทเนอร์ร่วมกับร้านต่าง ๆ ในย่านวัฒนา เพื่อสร้าง Network Map ที่จะเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปเก็บขยะอินทรีย์เพื่อมาสร้างสรรค์ผลงานต่อได้
ซึ่งครั้งนี้เธอก็ไม่ได้ลุยเดี่ยว แต่ยังไปผนึกกำลังกับ Materiom แพลตฟอร์ม Open Source จากประเทศอังกฤษ ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นตำรารวบรวมสูตรการผลิตวัสดุชีวภาพจากขยะเศษอาหารฉบับ DIY ที่ไม่ว่าใครก็สามารถทดลองทำได้ด้วยอุปกรณ์เพียงไม่กี่ชิ้นในห้องครัว ซึ่งโปรเจกต์ Regen Districts นี้เป็นการต่อยอดความสนใจด้านวัสดุชีวภาพของเยล-อัญญาที่มีมาตั้งแต่สมัยยังศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ โดยในภายหลังจากที่ได้รับทุนจาก British Council เธอจึงนำองค์ความรู้ตรงนี้กลับมาสานต่อที่ประเทศไทย โดยหวังจะให้ทุกคนได้เรียนรู้และต่อยอดการใช้งานวัสดุทางเลือกนี้ได้กว้างไกลมากขึ้น
และในโอกาสที่ Regen Districts กำลังจะมีกิจกรรมสนทนาสบาย ๆ ผ่าน Zoom ในวันที่ 7 - 8 ตุลาคมที่จะถึงนี้ เพื่อเป็นการเปิดตัวโปรเจกต์ใหม่นี้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก เราจึงถือโอกาสดึงตัวเธอมาร่วมพูดคุย เพื่อเจาะลึกถึงที่มาและแนวคิดเบื้องหลังโปรเจกต์ในครั้งนี้ ที่ถึงแม้จะมีความท้าทายหลายอย่างรออยู่ แต่ก็เป็นทางเลือกแห่งการออกแบบที่น่าสนใจ และยังมีความเป็นไปได้ใหม่ ๆ อยู่อีกมาก
ลงทะเบียนฟรีเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมเปิดตัวโปรเจกต์ Regen Districts ผ่าน Zoom ได้ที่: regendistricts.com วันที่ 7 ตุลาคม 2564: ภาษาไทย วันที่ 8 ตุลาคม 2564: ภาษาอังกฤษ
โลกใบใหม่ในดินแดนของวัสดุชีวภาพ
การได้ไปศึกษาต่อที่ Royal College of Art (RCA) กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้เยล-อัญญาเกิดความสนใจในวัสดุชีวภาพที่กำลังมาแรงในวงการออกแบบผลิตภัณฑ์ของที่นั่นในขณะนั้น เพราะนี่ถือเป็นวัสดุทางเลือกแขนงใหม่ที่จะมาช่วยลดปัญหามลภาวะที่เกิดจากฝังกลบขยะเศษอาหาร รวมถึงการทิ้งสารพิษจากการผลิตสิ่งของต่าง ๆ ในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งนอกจากคุณสมบัติการย่อยสลายได้ตามธรรมชาติของวัสดุชีวภาพจากขยะเศษอาหารเหล่านี้จะสามารถเข้ามาตอบโจทย์ในประเด็นดังกล่าวได้แล้ว มันยังสามารถทำได้ง่าย ๆ จากที่บ้า แม้ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง โดยต้องการเพียงแค่เครื่องมือทำครัวง่าย ๆ แค่หม้อ ไม้พาย อุปกรณ์ปั่นบดและชั่งตวง
เยล-อัญญา: “ตอนเรียนปี 1 เราก็ไปเจอเว็บไซต์หนึ่งที่ชื่อว่า Materiom ซึ่งอาจารย์ที่เคยสอนคอร์สที่เรา เรียนเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งที่นี้ด้วย ถ้าจะให้อธิบายสั้น ๆ มันก็คือเป็นแพลตฟอร์ม Open Source ที่เป็นตำรารวบรวมเอาสูตรและขั้นตอนการทำวัสดุชีวภาพประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีวัตถุดิบตั้งต้นจากขยะเศษอาหารอย่างเปลือกไข่ เปลือกหอย กากกาแฟ กากผัก เปลือกผลไม้ หรือแม้แต่เศษผงไม้ที่หลงเหลือจากการเลื่อยไม้ก็สามารถนำเอามาใช้ทำได้ โดยอาศัยการเชื่อมผสานของสารออร์แกนิกที่ทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมวัสดุชนิดต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ผงวุ้นสาหร่าย Agar สารข้นหนืด Sodium Alginate แป้งข้าวโพด และอีกมากมายหลายชนิด ซึ่งสารเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในระบบอุตสาหกรรมอาหาร และสามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามท้องตลาดแทบทั้งนั้น พูดง่าย ๆ ว่า ทุกอย่างมันปลอดภัยและสามารถกินได้หมด เพียงแค่ว่าเราไม่เอามากิน แต่เอามาทำเป็นวัสดุชีวภาพแทน โดยที่วัตถุดิบแต่ละอย่างก็จะให้คุณสมบัติแตกต่างกัน บางสูตรให้คุณสมบัติแข็งและทึบตัน บางสูตรให้คุณสมบัติยืดหยุ่นและโปร่งใส เป็นต้น ดังนั้น Materiom ก็เลยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมสูตรการผลิตที่หลากหลายเหล่านี้ไว้ให้คนได้ค้นคว้าต่อ”
เยล-อัญญา: “นอกจากนั้น เขาก็ยังติดตามศิลปินหรือนักออกแบบทุกคนที่เอาสูตรจากแพลตฟอร์มของเขาไปทำงานต่อด้วย ซึ่งตอนนั้นตัวเราก็ได้ทดลองเอาสูตรของเขามาทดลองทำงานไปเรื่อย ๆ จนพอเริ่มได้จัดแสดงและเขามาเห็นผลงานเรา ก็เลยเริ่มติดต่อกันมาเรื่อย ๆ จนเป็นเพื่อนกัน ซึ่งระหว่างทางเราก็มีไปทำโปรเจกต์อื่น ๆ ประกอบควบคู่ไปด้วย แล้วพอเราเรียนจบและกำลังจะต้องกลับเมืองไทย เพื่อนจาก Materiom ก็มาชวนให้เรายื่นเสนอโครงการของ British Council ที่ใช้ชื่อว่า Connections Through Culture ที่เป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กร ศิลปิน หรือใครก็ได้ในเขตภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับองค์กรที่อังกฤษ แล้วมันก็เหมือนเป๊ะพอดีเลยไง เรากำลังจะบินกลับไทยพอดีด้วย ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราได้มาทำโปรเจกต์ Regen Districts นี่แหละ”
ความตั้งใจในอนาคตของ Regen Districts เพื่อความยั่งยืนอย่างครบวงจร
ถึงแม้ว่า Materiom จะเป็นเว็บไซต์ที่ค่อนข้างจะเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงการออกแบบโดยเฉพาะนักศึกษาที่ประเทศอังกฤษและประเทศอื่น ๆ ในยุโรป อย่างไรก็ดี เราปฏิเสธไม่ได้ว่า แนวคิดเรื่องวัสดุชีวภาพยังเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับคนไทย ดังนั้น ความตั้งใจแรกของเยล-อัญญาในการทำโปรเจกต์ Regen Districts จึงเป็นการสร้างความเข้าใจของคนไทยที่มีต่อวัสดุชีวภาพ โดยการทำให้ทุกคนรู้สึกว่านี่คือเรื่องใกล้ตัวที่ใคร ๆ ก็ทำได้ และทำให้เห็นภาพการนำวัสดุเหล่านี้ไปต่อยอดใช้งานให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งในอนาคตยังวางแผนจะไปร่วมมือกันเหล่าคาเฟ่และร้านอาหารที่มีหัวใจรักษ์โลกหลายแห่งทั่วกรุงเทพฯ ทำเป็น Network Map เพื่อให้ผู้สนใจสามารถเข้าไปรับขยะเศษอาหารที่เหลือทิ้งมากมายมหาศาลในแต่ละวันมาแปรรูปเป็นวัสดุชีวภาพต่อไป ซึ่งนอกจากผู้สนใจจะได้แหล่งขยะเศษอาหารในปริมาณมากแล้ว ยังเป็นการดีต่อการจัดการขยะของเหล่าร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการด้วย โดยในขั้นต้น Regen Districts มุ่งประสานงานกับร้านในเขตวัฒนา ย่านทองหล่อ เอกมัย พระโขนง อ่อนนุชก่อน เนื่องจากมีร้านรวงจำนวนมากมายที่สนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และอยู่ในเส้นทางการโดยสารของ BTS ที่สะดวกต่อการเดินทาง โดยจะมีการจัดเวิร์คช็อปเพื่อชักชวนให้ผู้คนได้มาเรียนรู้กระบวนการผลิตวัสดุชีวภาพจากขยะเศษอาหารต่อไป
เยล-อัญญา: “เวิร์คช็อปที่จะเกิดจะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกจะเป็นเวิร์คช็อปที่เราเชิญศิลปินและนักออกแบบให้มาเรียนรู้และทดลองนำแนวคิดตรงนี้มาสร้างเป็นงานศิลปะหรืองานออกแบบในรูปแบบต่าง ๆ ตามสไตล์ของเขา โดยที่เราก็พยายามเลือกคนจากหลากหลายสาขา ทั้งนักวาดภาพประกอบ กราฟฟิกดีไซเนอร์ คนทำเซรามิก หรือแม้แต่คนที่มีพื้นเพมาจากสายสถาปัตย์ ซึ่งเราก็มองว่า มันน่าสนใจที่คนที่ไม่เคยทำงานกับวัสดุนี้มาก่อนจะเอามันไปใช้กับงานของเขาอย่างไร อย่างสมมุติว่าถ้าเขาเป็นคนวาดรูประบายสี เวลาทำงานเขาก็แค่บีบสี แล้วก็วาดเลย แต่ว่าสิ่งนี้มันมีขั้นตอนให้เตรียมการมากขึ้น ตั้งแต่เก็บวัตถุดิบเศษอาหารมาอบให้แห้ง ปั่นเป็นเศษผงเล็ก ๆ เอาทุกอย่างมาคนส่วนผสมในหม้อ ไปจนถึงต้องเอามาตากให้แห้งเองด้วย มันเหมือนกับว่า เขาต้องลงมือทำสีพวกนี้เองทุกกระบวนการ ซึ่งตามธรรมชาติของมันแล้ว สีที่ทำก็เดาไม่ได้อีกว่าจะออกมาเป็นยังไง เขาต้องทดลองเยอะขึ้นมาก ๆ เมื่อเทียบกับการทำงานศิลปะรูปแบบเดิม ซึ่งตอนที่เวิร์คช็อปกัน เราก็จะเอาวัสดุตัวอย่างมาวางบนจานแล้วให้เขาลองจับผิวสัมผัส สังเกตสี และทำความรู้จักกับคุณสมบัติแต่ละอย่างของวัสดุชีวภาพเหล่านี้ก่อนที่เราก็จะให้เขาเลือกอันที่เขารู้สึกว่ามันใช่กับงานของเขา ไม่ว่าจะเป็นความแข็งตัว ความยืดหยุ่น พื้นผิวหรือแม้แต่สีสันของมันก็ตาม ซึ่งเราก็จะให้เขาทดลองทำโดยการใช้สูตรจาก Materiom เป็นสูตรตั้งต้นนี่แหละ แต่แน่นอนว่ามันก็ต้องมีการปรับแต่งเพิ่มเติมตามความต้องการของแต่ละคนด้วย”
เยล-อัญญา: “ซึ่งหลังจากได้ลองแยกย้ายกลับไปทำงาน ศิลปินบางคนก็ชอบมากนะ เขาขอบคุณมากที่เราทำให้เขาได้เจอสิ่งใหม่ แล้วไลฟ์สไตล์ของเขาเปลี่ยนไปโดยไม่รู้ตัว พอเขากินเสร็จปั๊บก็จะรีบเอาเศษอาหารไปผ่านกระบวนการให้กลายเป็นผงแล้วก็เก็บสะสมไว้เรื่อย ๆ แล้วระหว่างการคนผสมวัตถุดิบไปจนถึงการรอตากแห้งเขาก็ต้องคอยดูแลเหมือนเลี้ยงลูกเลย ตื่นขึ้นมาก็ต้องมาดูก่อนแล้วว่ามีราขึ้นไหม เปราะแตกรึเปล่า สำหรับบางคนมันเป็นการบำบัดระหว่างต้องอยู่บ้านยาว ๆ ในช่วงโควิดประมาณหนึ่งเหมือนกันนะ
ในขณะที่บางคนเขาก็รู้สึกว่ามันยุ่งยากและคาดเดาไม่ได้เลย ซึ่งเราเข้าใจเลยนะ เพราะเราก็เป็น พอมันไม่มีสูตรตายตัว เวลาทำแล้วมันไม่สำเร็จก็จะเซ็ง เราก็จะบอกทุกคนก่อนเลยว่า การลงมือทำสิ่งนี้มันไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ มันมีความท้าทายหลายอย่าง แต่เราก็อยากให้ทุกคนได้ลองเปิดใจมาทดลองเล่นสนุกไปด้วยกัน”
เยล-อัญญา: “นอกจากกลุ่มศิลปินและนักออกแบบแล้ว ในอนาคตที่สถานการณ์ดีขึ้น เราก็อยากทำเวิร์คช็อปอีกส่วนที่จะเปิดเป็นสาธารณะให้คนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้และทำจริงได้ โดยที่งานของศิลปินและนักออกแบบที่ทำไปตอนแรกก็อาจจะสามารถเอามาใช้อ้างอิงได้ว่า คนนี้ใช้สูตรนี้ ใช้เศษอาหารอันนี้ จากร้านนี้ แล้วเราก็ยกทีมไปทำเวิร์คช็อปกันที่ร้านในเครือข่ายของเราเลย เพื่อจะได้ใช้ขยะเศษอาหารจริง ๆ จากร้านของเขา เขาจะได้เห็นภาพและจับต้องได้มากที่สุด
ซึ่งอันนี้แหละที่เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ขาดหายไปในช่วงนี้ที่เจอเรื่องโควิด นอกจากโปรเจกต์นี้จะถูกเลื่อนมาเยอะมากแล้ว สุดท้ายมันยังต้องเปลี่ยนรูปแบบไปเป็นออนไลน์ไปด้วย ร้านค้าหลาย ๆ ร้านที่เคยดีลไว้เมื่อหลายเดือนที่แล้ว พอมาเจอโควิดรอบนี้ก็มีจำนวนที่สะดวกเข้าร่วมโปรเจกต์น้อยลงมาก ซึ่งเราเข้าใจเขามาก ๆ เลย”
ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด
การที่ศิลปินและนักออกแบบจากหลากหลายสาขาได้ลองมาลงมือทำงานศิลปะในโปรเจกต์เดียวกัน แน่นอนว่าย่อมมีการตีความและการดัดแปลงวัสดุชีวภาพเหล่านี้ในหลายรูปแบบที่น่าสนใจแน่นอน ซึ่งเจ้าของโปรเจกต์อย่างเยล-อัญญาเองก็มองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ หลายแนวทางจากผลงานของพวกเขาอยู่ไม่น้อย
เยล-อัญญา: “เราว่าในแต่ละงานมันจะเห็นมิติการเรื่องเล่าที่น่าสนใจที่ต่างกัน คนที่มาร่วมโปรเจกต์นี้ไม่จำเป็นจะต้องมานั่งจำกัดความงานตัวเองด้วยซ้ำว่า เฮ้ย งานฉัน แต่ก่อนคือเป็นอย่างนี้ ฉันก็จะทำอย่างนี้เสมอไป ซึ่งถึงเทคนิคมันจะเปลี่ยนไป แต่ยังไงลายเซ็นของเขาก็ยังอยู่ อย่างมะโม (mamolism) ที่เราติดภาพว่าเขาทำเซรามิก ตอนมาทำเวิร์คช็อปเขาก็มาปั้นนู่นปั้นนี่ พอกลับบ้านไปเขากลับหันไปทำงานเพนต์แทน เราก็แบบ เออ เจ๋งว่ะ มันสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้มากเลยว่าวัสดุพวกนี้มันยังสามารถเอาไปทำอะไรต่อได้อีกเยอะ”
เยล-อัญญา: “อย่างละมุนละไม (Lamunlamai Craft Studio) ที่เขาทำเซรามิก อันนี้วิธีการจะต่างจากคนอื่นที่สุด เพราะทุกคนจะใช้เป็นวัสดุจากขยะเศษอาหารที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติล้วน ๆ แต่อันนี้คือเขาเอาเศษดินที่มีเหลือกลับมาใช้ใหม่ และผสมเข้ากับเศษเปลือกไข่ เพื่อสร้างพื้นผิวในงานของเขาแทน ซึ่งแม้ว่าการเผาเคลือบจะทำให้เซรามิกเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้ด้วยตัวเองทั้งหมดเหมือนงานชิ้นอื่น ๆ แต่อย่างน้อยมันก็ไม่ทิ้งสารพิษใด ๆ ให้สิ่งแวดล้อมเพิ่ม อันนี้เป็นตัวอย่างที่สามารถทำให้คนรู้ว่า เฮ้ย จริง ๆ แล้วในขั้นเริ่มต้นเรายังไม่จำเป็นต้องไปแบบ 100% ก็ได้ เราสามารถเอาสิ่งนี้มาผสมผสานกับศาสตร์ดั้งเดิมที่เราถนัดได้ ซึ่งเรามองว่า มันไม่ได้มีผิดถูก แค่เริ่มต้นแค่นี้ก็คือดีมาก ๆ แล้ว ถ้าเขาเอาสิ่งนี้ไปพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับวงการเซรามิกในอนาคต”
การใช้งานวัสดุชีวภาพย่อยสลายได้ที่ไปได้ไกลมากกว่าแค่ของใช้ส่วนตัว
ด้วยความที่วัสดุชีวภาพเหล่านี้ถูกผลิตขึ้นมาจากขยะเศษอาหารที่เป็นสารอินทรีย์และสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ 100% จึงมีความทนทานไม่เท่ากับวัสดุที่ทำมาจากปิโตรเลียมจริง ๆ อย่างไรก็ดี หากมันถูกเก็บรักษาอย่างเหมาะสม ไม่ถูกแช่น้ำ หรือต้องรองรับน้ำหนักมาก ๆ วัสดุชีวภาพเหล่านี้ก็มีความคงทนอยู่ไม่น้อย ซึ่งด้วยคุณสมบัติเหล่านี้เองก็เป็นสาเหตุที่เยล-อัญญาเลือกงานศิลปะมาเป็นโจทย์หลักในการทำงานของโปรเจกต์นี้ โดยในอนาคต ตัวเธอเองก็อยากผลักดันในวัสดุเหล่านี้สามารถเข้ามาเป็นวัสดุทดแทนในการสร้างโมเดลหรือผลงานชิ้นต้นแบบในวงการออกแบบที่เป็นการใช้งานในรูปแบบใช้แล้วทิ้งหรือ Single-use มาโดยตลอด
เยล-อัญญา: “ถ้าเราไปดูตามคณะออกแบบต่าง ๆ ทั่วโลก เราก็จะเห็นเลยว่าที่ผ่านมามันสิ้นเปลืองมากเลยกับการใช้วัสดุจริงเสร็จแล้วทิ้งไปเรื่อย ๆ สมมติว่า ของจริงจะต้องเป็นซิลิโคน ตอนที่ต้องขึ้นผลงานชิ้นต้นแบบ ส่วนใหญ่เขาก็ดูแค่โครงสร้างภาพรวมเป็นหลัก ดังนั้น มันไม่จำเป็นเลยที่จะใช้ซิลิโคนจริงที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ ถ้าเอาวัสดุสามารถย่อยสลายตามธรรมชาติมาใช้แทนมันก็จะช่วยลดขยะที่ต้องฝังกลบไปได้อีกเยอะ โดยที่สิ่งนี้มันก็สามารถให้เอกเฟกต์ที่มันคล้ายคลึงกับซิลิโคนจริง ๆ และสามารถใช้ความร้อนมาช่วยซีลยึดติดแต่ละชิ้นเข้าด้วยกันได้ด้วย ซึ่งในขั้นต้นเราอาจจะเริ่มต้นกันที่หน่วยย่อยอย่างคณะออกแบบก่อนก็ได้ แล้วในอนาคตก็อาจจะขยับไปถึงระดับอุตสาหกรรมที่สร้างมลภาวะในระดับสูงต่อไป”
วัสดุที่มาจากธรรมชาติและหวนกลับคืนสู่ธรรมชาติ
สิ่งที่ทำให้เยล-อัญญาสนใจในวัสดุชีวภาพเหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะพวกมันสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติจริง ๆ โดยไม่ต้องอาศัยกระบวนการจัดการขยะที่วุ่นวาย อีกทั้งยังไม่ต้องกังวลว่าจะไปรวนสายการคัดแยกและรีไซเคิลที่เป็นระบบอยู่แล้วอีกด้วย
เยล-อัญญา: “เราชอบที่วัสดุพวกนี้ทำให้เราไม่ต้องกังวลว่ามันจะไปปนเปื้อนกับระบบการจัดการขยะอะไรเลย เพราะถ้าทุกอย่างมาจากขยะอินทรีย์ มันก็จะสามารถทำให้ย่อยสลายหายไปได้ทั้งหมด กลายไปเป็นปุ๋ยให้กับพื้นดินกลับคืนสู่ธรรมชาติแทน เรามองว่า มันเป็นวงจรที่น่าสนใจมาก”
กิจกรรมเปิดตัวโปรเจกต์ในรูปแบบออนไลน์
ถึงแม้ว่าความตั้งใจแรกเริ่มของ Regen Districts จะอยากขยายผลไปสู่การทำ Network Map ที่รวบรวมเครือข่ายคาเฟ่และร้านอาหารที่ผู้สนใจสามารถเข้าไปขอรับขยะเศษอาหารได้ง่าย ๆ แต่ด้วยสถานการณ์หลาย ๆ อย่างทำให้กิจกรรมนี้อาจจะต้องเลื่อนออกไปสานต่อในปีหน้าแทน ระหว่างนี้ เยล-อัญญาจึงเน้นไปที่กิจกรรมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่แทน หนึ่งในนั้นคือการเปิดตัวโปรเจกต์พร้อม ๆ กับกิจกรรมพูดคุยผ่าน Zoom ในวันที่ 7 - 8 ตุลาคมที่จะถึงนี้
เยล-อัญญา: “งานที่จะเกิดขึ้นน่ะมี 2 วัน ก็คือวันที่ 7 และวันที่ 8 ตุลาคมนี้ โดยวันที่ 7 จะเป็นวันภาษาไทยที่ค่อนข้างเน้นการพูดคุยกับศิลปินในโปรเจกต์เป็นส่วนมาก ส่วนวันที่ 8 จะเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งนอกจากจะมีศิลปินแล้ว ก็ยังมีผู้เชี่ยวชาญอย่างนักวิจัยและนักเคมีจาก Materiom ประเทศอังกฤษมาร่วมพูดคุยด้วย ดังนั้น ถ้าใครมีคำถามเจาะลึกเชิงเทคนิคก็อยากชวนให้เข้าไปฟังวันที่ 8 หรือจะเข้าทั้ง 2 วันเลยก็ได้ เพราะมันฟรีทั้งสองวันเลย”
เยล-อัญญา: “ใครที่อยากรู้กระบวนการ เบื้องลึกเบื้องหลัง หรือมีคำถามอะไรก็สามารถยกมือถามในช่วง Q&A ท้ายงานได้เลย เพราะงานนี้เรามีทั้งศิลปินและผู้เชี่ยวชาญมาครบ ใครที่สนใจก็สามารถเข้าไปลงทะเบียนเข้าร่วมงานได้ที่ regendistricts.com ”
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/regendistricts
https://www.instagram.com/regendistricts/