ศาสวัต บุญศรี: คำถามถึง ‘ที่ว่าง’ สำหรับหนังไทย เมื่อนักทำหนังไทยรุ่นใหม่ไปเติบโตนอกบ้าน

ศาสวัต บุญศรี: คำถามถึง ‘ที่ว่าง’ สำหรับหนังไทย เมื่อนักทำหนังไทยรุ่นใหม่ไปเติบโตนอกบ้าน

ศาสวัต บุญศรี: คำถามถึง ‘ที่ว่าง’ สำหรับหนังไทย เมื่อนักทำหนังไทยรุ่นใหม่ไปเติบโตนอกบ้าน

ในโลกของภาษาภาพที่อิสระและเป็นสากลนั้น ประกอบไปด้วยส่วนสำคัญมากมาย ดังนั้นตลอดกระบวนการสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่ง จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการถ่ายทำเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงการก่อร่างไอเดีย ไปจนถึงการจัดฉายด้วยเช่นกัน ในทุกวันนี้ที่การเชื่อมต่อผู้คนจากต่างที่ต่างถิ่นเป็นเรื่องง่ายขึ้น ส่งผลให้การเดินทางของภาพยนตร์เรื่องหนึ่งนั้นเป็นเรื่องง่ายตามไปด้วย ซึ่งนอกจากหนังยาวที่เราเห็นกันในโรงภาพยนตร์แล้ว โลกของหนังสั้นเองก็มีความหลากหลายและเผ็ดร้อนไม่แพ้กัน เพราะการเล่าเรื่องในขอบข่ายเวลาที่จำกัดนั้น เท่ากับว่านักสร้างหนังจำเป็นต้องเล่าเรื่องให้กระชับ แต่ยังคงใจความครบถ้วน ดังนั้น แม้หนังสั้นส่วนใหญ่จะใช้ระยะเวลาและงบประมาณน้อยหนังยาว แต่รสชาติของหนังสั้นนั้น เข้มข้นไม่แพ้หนังที่เราดูในโรงภาพยนตร์เลยทีเดียว 

อาจบอกได้ว่าข้อจำกัดที่มาพร้อมกับหนังสั้น ส่งผลให้นักทำหนังในไทยส่วนใหญ่ ทั้งที่เรียนผ่านระบบการศึกษาภาควิชาฟิล์ม และนักทำหนังอิสระ ล้วนแต่สั่งสมประสบการณ์จากการทำหนังสั้นมาก่อน แล้วจึงขยับขยายที่ทาง รวมถึงรูปแบบการสร้างภาพยนตร์ไปตามกำลังและชื่อเสียงที่สั่งสมมา จนนำไปสู่การเป็นที่รู้จักในแวดวงภาพยนตร์ระดับนานาชาติ

ทำไมหนังอิสระไทย มักต้องออกไปสร้างชื่อเสียงในต่างแดน ก่อนได้กลับมาฉายในประเทศตัวเอง

อย่างที่เราได้เห็นกันเรื่อยมาในช่วงหลังนี้ว่า ‘หนังไทย’ ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเติบโตในเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศกันมากขึ้น ส่งผลให้วงการภาพยนตร์ไทยเริ่มเป็นที่จับตามองมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังแต่ละเรื่องเดินทางไปได้ไกลก็คงเป็นเพราะสังคมออนไลน์ที่ทำให้การเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ง่ายขึ้น ในทางตรงข้าม แม้ว่าความสามารถของนักทำหนังไทยรุ่นใหม่จะฉายแววเด่นในเวทีโลกกันมากขึ้น แต่ส่ิงนี้กลับเป็นคำถามย้อนถึง ‘ระบบ’ การจัดฉายหนังในไทยเช่นกัน วันนี้ GroundControl จึงถือโอกาสเชิญ ‘อาจารย์ ศาสวัต บุญศรี’ นักวิจารณ์และอาจารย์ประจำเอกภาพยนตร์ จากรั้วศิลปากร ผู้ที่สนใจในภาพยนตร์ โดยเฉพาะแวดวงหนังสั้นไทย มาร่วมพูดคุย กระเทาะปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของนักทำหนังรุ่นใหม่บนเวทีโลก รวมถึงทิศทางวงการภาพยนตร์ไทยในยุคที่ไม่มีคำว่าพรมแดนอีกต่อไป

ภาพรวมวงการหนังสั้นไทย

อย่างที่ได้เกริ่นไปว่า ก่อนนักทำหนังรุ่นใหม่จะก้าวขึ้นไปทำงานในระดับที่ใหญ่ขึ้นนั้น นักเรียน ‘ฟิล์ม’ ต่างเคยผ่านการทำ ‘หนังสั้น’ กันมาก่อนทั้งสิ้น และสิ่งนี้ทำให้วงการหนังสั้นไทยไม่เคยเงียบเหงาตลอดเวลาที่ผ่านมา เพราะในแต่ละปีมักมีหนังสั้นรสชาติใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ

ศาสวัต บุญศรี: “ปกติแล้วจะมีเทศกาลภาพยนตร์สำคัญของไทยอยู่อย่าง เทศกาลภาพยนตร์สั้นที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘เทศกาลหนังสั้นมาราธอน’ ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิหนังไทยและหอภาพยนตร์ เป็นประจำทุกปี ปีนี้ก็เป็นปีที่ 25 แล้ว หนังสั้นที่ส่งเข้าประกวดในงานนี้ ได้ฉายทุกเรื่องโดยเรียงตามตัวอักษร A B C D ไล่ไปเรื่อย ๆ ผมก็จะติดตามดูเทศกาลพวกนี้ จริง ๆ เป็นปณิธานส่วนตัวด้วยว่าจะพยายามดูหนังสั้น รวมถึงหนังไทยในโรงหนังให้ครบทุกเรื่อง ซึ่งก็อาจมีตกหล่นไปบ้างเหมือนกัน

“พอพูดถึงภาพรวมของหนังสั้นแล้ว ผมว่าหนังสั้นไทยไม่ได้ดูเข้าใจยาก แต่ดู ‘ลับแล’ มากกว่า เพราะหนังสั้นไม่ถูกเผยแพร่มากมายนัก ตัวอย่างง่าย ๆ คือเทศกาลหนังสั้นมาราธอน จัดขึ้นที่หอภาพยนตร์ ศาลายา ซึ่งการจะไปนั้นเป็นเรื่องลำบากพอควร นอกเหนือจากนี้ก็ไม่ค่อยมีใครเอาหนังสั้นมาฉายกันเท่าไร เพราะฉะนั้น โอกาสที่คนจะได้ดูหนังสั้นนั้นค่อนข้างยาก อาจจะมีงานฉาย Thesis นักศึกษาอีกหนึ่งงานที่ดูคึกคัก กับมีบางครั้งคราวที่จัดฉายหนังรวมกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้จัดเป็นประจำ ประเด็นสำคัญเลย ผมว่าเป็นเรื่องของการจัดฉาย (Distribution) คือ สมมติหนังฉายในงานแสดง Thesis หรือฉายในเทศกาลจบ มันก็จบแค่นั้น ไม่มีคนสานต่อ

“อีกข้อหนึ่ง ผมคิดว่าคนส่วนใหญ่ยังมีภาพจำเกี่ยวกับหนังสั้น โดยเฉพาะหนังนักศึกษา ว่าเป็นหนังมือสมัครเล่น ซึ่งความจริงหนังเด็กสมัยนี้ปั้นงานโปรดักชั่นได้ดีมาก อาจเป็นเพราะอุปกรณ์ที่ทำให้หนังคราฟต์ได้ง่ายขึ้นด้วย มันก็มีหนังสั้นที่เคยได้ฉายในโรงภาพยนตร์เหมือนกัน เช่นหนังของคุณ แคลร์-จิรัศยา วงษ์สุทิน แต่พอคนมีภาพจำว่า ไปดูหนังสั้นเหรอ คุ้มค่าเหรอ การจัดฉายเลยต้องแพ็ครวมกันเป็นโปรแกรม อารมณ์คล้าย ๆ หนังที่เขาเรียกว่า Omnibus คือมีเรื่องสั้นหลาย ๆ เรื่อง รวมอยู่ในหนังยาวเรื่องเดียว ซึ่งที่จริงแล้ว หนังสั้นมีความหลากหลาย และมีประเด็นที่เผ็ดร้อนพอ ๆ หรือมากกว่าหนังทั่วไปเสียอีกด้วย อันนี้ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำให้หนังสั้น ดึงดูดความสนใจจากผู้ชมทั่วไปได้”

คนรุ่นใหม่กับยุคที่เรียกว่า ‘Digital Native’

การเปลี่ยนผ่านจากสังคม ‘อะนาล็อก’ มาเป็น ‘ดิจิทัล’ ส่งผลให้โลกของเราเข้าสู่ยุคโลกาภิวัฒน์อย่างเต็มตัว สังคมที่เชื่อมต่อกันผ่านโครงข่ายไร้พรมแดน แทรกซึมไปในทุกมิติรวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการถ่ายทำด้วย โดยเฉพาะการทำงานของนักทำหนังรุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับคุณภาพด้านงานภาพ จนอาจบอกได้ว่าเด็กที่เติบโตมาในช่วงปี 2000 เป็นต้นมา คือ Digital Native หรือกลุ่มคนในโลกดิจิทัลโดยแท้จริง

ศาสวัต บุญศรี: “ที่เด็กสมัยนี้สร้างงานโปรดักชั่นกันเก่ง เพราะพวกเขาโตมากับเครื่องมือดิจิทัล เขาโตมากับไวยกรณ์ภาษาที่เล่าเรื่องด้วยภาพ ไม่ใช่แค่เด็กมหาวิทยาลัยที่เรียนหนังเท่านั้น ผมได้ดูหนัง Sci-fi ของเด็กม.ต้น ที่มีฉากยิงกันแล้วใส่ CG แล้วรู้สึกทึ่ง แต่สิ่งนี้กลับเป็นเรื่องปกติสำหรับเด็กยุคใหม่ แม้การถ่ายทำจะมาในรูปแบบดิบ ๆ ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะงานเหล่านี้มีภาพครบถ้วน ทั้งฉากรับหน้าและฉากบอกระยะใกล้ไกล เราก็จะเริ่มเห็นแล้วว่า การทำหนังสั้นไม่ได้เกาะกลุ่มอยู่แค่เด็กมหาวิทยาลัย

“ขณะที่ความเนี๊ยบของหนังเด็กฟิล์มในรั้วมหาวิทยาลัย ก็ทำให้นักศึกษา (ไม่ใช่ทุกคน) เห็นว่าผลงานของพวกเขา สามารถต่อยอดไปในเวทีใหญ่ ๆ ได้ อย่างหนังสั้นเรื่อง สุสานใต้ดิน ของ พี-วิศรุต ศรีพุธสมบูรณ์ ที่ได้รับเลือกให้ฉายใน Rotterdam เขาก็รู้อยู่แล้วว่าเขาตั้งใจจะส่งหนังไปเทศกาลนั่นนี่ สุดท้ายก็เกิดผลขึ้นมา แต่ผมไม่เคยกดดันว่าหนังเด็กจะต้องได้รางวัลนะ เพราะเรื่องแบบนี้ขึ้นอยู่กับความชอบของกรรมการ ซึ่งนอกจากปัจจัยด้านเทคโนโลยีที่ทำให้งานหนังสั้นดูแพงขึ้นแล้ว การได้เห็นผลงานของอาจารย์อย่าง อาจารย์จักรวาล นิลธำรงค์ จากธรรมศาสตร์กับหนัง Anatomy of Time ที่ฉายใน Venice, หนังเรื่อง พญาโศกพิโยคค่ำ ของอาจารย์ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ที่เพิ่งไปฉายใน Rotterdam หรือการเห็นหนังของรุ่นพี่ที่ผ่าน ๆ มา ก็ทำให้เด็กรุ่นใหม่ ๆ คิดการณ์ไกลมากขึ้น ส่วนที่ว่าศักยภาพของเด็กสมัยนี้ พาให้เขาเติบโตในระดับนานาชาติได้มากแค่ไหนนั้น ผมว่าส่วนสำคัญคือการเข้าถึง ‘อินเทอร์เน็ต’ ที่ทำให้การส่งหนังไปเทศกาลต่าง ๆ เป็นเรื่องง่ายกว่าแต่ก่อนมาก”

ศาสวัต บุญศรี: “การส่งหนังไปในเทศกาลต่าง ๆ เมื่อก่อนนี้ เราต้องทำ DCP แล้วส่งไฟล์ Hard Disk ไปทางไปรษณีย์ ซึ่งมันเป็นเรื่องใหญ่ การทำ DCP ยังโอเค เราสามารถหา Open Source ได้ แต่การส่งหนังไปต่างประเทศไม่ง่ายเลย นอกจากค่าสมัครเข้าร่วมเทศกาลแล้ว ยังต้องจ่ายค่าขนส่งซึ่งแพงมากอีก ต่างจากเดี๋ยวนี้ที่มีเว็บประเภท FilmFreeway ซึ่งเป็นเว็บตัวกลางในการสมัครเข้าร่วมเทศกาลหนังต่าง ๆ โดยเขาอาจกำหนดรูปแบบการส่งที่แต่งต่างกันไป เช่น บางที่ของไฟล์ MP4 ง่าย ๆ ถ้าได้รับเลือก คุณก็ส่งไฟล์ DCP ไปอีกรอบ แล้วแต่ความเหมาะสมของระบบการฉาย

“ผมว่านี่คือโอกาสเลย สมมติเราจะส่ง Student Film Festival ก็แค่เสิร์ชหา อาจมีบางที่ที่เปิดรับสมัครฟรี คล้าย ๆ กับได้ตั๋ว Early Bird หลังจากนั้นอาจเสียสัก 5 ดอลลาร์ ซึ่งก็ถือว่าถูกกว่าการส่งไฟล์ทางไปรษณีย์มาก ขอแค่อ่านภาษาอังกฤษออก กรอกข้อมูลภาษาอังกฤษเป็น ทุกคนก็สามารถส่งหนังเข้าร่วมเทศกาลรอง (Minor Film Festival) ได้ ซึ่งเทศกาลเหล่านี้ มักเป็นเทศกาลที่มีขอบข่ายเป้าหมายชัดเจน เช่นเทศกาลหนังสิ่งแวดล้อม ซึ่งบางทีการคัดเลือกหนัง ก็อาจเกิดจากมุมมองของกรรมการ สิ่งสำคัญคือหนังเรื่องนั้น ๆ ตรงกับประเด็นที่เขาสนใจหรือเปล่า ส่วนเทศกาลใหญ่ ๆ อย่าง Rotterdam หรือ Locarno อาจต้องสั่งสมชื่อเสียงไปก่อนประมาณหนึ่ง”

อาเซียนร่วมใจ ในเวทีหนังโลก

นอกจากขอบข่ายอันไร้ซึ่งพรมแดน จะเปิดโอกาสให้นักทำหนังตัวเล็ก มีที่ทางบนเวทีภาพยนตร์ระดับโลกแล้ว การที่เราเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น ยังส่งผลต่อแนวทางในการสร้างหนังของเหล่าผู้กำกับหน้าใหม่ ที่สามารถศึกษาหาความรู้จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ อย่างกว้างขวางมากขึ้น ในโลกที่มาตรวัดความเป็น Original เจือจางลงเรื่อย ๆ แบบนี้ การหาแนวทางในการสร้างภาพยนตร์ที่แตกต่าง และเผยให้เห็นถึงสุนทรียะ ความงามเฉพาะตัว จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการเติบโตในเส้นทางสายภาพยนตร์ การเชื่อมต่อและความสนใจในโลกของหนังนี้เอง ที่นำมาสู่การสร้าง Community ที่เปิดกว้างสำหรับนักทำหนังไม่ว่าจะหน้าเก่าหรือใหม่

ศาสวัต บุญศรี: “S-Express เป็นเหมือนการร่วมมือกันของ Curator ที่อยู่ในอาเซียน อย่าง S-Express ในไทยก็จะคัดเลือกจากหนังที่ชนะเลิศรางวัลหลักของเทศกาลหนังสั้น เช่น รางวัลช้างเผือกจากเด็กมหาวิทยาลัย หรือรางวัล รัตน์ เปสตันยี ซึ่งเป็นหนังที่ชนะเลิศสายบุคคลทั่วไป โดยโปรแกรมนี้จะวนฉายไปตามประเทศต่าง ๆ เริ่มจากในอาเซียน ก่อนจะขยับขยายที่ทางไปยังเวทีใหญ่ขึ้นเช่น Singapore International Film Festival ซึ่งแนวทางนี้ไม่ได้ตายตัวนะ เพราะสำหรับคนที่มีชื่อประมาณหนึ่งแล้ว เขาอาจเปิดตัวจากเทศกาลใหญ่ ๆ ก่อน แบบนี้ก็มีเหมือนกัน

“การที่หนังไทย หรือเวียดนามซึ่งทำหนังออกมาได้เฮี้ยนมาก ๆ เริ่มมีชื่อเสียงในเวทีโลก สำหรับผมแล้วอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับเนื้อหาของงานอย่างเดียว เปรียบเทียบง่าย ๆ สมมติว่าเราไปดูหนังแอฟริกาเรื่องหนึ่งแล้วมีฉากการปฏิวัติ เราก็คงเข้าใจแค่ว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แต่อาจจะไม่ได้รู้สึกเดือดดาลมากเท่าคนในพื้นที่ หรืออย่างหนังคุณ สรยศ ประภาพันธ์ ที่ไปฉายในต่างประเทศ ผมว่ามันอาจเป็นเรื่องของสุนทรียะทางภาพยนตร์ และการสะสมชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักมากกว่าเรื่องที่ชาวต่างชาติเข้าใจในบริบทการเมืองไทย

“ประเด็นทางการเมืองเฉพาะพื้นที่ ถ้าไม่ใช่สิ่งที่ทั้งโลกสนใจในเวลานั้น เขาก็อาจไม่ได้สนใจตัวหนังมากนัก จะเห็นได้ว่าหนังเวียดนามที่ฉายไปแล้วดังในเทศกาลต่างประเทศ ส่วนใหญ่เป็นเพราะการเล่นกับสุนทรียะแบบใหม่ เล่นกับความเหวอของผู้ชม ผมเคยดูหนังเรื่องหนึ่งที่คาดเดาอะไรไม่ได้เลย ผมว่าอะไรแบบนี้มากกว่าที่นานาชาติมองหา กับอีกสิ่งหนึ่งซึ่งผมย้ำอยู่บ่อย ๆ คือ การจะมีที่ทางบนเวทีนั้น ๆ ขึ้นอยู่กับว่าหนังของเราตรงกับธงที่เทศกาลมองหาไหม อย่างหนังไทยที่ไปตามเทศกาลต่าง ๆ ผมว่าก็เป็นหนังที่มักจะมี Aesthetic หรือสุนทรียะที่โดดเด่นและแปลกใหม่ รวมถึงมีการเล่าเรื่องที่เป็นสากล ใคร ๆ ก็เข้าใจได้ คือมันอาจจะเล่าเรื่องเมืองไทยก็จริง แต่เป็นเมืองไทยที่ใช้ภาษาภาพยนตร์ในการเล่า ชาวต่างชาติดูแล้วรู้สึกว่ากระแทกความรู้สึกเขาได้”

เทศกาลหนังและการขอทุน

ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ ค่าสถานที่ หรือแรงงานคน เมื่อการสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีสิ่งที่ต้องจ่าย ‘ทุน’ จึงเป็นปัจจัยตั้งต้นที่เหล่านักทำหนังให้ความสำคัญอยู่เสมอ ซึ่งนอกจากการควักกระเป๋าออกเงินค่าโปรดักชั่นเองแล้ว นักทำหนังหลาย ๆ คนก็มักจะมองหา ‘ผู้ให้ทุน’ ควบคู่ไปด้วยเช่นกัน

ศาสวัต บุญศรี: “พอเป็นเรื่องเม็ดเงิน การขอทุนแต่ละครั้งเลยไม่ได้ขอกันง่าย ๆ แต่ละองค์กรเขาก็จะมีธงในใจปักไว้แล้วว่าปีนี้อยากสนับสนุนเรื่องอะไร อย่างบ้านเราที่มี Purin Pictures, Seafic หรือแม้แต่ Busan เขาก็เปิดให้นักทำหนังส่งไอเดียมา แล้วคัดเลือกจากความน่าสนใจของเนื้อหา และวิธีการนำเสนอ (Proposal) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับว่าสุนทรียะในหนัง เป็นสิ่งที่ผู้ให้ทุนตามหาหรือไม่ เพราะฉะนั้น ปัจจัยต่าง ๆ จึงเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ประมาณหนึ่ง และเงื่อนไขของทุนก็แตกต่างกันไป อาทิ หากได้รับเลือก คุณต้องฉายกับเราที่แรก เป็นต้น

“นอกจากทุนที่มีหลายรูปแบบแล้ว เทศกาลภาพยนตร์แต่ละที่เองก็เอกลักษณ์เฉพาะตัวต่างกัน อย่างหนังสั้นที่ฉายใน Rotterdam มักจะมีกลิ่นอายของหนังทดลอง ท้าทายความเป็นภาพยนตร์อยู่ ส่วน Locarno จะเป็นอีกแบบ พอส่งบ่อย ๆ จนเริ่มมีคนรู้จัก เราก็จะได้รับการยอมรับมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งว่ากันตามจริง การได้ทุนหรือได้ฉายหนังในเทศกาลต่างประเทศ มันไม่มีอะไรมาการันตีได้เหมือนกัน เว้นแต่คุณจะทำไปเรื่อย ๆ ถ้ายังมีความกระหายใคร่รู้อยู่ สักวันคงมีที่ทางที่สามารถต่อยอดไปได้เอง”

ศาสวัต บุญศรี: “สำหรับทุนจากภาครัฐอย่างทุนกระทรวงวัฒนธรรม สำนักศิลปะร่วมสมัย หรือสสส. มันอาจเป็นความเจ็บช้ำอย่างหนึ่งตรงที่ ทุนเหล่านี้มีเป้าหมายชัดเจนว่าจะต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมองค์กร เช่น การทำหนังงดเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งมันก็เป็นแง่มุมที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดเหมือนกัน ส่วนทุนจากกระทรวงวัฒนธรรม มีปัญหาอยู่ตรงที่ทุนไม่ได้มีมาอย่างสม่ำเสมอ เท่าที่ผมทราบคือทุนนี้ไม่มีมาตั้งแต่ปี 63 จนกำลังจะปิดงบประมาณปี 65 ก็ยังไม่เห็นรายช่ือมา มันเหมือนเล่นขายของประมาณหนึ่งว่าส่งไปแล้วจะเปิดรับไหม หรือปีไหนเปิด ปีไหนปิด พอทุนมาไม่ต่อเนื่อง บวกกับเกณฑ์การให้ที่ไม่ชัดเจน เลยเหมือนกับว่าการสนับสนุนจากรัฐ เป็นการสนับสนุนที่ไม่ได้สนับสนุนคนทำหนังอย่างเต็มที่ ฉะนั้น การขอทุนจากภาคเอกชนจึงดูมีความเป็นไปได้มากกว่า เช่นการขอทุนจากโก๋แก่ ที่สนับสนุนนักทำหนังอิสระมาเรื่อย ๆ หรือบางทีก็มีบ้างที่ขอ Sponsor เป็นค่าส่วนลดอุปกรณ์ต่าง ๆ

“ทุกวันนี้เราเลยจะคุ้นกับความคิดเรื่อง ‘Transnational Cinema’ มากขึ้น คือเราหาทุนแค่ในประเทศเพียงอย่างเดียวมันไม่พอ คนที่มีชื่อหน่อยเลยมีการขอทุนจากหลายประเทศเพื่อสร้างหนังเรื่องหนึ่ง ซึ่งการสร้างก็จะมีเงื่อนไขแตกต่างกันไป เช่น หากคุณขอทุนจากประเทศ A คุณต้องทำงานร่วมกับทีมงานจากประเทศเราเป็นต้น อย่างคุณ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เองก็ได้รับทุนสร้างภาพยนตร์จากความร่วมมือของหลายประเทศเช่นกัน”

ว่าด้วยเรื่องของคนทำหนัง กับโรงฉายที่มีอย่างจำกัด

นอกจากการส่งหนังฉายตามเทศกาลต่าง ๆ แล้ว การที่หนังเรื่องหนึ่งจะเข้าตาผู้ชมได้นั้น ที่ทางในการฉายหนังเองก็เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักเพื่อให้หนังสามารถเดินทางไปต่อได้เช่นกัน ความยากของนักทำหนังอิสระที่อยากจะเติบโตในไทยก็คือ การหาพื้นที่จัดฉายหนัง ในวันที่โรงหนังใหญ่ ๆ ค่อนข้างผูกขาดโรงฉายสำหรับหนังเฉพาะกลุ่ม ยิ่งเป็นหนังสั้นแล้ว การฉายหนังในโรงภาพยนตร์ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้นอีกขั้น

ศาสวัต บุญศรี: “ผมว่าประเด็นเกี่ยวกับโรงฉายมีผลสำคัญที่สุด ผู้กำกับที่ผมรู้จักเป็นการส่วนตัวทุกคน อยากฉายหนังในประเทศหมดเลย อยากฉายไปในวงกว้างด้วย แต่ระบบการฉายหนังในไทยไม่ค่อยหลากหลายเท่าที่ควร ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เรารู้กันมานานแล้ว ยิ่งเวลาหนัง Blockbuster เข้า หนังเรื่องอื่น ๆ ยิ่งต้องหลบทางให้ พอไม่มีหนังใหญ่เข้า หนังเล็ก ๆ ก็มาออกันฉาย อย่าว่าแต่หนังนอกกระแสหรือหนังสั้นเลย หนังไทยจากค่ายใหญ่ ๆ เองก็ลำบากเหมือนกัน ในการจัดฉายแต่ละครั้ง คนทำหนังเลยต้องคิดตลอดว่าจะทำอย่างไรให้คนมาดูหนัง เอาเข้าจริงช่วงล็อกดาวน์ที่ผ่านมา จะเปิดหรือปิดโรงหนังไปก็ไม่ต่างกันมากนัก เพราะคนดูหนังไม่ได้เยอะขนาดนั้น ยิ่งเดี๋ยวนี้ที่คนมีทางเลือกมากขึ้น เช่นการดูหนังในเว็บสตรีมมิ่ง Netflix และอื่น ๆ คนเข้าโรงหนังจริง ๆ ยิ่งน้อยลงไปอีก ผมว่ามันก็เป็นภาพปรากฏการณ์ของคนยุคนี้เหมือนกัน ถ้าเฉลี่ยดูแล้ว รายได้ของคนในประเทศเราค่อนข้างน้อยเลยนะครับ เพราะฉะนั้น การจะไปดูหนังในโรงหนังบ่อย ๆ เลยไม่ใช่เรื่องที่คนรู้สึกถึงความคุ้มค่าเท่าไร

“ระบบการดูหนังของบ้านเรา ถ้าให้ถอดโครงสร้างมาพูด มันก็มีหลายปัจจัยมาก ๆ ที่ทำให้คนเลือกไม่ไปดูหนังในโรงหนัง ซึ่งแน่นอนว่าพอคนไม่ดู การฉายหนังบางเรื่องเลยไม่ก่อกำไร โรงฉายก็จะเริ่มลดรอบหนัง ซึ่งโมเดลแบบนี้ไม่ได้เป็นกับไทยที่เดียวนะ มันเหมือนเวลาเราไปโรงอาหารแล้วเจอร้านข้าวที่เหลือแค่ข้าวผัดเปิดอยู่ร้านเดียว คนเลยไม่อยากกินกันขนาดนั้นเพราะเขาเลือกไม่ได้

“ในแง่ของผู้ชม มันมีคนที่รอดูหนังอยู่เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เยอะ เมื่อเทียบกับภาพรวมของทั้งประเทศ คนที่ดูหนังคือเศษเสี้ยวหนึ่งที่เล็กมาก สถานการณ์ช่วงก่อน Covid ที่แทบไม่มีหนังเข้า คือพิสูจน์ได้ชัดเลยว่าถึงไม่มี Covid คนก็ไม่ไปดูหนังในโรงอยู่ดี เพราะเขาไม่ชินกับการดูหนังแปลก ๆ ในโรงหนัง ทำนองว่าทำไมฉันต้องเสียตังค์ไปดูหนังแบบนี้ด้วย หรือมันคุ้มค่าไหมกับการดูหนัง ซึ่งก็คงบอกได้ว่า สิ่งนี้เป็นปัญหาที่นักทำหนังนอกกระแสต้องเจออยู่เสมอ ยังไม่นับเรื่องรายได้ที่ต้องหักไปกับค่าโรงฉาย และอื่น ๆ ซึ่งเป็นเงื่อนไขและอุปสรรค์ที่ทำให้การจะประสบความสำเร็จด้านรายได้นั้นเป็นเรื่องค่อนข้างยาก

“ยิ่งหนังนอกกระแสส่วนใหญ่ฉายแค่ในกรุงเทพฯแล้ว โอกาสที่คนต่างจังหวัดจะเข้าถึงหนังจึงเป็นเรื่องยากมาก ฉะนั้น บางคนเลยเลือกดูลิงก์เถื่อน ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าการดูหนังเถื่อนเป็นเรื่องผิด พอคนดูหนังจากเว็บเถื่อนกันได้ง่าย ๆ เขาก็เชื่อว่าเดี๋ยวหนังที่ฉายในโรงหนังก็จะมาอยู่ในเว็บพวกนี้ จนกลายเป็นช่องทางโฆษณาผิดกฎหมายอย่างที่เห็นกัน คือมันก็ไม่แฟร์หรอก แต่ด้วยความที่การกระจายหนังบ้านเรามีน้อย เลยต้องเป็นแบบนี้ ซึ่งมันกระทบกันเป็นโดมิโนประมาณหนึ่ง ผมก็หวังว่าโรงหนังจะหันมาจริงใจกับหนังไทยหน่อย เพราะกำไรจากโรงหนังคือค่าขนมอยู่แล้ว”

ศาสวัต บุญศรี: “ที่จริงแล้ว คนในแวดวงภาพยนตร์ก็มีความพยายามผลักดันเรื่องหนังในไปในทางกฎหมาย คือมีการปรับแก้ พรบ.ภาพยนตร์ อย่างการจัดทำกองทุน แต่ก็เงียบหายไป ซึ่งเอาเข้าจริง การทำกองทุนในไทยถือเป็นเรื่องยาก เพราะประเทศเราไม่สามารถนับรายได้จริง ๆ ของหนังแต่ละเรื่องได้ อย่างฝรั่งเศส เขานับรายได้จากตั๋วหนังที่ขายออกไป แต่ในไทยดันมีระบบที่เรียกว่า ‘สายหนัง’ ซึ่งเป็นตัวแทนซื้อขาดหนังไปฉายในจังหวัดหรือภูมิภาคของตัวเอง และสิ่งนี้มีมานานมากแล้วในประวัติศาสตร์ไทย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว หนังที่ฉายในต่างจังหวัดมักจะไม่มีการเปิดเผยข้อมูลออกมา เราเลยจะเห็นว่ายอดรายได้ที่เกิดขึ้น มักมีดาวติดไว้ว่าเป็นรายได้จากแค่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่เท่านั้น ดังนั้น การจะมาทำกองทุน เก็บภาษีจากจำนวนตั๋วที่นั่งของภาพยนตร์แต่ละเรื่องในแต่ละปี จึงเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในไทย”

“พอระบบมันไม่ได้เอื้อให้เราสามารถขยับขยายที่ทางได้ สิ่งนี้ก็เลยกลายมาเป็นโจทย์ที่ใหญ่มากสำหรับนักทำหนัง และคนจัดฉายหนังอิสระ ว่าจะทำอย่างไรให้คนทั่วไปได้ดูหนังที่หลากหลายมากขึ้น ผมว่าถ้าเขาได้ดูหนัง เขาจะประทับใจนะ ในแง่หนึ่งเป้าหมายและความพยายามของคนแวดวงหนัง จึงอาจเป็นแค่การพาหนังไปสู่คนอื่นไม่ได้รู้จักกับหนังเท่าที่ควร ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยังหาทางอยู่เหมือนกัน”

เครดิตภาพปกจากหนังสั้น เจริญวิริญาพรมาหาทำใน 3 โลก (Develop Viriyaporn Who Dared In 3 Worlds) กำกับโดย กัลยรัตน์ ธีรกฤตยากร ว่าด้วยการสืบหา "วิริญาพร บุญประเสริฐ" คนทำหนังเสียดสีสังคมมาตั้งแต่ปี 2555 จากปากคำของเหล่า Cinephile ในประเทศไทย โดยที่ทุกวันนี้ยังไม่มีใครทราบว่าตัวจริงของเธอคือใคร

สามารถรับชมผลงานได้ถึง 31 ตุลาคมนี้ที่:
https://www.youtube.com/watch?v=vmqBxrVEY_U