คุยกับทีม BANGKOK ART BOOK FAIR  ถึงการกลับมาของเทศกาลหนังสือที่คนรักศิลปะรอคอย

คุยกับทีม BANGKOK ART BOOK FAIR ถึงการกลับมาของเทศกาลหนังสือที่คนรักศิลปะรอคอย

คุยกับทีม BANGKOK ART BOOK FAIR ถึงการกลับมาของเทศกาลหนังสือที่คนรักศิลปะรอคอย

“DON’T KEEP YOUR DREAM AT HOME”

ประโยคข้างต้นคือสโลแกนของงาน BANGKOK ART BOOK FAIR ที่กำลังจะมาถึงในวันที่ 26-27 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งไม่บอกก็คงพอเดาได้ ว่าสถานการณ์ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาคือที่มาของธีมงาน แต่ในความเป็นจริงแล้วทีมผู้จัดงานไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่แค่นั้น เพราะพวกเขานำแกนความคิดดังกล่าวมาต่อยอดและขยายต่อจนเกิดเป็นงานในรูปแบบใหม่ สมกับขวบปีที่ 5 ที่เทศกาลหนังสือศิลปะนี้เกิดขึ้น

อะไรคือแรงบันดาลใจในการเนรมิตงานให้ออกมาอย่างที่ว่า และทำไมพวกเขาถึงอยากบันดาลให้เกิดงานในปีที่ทุกอย่างไม่นอน, ‘ลูกตาล–ศุภมาศ พะหุโล’ เจ้าของพื้นที่ @BANGKOK CITYCITY GALLERY ‘พัด–พัชร ลัดดาพันธุ์’ และ ‘เป้–ปิยกรณ์ ชัยวีรพันธ์เดช’ จาก STUDIO150 สามผู้ร่วมก่อตั้ง Bangkok Art Book Fair พาเราไปหาคำตอบผ่านประโยคสนทนากัน

พื้นที่แสดง เสพและกระตุ้นให้ความฝันหมุนเวียน

เท้าความไปถึงปีที่แล้ว แม้เชื่อในงานเทศกาลหนังสือสักเพียงใดแต่ทีม BANGKOK ART BOOK FAIR ก็ไม่สามารถทำงานในลักษณะเดิมได้ พวกเขาต้องย้ายแพลตฟอร์มไปสู่ออนไลน์แทน แต่พอเข้าสู่ปีนี้ แม้ช่วงต้นปีสถานการณ์ยังไม่นิ่ง พวกเขาก็หมายมั่นกันว่าจะนำเทศกาลแบบเดิมกลับมา เพราะทุกคนต่างลงความเห็นว่ามันถึงเวลาแล้วที่ความฝันจะต้องออกมาจากบ้านหลังจากทนเก็บไว้อยู่แรมปี

ลูกตาล : “ด้วยข้อจำกัดทำให้งานปีที่แล้วต้องจัดแบบออนไลน์ ซึ่งพวกเราก็ได้ค้นพบว่ามันไม่เหมือนกับการจัดเทศกาลเลย ในหลายครั้งเรารู้สึกว่าตัวเองกำลังคุยกับใครอยู่ก็ไม่รู้ สิ่งที่ตั้งใจส่งไปถึงใครหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ดังนั้นพอเริ่มปีใหม่ พวกเราจึงคุยกันตั้งแต่ต้นปีว่าจะจัดแบบ on-site แต่ด้วยสถานการณ์ก็ทำให้ต้องพับกันไปหลายรอบ จนมาลงตัวที่เดือนนี้เอง

“แน่นอนว่าจัดงานช่วงโควิดมันยาก เพราะด้วยความที่ปีก่อนหน้าคนแน่นตลอด เราเลยต้องคิดเรื่อง Social Distancing กันใหม่หมด แต่เราก็พยายามใช้ประโยชน์จากการจัดปลายปี โดยจากที่เป็นแบบ indoor เพราะจัดในฤดูฝน แต่ปีนี้เรามีทั้งส่วนที่เป็น indoor และ outdoor เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับคนที่มา ซึ่งเราให้ทั้งหมดอยู่ภายใต้คำว่า DON’T KEEP YOUR DREAM AT HOME

“คอนเซปต์นี้มีที่มาจากหลายทาง อย่างแรกคือช่วงที่ผ่านมาเราอยู่ในหน้าจอกันเยอะ โดยเฉพาะพัดและเป้ที่เป็นอาจารย์สอนหนังสือก็สังเกตุเห็นว่าเด็กหลายคนสับสนจากสิ่งที่เจอ เพราะไม่ใช่ว่าทุกคนจะมีทุกอย่างพร้อมสมบูรณ์ที่บ้านในการบอกเล่าสิ่งที่เขาคิด ซึ่งสิ่งนี้มันก็ไปสอดคล้องกับไอเดียตั้งต้นของ Self-Publishing ที่อยากตีแผ่ผลงานของตัวเอง เราจึงคิดว่ามันคงดีถ้าตอนนี้มีสักพื้นที่หนึ่งให้ทุกคนได้ออกมาแสดงหรือเสพความฝัน เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนมาแชร์กันโดยไม่ต้องเก็บไว้อยู่คนเดียว”

เป้ : “ในอีกมุมผมว่าช่วงนี้มนุษย์ก็โหยหาการพบปะกันด้วย ดังนั้นในเมื่อมีโอกาสและกำลังพอที่จะทำพื้นที่แบบนั้นได้ พวกเราก็คิดกันว่าควรทำดีกว่า”

พัด : “และถ้าจะเฉพาะเจาะจงลงไป เราว่าเทศกาลที่เกิดขึ้นในแต่ละปีก็เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนในวงการ มันเป็นช่องทางในการซื้อ-ขายที่ส่งผลมากกว่าออนไลน์แน่ๆ ดังนั้นการหายไปจึงส่งกระทบ แต่ในทางตรงกันข้ามการกลับมาทุกปีแบบนี้ก็จะช่วยให้เกิดวงจรมากขึ้นเช่นกัน”

BKKABF Assemble

ไม่ใช่แค่สิบหรือยี่สิบ แต่งาน BANGKOK ART BOOK FAIR ที่กำลังจะมาถึงมีผู้แสดงงานกว่าสามสิบท่าน แต่ผู้จัดงานอย่างลูกตาล พัดและเป้ก็ไม่ได้มองว่าทุกคนที่เข้าร่วมต้องมาสร้างความคึกคักทางเม็ดเงินใดๆ เพราะสิ่งที่พวกเขาต้องการมากที่สุดคือการที่ทุกคนได้มีโอกาสพูดสิ่งที่ตัวเองคิด

ลูกตาล : “พอตกลงกันว่าจะจัด พวกเรามาคิดกันต่อว่าในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ การผลิตอะไรขึ้นมาก็ตามต้องใช้ต้นทุนทั้งนั้น รวมถึงคนที่มาร่วมงานก็อาจไม่ได้มีกำลังซื้อเท่าเดิม เราจึงตกลงกันว่าอยากสร้างงานที่นำพาผู้ผลิตกับผู้เสพมาเจอกันมากกว่าเน้นการซื้อขาย เราอยากให้พื้นที่ตรงนี้เป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิด

“จากตรงนั้น เราจึงวางแผนว่าจะให้งานออกมาเป็นแบบ Mix Concept คือมีส่วนผสมของงานเทศกาลแบบเดิมและความเป็น Exhibition Space ทำให้จากที่ปีก่อน indoor มีผู้ผลิตที่แต่ละคนมีแค่โต๊ะและพื้นที่เล็กๆ ด้านหลังเพื่อส่งข้อความที่อยากสื่อสาร แต่ปีนี้เราอยากเปลี่ยนให้งานออกมาแบบไม่เบียดเสียด เลยปรับให้ indoor มีพื้นที่กว้างพอให้คนสามารถเข้ามาซื้อหรือแค่ดูก็ได้ เพื่อเป็นพื้นที่ให้คนที่ไม่ได้อยากขายงานแต่อยากส่งสารบางอย่างผ่านงานได้มาอยู่ตรงจุดนี้ด้วย

“เช่น Spacebar Design Studio ที่นำซีนโปรเจกต์ #whatshappeninginthailand มาวาง showcase และขายบางส่วนเพื่อระดมทุนช่วยเหลือโครงการที่สนับสนุนประชาธิปไตย, Future Poster Project ที่เราชวนให้ศิลปินแต่ละคนบอกเล่าความคิดของตัวเองเกี่ยวกับอนาคต รวมถึง นักเรียนเลว, Arc Press, กลุ่ม DEN จากเชียงใหม่, โปรเจกต์ IF WE BURN, และ พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History ก็จะอยู่ในส่วนนี้เช่นกัน

“ส่วนท่ีเป็นรูปแบบเดิม เราจะย้ายออกมา outdoor อยู่บริเวณลานจอดรถด้านนอกด้วยเหตุด้าน Social Distancing นอกจากนั้นเราก็จะมี Outdoor Screening ด้วย เพราะเป็นสิ่งที่อยากทำกันมานาน ตรงนี้เราให้พื้นที่กับผลงานจากทั้งต่างประเทศและน้องๆ ที่ทำงานด้านภาพเคลื่อนไหวในไทย เพราะนี่ก็เป็นหนึ่งความฝันที่ตลอดปีที่ผ่านมามันถูกกดทับ รวมถึงบูธจาก iLaw ที่จะมาเปิดตัวหนังสือ INTRODUCTION TO NO.112 ที่นี่และมีให้ลงรายชื่อบริเวณนี้เช่นกัน”

ไม่มี A B C D มีแต่งานดีๆ ในแบบของตัวเอง

จะเรียกว่าเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ของงาน BANGKOK ART BOOK FAIR ในแต่ละปีก็ว่าได้ ที่นอกจากงานของศิลปินดัง เรายังได้เห็นคนทำงานศิลปะหน้าใหม่ที่น่าจับตา โดยเฉพาะผลงานจากนักศึกษาที่หลายคนมาฉายแสงในงานนี้ ซึ่งสำหรับผู้จัดแล้ว พวกเขาทั้ง 3 ก็ตั้งตารอจะได้เห็นอยู่เหมือนกัน แต่ไม่ใช่แค่ในแง่ของคุณภาพเท่านั้น เพราะในฐานะผู้เฝ้ามองพวกเขายินดีอย่างยิ่งที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง

ลูกตาล : “หนึ่งในคนที่ทักมาสอบถามเราบ่อยครั้งมากว่าเมื่อไหร่จะจัดงานอีกคืออาจารย์มหาวิทยาลัย เพราะพวกเขาได้เห็นอย่างใกล้ชิดว่าเด็กยุคนี้ผูกพรากความฝันไปขนาดไหน ในขณะที่พวกเขาอยู่ในวัยที่เต็มด้วยพลัง แต่ทุกอย่างเหมือนถูกหยุดไว้ เขาจึงอยากให้พื้นที่เล็กๆ ของเราเป็นแพลตฟอร์มให้น้องๆ ได้นำเสนองานไปสู่ภายนอก ซึ่งเราก็ยินดีมากๆ เพราะการพางานของตัวเองมาสู่พื้นที่ที่มีคนหลากหลาย มันจะทำให้น้องๆ ได้รับพลัง จะบอกว่าเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่อยากจัดงานก็ว่าได้นะ เพราะการได้เห็นคนอยากทำงานศิลปะต่อจากพลังตรงนั้นมันสำคัญมากๆ”

เป้ : “หรือผมเองที่สอนหนังสือ ผมก็เห็นความเปลี่ยนแปลงในเด็กยุคนี้ที่น่าจับตามองชัดเจน อย่างยุคที่ผมเรียน คำว่ากราฟิกดีไซน์คือการต้องหาอะไรสักอย่างมาสร้างภาพลักษณ์ให้แก่มัน แต่ในปัจจุบันน้องๆ เลือกใช้กราฟิกดีไซน์ในการสร้างคอนเทนต์ในสิ่งที่ตัวเองสนใจเองมากกว่าแล้ว อาร์ตบุ๊กคือหนึ่งในเครื่องมือเหล่านั้น ทำให้ในช่วง 2-3 ปีหลังเราจึงเห็นงานจากน้องๆ เหล่านี้เยอะขึ้นมาก มันไม่ใช่งานแนวรีแบรนด์ดิ้งขนมไทยแบบเดิม แต่เป็นสิ่งที่เขาสนใจอยากพูดมากกว่า”

พัด : “และการมาที่นี่ก็จะทำให้พวกเขาได้ฟังความเห็นคนอื่นด้วย เพราะถ้าแค่ทำส่งอาจารย์ สุดท้ายงานก็จะกลายเป็นคะแนน ตัดสินด้วยตัวอักษร A B C D แต่ที่นี่เขาจะได้เจอคนที่เสพงาน พูดคุย และเห็นคนที่ชื่นชอบงานเขา เราว่าทั้งหมดนี้คือข้อดีนะ ทั้งกับคนทำงานและคนที่มาดูเลย”

อย่าให้ใครมาบอกว่าความฝันเป็นไปไม่ได้

ถ้าดูจากรายชื่อผู้แสดงงานอย่างที่ยกตัวอย่าง อาจพอกล่าวได้ว่า BANGKOK ART BOOK FAIR ในปีนี้เปิดพื้นที่ให้กับประเด็นแห่งยุคสมัยอย่างแท้จริง ซึ่งกับเรื่องนี้ทั้ง 3 คนเล่าให้เราฟังว่าสิ่งสำคัญที่สุดพวกเขาเน้นย้ำไม่ใช่แค่ประเด็นที่ศิลปินจะพูด แต่มันคือพื้นที่ที่ไม่ปิดกั้น ไม่ว่ากับใครก็ตาม

เป้ : “จากตอนแรกที่คนยังไม่เข้าใจว่าอาร์ตบุ๊กคืออะไร แต่ตอนนี้ผมว่าคนเริ่มเข้าใจแล้วว่ามันคือหนังสือใดๆ ที่มี Art Approcah ดังนั้นถ้าใครมีไอเดีย นี่คืออีกหนึ่งสื่อกลางที่คุณสามารถใช้ได้ ซึ่งกับยุคสมัยนี้จะเห็นได้ว่ามีเพิ่มขึ้นเยอะจากประเด็นสังคมที่กำลังเกิดข้ึนนั่นเอง”

ลูกตาล : “แม้สิ่งที่เราทำทุกปีจะเป็นการสร้างพื้นที่เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน แต่เห็นด้วยกับเป้ว่าถ้าเทียบกับปีที่แล้ว สิ่งที่เปลี่ยนไปมากคือความเคลื่อนไหวทางสังคมและวัฒนธรรมที่แสดงออกผ่านงาน เหมือนสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นรอบตัวจนเป็นรูปธรรมและกลับมาตั้งคำถามกับคนที่ทำงานในฝ่ายวัฒนธรรมอย่างศิลปินว่าพวกเขาคิดอย่างไร มันเป็นแรงขับร่วมที่ทำให้ทุกคนอยากทำงานในสิ่งที่อยากสื่อสาร

“ซึ่งถ้ามาย้อนคิดจริงๆ เราว่าสิ่งนี้ก็เป็นแกนเดียวกับที่เราคุยกับเป้และพัดในปีแรกที่เริ่มจัดงานนะ ในตอนนั้นเป้และพัดมีความฝันและความเชื่อว่างานออกแบบไม่จำเป็นต้องเสิร์ฟ Commercial เราคิดนอกกรอบได้แม้จะถูกปลังฝังมาว่าไม่สามารถก็ตาม มันเลยกลายเป็นพื้นที่แบบ BANGKOK ART BOOK FAIR ที่อนุญาตให้ทุกคนได้ใช้จินตนาการในแบบของตัวเอง ซึ่งเราก็มองว่าสังคมและวัฒนธรรมตอนนี้คือสิ่งที่คล้ายๆ กัน

“เราอยากเป็นพื้นที่ที่คุณจะได้พูดเรื่องที่อยากพูดโดยไม่ต้องมีใครบังคับ เช่นเดียวกับคนที่มาก็จะได้เข้าใจแมสเสจเดียวกัน นั่นอาจทำให้คุณเจอคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกันและส่งพลังให้กันก็ได้ ดังนั้นสำหรับเราสถานการณ์ตอนนี้จึงเหมาะกับการจัดงานมากๆ และในอีกมุม นี่ยังเป็นการให้พื้นที่กับคนที่ทำงานด้านนี้มาอย่างต่อเนื่องเพื่อบอกว่างานของคุณมีคุณค่าขนาดไหน เช่น Uninspired by Current Events ที่ก็จะมาอยู่ในงานปีนี้ เพราะสำหรับเราสิ่งที่แก่น (สารัตถะ จึงเสถียรทรัพย์ - ผู้อยู่เบื้องหลังเพจ) ทำนั้นพิเศษ มันเป็นการผลักขอบเขตให้คนที่ไม่เคยสนใจหันมาสนใจเรื่องรอบตัวได้

“เสียงของหลายคนดังกว่าเสียงของคนเดียวอยู่แล้ว และในเมื่อปัจจุบันมีหลายพื้นที่ที่ไม่ปลอดภัยในการพูดสิ่งที่คิด เราก็อยากสร้างพื้นที่นั้นขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนได้แสดงความเห็นและความเชื่อผ่านเครื่องมืออย่างศิลปะที่ช่วยเปิดมุมมองความคิด เพราะเราเชื่อว่าการได้เห็นงานที่หลากหลาย มันจะทำให้เราเข้าใจในความแตกต่าง ดังนั้นพื้นที่ที่เตรียมไว้ให้สิ่งเหล่านั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็น”

อย่าหยุดจินตนาการถึงสิ่งที่ดีกว่า

แม้สเกลงานและบริบทรอบตัวจะดูใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถ้าเทียบกับปีก่อนๆ แต่สุดท้ายเมื่อถามถึงสิ่งที่พวกเขาคาดหวังในปีนี้ ลูกตาล พัดและเป้ยังคงยืนยันกับเราว่าลึกๆ แล้วพวกเขายังคงหวังเห็นสิ่งเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือพื้นที่แห่งความสัมพันธ์และจินตนาการที่ถูกต่อยอดไม่รู้จบ เพราะพวกเขาเชื่อว่านั่นแหละคือแกนกลางสำคัญของสิ่งที่เรียกว่าศิลปะ

เป้ : “ผมคิดว่างาน Fair ต่างกับ Exhibition ตรงนี้ อย่างหลังอาจมีกำแพงกั้นระหว่างผู้เสพและศิลปินอยู่ แต่พอเป็นงาน Fair ด้วยรูปแบบและบรรยากาศมันยินดีต้องรับทุกคน มันเอื้อให้คนสองคนเจอกัน แลกเปลี่ยนกันหรือร่วมงานกัน ผมชอบบรรยากาศแบบนี้ ยิ่งเป็นงานหนังสือที่สนใจอยู่แล้ว ผมว่ามันก็คุ้มในการสร้างขึ้นมามากกว่าอยู่เงียบๆ อีกอย่างผมจะได้ซื้อหนังสือที่ชอบด้วย (หัวเราะ)”

ลูกตาล : “แน่นอนว่าในขั้นต้นเราคาดหวังให้คนที่มาเข้าร่วมรู้จักสื่อกลางอย่างอาร์ตบุ๊ก แต่พอทำมาจนถึงตอนนี้ เราว่ามันไม่ใช่แค่ Art Book Fair หรอก แต่ Cultural Space ใดๆ ก็ตาม มันจะสร้างการ ‘แลกเปลี่ยน’ ระหว่างคนทำกับคนดูเสมอ พวกเราเลยพยายามทำมันออกมาภายใต้บรรยากาศผ่อนคลาย ให้คนที่มาร่วมไม่รู้สึกเกร็ง พวกเขาจะได้สะดวกใจในการนำเสนอสิ่งที่ตัวเองอยากบอกผ่านวิธีการของตัวเองโดยไม่มีใครตัดสิน เราพยายามให้เป็นแบบนั้นมาตลอด ซึ่งถ้ามองกันจริงๆ นี่ก็ไม่ต่างกับที่ศิลปินทำหนังสือเล่าเรื่องความฝันหรอก เพียงแต่สิ่งที่เราทำคือการจัดงานนี้เท่านั้นเอง

“การเห็นคนมารวมและแชร์ประสบการณ์ มันคือความฝันของผู้จัดอย่างเรา ยิ่งได้เห็นพื้นที้ตรงนี้โตขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็เป็นความสุข เพราะเราเชื่อว่าในระยะยาว พื้นที่ตรงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากมาย เพื่อที่สุดท้ายทุกคนจะได้ไม่หยุดจินตนาการถึงสิ่งที่ดีกว่า ดังนั้นถึงไม่ได้ผลิตงาน แต่แค่ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบ่มให้บางสิ่งออกมาได้ สำหรับพวกเราก็คุ้มแล้ว”. พัด : “เหนื่อยตอนทำ ยิ่งใกล้งานก็ลุ้นมาก แต่พอถึงวันจริงแล้วได้เห็นบรรยากาศคนที่มางาน หรือได้เห็นว่าศิลปินบางคนได้ร่วมงานกันจริงๆ หลังจากมาเจอกันที่นี่ สำหรับพวกเรามันโอเคมากค่ะ (ยิ้ม)”

บัตรเข้าชมงานจําหน่ายล่วงหน้าออนไลน์ทางเว็บไซต์